ไปวัดไปวา : อีกหนึ่งการเรียนรู้เล็กๆ ของชมรมสานฝันคนสร้างป่า


“แม้ธรรมชาติจะคัดกรองการอยู่รอดกันเองก็เถอะ แต่ปลูกแล้วก็ควรต้องกลับมาดูแลบ้าง ปลูกแล้วก็ควรต้องกลับมาดูรอยมือรอยเท้าของเราด้วย มิใช่ปลูกแล้วก็ห่างหายเหมือนที่ไปปลูกไว้ในต่างจังหวัด”

ต่อเนื่องจากบันทึก https://www.gotoknow.org/dashboard/posts/691164 

 

เช้ามืดวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ผมยังคง “รับหน้าเสื่อ” พานิสิตชมรม “สานฝันคนสร้างป่า” เดินทางไปจัดกิจกรรม ณ วัดป่าโพธิญาณ (วัดเกาะ) ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

กิจกรรมวันนี้ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ คือการถวายเงินสมทบเป็นผ้าป่าซ่อมแซมหลังคาศาลาการเปรียญ ปลูกต้นไม้ ถวายสังฆทานทั้งที่เป็นภัตตาหารและต้นไม้

ผมนัดเวลาออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยฯ ในราวหกโมงเช้า เพื่อให้ทันกับการถวายภัตตาหารเช้า หรือที่ภาษาอีสานเรียกว่า “จังหัน” ซึ่งครั้งก่อนนั้น ผมเจตนาพานิสิตไปสายๆ อันเป็นเวลาหลังจากการฉันภัตตาหารเช้า เพื่อให้มีเวลาเป็นการส่วนตัวที่จะหารือกับเจ้าอาวาสเป็นหลักสำคัญ

 

 

โจทย์แรก : ตักบาตร
 

 ครั้งนี้ ผมไม่แจ้งให้นิสิตตระเตรียมสิ่งของไปตักบาตร เพราะอยากรู้ว่านิสิตจะ “รู้จัก” หรือ “คิดได้”หรือไม่ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ พอล้อหมุนไปสักพัก ผมจึงเริ่มเอ่ยปากถามว่า “เอาของมาตักบาตรด้วยหรือไม่” – 

คำตอบที่ได้มาคือ “ไม่ได้เตรียมมา” 

จากคำตอบข้างต้น สาบานได้เลยว่า ผมไม่ได้เคืองขุ่นและตำหนินิสิตแม้แต่คำเดียว  ได้แต่บอกว่า “ไม่เป็นไร ผมเตรียมสังฆทานมาแล้ว แต่ถ้านิสิตอยากทำบุญก็ลองโทรให้เพื่อนบนรถอีกคันแวะซื้อของมาตักบาตรด้วยก็ได้”

นั่นคือโจทย์แรก หรือกระบวนการเรียนรู้ว่าด้วยการจัดกิจกรรมโดยใช้ชุมชนเป็นฐานที่ผมนำมาใช้ทดสอบการตระหนักรู้ของนิสิต

เป็นโจทย์แรกที่นำไปสู่เรื่องทักษะการแก้ปัญหา (Problem solving skill) ก็ว่าได้

 

 

 

โจทย์สอง : ชื่อต้นไม้


ครั้นรถวิ่งเข้าเขตตัววัด ผมก็เริ่มโจทย์การเรียนรู้ที่สองด้วยการตั้งคำถามต่อกลุ่มคนที่นั่งมาในรถว่า “รู้ไหมว่าต้นไม้เหล่านั้น คือต้นอะไร”  - 

คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ “ไม่รู้ ไม่แน่ใจ”  

ผมจึงเฉลยให้ฟังว่า “ต้นยางนา” พร้อมๆ กับการพรรณนาเพิ่มเติมเล็กน้อยแบบงูๆ ปลาๆ ในทำนองว่า “คนโบราณเชื่อว่าต้นยางนาคือพญาแห่งไม้ หรือราชาแห่งไม้ ที่ใดมีต้นยางนาเยอะๆ ที่นั่นคือป่าขนาดใหญ่ เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ดีไม่ดีถึงขั้นเป็นป่ารถชัฏเลยทีเดียว”

เช่นเดียวกับการผูกโยงเรื่องราวให้นิสิตได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์เมืองมหาสารคามกับต้นยางนาและเรื่องราวของต้นยางนาที่เกี่ยวพันกับในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยยกตัวอย่างกรณีการแปรอักษรภาพต้นยางนาในระดับจังหวัดเพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน - 

หรือแม้แต่ต้นอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่นิสิตไม่สามารถบอกชื่อได้ เช่น ต้นจาน (ทองกวาว) ต้นปีบ (กาละลอง) ต้นแคนา ต้นกะยอม (พะยอม) โดยไม่ลืมจิกกัดเบาๆ ว่า “เป็นคนชมรมสานฝันคนสร้างป่าแท้ๆ แต่ทำไมไม่รู้จักชื่อต้นไม้”

 

 

กรณีดังกล่าวนี้ผมถือโอกาสพานิสิตเจาะเวลาหาอดีตกาลของชมรมฯ กล่าวคือ …..

ผมเล่าสั้นๆ ว่าในอดีต ผมชอบถามนิสิตที่ไปสร้างฝายชะลอน้ำเสมอๆ ว่า “สายน้ำที่ว่านั้นกำเนิดมาจากภูเขา หรือป่าผืนใด” ซึ่งนิสิตตอบกันไม่ค่อยได้

บางคนตอบได้แต่ก็ไม่ชัดเจน คำถามที่ว่านั้นคือส่วนหนึ่งที่ว่าด้วย 9 ข้อคิดการเรียนรู้ชุมชนที่ผมตั้งเป็นวาทกรรมว่า “ทุกถิ่นฐานมีเรื่องเล่า” 

 

 

โจทย์สาม : ถวายภัตตาหารเช้า กินข้าวก้นบาตร


ถึงแม้จะไม่ได้แจ้งให้นิสิตตระเตรียมข้าวของมาตักบาตรก็เถอะ แต่ยืนยันว่า ผมชัดเจนตั้งแต่แรก เพราะต้องการประเมินว่านิสิต “ใส่ใจ-เข้าใจ” ต่อครรลองทางสังคมแค่ไหน พอๆ กับการต้องการสอนให้นิสิตได้ตระหนักถึงเรื่องราวระหว่างทางว่าสำคัญๆ พอๆ กับปลายทางที่กำลังมุ่งไป 

กล่าวคือ การตักบาตร หรือถวายภัตตาหารเช้า คือกระบวนการเรียนรู้ระหว่างทาง ส่วนการถวายปัจจัย การปลูกต้นไม้ การปรับภูมิทัศน์คือกิจกรรมอันเป็นปลายทางหลักของการเรียนรู้ 

ทั้งปวงนั้น ผมพยายามกระตุ้นให้นิสิตเข้ามาเรียนรู้กระบวนการเตรียมอาหารถวายพระจากญาติโยมบนศาลาวัด ซึ่งหลักๆ ก็คือการเรียนรู้ผ่านความเป็น “ลูกมือ” นั่นแหล่ะ  และผมก็ไม่ค่อยแน่ใจหรอกนะว่า นิสิตจะเข้าใจกระบวนการเรียนรู้เรื่องราวนานาประการจากญาติโยมหรือไม่  

ประเด็นดังกล่าว ผมมองว่า หากนิสิตเชื่อว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้” นิสิตย่อม “เปิดใจ” และ “กระหาย” ที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องให้ผม หรือใครๆ คอยกำหนดและชี้นำอย่างชัดแจ้ง 

สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่ผมอยากเห็นนิสิตมีความกระตือรือร้นด้านการรู้คิด (Cognitively Active)  หรือแม้แต่การเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา (Learn all the time)

แต่ที่แน่ๆ ผมสำทับกระบวนการที่ว่านั้นผ่านวาทกรรมด้วยสำเนียงอีสานๆ ว่า  “กินข้าวก้นบาตรแล้วจะอ้วนพีมีสุข”  พร้อมๆ กับการเปิดเปลือยชีวิตผมสั้นๆ ผ่านเวทีญาติโยมและนิสิตว่า “ตอนเรียนประถม ผมต้องไปวัดในทุกเช้า ไปตักบาตรที่วัด ไปรับบาตรพระ ไปทานข้าวที่วัดแล้วห่อมากินที่โรงเรียน จนใครๆ เรียกเด็กวัด หรือสังกะลีวัด”

 

 

โจทย์ที่สี่ : ปลูกต้นไม้

 

ดังที่เคยบอกเล่าไว้บันทึกก่อนนี้ว่า กิจกรรมครั้งนี้ขับเคลื่อนภายใต้กระแสของโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด ต้องปรับจากการทำฝายชะลอน้ำในจังหวัดชัยภูมิมาสู่กิจกรรมจิตอาสาเล็กๆ ในเขตจังหวัดมหาสารคาม

และการปลูกต้นไม้ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ถูกออกแบบขึ้น

ก่อนหน้านี้ผมพาแกนนำนิสิตมาพบท่านเจ้าอาวาส  เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจกรรมที่พอจะจัดขึ้นได้ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการปลูกต้นไม้  ซึ่งพระอาจารย์ท่านไม่ได้เจาะจงว่า “ต้องเป็นต้นอะไรและไม่ชี้เฉพาะเจาะจงว่าควรปลูกบริเวณใด” เรียกได้ว่า “แล้วแต่โยม แล้วแต่ศรัทธา”

กระนั้นพระอาจารย์ก็เปรยให้ฟังว่า ยังมีกล้าไม้อีกจำนวนมากที่ญาติโยมนำมาถวาย แต่ยังปลูกไม่หมด ท่านก็ทยอยปลูกทีละนิดๆ พร้อมๆ กับการชี้ให้เห็นถึงพื้นที่แห่งหนึ่งในบริเวณวัดอันเป็นพื้นที่ปลูกต้นมะละกอ ซึ่งท่านบอกเล่าสั้นๆ แต่เพียงว่า “ปลูกมะละกอไว้ให้ญาติโยม จะได้ไม่ต้องลำบากซื้อกิน ใครมาวัดอยากเก็บกลับไปกินก็เก็บไปได้และเวลามีงานวัดก็จะได้เก็บมาประกอบอาหาร”

รวมถึงการบอกกล่าวเชิงอนุญาตว่า “จะปลูกตรงไหนก็ให้นิสิตพิจารณาเองได้เลย เดี๋ยวต้นไม้ก็เรียนรู้ที่จะเติบโตเอง และธรรมชาติจะคัดกรองกันเอง” 

 

 

 ด้วยเหตุนี้ ผมจึงให้นิสิตเดินเท้าสำรวจพื้นที่ล่วงหน้าและกลับไปวิเคราะห์กันเองว่า “จะปลูกต้นไม้อะไรบ้าง” พร้อมๆ กับการแนะนำสถานที่ของการจัดหาพันธุ์ไม้ เพื่อให้นิสิตเดินทางไปบริหารจัดการด้วยตนเอง ซึ่งกล้าไม้ที่นำมาปลูกในครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 60 ต้น ได้แก่  ยางนา พะยูง ประดู่ ราชพฤกษ์ มะละกอ 

จะว่าไปแล้วสิ่งที่พระอาจารย์ฯ ได้สื่อสารนั้น มีแนวคิดที่ชวนคิดตามอยู่หลายอย่าง ผมได้แต่สะกิดให้นิสิตลองถอดรหัสความรู้จากสิ่งที่ท่านได้บอกเล่า – 

เช่นเดียวกับในช่วงที่ปลูกต้นไม้ ท่านก็แวะเวียนมาให้กำลังใจ  บางจังหวะท่านแนะนำการปลูกแก่นิสิต ทั้งเทคนิคการนำกล้าไม้ออกจากถุงพลาสติก การนำถุงพลาสติกกลับมารีไซเคิลเพาะพันธุ์ไม้ต่ออีกรอบ

สำหรับผมแล้วในฐานะ “พี่เลี้ยง” นอกจากการลงแรงปลูกต้นไม้กับนิสิตแล้ว ก็คอย “เสี้ยมประเด็นการเรียนรู้” เป็นระยะๆ เช่น 

  • ชวนให้นิสิตได้ลองพิจารณาเรื่องบทบาทของศาสนาที่มีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
  • ชวนให้สังเกตวิธีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ภายในวัด
  • ชวนให้สังเกตคุณลักษณะของการเป็นพระนักพัฒนา
  • ชวนให้นิสิตจัดวางระยะห่างของต้นไม้
  • ชวนให้นิสิตแบ่งงานกันทั้งที่เป็นการขุดหลุม การลำเลียงกล้าไม้ การปลูก การกระตุ้นให้ทำงานแข่งกับเวลา โดยปักหมุดไว้ให้เสร็จก่อนเที่ยง

 

 

โจทย์ที่ห้า : ถวายสังฆทาน ถวายต้นไม้

 

ผมไม่ได้ให้นิสิตปลูกต้นไม้ หรือถวายต้นไม้ทั้งหมดให้กับวัดป่าโพธิญาณ  (วัดเกาะ) เพราะเจตนาที่จะพานิสิตไปเรียนรู้วัดอีกวัดหนึ่งในละแวกใกล้ๆ กัน นั่นคือ “วัดป่าบึงวังยาว”  (หมู่ 4 บ้านวังยาว)  ซึ่งเป็นวัดป่าในเขตตำบลเดียวกัน (ตำบลเกิ้ง)

และผมก็ไม่บอกล่วงหน้าด้วยว่า “วัดที่กำลังจะพาไปนั้น คือวัดอะไร” 

ในช่วงการเดินทางไป ผมถามนิสิตว่า “รู้หรือไม่ว่าเส้นทางสายสั้นๆ นี้มีวัดวาอารามไม่น้อยกว่า 4-6 วัด” คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คล้ายๆ เดิมคือ “ไม่รู้ ไม่ทราบ” (รู้แต่วัดที่มีชื่อเสียงโด่งดัง)

ผมอธิบายสั้นๆ ถึงเหตุผลที่พานิสิตมาถวายสังฆทานและถวายต้นไม้ให้กับวัดแห่งนี้ว่า “เป็นวัดที่เงียบสงบ ไม่มีคนพลุกพล่านเข้า-ออก เพราะไม่ใช่วัดที่เป็นพุทธพาณิชย์  เป็นวัดที่มีเด็กและเยาวชนพักอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง”

ผมไม่ได้อธิบายหยั่งลึกว่าเด็กและเยาวชนที่ว่านั้น “เป็นใครมาจากไหน – เข้ามาพักอาศัยด้วยเหตุผลกลใด” เพราะอยากให้นิสิตได้ค้นหาคำตอบเหล่านั้นด้วยตนเองเสียบ้าง  แต่เลือกที่จะสื่อสารในเรื่องอื่นๆ ว่า “การถวายต้นไม้ หรือปลูกต้นไม้ก็เหมือนปลูกชีวิตนั่นแหละ อานิสงส์ของการปลูกต้นไม้ ไม่ใช่แค่เพิ่มพื้นที่ป่าให้กับสังคม แต่ยังจะช่วยให้เรามีจิตใจที่ร่มเย็นเหมือนต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาต่อสรรพสิ่ง”

 

 


ท้ายที่สุดนั้น

 

นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่ผมสัญจรไปในพื้นที่ร่วมกับนิสิตชมรมสานฝันคนสร้างป่า - ไปในฐานะของ “พี่เลี้ยง”หรือ “ที่ปรึกษาโครงการ” หรือเรียกในอีกมุมว่า “ที่ปรึกษาจำเป็น” ก็ว่าได้ ซึ่งผมก็พยายามออกแบบกระบวนการเรียนรู้เล็กๆ น้อยๆ สอดแทรกเป็นระยะๆ บางเรื่องคิดมาล่วงหน้า ขณะที่บางเรื่อง “คิดหน้างาน”  หรือ “คิดแบบสดๆ”

ผมฝากให้นิสิตได้คิดต่อยอดว่า “จะกลับมาปลูกต้นไม้ที่เหลือเมื่อไหร่”  เป็นการถามกรายๆ พร้อมกับเปรยขึ้นลอยๆ ว่า “แม้ธรรมชาติจะคัดกรองการอยู่รอดกันเองก็เถอะ แต่ปลูกแล้วก็ควรต้องกลับมาดูแลบ้าง ปลูกแล้วก็ควรต้องกลับมาดูรอยมือรอยเท้าของเราด้วย มิใช่ปลูกแล้วก็ห่างหายเหมือนที่ไปปลูกไว้ในต่างจังหวัด”

ใช่ครับ – นั่นคือเหตุผลที่ผมหลงเหลือกล้าไม้จำนวนหนึ่งไว้  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือท้าทายว่านิสิตจะกลับไปยังพื้นที่ตรงนั้นอีกครั้งหรือไม่  

ซึ่งก็เป็นที่น่าชื่นใจที่พวกเขายังคงกลับไปยังวัดที่ว่านั้นอีกครั้ง ทั้งไปทำบุญตักบาตรและปลูกกล้าไม้ที่เหลืออยู่ รวมถึงกล้าไม้ที่ชาวบ้านนำมาถวายเพิ่ม –

และได้แต่หวังว่า เมื่อโควิดคลี่คลาย คงได้ล้อมวงโสเหล่ถอดบทเรียนกับนิสิตกลุ่มนี้อย่างจริงจังสักยก !

 

 

ภาพ : ชมรมสานฝันคนสร้างป่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 691474เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2021 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2021 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ปลูกต้นไม้ ชื่อ “ธรรม” หรือเปล่าครับ คุณแผ่นดิน ;)…

Excellent ‘enabling’ mentoring!

Did the students think about what would happen in 10-20 years time? When trees grow and block sunlight from other trees, compete for water and nutrients with other trees? When birds and wildlife come to share the area and may cause concerns for ‘people’? … diversity and depth of mentoring seems endless ;-)

-สวัสดีครับอาจารย์-กิจกรรมที่ส่งผลให้นิสิตได้เรียนรู้และเพิ่มทักษะในการใช้ชีวิตอย่างแนบเนียนนะครับ-จังหัน…คำที่ดูอบอุ่นที่มองเห็นภาพ ตอนที่อยู่ภาคอีสานได้ซึมซับวิถีพุทธภาคอีสานอย่างน่าประทับใจครับ-สื่อเรื่องราวด้วยต้นไม้ ดั่งปลูกความคิดของนิสิต-ขอบคุณสำหรับเรื่องราวจากบันทึกนี้ด้วยนะครับ

ปลูกต้นพฤกษ์ ต้นประจำจังหวัดมหาสารคามนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท