โครงการเบาหวานครบวงจรของ สปสช. : (๔)


คนทำงานหรือ “คุณกิจ” สนใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการทำงานจากกันและกัน

เมื่อวันที่ ๑๓-๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดแนวทางการดูแลโรคเรื้อรังและค่าใช้จ่ายสูง ปีงบประมาณ ๒๕๕๐ ของ สปสช.เขตภาคใต้ ที่โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี โดยไปร่วมเป็นวิทยากรในกลุ่มเตรียมการดำเนินการโครงการการดูแลรักษาเบาหวานแบบครบวงจร กิจกรรมการประชุมก็คล้ายๆ กับที่เคยจัดโดย สปสช.เขตภาคเหนือ (อ่านที่นี่)

ดิฉันเข้าประชุมในช่วงบ่ายของวันที่ ๑๓ เริ่มด้วยการนำเสนอการดำเนินงานของทีมเบาหวาน รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายทั้งการดูแลใน IPD, OPD, Home Health care และในชุมชน

หลังจากนั้นผู้เข้าประชุมแยกย้ายกันเข้ากลุ่มย่อยตามหัวข้อที่ตนเกี่ยวข้อง สำหรับกลุ่มเตรียมการดำเนินการโครงการการดูแลรักษาเบาหวานแบบครบวงจร มีผู้เข้าประชุมประมาณ ๒๐ กว่าคน คุณนงลักษณ์ บรรณจิรกุล Project Manager สังกัดสำนักบริหารจัดการโรคเฉพาะ สปสช.ได้กำหนดให้แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม

กลุ่มแรกให้ประชุมกันในหัวข้อรูปแบบและกิจกรรมการดำเนินการดูแลรักษาโรคเบาหวานแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของการคัดกรอง การรักษา การตรวจประเมินภาวะแทรกซ้อน การติดตามต่อเนื่อง การให้ความรู้ การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนระบบเครือข่ายการส่งต่อ กลุ่มที่ ๒ ให้ประชุมกันในหัวข้อระบบการลงทะเบียนผู้ป่วย/กลุ่มเสี่ยง ระบบการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ระบบการเบิกจ่ายเงิน/การจัดการทางการเงิน แต่ละกลุ่มให้คุยกันถึงการดำเนินการในปัจจุบันและในปีต่อไป ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการในโครงการ

ดิฉันรับผิดชอบกลุ่มแรก มีสมาชิก ๑๐ กว่าคน มาจาก รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.กันตัง รพ.แม่ลาน รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.เทพา รพ.ศูนย์ตรัง รพ.สงขลา รพ.ปัตตานี รพ.กาบัง และ รพ.สุไหงโก-ลก มีคุณนุชเนตร ชูโชติ จาก รพ.สุไหงโก-ลก ทำหน้าที่เป็นประธานและคุณอรัญญา ฤทธิเดช จาก รพ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ

สมาชิกจากแต่ละ รพ.ได้เล่าว่าทีมของตนได้ดำเนินการในแต่ละเรื่องอย่างไรบ้าง ถือโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไปในตัว เมื่อแต่ละที่เล่าจบเราก็มองเห็นได้เลยว่างานแต่ละเรื่องนั้นมีการดำเนินการที่แตกต่างกัน ไม่ต้องใช้เวลามากในการพูดถึงปัญหาและอุปสรรค เราก็สามารถให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้นได้ กลุ่มที่ ๒ ประชุมเสร็จก่อนกลุ่มของเราก็ขอเข้ามาร่วมรับรู้ด้วย ส่วนกลุ่มเราก็ขอให้กลุ่มที่ ๒ เล่าให้ฟังด้วยว่าคุยอะไรกันบ้าง ทำให้รู้สึกว่าคนทำงานหรือ “คุณกิจ” สนใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการทำงานจากกันและกัน เสียดายที่ทีมจากนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานีขอตัวกลับก่อนจึงอาจได้เรียนรู้จากทีมอื่นน้อยไปหน่อย

ต้องขอชมเชยประธานและเลขานุการกลุ่มที่สรุปเนื้อหาเพื่อการนำเสนอในวันรุ่งขึ้นได้อย่างกระชับและชัดเจนดีมาก

วันที่ ๑๔ ธันวาคม ดิฉันอยู่ร่วมประชุมจนกลุ่มเบาหวานนำเสนอเรียบร้อยแล้ว จึงเดินทางกลับกรุงเทพตอนเที่ยงกว่าๆ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 68040เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2006 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สอ.ป่าสักอยากได้สมุดบันทึกผ้ป่วยเบาหวานที่ สปสช.ให้โรงพยาบาลสัก 100 ชุดไม่ทราบจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

เรียนคุณจรูญ

คงต้องติดต่อ สปสช ดูค่ะ แต่ดิฉันคิดว่าลองให้ผู้ป่วยช่วยกันออกแบบสมุดบันทึกที่ตัวเขาจะใช้ประโยชน์ได้น่าจะดีกว่านะคะ

สมุดบันทึกที่ สปสช.ให้มา เป็นรูปแบบเหมือนกันทั้งหมด บางครั้งอาจไม่เหมาะสมในการใช้กับคนไข้ของเรา ที่รพ.ก็ปรับนิดหน่อย ให้สะดวกกับทั้งเจ้าหน้าที่ และ คนไข้

(เห็นด้วยกับอาจารย์วัลลาค่ะ)

แต่ได้รับสนับสนุนไม่เยอะนะคะ ประมาณ 1 ใน 3 ของยอดคนไข้

คิดว่า รพ.วังชิ้นน่าจะมีบางส่วน

แล้ว คุณสุวิชา สสจ. ได้ขอยอดผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดแจ้งให้ สปสช. เพื่อรับการสนับสนุนเพิ่มเติม ตั้งแต่ ม.ค.51 ตอนนี้ยังไม่ได้รับนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท