ทฤษฎีความสุขในการศึกษา กับทฤษฎีศักยภาพมนุษย์ และทฤษฎีความคาดหวัง



วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๔ หนึ่งเดือนหลังวันแห่งความรัก    ผมอยู่ในห้องประชุมชั้น ๒๒ ของโรงแรม ควอเตอร์ อารีย์    จดจ้องสังเกตการณ์การประชุมปฏิบัติการเพื่อห้องเรียนคุณภาพสูง นักเรียนได้พัฒนาความสร้างสรรต์และคิดอย่างมีวิจารณญาณ    โดยมีคุณ Paul Collard แห่ง CCE เป็นวิทยากรหลัก     

หลังกิจกรรมเปิดสมอง ก็เข้าสู่กิจกรรมถามตอบ    และโชคดีที่ครูท่านหนึ่งหยิบเอาคำถามว่า “ความสุขกับความรู้ สิ่งใดสำคัญกว่ากัน”  มาขอความเห็นจากคุณ Paul    โชคดีที่ผมทั้งบันทึกเสียง และบันทึกสาระของการเสวนา เอามาทบทวนที่บ้านได้   

ครูแหม่มเจ้าของคำถามอธิบายว่า รู้สึกสับสนและไม่สบายใจ    เมื่อนำบทเรียนที่ยากสู่ห้องเรียนของเด็กเรียนอ่อน    สังเกตว่าเด็กไม่มีความสุข    นำไปสู่การแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งของวิทยากรไทย และคุณพอล     เปิดโอกาสให้คุณพอลได้เสนอ “ความสุขในการศึกษา”   โดยยึดหลัก high functioning classroom เป็นเป้าหมาย    แม้ในห้องเรียนของเด็กเรียนอ่อน

ย้ำว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้ ในระดับที่กำหนดไว้ (อย่างน้อยในขั้นต่ำ) ต้องเป็นเป้าหมายหลัก     ความสุขและสนุกระหว่างเรียนเป็นอุบาย หรือเป็นเครื่องมือ    ไม่ใช่เป้าหมายหลัก    ย้ำอีกทีว่าเป้าหมายหลักต้องเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง 

ทฤษฎีความสุขในการศึกษา

เรื่องความสุข ต้องเน้นที่ความสุขระยะยาว     ไม่หลงทำเพียงเพื่อความสุขระยะสั้น    การศึกษาคือเครื่องมือหนุนให้คนดำรงชีวิตที่มีความสุขระยะยาวได้     แต่ต้องทำให้เด็กเข้าใจว่าชีวิตคนเราไม่มีทางที่จะมีความสุขอย่างราบรื่น    เพราะชีวิตคนต้องเผชิญความซับซ้อน    และที่สำคัญ คนเราค้องรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน (delayed gratification)    คือยอมยากลำบากในระยะสั้น เพื่อชีวิตที่ดีในระยะยาว     ผมคิดว่า การเรียนรู้ข้อนี้ สำคัญพอๆ กับการเรียนรู้ว่าโลกกลม   

ครูต้องไม่เผลอมุ่งที่ความสุขระยะสั้นในห้องเรียนที่เรียนสบายๆ ไร้ความท้าทาย    เพื่อให้นักเรียนไม่เครียด    เพราะนั่นเป็นการส่งสัญญาณชีวิตที่ผิดให้แก่เด็ก    ครูต้องสื่อให้เด็กรู้ว่าบทเรียนนั้นยาก แต่ครูเชื่อว่านักเรียนทำได้     และนักเรียนจะได้ประโยชน์จากบทเรียนนี้คุ้มค่ากกับความเหนื่อยยาก

ผมตีความว่า การศึกษาต้องฝึกเด็กให้มีความสุขอยู่กับการทำสิ่งที่ท้าทาย หรือสิ่งยาก    เกิดปิติสุขที่ได้ทำสิ่งยากๆ ให้ลุล่วง     ได้เรียนวิธีต่อสู้เอาชนะสิ่งยาก    ครูของนักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส เรียนไม่เก่ง หรือไม่ตั้งใจเรียน ต้องมีทักษะนี้    ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่วงการศึกษาไทยเราละเลย            

ครูสร้างความคาดหวังสูงให้แก่เด็ก และช่วยยืนยันว่า ครูเชื่อว่านักเรียนทำได้     ยิ่งเด็กเรียนอ่อนหรือมีความอ่อนแอทางจิตใจหรือความประพฤติ ครูยิ่งต้องสร้างความคาดหวังสูง     โดยต้องทำอย่างมีกุศโลบาย และมีศิลปะ ที่ตรงกับจริตของเด็กแต่ละกลุ่มหรือแต่ละคน    ทักษะด้านนี้ของครูมีค่ายิ่ง และควรนำมาเป็นประเด็น PLC ระดับชาติ   

เขียนมาถึงตรงนี้ก็เกิดความคิดวาบขึ้นมาว่า (ไม่ทราบว่าวาบเหมาะสมหรือวาบวุ่นวาย) กสศ. น่าจะดำเนินการยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่าน PLC ของครู    โดยเฉพาะครูนักปั้นดินให้เป็นดาว     ครูที่ดูแลเด็กด้อยโอกาส เรียนไม่เก่ง หรือไม่ตั้งใจเรียน    ผมขอตั้งชื่อ PLC นี้ว่า “PLC ครูนักปั้นดินให้เป็นดาว”    ทำเป็น online PLC รับสมัครสมาชิกทั่วไป    เมื่อทำไประยะหนึ่งก็จะได้ตัว “ครูนักปั้นดินตัวจริง”    ซึ่งหมายถึงครูที่มีความมุ่งมั่นทุ่มเทจริงจัง     ครูเหล่านี้จะได้รับรางวัลให้มาร่วมวง PLC พบหน้า      

PLC ครูนักปั้นดินให้เป็นดาว” มุ่ง ลปรร. ประสบการณ์ตรงของ “ครูนักปั้นดิน”    โดยใช้หลักการ “ห้องเรียนสมรรถนะสูง” (high functioning classroom),   ทฤษฎีความสุขในการศึกษา, ทฤษฎีศักยภาพมนุษย์,  และทฤษฎีความคาดหวัง      รวมทั้งเครื่องมือจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 

หาก  “PLC ครูนักปั้นดินให้เป็นดาว” ประสบความสำเร็จ    ขั้นต่อไปเราอาจรับสมัครวง “PLC โรงเรียนปั้นดินให้เป็นดาว” เพื่อ whole school development    และ whole child development     

เรื่องทฤษฎีความคาดหวังโดยพิสดาร อยู่ในหนังสือ สอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน    

เรื่องทฤษฎีศักยภาพมนุษย์คุณ Paul เน้นสองเรื่อง    เรื่องแรกโยงกับทฤษฎีความคาดหวัง  เรื่องหลัง นักเรียนรู้จักครูมากกว่าที่ครูคิด    กล่าวคือ ภาษาที่ครูสื่อสารออกมาโดยไม่รู้ตัว ทั้งภาษาพูดและภาษากาย    นักเรียนรับรู้และนำเอาไปปรับพฤติกรรมของตนได้มากกว่าที่ครูตระหนัก    ดังนั้นความในใจของครูจึงปิดไม่มิด    ศิษย์รู้ใจครู    รู้ว่าครูหมดหวัง หรือไม่หวังกับตนเอง     นักเรียนก็เชื่อว่าตนเองเป็นคนไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ  หรือเป็นคนโง่    และไม่คาดหวังจากตนเอง     นักเรียนจึงเรียนอยู่ในสภาพที่มีแรงบันดาลใจริบหรี่    ไร้พลังต่อการเรียน

     ศักยภาพมนุษย์นั้น สูงกว่าที่เจ้าตัวคิด และมักจะสูงกว่าที่ใครๆ คิด รวมทั้งครู     ศักยภาพจะออกแสดงตัวต่อเมื่อเผชิญความท้าทาย     การศึกษาหรือการเรียนรู้จึงต้องเต็มไปด้วยความท้าทาย    ซึ่งครูต้องจัดมาประเคนให้ศิษย์    ซึ่งหมายความว่าเป็นความท้าทายที่สอดคล้องกับบริบท    และเป็นความท้าทายที่นักเรียนเห็นคุณค่าที่จะเผชิญ     เป็นหน้าที่ครู ที่จะต้องทำให้นักเรียนรู้คุณค่าของการเผชิญความท้าทายชิ้นนั้น  

วิจารณ์ พานิช

๑๕ มี.ค. ๖๔

ห้องโถง  อาคาร ๒  สป.อว.    ถนนศรีอยุธยา

       

หมายเลขบันทึก: 690252เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2021 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2021 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะ

ย้ำว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้ ในระดับที่กำหนดไว้ (อย่างน้อยในขั้นต่ำ) ต้องเป็นเป้าหมายหลัก ความสุขและสนุกระหว่างเรียนเป็นอุบาย หรือเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมายหลัก ย้ำอีกทีว่าเป้าหมายหลักต้องเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง

ครูบางคนสอนเอาแต่ตลก ฮา ๆๆๆ กันทั้งชั่วโมง ไม่รู้ว่าเด็กบรรลุเป้าหมายหลักหรือไม่ แต่เด็กชอบมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท