ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๔๒. วิธีจัดการความเครียด



หนังสือ Why Zebras Don’t Get Ulcers : The Acclaimed Guide to Stress, Stress-Related Diseases, and Coping    เขียนโดยศาตราจารย์ Robert M. Sapolsky แห่งมหาวิทยาลัยสแคนฟอร์ดผู้โด่งดัง    บอกว่าความเครียดเป็นกลไกช่วยชีวิตยามคับขัน    แต่ในโลกสมัยใหม่ความเครียดกลายเป็นตัวทำลายสุขภาพ    เพราะเราเครียดจากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ทักษะจัดการความเครียดจึงเป็นทักษะชีวิต    โดยแต่ละคนต้องค้นหาวิธีจัดการความเครียดที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง    และหมั่นปฏิบัติเป็นประจำ    

สำหรับผม ค้นพบวิธีจัดการความเครียดเมื่ออายุ ๔๐    คือการออกกำลังแบบแอโรบิก โดยการวิ่งเหยาะวันละ ๓๐ -  ๔๐ นาที     อาการเครียดหายไปเป็นปลิดทิ้งภายในสองสัปดาห์    และผมมีสุขภาพดีต่อเนื่องมาจนแก่อายุใกล้ ๘๐ ในปัจจุบัน   

มีคนบอกว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นวิธีลดความเครียดที่ดีที่สุด    แต่ก็มีคนบอกว่าการเล่นโยคะให้ผลดี    บางคนบอกว่าต้องปฏิบัติสมาธิภาวนา  หรือสติภาวนา เป็นต้น     

ในโลกยุคโบราณ มนุษย์เครียดจากภัยอันตรายภายนอกที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วนเป็นหลัก    และเครียดเป็นครั้งคราว    แต่ในโลกยุคปัจจุบันมนุษย์เครียดจากความคิดของตนเอง ต่อเรื่องในอนาคต    และเครียดเรื้อรังยาวนาน    ทักษะลดความเครียดจึงเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญยิ่ง    เพราะความเครียดเรื้อรังนำมาซึ่งโรคทางจิตและโรคทางกายสารพัดโรค    คนที่มีสุขภาวะจึงต้องมีทักษะลดความเครียด

ความเครียดเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ ผสานกับฮอร์โมน    เป็นเรื่องอยู่นอกเหนือระบบจิตสำนึก    กลไกการเกิดความเครียดเกิดขึ้นเพื่อเตรียมรวมจุดส่งกำลังไปยังกล้ามเนื้อ ตัดเส้นทางส่งพลังงานไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย    ซึ่งหมายความว่าอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายจะอ่อนแอลงเพราะถูกตัดพลังงาน    ความเครียดเรื้อรังที่เกิดจากความคิดของเราเอง จึงมีผลต่ออวัยวะทั่วร่างกาย    ที่ร้ายคือระบบฮอร์โมนที่หลั่งออกมาสู่กระแสเลือดเพราะความเครียดจะคงอยู่นาน    และก่อความเครียดต่อเนื่อง     มีผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง  จึงเป็นโรคติดเชื้อ และมะเร็งได้ง่ายขึ้น

และเนื่องจากความเครียดทำให้มีการไหลเวียนเลือดเพิ่ม  หัวใจทำงานหนักขึ้น    จึงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น   

ในช่วงที่เกิดความเครียด ร่างกายจะปล่อยกลูโคสออกไปในกระแสเลือด เพื่อให้นำไปให้กล้ามเนื้อใช้    แต่เมื่อเป็นความเครียดปลอม ไม่มีเรื่องให้ใช้กำลังกล้ามเนื้อ    ก็จะมีการนำกลูโคสกลับไปเก็บไว้     ในความเครียดเรื้อรังวงจรนี้ถูกเร่งอยู่ตลอดเวลา  ทำให้มีการใช้พลังงานเพื่อการนี้มาก มีผลให้รู้สึกอ่อนเพลีย    

จากการทดลองในหนู พบว่าสมองที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า กับสมองที่อยู่ในภาวะเครียด เหมือนกัน    บ่งชี้ว่าโรคซึมเศร้าอาจมาเหตุจากการเครียดเรื้อรัง   

เรารู้กันดีว่าคู่สมรสที่มีความเครียดจากเหตุใดก็ตาม จะมีบุตรยาก     ในผู้ชายความเครียดทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือหลั่งเร็ว     ส่วนในผู้หญิงความเครียดทำให้ฮอน์โมนเอสโตรเจนหลั่งมาก นำไปสู่ภาวะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และความต้องการทางเพศลดลง   

จะเห็นว่า ความเครียดเป็นสิ่งที่อยู่คู่ชีวิตมนุษย์    ชีวิตสมัยใหม่ก่อความเครียดได้มาก และเรื้อรัง    วิธีจัดการความเครียดให้ได้ผลต้องเข้าใจธรรมชาติของความเครียดว่าไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว หลักการที่เรียกว่า homeostasis จึงไม่ได้ผล     ต้องใช้หลักการ allostasis    คือทำหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน  

วิธีที่ตรงไปตรงมา คือรับมือเรื่องที่ก่อความเครียดด้วยตนเอง    รวมทั้งมีกัลยาณมิตรช่วยให้กำลังใจแก่กันและกัน ที่เรียกว่าการสนับสนุนทางสังคม    ซึ่งหมายความว่า ความร่ำรวยของคนเราไม่ใช่แค่ร่ำรวยเงินทอง    แต่การมีมิตรสหายที่เป็นกัลยาณมิตร มีค่าสูงยิ่งต่อชีวิต    สังคมที่ผู้คนรักใคร่เชื่อถือซึ่งกันและกัน จึงเป็นสังคมแห่งความสงบสุข    และคนที่ทำงานช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น  จะได้รับความรู้สึกที่ดีตอบแทนจากผู้รับ     คนที่มีอาชีพแบบนี้จึงมักมีสุขภาพดีและอายุยืน

สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง ผสานกับความพึงพอใจในชีวิต จึงเป็นพื้นฐานของชีวิตที่มีสุขภาวะ    จัดการความเครียดได้            

วิจารณ์ พานิช 

๒๗ มี.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 690243เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2021 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2021 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this article.

ความเครียด = dukkha and “…ในโลกยุคโบราณ มนุษย์เครียดจากภัยอันตรายภายนอกที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วนเป็นหลัก และเครียดเป็นครั้งคราว แต่ในโลกยุคปัจจุบันมนุษย์เครียดจากความคิดของตนเอง ต่อเรื่องในอนาคต และเครียดเรื้อรังยาวนาน ทักษะลดความเครียดจึงเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญยิ่ง เพราะความเครียดเรื้อรังนำมาซึ่งโรคทางจิตและโรคทางกายสารพัดโรค..” applies well.

But I have a question on this “…ความเครียดเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ ผสานกับฮอร์โมน เป็นเรื่องอยู่นอกเหนือระบบจิตสำนึก..”. Please give examples of this type of stress. Are they related to or results of “unanticipated events” like falling, getting passed by a car (at high speed), lightning strike, … They are caused by accidents and held on in memory and thus become matters of mind, aren’t they?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท