“บ้าน”...ฉันไม่อยากอยู่ (8) : ครูมองวัยรุ่น...ความลำเอียง


“การเอาลูกมาเปรียบเทียบกัน ถือว่าเป็นวิธีการที่พ่อแม่สร้างปมด้อยให้เกิดขึ้นกับลูกของตนเองโดยไม่รู้ตัว และเด็กจะเห็นความลำเอียงของพ่อแม่ชัดเจนขึ้น”


ต่อจากความเดิมตอนที่แล้ว
...
“บ้าน”...ฉันไม่อยากอยู่ (1)
"บ้าน"...ฉันไม่อยากอยู่ (2)
“บ้าน”...ฉันไม่อยากอยู่ (3) : วัยรุ่น ลมร้อน
“บ้าน”...ฉันไม่อยากอยู่ (4) : วัยรุ่น ลมร้อน และการเปลี่ยนแปลงชีวิต
“บ้าน”...ฉันไม่อยากอยู่ (5) : ครูมองวัยรุ่น...ผ่านประสบการณ์ 
“บ้าน”...ฉันไม่อยากอยู่ (6) : ครูมองวัยรุ่น...พฤติกรรมก้าวร้าว
“บ้าน”...ฉันไม่อยากอยู่ (7) : ครูมองวัยรุ่น...ความไม่ยุติธรรมในสังคม

          “พ่อแม่ยังรักลูกไม่เท่ากัน โรงเรียนยังแบ่งแยกเกรด สีกายังเลือกวัดที่จะไปทำบุญ บางครั้งสถาบันแห่งความยุติธรรมยังขาดความยุติธรรม แล้วจะแปลกอะไรหากในโลกบูด ๆ เบี้ยว ๆ ใบนี้จะไม่มีความยุติธรรมให้เราบ้างในบางครั้ง ก็เพราะสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำสลับซับซ้อนอยู่” เป็นข้อความที่เขียนไว้ในบันทึก “บ้าน”...ฉันไม่อยากอยู่ (7) : ครูมองวัยรุ่น...ความไม่ยุติธรรมในสังคม ที่ต้องหยิบยกข้อความนี้มากล่าวอ้างเนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กวัยรุ่น

          ความลำเอียงไม่ยุติธรรมของพ่อแม่ที่รักลูกไม่เท่ากัน หรือแม้แต่กระทั่งของครู จะก่อให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจแก่ลูก/ลูกศิษย์ หากแต่จะขอกล่าวถึงแค่ประเด็นในครอบครัว ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีบุตรมากกว่าหนึ่งคน สาเหตุของการเกิดเนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ และการอบรมเลี้ยงดูบุตรของบิดามารดาก็ย่อมแตกต่างกันในแต่ละครอบครัว และเป็นธรรมดาที่พ่อแม่มักจะให้ความรักเป็นพิเศษกับลูกที่เรียนดี เรียนเก่ง สติปัญญาดี ตั้งใจเรียน อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ โดยส่วนใหญ่เด็กพวกนี้จะมีความประพฤติดีเรียบร้อย ไม่ค่อยก่อความรำคาญใจให้กับพ่อแม่ และเป็นหน้าเป็นตาให้กับพ่อแม่ให้กับครอบครัววงศ์ตระกูล ด้วยลักษณะของเด็กพวกนี้เป็นเด็กที่มีสติปัญญาดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะคิดจะทำอะไรเขาก็จะใช้สติปัญญาไปในทางสร้างสรรค์ และจะฉลาดในการเลือกทำแต่ในสิ่งที่ถูกที่ควรให้กับชีวิต จึงไม่แปลกอะไรที่พ่อแม่จะรักและให้ความสำคัญกับเด็กพวกนี้เป็นพิเศษ

          ส่วนลูกที่เรียนไม่เอาไหน มีปัญญาน้อย มักจะไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ เด็กพวกนี้จะไม่เป็นที่โปรดปรานของพ่อแม่ และมักจะถูกดุด่าว่ากล่าวอยู่เสมอ บางครั้งพ่อแม่มักเอาลูกสองคนมาเปรียบเทียบกันทำให้เด็กเห็นความด้อยค่าของตัวเอง “การเอาลูกมาเปรียบเทียบกัน ถือว่าเป็นวิธีการที่พ่อแม่สร้างปมด้อยให้เกิดขึ้นกับลูกของตนเองโดยไม่รู้ตัว และเด็กจะเห็นความลำเอียงของพ่อแม่ชัดเจนขึ้น” หนักเข้าพ่อแม่บางคนก็ไม่สนใจใยดีลูกเอาเสียดื้อ ๆ ด้วยสาเหตุเหล่านี้จึงเป็นชนวนให้เกิดความอคติ ความน้อยเนื้อต่ำใจในความรักที่ไม่เท่ากันของพ่อแม่ ยิ่งเด็กพวกนี้มีสติปัญญาน้อยอยู่ด้วยแล้ว เขาจะไม่คิดอะไรมากไปกว่าการนั่งสรรหาวิธีการต่าง ๆ ที่เป็นไปในลักษณะเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ และวิธีการที่เห็นผลรวดเร็วทันใจที่สุดคือ การแสดงพฤติกรรมที่สวนกระแสกับคำสั่งสอนของพ่อแม่ สวนกระแสกับขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตของคนในสังคม ด้วยการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ  อันจะทำให้พ่อแม่เกิดความซ้ำใจทุกข์ร้อนอยู่เสมอและนั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการและพอใจ พฤติกรรมก้าวร้าวอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากเขาได้มารวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ที่ขาดความรักความอบอุ่นเหมือน ๆ กัน จึงเป็นการระดมสมองและการทำงานเป็นทีมเป็นแก๊งความรุนแรงจึงเพิ่มมากขึ้นตามขนาดและจำนวนของสมาชิกในกลุ่ม

          ในประเด็นดังกล่าวที่ก่อให้เกิดความลำเอียง ลำดับการเกิดของลูกก็เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง จะเห็นได้ว่าพ่อแม่จะเลี้ยงลูกแต่ละคนไม่เหมือนกันแตกต่างกันไปตามลำดับการเกิดของลูก ลูกคนแรกก็จะถนอมเลี้ยงดูอย่างดีเพราะยังไม่มีใคร แต่พอมีน้องเกิดตามมาความรักก็เพิ่มแบ่งปัน และจะมอบหมายภาระในการเลี้ยงดูน้องไปให้พี่คนโต จะเห็นว่าคนกลางจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากพ่อแม่มากนัก ส่วนน้องคนเล็กที่เกิดมาใหม่พ่อแม่พี่น้องก็จะตามใจและรักมากเป็นพิเศษ และพี่ ๆ เพราะพี่ ๆ โตกันหมดแล้ว แต่หากเป็นลูกโทนก็จะเลี้ยงดูแบบไข่ในหินเด็กพวกนี้หากเลี้ยงให้ดีก็จะเป็นคนที่ดี แต่ถ้าเลี้ยงแบบตามใจมากจนเกินไปหากเขาไม่ได้ดั่งใจก็จะกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว

          ลำดับการเกิดของลูกจะส่งผลต่อความลำเอียงในการเลี้ยงดูของพ่อแม่พฤติกรรมของลูกแต่ละคนก็จะมีลักษณะที่แตกต่างไปตามการเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน แต่หากพ่อแม่ให้ความรักความเข้าใจกับลูกเท่า ๆ กัน ไม่แตกต่างกันมากจนเกินไป ไม่ให้เด็กมีความคิดที่ว่าพ่อแม่เกิดลำเอียงในการรักลูก เด็กก็จะมีพฤติกรรมไปในทางเดียวกันคล้าย ๆ กัน พฤติกรรมเด็กเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดู การสั่งสอน และพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก เพราะ “ลูกปู... มักจะเดินตามแม่ปูเสมอ” และอย่าสอนให้ลูกคุณเป็นปูนาขาเกนะคะ

หมายเลขบันทึก: 69698เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2006 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ยังสอนหนังสืออยู่ชายแดนเลยครับ
  • แวะมาฐานมาทักทายครับ
  • ที่นี่อากาศหนาวมาก
  • อาจารย์ครับ...
  • บางวันเจ้าตัวเล็กที่บ้าน (คนโตอายุ 5 ขวบ คนเล็ก 4 ขวบ)  มักจะโต้ถามกับว่า บ้านใคร...
  • พี่คนโตมักจะบอกกับน้องว่าบ้านหลังนี้ (ที่พักในมหาลัย) เป็นบ้านของเขา แต่บ้านของน้องชายอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ (บ้านคุณปู่)
  • น้องชายก็จะตอบว่า "รู้แล้ว แต่ไม่มีที่อยู่..ขออยู่ไปก่อน..."
  • เฝ้าเฝ้าฟังการโต้ถามกันของทั้งสองคนอย่างมีความสุข และ ขำ ๆ ...
  • เจ้าตัวเล็กทั้งสองคนเติบโตในครอบครัวใหญ่ มีญาติ ๆ ห้อมล้อมดูแลเยอะมาก
  • เจ้าตัวเล็กทั้งสองชอบทำงานเพื่อคนอื่น เนื่องจากครอบครัวของผมชอบทำงานเพื่อสังคม  “ลูกปู... มักจะเดินตามแม่ปูเสมอ”
  • กลับบ้านเมื่อไหร่มีอันต้องไปวันทุกเช้ากับคุณปู่และบอกเสมอว่าโตขึ้นจะบวชเป็นพระไม่สึก...
  • ตอนนี้สวดมนต์พอ ๆ กับผู้ใหญ่
  • นี่คือเรื่องดี ๆ ที่มาแบ่งปันอันเกี่ยวเนื่องกับ "บ้าน" นะครับ

ขอบคุณคุณ "ขจิต" มากค่ะที่เข้ามาทักทาย

"หนาวเนื้อห่มเนื้อจึงหายหนาว หนาวรักห่มรัก...." ร้องเพลงให้ฟังค่ะ ใส่เสื้อหนา ๆ เข้าไว้ค่ะ ตัวจะได้อุ่น ๆ ส่วนจะอุ่นไปถึงใจด้วยหรือไม่ไม่แน่ใจค่ะ

มีความสุขกับการทำงานนะคะ

 

ขอบคุณคุณ แผ่นดิน มาเลยค่ะ สำหรับความน่ารักของเจ้าตัวเล็กทั้งสองคน และการถ่ายทอดอบอุ่นของครอบครัวมายังบันทึกนี้

อยากให้คุณแผ่นดินเขียนบันทึกเรื่องครอบครัวจังค่ะ หมายถึงเรื่องเจ้าตัวเล็กทั้งสอง เพราะเท่าที่เขียนมาให้อ่านมันเป็นการถ่ายทอดความสัมพันธ์ในครอบครัวที่น่ารักมาก ๆ ค่ะ และเป็นการสร้างแบบอย่างการเป็นตัวแบบที่ดีที่มีความรักความอบอุ่นให้กับลูก ๆ ด้วยค่ะ เพราะวันหนึ่งหากเขามาเปิดอ่านบันทึกของคุณพ่อที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพวกเขา เขาจะมีความรู้สึกรักพ่อรักครอบครัวมากยิ่งขึ้นเชียวค่ะ ดิฉันเชื่อเช่นนั้นค่ะ ขอสนับสนุนนะคะ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีโอกาสอ่านบันทึกเกี่ยวกับครอบครัวและเจ้าตัวเล็กทั้งสองของคุณแผ่นดินนะคะ อยู่ในวัยที่น่าเอ็นดูเชียวค่ะ

ขอบคุณนะคะที่แวะเข้ามาแบ่งปันเพื่อบ้านที่มีความสุขค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท