ศิลปะในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้


มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) หรือที่เขียนย่อๆว่า ICH เช่น ภาษา , ภูมิปัญญาพื้นบ้าน , พิธีกรรม , ดนตรี ฯลฯ เป็นวัฒนธรรมที่อยู่รอบตัวเราในแต่ละวัน โดยที่เรารู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง

เมื่อใดที่เราเห็นวัฒนธรรมที่จับต้องได้ เช่น พระพุทธรูป อาหาร โบราณสถาน ขอให้ระลึกว่าในสิ่งที่จับต้องได้นั้น มีวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซ่อนอยู่ข้างในเสมอ

เห็นพระพุทธรูป แล้วเราเห็นความศรัทธาไหม เห็นเครื่องจักสาน เราเห็นจิตวิญญาณและองค์ความรุ้ที่บรรพชนถ่ายทอดลงมาไหม

รูปธรรมเป็นเปลือกร่างย่อมเสื่อมสลายได้เร็ว แต่นามธรรมคือพลังงานประกอบสร้าง แม้ร่างจะสลายแต่พลังงาน จิตวิญญาณสามารถนำไปสู่การสร้าง/พัฒนาร่างหรือรูปธรรมใหม่ๆสืบต่อไป

การรู้จักวัฒนธรรมจึงไม่ใช่หลงไปกับรูปแบบพิธีการอันเป็นเปลือก แต่ต้องฝึกจับความหมายลึกๆของวัฒนธรรมนั้นๆ นั่นคือ ต้องมองทะลุถึงระดับนามธรรมให้ได้

เห็นรูปทั่วไปคือปุถุชน

เห็นรูปแล้วเห็นนาม จึงจะนับเป็นปัญญาชน

จะเห็นนามได้ ฝึกจับความหมายลึกๆของวัฒนธรรมนั้นๆได้ ต้องฝึกใจให้มี “จิตนุ่มนวล ควรแก่งาน” เป็นพื้นฐานสำคัญ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

คนแรกที่อ่านสิ่งที่เราเขียน ได้ยินเสียงที่เราพูดในหัว เห็นสิ่งที่เราอยากแสดง ก็คือตัวเราเอง เรากำลังสอนตัวเองเสมอและทำซ้ำโดยอัตโนมัติ

การจัดการชุมชน การจัดการวัฒนธรรมภายนอก อีกด้านก็คือการจัดการตัวเราเอง

พิถีพิถันใส่ใจในการจัดการดูแลชุมชนและวัฒนธรรมให้มาก

เพราะนั่นคือสิ่งที่เรากำลังให้คุณค่ากับชีวิตตัวเราเอง

------------------------------------------------------------------------------------------------

วัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม (ICH)นี้ มีโครงสร้าง รูปแบบอันซับซ้อน ละเอียดอ่อน มีความเป็นพลวัตสูง (dynamic) ถ้าจะเปรียบวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ก็เป็นเหมือนก๊าซ ในขณะที่โครงสร้างของวัฒนธรรมที่จับต้องได้เป็นเหมือนไม้

โครงสร้างวัฒนธรรมสองรูปแบบนี้ไม่เหมือนกัน จึงใช้เครื่องมือในการจัดการดูแลที่ต่างกัน

เราอาจใช้ ฆ้อน สิ่ว ตะไบ ขวาน จัดการไม้ แต่กับก๊าซเราต้องใช้กระแสลมและระบบนิเวศ

ทำไมเราไม่ใช่คำว่า “จัดการพระรัตนตรัย” แต่เราใช้ “อาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย”


ปัญญาชนพึงเลือกเครื่องมือให้เหมาะสม

แม้กระทั่งภาษาที่เราใช้กับวัฒนธรรมใดๆ เรายังต้องพิถีพิถันใส่ใจ

ทั้งหมดนี้มาจาก mindset ที่น้อมเข้าไปหาวัฒนธรรมอย่างมีสัมมาคารวะ มีเมตตาและยินดีรับใช้ ไม่ใช่การเข้าไปจัดการแยกส่วนแบบอุตสาหกรรม

รวมถึงต้องหมั่นพัฒนาสภาวะ “จิตนุ่มนวล ควรแก่งาน” เพื่อให้สามารถผ่านมิติเข้าไปสัมผัสวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เหล่านั้น ตรงนี้เรียกว่า มองด้วยตาใน

เป็นตาที่มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมที่เราศึกษา กับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเรา คนรัก ครอบครัว สรรพชีวิตรอบข้าง ทั้งยังรู้สึกสงบ วางใจกลางๆ ปฏิบัติพัฒนากลางๆเหมือนดั่งมีพรหมวิหารธรรม

นี่เป็นการจัดการวัฒนธรรมโดยใช้ “ปัญญา” อันลึกซึ้ง แยบคาย พร้อมทั้งความดีและความงาม

“ความรู้” ทำให้คนอหังการ์

“ปัญญา” ทำให้คนอ่อนน้อม

น้อมเข้าไปหาศิลปะวัฒนธรรมที่เราจะศึกษาและพัฒนา

น้อมไปหาประชาชนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นๆให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมส่องทางสว่างร่วมกันกับเรา


--------------------------------------------------------------------------------------------

#สรุปคำบรรยายสำคัญๆของผมในวิชา “การพัฒนาชุมชนกับจัดการทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” สอนออนไลน์ให้กับนักศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.บูรพา เมื่อ 4 ม.ค.64 ที่ผ่านมา

เผื่อ นักศึกษาไว้ทบทวน และผู้ที่สนใจนำไปเรียนรู้ต่อๆกันนะครับ


หมายเลขบันทึก: 688150เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2021 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2021 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท