เย็น ร้อน หนาว ฝน คือ ความสมดุลแห่งธรรมชาติ...


วันนี้ฝนตกแต่เช้า แต่ก็ยังไม่เช้าทันเท่าที่แม่จะลงไปดูเจ้าดอกเห็ด

ฝนทำท่าครึ้มมาตั้งแต่บ่ายวันวาน เราก็นั่งรอแล้วรอเล่า จะรดน้ำต้นไม้ดีไหมน๊อ แล้วสุดท้ายฝนก็ไม่ตก

แต่เช้านี้พอสว่างขึ้นมาก็ครึ้มเชียว ตอนแรกก็นึกว่าจะไม่ตก แต่ที่ไหนได้พอแปดโมงกว่า ๆ ฝนก็เทลงมา เทลงมา เทลงมา...

-------------------

คนเรานี้แดดออกก็ไปว่าให้แดด ฝนตกก็ไปว่าให้ฝน เวลาร้อนก็อยากให้อากาศหนาว เวลาหนาวก็อยากให้อุ่นขึ้น ทุกอย่างอยู่ที่ใจซึ่งไร้ "ความพอดี..."

ถ้าใจไม่มีปัญหา ทุกอย่างก็ไม่มีปัญหา ดังนั้นเหตุปัจจัยของปัญหาจึงอยู่ที่ "ใจ"

การมาปฏิบัติธรรมคือการมาแก้ไขที่จิตที่ใจ ดังนั้นเราจึงปฏิบัติได้ในทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเจอคนหรือสิ่งแวดล้อมใด ๆ ให้เราย้อนกลับมาดูที่ใจของตัวเอง...

ใจของเราทุกข์ไหม ไปยินดียินร้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาไหม อยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นไปตามที่เราต้องการไหม ถ้ามันเป็นหรือไม่เป็นเราทุกข์หรือไม่ ทุกอย่างจึงต้องกลับกลับมาดูและแก้ไขที่จิตใจของตัวเอง...

-------------------

หลาย ๆ คนมักบอกว่า "ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม" ครูบาอาจารย์ท่านจึงถามว่า เธอมีเวลาหายใจไหม..? ถ้ามีเวลาหายใจ นั่นแหละคือเวลาแห่งการปฏิบัติธรรม...

เมื่อทุกข์ เมื่ออยาก เมื่อเครียด เมื่อคาด เมื่อหวัง ให้กลับมาดูที่ลมหายใจ ลมหายใจของเราเป็นอย่างไร หายใจสั้นไหม หายใจทันไหม..?

เมื่อตื่นเต้น เมื่อดีใจ เมื่อหัวเราะ เมื่อได้สิ่งใด ๆ ที่เหนือความคาดหวัง ลมหายใจของเราเป็นอย่างไร หายใจสั้นไหม หายใจทันไหม..?

เราจึงเห็นหลาย ๆ คนเมื่อเสียใจก็เป็นลม

เราจึงเห็นหลาย ๆ คนเมื่อดีใจมาก ๆ ก็เป็นลม

ทำไมถึงเป็นลม..? ก็เพราะว่าลมหายใจมันไม่พอ

-----------------

คำว่าเป็นลมนี้ โบราณท่านช่างแยบยลเสียจริง ๆ ...

เมื่อคนหมดสติ ท่านจึงให้อุบายว่า ต้องเป็นลมนะ ถือหายใจเอาลมเข้าไปในร่างกายนะ

ถ้าเราสังเกตุดี ๆ ตอนเราดีใจ เสียใจ ลมหายใจของเราสั้น ทำให้ระบบร่างกายของเรานั้นแปรปรวน ระบบสูบฉีดโลหิตผิดพลาด เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ สุดท้ายก็จำเป็นต้อง "เป็นลม"

เมื่อเป็นลมคนก็เอายาดมยัดจมูกเรา...

เคยสงสัยนะ ว่าทำไมต้องเอายาดมยัดจมูก

ยิ่งสงสัยมากกว่า ถ้ามีหน่วยปฐมพยาบาลก็จะเอาไม้พันสำลีแล้วจุ่มอะไรในขวดแก้วสีน้ำตาล ๆ ให้เราดม... เมื่อดมแล้วต้องรีบฟื้น เพราะกลิ่นช่างรุนแรงจริง ๆ ...

เคยถามนะว่าทำไมต้องให้ดมเจ้าแอมโมเนียด้วย ก็ได้คำตอบเบื้องต้นว่า เจ้าสารชนิดนี้ไปกระตุ้นอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ โดยไปทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุของโพรงจมูก ทำให้เราต้องรีบหายใจ หายใจ และหายใจ

เมื่อหายใจมาก ลมก็เข้าไปมาก จากร่างกายที่เย็น มือเท้าที่เย็น ก็เริ่มมีธาตุไฟเข้าไปมากขึ้น

เพราะเมื่อใดที่มีลม เมื่อนั้นไฟก็จะโหมกระพือขึ้น

ทุกอย่างเป็นเหตุ เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน

ธรรมะนั้นก็คือธรรมชาติ... ธรรมชาติแห่งดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ผสมผสมความลงตัวซึ่งกันและกัน

------------------

ทำไมฝนตก ก็เพราะธรรมชาติปรับความสมดุล...

ที่ไหนฝนเคยตก ก็ตกอยู่ที่นั่น เพราะที่นัั้น "สมดุล"

ที่ไหนฝนไม่เคยตก ไม่ค่อยตก ถ้าตกขึ้นมาล่ะก็กลายเป็นพายุฤดูร้อนเลยทีเดียว 

เมื่อขาดมากก็ต้องหนักหน่อย เมื่อร้อนมากลมก็มาแรง (ไม่หน่อย) 

ที่ใดคลายความร้อนช้า ลมก็พัดเข้ามา พัดเข้ามา 

ธรรมชาติเขานำความเย็นมาดับร้อนอยู่เป็นปกติ แต่ที่มันหนักถึงขั้นเป็นพายุนั้นก็เพราะว่ามันร้อนผิดปกตินั่นเอง

จิตใจเราก็เหมือนกัน ถ้าร้อนมาก ๆ เวลาลมอะไรมันเข้ามามันก็จะสามารถทำความเสียหายให้เราได้มากเช่นเดียวกัน

ดังนั้น จึงควรทำจิตใจของเราให้มีความเย็นร้อนอ่อนแข็งให้ได้สมดุล จะหนักไปร้อนบ้าง เย็นบ้างก็ได้ แต่อย่าให้เอนเอียงไปข้างหนึ่งมากเกินไป เพราะเวลาที่จิตใจเขาปรับความสมดุล จะทำให้เราเสียศูนย์ เสียหลัก ถูกกระหน่ำแทบไม่มีเวลาพัก จนกระทั่งทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับคืนสู่ความ "สมดุล..."



คำสำคัญ (Tags): #ธรรมชาติ
หมายเลขบันทึก: 690247เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2021 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2021 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท