ชุมชนบาโงยซิแน


ชุมชนบาโงยซิแน อีกภาพสะท้อนของความรัก-เข้าใจ ของผู้คนต่างศาสนิกชน

 ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนระอุของชายแดนใต้ที่เกิดเหตุร้ายทุกวันจนกลายเป็นเรื่องปกติของผู้คนในพท.   ชีวิตผู้คนทั่วไปยังดำเนินไปตามครรลองในแต่ละวัน  เหตุร้ายที่เกิดขึ้นได้ทำลายชีวิตและบั่นทอนจิตใจของผู้คน หากชีวิตยังมิดับสิ้นไป  ทุกคนในพื้นที่ยังต้องรับรู้ความเป็นจริงที่เป็นอยู่และยอมรับถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่บ่อยครั้งได้สร้างความเจ็บปวดต่อผู้คนรอบข้างชุมชนตัวอย่างอย่าง บาโงยซิแนเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อ.ยะหา จ.ยะลา ที่เป็นเขตที่มีเรื่องราวและสถานการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายครั้ง จนเจ้าหน้าที่รัฐต้องประกาศใช้เคอร์ฟิวเพื่อควบคุมเหตุร้ายในพท.  หากในชุมชนบาโงยซิแนแทบจะไม่มีเรื่องราวของความรุนแรงปรากฏออกมา ด้วยความเข้มแข็งและความร่วมมือร่วมใจ สามัคคีกันของผู้คนในชุมชนจึงทำให้บาโงยซิแนมีความสงบสุขเช่นทุกวันนี้

การทำงานทุกอย่างเช่นกันหากเริ่มต้นด้วยความรัก ความตั้งใจ ถือว่าสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือเป็นการประสานงานหรือมีความร่วมมือต่างๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบทำให้งานนั้นลุล่วงไปด้วยดี  การทำงานอาสาสมัครยิ่งเป็นงานที่ต้องเริ่มต้นมาจากความรักความตั้งใจอย่างแท้จริง อย่างที่ นิเด๊าะ อิแตแล ประธานกลุ่มสตรีบาโงยซิแน แกนนำคนสำคัญในการพัฒนาชุมชนแห่งนี้ เป็นที่รู้จักของสังคมทั่วไปในความตั้งใจของนิเด๊าะเกี่ยวกับการทำงานของเธอนางนิเด๊าะ อิแตแล บอกเล่าถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมาว่า เริ่มต้นทำงานด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2537 จากการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของหมู่ที่ ช่วงนั้นมีครูมาสอนและอบรมด้านอาหารสุขภาพ และเผยแพร่ความรู้ให้คนในชุมชนจากนั้นได้จัดตั้งกลุ่มทำขนมหลายอย่างทั้งทองม้วน ทองพับ ทุเรียนทอดกรอบ มะพร้าวอบน้ำผึ้ง ข้าวเกรียบ ช่วยกันทำช่วยกันขายแบ่งรายได้กันประมาณ 1 ปี  จึงจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านบาโงยซิแน ลงเงินกันคนละ 50 บาทเพื่อซื้อวัตถุดิบ ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยความไม่รู้อะไรโดยเริ่มจากการทำข้าวเกรียบฟักทองเป็นหลัก มีเจ้าหน้าที่ของเคหกิจเกษตรมาสอน ทำอย่างนั้นมา 2 ปี โดยไม่มีสถานที่หรืออุปกรณ์เป็นเรื่องเป็นราว ต่างคนต่างขนกันมาทำแล้วขนกลับ ทางอำเภอยะหาเห็นถึงความตั้งใจและความสามัคคี และทางเกษตรอำเภอให้งบประมาณมา 2 แสนบาทสร้างอาคารเป็นที่ทำการถาวรในการทำงานช่วงแรกมีอุปสรรคด้านภาษาที่นิเด๊าะและเพื่อนๆ ตั้งใจและพยายามจนผ่านพ้นไปด้วยดีกับความสำเร็จ “ช่วง 2 ปีแรกมีครูมาสอนเป็นภาษาไทย เราพูดภาษายาวี ฟังภาษาไม่เข้าใจกัน  สื่อสารกันไปคนละเรื่อง กว่าจะลงตัวต้องใช้เวลาอดทนเรียนรู้ ซึ่งเราก็ทำได้ จากนั้นทางอำเภอได้คัดเลือกผู้นำชุมชน แม่บ้านและสตรีไปดูงานที่ปีนังเพื่อนำความรู้กลับมาเผยแพร่ให้ชุมชนเหตุผลของนิเด๊าะในการทำงาน เธอบอกว่าต้องมาจากความชอบหรือความรัก บวกกับความตั้งใจที่แน่วแน่ว่างานทุกอย่างจะสำเร็จได้ “ฉันเริ่มทำงานจากความชอบและความตั้งใจ ไม่ได้คิดถึงเงินมาก่อน เราอยากได้ความรู้ และสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นได้ ทุกคนอยู่และทำงานกันอย่างเสมอภาค ไม่มีการยึดติดตำแหน่ง ฉันเป็นคนกลาง ช่วยประสานงานคนในชุมชนและเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรจากองค์กรอื่น เราพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนหรือขอความร่วมมือมา “ดีใจที่ทุกคนในชุมชนให้ความร่วมมือทุกด้านเป็นอย่างดี เรามีความเป็นกลางเท่าเทียมกัน สร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน มีกฎกติกามาใช้ จัดประชุมเพื่อรับทราบปัญหาและหาทางพัฒนา เพราะเรามองตัวเองไม่เห็นต้องให้คนอื่นมองสะท้อนความคิดเขาเพื่อย้อนกลับมาพัฒนาตัวเรา นิเด๊าะ กล่าวว่าเมื่อตั้งใจแล้วหากลงมือปฏิบัติจริง ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการทำงานด้านนี้และสามารถพัฒนาขีดความสามารถของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี “ต้องสร้างความเข้าใจกับทุกคนก่อนว่ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร ผลที่ได้รับเป็นอย่างไร ผู้หญิงสามารถทำงานเช่นนี้ได้อย่างดีโดยต้องบริหารจัดการและได้รับความยินยอมจากครอบครัวเสียก่อน เมื่อครอบครัวสนับสนุนจะเป็นพลังที่เข้มแข็งให้ผู้หญิงในการออกมาทำงานเช่นนี้การไปศึกษาดูงานจากที่ต่างๆ ทำให้ได้ยกระดับความรู้ของตนเอง เราสามารถก้าวไปสู่สังคมภายนอกได้สำเร็จ กล้าแสดงออกและบอกเล่าถึงวิถีชีวิตของเราได้ โชคดีที่บาโงยซิแนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายให้การสนับสนุนและผู้คนในชุมชนเห็นความสำคัญทำให้สามารถรวมกลุ่มกันได้และเกิดความสามัคคี โดยการทำงานด้านนี้ สำคัญที่สุดคือใจต้องมาก่อน มีใจอาสา รักและช่วยเหลือกันและกันเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้เยาวชนได้เห็นและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่พวกเขานิเด๊าะตั้งใจและหวังว่าบาโงยซิแนจะเป็นชุมชนต้นแบบแก่ชุมชนอื่น พร้อมแนวคิดในการทำงานพัฒนาในพื้นที่และสถานการณ์ของภาคใต้ฉันหวังจะขยายเครือข่ายความร่วมมือไปอย่างน้อยให้ได้สัก 70 เปอร์เซ็นต์ของจังหวัดยะลา บาโงยซิแนเป็นชุมชนสันติสุขและชุมชนต้นแบบที่หลายอำเภอสนใจ มีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนและสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนอย่างเต็มที่ ต้องมีการร่วมมือทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชน มีการอบรมให้ความรู้ในทุกด้าน ทุกครอบครัวให้การสนับสนุน บาโงยซิแนมีเครือข่ายพัฒนาองค์กรที่ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อสร้างชุมชนสมานฉันท์เกิดชุมชนสันติสุข (ดารุสสลาม) ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมานางเล่าว่าวิถีชีวิตแต่ละชุมชนไม่เหมือนกัน ต้องมีการทำความเข้าใจในชุมชน อยากให้รัฐมองแกนนำของชุมชนเป็นหลัก อย่ามองแต่ด้านการปกครอง อยากให้มีความเสมอภาค ไม่ว่าพุทธหรือมุสลิมเป็นหัวหน้า ทุกอย่างเกิดจากแกนนำ หากสองอย่างทำงานประสานกันได้เร็วก็จะเกิดประโยชน์แก่ชุมชนมากและเร็วขึ้น การทำงานด้านนี้จึงงต้องใช้ความอดทนอย่างมากในการทำงานให้สำเร็จ คนที่จะมาอยู่หรือทำงานในสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องเข้าใจวิถีชีวิตของท้องถิ่นและชุมชน ลงไปสัมผัสความเป็นจริง มิใช่อยู่แต่ในตัวเมือง แม้จะเกิดเหตุการณ์อย่างไรพวกเราก็ต้องมีชีวิตต่อไป ต้องแยกให้ได้ว่าเหตุไหนเป็นสถานการณ์หรือเรื่องส่วนตัว มองถึงภาพรวมที่ดีของชีวิตผู้คนอีกมากมาย อยากให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง ชายแดนใต้ต้องการการสนับสนุนจากหลายองค์กรและหน่วยงานในการพัฒนาอีกมากเป็นความหวังและความต้องการของนิเด๊าะที่อยากให้เป็นจริงความเป็นจริงที่นิเด๊าะอยากเห็นคงไม่ไกลเกินเอื้อม หากทุกคนมีความรัก ความเข้าใจ พร้อมสามัคคี ไม่ให้ฝ่ายใดมาฉุดรั้งความสัมพันธ์ให้ขาดกันดังเช่นที่พยายามกันอยู่ในทุกวันนี้ ถึงเวลาที่ทุกคนทุกชุมชนต้องมองกลับมายังความจำเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ เมื่อมีความพอเพียงในจิตใจ ร่างกายและสภาพแวดล้อมก็จะพอเพียงตามกันไป ความพอดีของชีวิตเกิดขึ้น ความสันติสุขตามมา เป็นสิ่งที่ทุกชีวิตต้องการ 

 

หมายเลขบันทึก: 68192เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2006 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาอ่าน และเป็นกำลังใจให้คนทำงาน เพราะเคยทำงานในชุมชนบาโงยซิแนเช่นกัน จวบจนปัจจุบันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท