บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ


การวิเคราะห์เรื่องสั้น บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำบนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ ตีพิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นจำนวนสิบสามเรื่องในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ “ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี ๒๕๒๔ โดยอัศศิริ ธรรมโชติ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นกวีร้อยแก้วเพราะใช้ภาษาคมคายนุ่มลึก มีศิลปะ และได้ตีพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้นคัดสรรค์ของนักเขียนหลายท่าน เรื่องสั้นที่ข้าพเจ้านำมาวิเคราะห์นี้ ก็เป็นหนึ่งในหนังสือรวมเรื่องสั้น “อันเป็นที่รัก” สิบเรื่องสั้นแสนรักของ ๕ นักเขียนซีไรต์ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนโครงเรื่องเรื่องสั้นเรื่องนี้กล่าวถึงชายขายแตงโมคนหนึ่ง เขาพายเรือกลับบ้านพร้อมกับใจที่ห่อเหี่ยวในเวลาพลบค่ำ ก่อนหน้านี้เขาขนแตงโมล่องเรือไปขายเหมาที่ตลาดแต่ได้เงินมาเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่พอต่อการซื้อเสื้อลูกไม้ให้เมียและซื้อตุ๊กตาให้ลูกของเขา ระหว่างการพายเรือเขาเก็บตุ๊กตายางที่ลอยมากับกอสวะได้ เขาพอใจมากและคิดจะเก็บไว้ให้ลูกเล่น จากนั้นได้พายเรือพบศพเด็กหญิงร่างหนึ่ง ตอนแรกเขาต้องการใครสักคนมาช่วยแต่เมื่อเหลือบเห็นสร้อยทองคำที่ข้อมือเด็กน้อย เขาตื่นเต้นเป็นอย่างมากและตัดสินใจรูดสร้อยเส้นนั้นออก เมื่อเขาก้มลงพบตุ๊กตาที่เก็บได้เมื่อครู่ ด้วยความกลัวจึงโยนทิ้งไปและกลับบ้านด้วยความดีใจการเปิดเรื่อง ผู้แต่งเปิดเรื่องว่า “เขาพายเรือเพรียวบางและว่างเปล่า ทวนกระแสน้ำกลับบ้านอย่างไม่เร่งร้อนนัก แม้ดวงตะวันจะคล้อยลับแนวไม้เหนือพุ่มพฤกษ์ริมฝั่ง บอกสัญญาณใกล้จะค่ำในอีกไม่ช้านานนี้ เขาก็คงพาเรือแล่นบนผิวน้ำไปเรื่อยๆ แล่นตามแรงพายที่อ่อนล้า ช้าเนิบ…เขารู้สึกเหนื่อยหน่ายแม้ใจอยากไปให้ถึงบ้านก่อนค่ำก็ตามที” (หน้า ๓๐)
เป็นการเปิดเรื่องที่ตรงกับชื่อเรื่อง ซึ่งเหตุการณ์ต่อไปก็จะใช้วิธีการค่อย ๆ บอกรายละเอียดของ ตัวละครเอกผ่านการพรรณนาไปเรื่อยๆ ทำให้ทราบว่า “เขา” ที่พายเรือนั้นคือคนขายแตงโม ซึ่งมีรายได้น้อยนิดจากการขายเหมาแตงโมที่ตลาด เขาไม่มีเงินเก็บพอที่จะซื้อเสื้อมาฝากเมีย และของเล่นสำหรับลูกสาว
การดำเนินเรื่องเรื่องดำเนินไปโดยคำพรรณนาของผู้เขียนซึ่งปูเรื่องไปจนถึงปมปัญหาของเรื่อง นั่นคือ การพบตุ๊กตายางสำหรับเด็กที่ลอยน้ำมา ทำให้เขาดีใจที่จะได้นำไปให้ลูกสาว ผู้แต่งพรรณนาไว้ว่า“ตุ๊กตายางใหม่เอี่ยมตัวนี้ไหลมากับลำคลองสายนี้และไม่มีใครเป็นเจ้าของเกินกว่าที่เขาจะใส่ใจ และคิดไปให้ยากลำบาก ลำน้ำสายนี้ได้เดินทางมาไกล ผ่านตำบล หมู่บ้านและเมืองต่าง ๆ มามาก กว่าจะมาถึงที่นี่ เป็นโชคดีของลูกที่ตุ๊กตาตัวนี้สู้อุตส่าห์แอบซ่อนมากับกอสวะ รอดพ้นสายตาเรือพายและบันไดท่าน้ำของผู้คนมาได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหวนนึกถึงเด็กผู้เป็นเจ้าของตุ๊กตาที่แท้จริง เขาวาดภาพเห็นเด็กน้อยยืนร้องไห้เมื่อทำตุ๊กตาที่แสนรักหล่นลงในน้ำ คงคล้ายๆ กับลูกสาวของเขาทำแตงโมสักชิ้นหล่นลงเปื้อนฝุ่นดิน และไม่รู้จะทำอย่างไร เขารู้สึกเสียดายแทนเด็กน้อยผู้เป็นเจ้าของตุ๊กตาบ้างเหมือนกัน” (หน้า ๓๒ บรรทัดที่๓ - ๘) เรื่องดำเนินไป ทำให้เราทราบว่า พ่อค้าแตงโมคงจะนำตุ๊กตายางกลับไปให้ลูกสาว แต่จริงๆ เรื่องเพิ่งจะเริ่มต้น ผู้แต่งพรรณนาบรรยากาศบนท้องน้ำเมื่อยามค่ำคืนไว้อย่างน่าวังเวง “เขายังเลาะริมฝั่งคลองไปเรื่อยๆ จนสุมทุมพุ่มไม้ถูกกลืนอยู่ใต้เงาของกลางคืนจนหมดสิ้น บางครั้งนกกลางคืนตกใจส่งเสียงร้องบาดหู กระพือปีกสีดำแล่นถลาออกจากพงหญ้าที่ซุกซ่อน แล้วบินข้ามหัวลับหายไปยังฝั่งคลองตรงกันข้าม ฝูงหิ่งห้อยวะวับแวมแตกกระจายปลิวไปคล้ายประกายไฟตกลงเบื้องหลังพงอ้อกอแขม และเสียงหึ่งๆ ของแมลงหลากหลายที่เรือพายเข้าใกล้ฟังคล้ายคนครวญครางน่ารำคาญอยู่ใกล้หู หลายครั้งที่ความเปล่าเปลี่ยวแล่นจับหัวใจเขาฉับพลัน” (หน้า ๓๒ บรรทัดที่ ๑๖- ๒๒)การสร้างปมขัดแย้งผู้แต่งใช้การสร้างปมขัดแย้งภายในจิตใจมนุษย์ คือ “เขา” ในเนื้อเรื่องที่กล่าวถึง “แล้วเขาก็ได้พบศพเด็กลอยน้ำ” ทำให้การผูกปมแน่นขึ้นไปอีก “ …แน่ะ ! ศพมันอยู่ตรงนั้นเอง เจ้าของกลิ่นมหาวายร้ายลอยเท้งเต้งติดสวะอยู่ใต้เงาของไทรใหญ่ต้นนั้น” ( หน้า ๓๓ บรรทัดที่ ๓- ๔) “ปรายสายตาเพียงแวบเดียว เขาก็คิดจะเหเรือออกมาห่างอยู่หรอก เพราะกลิ่นนั้นได้ส่งตลบทั่วบริเวณ แต่แล้วก็มีอันให้ชะงักงัน เบิกดวงตาค้างนิ่งอยู่กับซากที่ลอยหมกอยู่กับกองสวะอย่างไม่อยากเชื่อ คน ! ….ศพคน ! ….เขาอุทานในใจด้วยความตกใจสุดขีด” (หน้า ๓๓ บรรทัดที่ ๕- ๘) ไม่เพียงแต่เท่านี้ผู้แต่งยังเพิ่มปมให้แน่นขึ้นโดยให้ผู้อ่านพบความตื่นเต้น “เขาเบือนหน้าหลบไปแล้ว เหลือบกลับมามองอีกก็โดยไม่ตั้งใจนัก อย่างฉับพลัน ดวงตาเขากลับเบิกกว้างขึ้นยิ่งกว่าเก่า ที่ข้อมือบวมฉุของเด็กน้อยนั้นผูกโดยรอบด้วยเส้นสายเล็กๆ แสงเดือนอันค่อนสว่างทำให้เลือดในกายเขาฉีดแรง หัวใจพองโตไหวหวั่นจนทำอะไรไม่ถูก ทองคำ ! เขาร่ำร้องในใจ และใช้พายเขี่ยศพเข้ามาใกล้ขึ้นอีก” (หน้า ๓๓ บรรทัดที่ ๒๓- ๒๖) พ่อค้าแตงโมเกิดความอยากได้สร้อยข้อมือนั้นเพื่อจะได้ไปแลกเป็นเงินมาซื้อของให้ลูกให้เมีย เขาคิดว่าเป็นของที่เขาควรได้เพราะเขาพบศพเป็นคนแรก ไม่มีใครรู้เห็น สร้อยนั้นมีความหมายสำหรับชีวิตจน ๆ อย่างเขา เขาจึงตัดสินใจ จากเนื้อเรื่องกล่าวว่า “จึงกลั้นลมหายใจใช้มีดบางสำหรับเจาะแตงนั้น กรีดไปตามข้อและนิ้วมือของศพที่ฉุบวมจนจวนจะกลบสายสร้อยเส้นนั้นให้จมหายไปกับก้อนเนื้อ เนื้อยุ่ยๆ ค่อนข้างเละได้หลุดออกจากกันจนเละเห็นกระดูก ส่งกลิ่นเหม็นกระจายฟุ้ง จนเขาต้องสำลักออกมา และกว่าจะรูดสร้อยเส้นเล็กและเบาบางให้มาอยู่ในมือของเขาได้ เขาถึงกับรากแตก กลิ่นเหม็นของศพดูจะติดมือ ติดมีด และติดอยู่ตามทั่วกายของเขา เขาโก่งคออาเจียนแล้วล้างมือไปด้วย ทุกอย่างไหลไปตามน้ำกับชิ้นเนื้อข้อมือของเด็กน้อย ลอยลับเรื่อยๆ เอื่อยไปตามแรงของ ลำน้ำ” (หน้า ๓๔ - ๓๕ บรรทัดที่ ๑๙- ๒๖) จากเนื้อเรื่องข้างต้น ผู้แต่งสร้างปมให้ตัวละครเกิดความขัดแย้งภายในจิตใจตน ทำให้ตัวละครเกิดความสับสน ตอนแรกนั้นชายขายแตงโมไม่คิดว่าตนจะอยากได้อะไรจากศพเด็กหญิงคนนั้น เพียงแต่เขาจะเข้าไปดูเฉยๆ แต่เมื่อเขาเห็นสร้อยข้อมือทองคำจากศพเด็กหญิงคนนั้น เขากลับอยากได้มัน เพราะเป็นสิ่งที่มีค่า สามารถทำให้ชีวิตและครอบครัวเขาดีขึ้นได้ จึงตัดสินใจ กรีดเอาสร้อยข้อมือโดยไม่คิดอะไร เป็นเช่นนี้เพราะอาจเกิดจากความพึงพอใจของตนโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและศีลธรรม การปิดเรื่อง ปิดเรื่องหลังจากถึงจุดไคลแมกซ์คือการนำสร้อยทองออกจากข้อมือศพเด็กแล้ว ดังในเนื้อเรื่องตอนท้ายว่า “เขาไม่มีเวลาจะคิดว่าศพของเด็กน้อยผู้นี้ลอยมาจากไหนแน่ จะมีใครเป็นพ่อแม่จะมีโอกาสรู้หรือเปล่า? ภายในใจส่วนลึกเขาเพียงแต่รู้สึกสลดและเสียใจให้กับโชคชะตาของมนุษย์บ้างเล็กน้อยเท่านั้น ต่อจากนั้น เขาก็เร่งพายจ้ำถี่กระทบน้ำดังสะท้านไปภายใต้แสงดาวยามค่ำอย่างเริงใจ” (หน้า ๓๕ บรรทัดที่ ๑๑- ๑๕) นับเป็นเรื่องสั้นที่พรรณนาเรื่องตรึงผู้อ่านให้อยู่กับเหตุการณ์สั้น ๆ เพียงเหตุการณ์เดียว ทำให้ผู้อ่านพลอยขนลุกและตื่นเต้นไปกับตัวละคร และอาจมีความรู้สึกร่วมไปกับการกระทำของตัวละคร มีข้อขัดแย้งภายในใจเขา แต่ก็เห็นใจพ่อแม่ของเด็กด้วยแก่นเรื่อง แก่นเรื่องของเรื่องสั้น “บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ” ผู้เขียนได้วางแก่นเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของมนุษย์ความอยากได้อยากมีของคนในสังคมโดยเฉพาะการใช้ชีวิตในสังคม เพื่อดิ้นรนให้ชีวิตตนได้ในสิ่งที่ปรารถนา เปรียบเสมือน กระจกสะท้อนสังคมให้เห็นถึงผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีต่อประชาชน สอนวิธีคิดของมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยม เน้นความสำคัญของวัตถุมากกว่าจิตใจ นำเสนอความพยายามของมนุษย์ในการดิ้นรนเพื่อให้ตนเอง “มี” อย่างคนอื่น “มี” การให้ความสำคัญกับเงินเป็นใหญ่ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเอารัดเอาเปรียบกันเพราะ “ความไม่มีเงิน” จึงอยากมีเท่าคนอื่น ทำทุกวิธีการให้ได้มาโดยศีลธรรมในจิตใจไม่อาจต้านได้ และอาจเปรียบกับสำนวนได้ว่า “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” เพราะบางทีคนเราไม่มีทางเลือกทุกคนจึงต้องหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อเลี้ยงปากท้องของตัวเองพยายามหาพื้นที่ทางสังคมให้ตัวเองยืนอยู่ได้และเป็นที่ยอมรับจากคนในสังคม นอกจากนั้นผู้เขียนยังได้แทรกเรื่องราวให้เห็นถึงความเห็นแก่ได้ของคนในปัจจุบันซึ่งพบเห็นได้มาก ผู้แต่งจึงถ่ายทอดผ่านพฤติกรรมของตัวละครได้เป็นอย่างดีตัวละคร ตัวละครเอกของเรื่อง คือ “ชายขายแตงโม” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่องและเป็นตัวละครที่มีความขัดแย้งภายในจิตใจของตนเอง ชายขายแตงโมจัดเป็นตัวละครประเภทหลายลักษณะหรือตัวละครแบบกลม เพราะมีลักษณะนิสัยทั้งด้านดีและไม่ดี จะเห็นได้ว่าด้านดีของชายขายแตงโม คือ ผู้ที่มีความรับผิดชอบ หาเลี้ยงครอบครัว ต้องการให้ลูกและภรรยาสุขสบาย มีทรัพย์สินเหมือนคนอื่น ๆ เป็นผู้ที่รักครอบครัว ส่วนในด้านที่ไม่ดี คือ เป็นคนที่มีความขัดแย้งภายในจิตใจ เห็นได้จากเนื้อเรื่องว่าเขามีความคิดกับตนเองว่า ศพที่ลอยมานั้นเป็นลูกใคร พ่อแม่เด็กคนนั้นจะรู้หรือไม่ว่าลูกตัวเองเสียชีวิต ภายในใจส่วนลึกเขาเพียงแต่รู้สึกสลด และเสียใจกับโชคชะตาของเพื่อนมนุษย์บ้างเล็กน้อย ซึ่งขัดกับการกระทำของเขา คือ เห็นสิ่งภายนอกมีค่ากว่าสิ่งอื่นใด ผู้เขียนจึงสร้างตัวละครนี้สะท้อนคนในปัจจุบันที่เห็นแก่ได้ เห็นค่าของสิ่งนอกกายมากกว่าความรู้สึกของผู้อื่น ทั้งยังแสดงให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อมของตัวละคร ส่วนตัวละครประกอบนั้น เป็นเพียงตัวละครที่ช่วยให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างสมจริงกับพฤติกรรมที่ตัวละครหลักได้แสดงออกมา เพื่ออรรถรสของผู้อ่านและความสมจริงของเนื้อเรื่องบทสนทนา บทสนทนาในเรื่องนี้ผู้เขียนใช้เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร โดยเฉพาะบทสนทนาของชายขายแตงโมกับพ่อค้ารับเหมา ทำให้เนื้อเรื่องมีความสมบูรณ์ ดังบทสนทนาต่อไปนี้ “เงินมันเล็กน้อยเหลือเกิน เอาไว้คราวหน้าเหอะ! เขาต้องบอกเมียอย่างนั้น และไม่ไหวเห็นใบหน้าอันผิดหวังของหล่อนเหมือนเช่นเคย เงินเล็กน้อยอย่างนี้ เราควรเก็บเอาไว้ถึงคราวจำเป็น” ( หน้า ๓๐) “ขายให้เขาเหอะแกขายเองมันก็จะเหลือเน่าทิ้งคลองเปล่าแกจะเสียดายมากกว่านี้” (หน้า ๓๑) จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นบทสนทนาที่พ่อค้าแตงกระซิบบอกคนขายแตงโม บทสนทนานี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนหรือตัวละครในเรื่อง มีการดำรงชีวิตอยู่กับแม่น้ำลำคลองต้องพายเรือขายของ ถ้าหากมองอีกมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งที่คุณไม่ต้องการแล้วมักจะทิ้งลงแม่น้ำ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของตัวละครใน เนื้อเรื่อง “ต่อไป เราจะต้องปลูกแตงโมให้ได้มากกว่านี้สองหรือสามเท่า แกจะได้มี เสื้อลูกไม้สวยๆใส่ไปวัดซะทีหนึ่งลูกก็จะได้ตุ๊กตามาเล่นเหมือนกับลูกคนอื่นเขา” เป็นบทสนทนาที่ชายขายแตงโมกับภรรยา แสดงให้เห็นว่าตัวละครในเรื่องต้องการมีในสิ่งที่ตนยังไม่มี คิดทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เงิน เพราะเงินสามารถซื้อทุกอย่างที่เขาต้องการได้ เขาต้องอดทนต่อความเหนื่อย ใช้เวลารอคอย หล่อนสามารถรอได้เพราะเรามาทั้งชีวิตก็รอมาแล้ว ชายขายแตงโมเขาได้สัญญากับภรรยาก่อนจะมาอยู่กินด้วยกันว่า เขาต้องมีสร้อยข้อมือทองคำอร่ามอวดเพื่อนบ้าน จากบทสนทนาทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความประสงค์ของตัวละครที่ผู้แต่งตั้งให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง เมื่อผู้อ่านแล้วทำให้ทราบถึงจุดประสงค์ได้อย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าบทสนทนาในเรื่องบนท้องน้ำเมื่อยามค่ำกระชับได้ใจความ เหมาะกับความเป็นเรื่องสั้น ทั้งนี้ ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่แน่นอนว่าจะใช้บทสนทนาเพื่อบอกความรู้สึกความอยากได้ อยากมีของตัวละคร เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงระบบทุนนิยม คือ เห็นค่าของเงินหรือสิ่งนอกกายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมอันดีงาม จึงใช้บทสนทนาและความรู้สึกของตัวละครได้อย่างชัดเจน และยังใช้เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการช่วยคลายปมของเนื้อเรื่อง จึงนับได้ว่าผู้แต่งใช้บทสนทนาให้สอดคล้องกับโครงเรื่องได้เป็นอย่างดี

มุมมอง ในเรื่องสั้น “บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ” เป็นการเล่าในลักษณะของสายตาตัวละครชายขายแตงโม คือ “เขา” โดยผู้แต่งใช้ เขาเป็นผู้เล่าเรื่อง ซึ่งเป็นการเล่าของตัวผู้เขียนเพื่อให้เห็นภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ การเล่าเรื่องของผู้เขียนนั้นมีการแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของคนในสังคมว่ามีความคิด พฤติกรรมแบบทุนนิยม มักให้ความสนใจกับสิ่งนอกกายมากกว่าคุณค่าทางจิตใจ การมองข้ามความถูกต้อง ศีลธรรม หากมองอีกมุมหนึ่งผู้แต่งใช้ตัวละคร “เขา” เล่าให้เห็นถึงความ อยากมี อยากได้ของคน ผู้แต่งจึงใช้ตัวละคร “เขา” เป็นผู้ที่หาเลี้ยงครอบครัว เป็นเสาหลักของบ้านเพื่อแสดงให้เห็นถึงความรัก ความเอาใจใส่ของหัวหน้าครอบครัว อีกด้วยฉากและบรรยากาศ เรื่องสั้นเรื่องนี้ถูกจัดอยู่ในเรื่องสั้นเน้นฉากและบรรยากาศ อ่านแล้วทำให้มองเห็นภาพเหตุการณ์ที่ได้รับรถความรู้สึกนึกคิดของตัวละครที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ จุดเด่นอยู่ที่การใช้ภาษาพัฒนาเห็นภาพและได้รับรสความรู้สึกที่ชัดเจน แล้วเรื่องสั้นเรื่องนี้เน้นฉากและบรรยากาศถึง ๘๐% ผู้แต่งพรรณนาฉากอย่างโดนเด่น มีการใช้คำแสดงประสาทสัมผัสทั้ง ๕ อย่างชัดเจน คือ ผู้อ่านจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รถและได้สัมผัส เสมือนว่าผู้อ่านได้ร่วมในเหตุการณ์นั้นจริงๆ ดังเนื้อเรื่องที่ทำให้ ได้รับรถมากที่สุด กล่าวว่า “ท่ามกลางเสียงแมลงกลางคืนสารพัดชนิดรองรับนมอยู่บนฝั่ง เขาฟังคล้ายเสียงสวดมนต์ สาธยายให้กับคนตายหน้าโลงศพ สักพักหนึ่งจึงกลั้นลมหายใจ ใช้มีดบางสำหรับเจาะแตงนั้น กรีดไปตามข้อและนิ้วมือของศพที่บวมจนจวน จะกลับสายสร้อยเส้นนั้นให้จมหายไปกับก้อนเนื้อ เนื้อยุ่ยๆค่อนข้างเล็บได้หลุดออกจากกันจนเห็นกระดูก ส่งกลิ่นเหม็นกระจายฟุ้งจนต้องสำลักออกมา และกว่าจะรู้ว่าใส่สร้อยเส้นเล็กและเบาบางให้มาอยู่ในมือของเขาได้ เขาถึงกับรากแตก กลิ่นเหม็นของศพจะติดมือติดมีด และติดตามทั่วไปของเขา” ฉากและบรรยากาศที่ได้กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่าผู้แต่งพรรณนาให้รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกไปกับตัวละครและเนื้อเรื่อง ผู้แต่งเลือกใช้ภาษา สื่อให้เห็นภาพ การเลือกคำที่ได้ใจความสื่อความหมายเจาะในการพัฒนาฉากริมสองฝั่งลำน้ำ ผู้เขียนนำความรู้ทางทัศนศิลป์เข้ามาช่วยโดยเฉพาะการใช้แสง สี และเงาภาพที่บรรยายถึงความงามทางทัศนศิลป์แฝงอยู่ จากเนื้อเรื่องหน้า ๓๑ ความว่า “นกเป็นฝูงบินกลับรังผ่านขอบฟ้าสีส้มเหนือทุ่งนาไกลริบ ตะวันคล้อยลงเหลี่ยมเขา แมกไม้สองข้างริมฝั่งเกิดเงาง้ำถูกสีดำเข้ายึดครองเป็นหย่อมตรงเวิ้งน้ำข้างหน้า ควันไฟรถคิวไหมถึงหายไปกับฟ้าสีซีด…” นอกจากนี้ตั้งแต่เปิดเรื่องมาจะเห็นได้ว่า ผู้แต่งเน้นแสงจันทร์รำไรอยู่เสมอ ความมืดสลัวทำให้ผู้อ่านตื่นเต้นและลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น เสียงจักจั่นเรไรร้องระงม เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความ โดดเดี่ยว น่ากลัวและทำให้การพบศพเด็กหญิงของชายขายแตงโมนั้นสมจริงยิ่งขึ้น อีกทั้งกลิ่นศพของเด็กหญิง ขณะที่เขากรีดข้อมือเพื่อรูดเอาสร้อยออกมานั้น ทำให้ผู้อ่านพะอืดพะอมและนึกภาพตามจะเห็นได้ว่าฉากและบรรยากาศในเวลานี้เพื่อต่อการกระทำของเขาเป็นอย่างมาก ฉะนั้น ฉากที่สำคัญของเรื่องนี้ คือ ฉากที่ชายขายแตงโมกรีดข้อมือศพเด็กหญิงเพื่อเอาสร้อยทองคำกลับบ้าน เป็นฉากที่เหมาะสมและสอดรับกับโครงเรื่อง เพราะใช้ผู้นี้ขายแตงโมได้เงินน้อยด้วยความอยากมี เพื่อครอบครัว เพื่อความสุขของลูกและภรรยา เขาจึงถูกความเห็นแก่ได้ครอบงำ ถือได้ว่าฉากนี้มีความสอดคล้องกับโครงเรื่อง เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้งหมดของเรื่องแล้ว จะเห็นได้ว่าทุกองค์ประกอบสอดคล้องกันอย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นโครงเรื่อง ตัวละคร แนวคิดหรือแก่นเรื่อง บทสนทนา มุมมอง รวมทั้งฉากและบรรยากาศ ผู้เขียนได้ทำให้ทุกองค์ประกอบมีความสัมพันธ์กันและสำคัญต่อกัน ไม่สามารถขาดส่วนใดส่วนหนึ่งได้ อีกทั้งในแง่ของการใช้สำนวนภาษา ก็มีความชัดเจน พัฒนาให้เห็นถึงเรื่องราวได้อย่างเข้าใจ รับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้แต่งในตัวละคร ทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการตามได้อย่างไม่ติดขัด ในส่วนของการพรรณนา ทำให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของชายขายแตงโมได้เป็นอย่างดี ส่วนบทสนทนาใช้ได้เหมาะสมกับฐานะและบุคลิกภาพของตัวละครที่วางไว้ บทสนทนาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าใจเนื้อเรื่องมากยิ่งขึ้น จึงกล่าวสรุปได้ว่า เรื่องสั้นบนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนสามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจ คล้อยตามกับความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ทั้งยังให้ความชัดเจนในแนวคิดและสะท้อนสังคมแบบทุนนิยม ได้เป็นอย่างดี

หมายเลขบันทึก: 688145เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2021 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2021 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท