โครงการเบาหวานครบวงจรของ สปสช. : (๓)


คนทำงานในพื้นที่อยากเห็นระบบการคัดกรองที่เน้นเชิงคุณภาพ เพราะที่เป็นอยู่เน้นเชิงปริมาณเสียมากกว่า

เรื่องเดิม () (

ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ดิฉันได้เข้าประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาระบบการบริหารจัดการโรคค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรัง ภาคเหนือ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๐” ที่โรงแรมอัมรินทร์ลากูน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ที่จัดโดยสำนักบริหารจัดการโรคเฉพาะร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขตพื้นที่ พิษณุโลก นครสวรรค์ และเชียงใหม่

การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ ๒ ข้อคือ
๑. กำหนดรูปแบบการดำเนินงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังแบบครบวงจรในเขตพื้นที่ดังกล่าว ในปีงบประมาณ ๒๕๕๐ และ
๒. สร้างการรับรู้และความตระหนักในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงแบบครบวงจร ให้เกิดขึ้นในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หน่วยบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขตพื้นที่และเครือข่ายภาคประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น

ดิฉันกะจำนวนผู้เข้าประชุมจากสายตา คาดว่าเกือบ ๓๐๐ คน การประชุมในวันแรกช่วงเช้าเริ่มตั้งแต่ ๐๙.๐๐ น.มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ระบบบริบาลที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์” การบรรยายเรื่องแผนและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการโรคค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังปี ๒๕๕๐-๒๕๕๒ และภาคประชาชนและเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคค่าใช้จ่ายสูง ช่วงเช้านี้ดิฉันมีภารกิจที่หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พุทธชินราช จึงไม่ได้เข้าฟังด้วย

ภาคบ่าย เวลา ๑๓.๐๐-๑๔.๐๐ น.มีการนำเสนอประสบการณ์การทำ Disease Management กับการยกระดับคุณภาพการดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจร ของโรงพยาบาลศูนย์ลำปางและโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในกรณีโรคเอดส์และโรค Heart Failure หลังจากนั้น พญ.เขมรัศมี ขุนศึกเม็งราย ผู้อำนวยการ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ (เชียงใหม่) ทำหน้าที่ชี้แจงรายละเอียดการประชุมและรูปแบบการประชุมกลุ่มย่อย พร้อมทั้งบอกให้รู้ว่าในต่างประเทศการประกันสุขภาพมาก่อน HA แต่บ้านเรา HA เข้ามาก่อนการประกันสุขภาพ เหตุผลที่ต้องมีการบริหารจัดการโรค

หลังพักรับประทานอาหารว่าง ๑๔.๔๕-๑๗.๐๐ น.แยกย้ายกันเข้าประชุมกลุ่มย่อย ๘ กลุ่มได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจ ต้อกระจก วัณโรค เอดส์ โรคโลหิตวิทยา Metabolic disease และกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน ในแผนการประชุมที่เขียนไว้บอกว่าให้พิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่ เพื่อให้มีบริการครบวงจร การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการสร้างเครือข่ายมิตรภาพบำบัดในพื้นที่ สปสช.ได้ดำเนินโครงการ Disease Management ในกลุ่มโรคอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว แต่ของ Metabolic Disease ที่มีเบาหวานอยู่ด้วยนั้น เพิ่งจะเริ่มวางระบบ


ดิฉันร่วมทำหน้าที่เป็นวิทยากรกลุ่ม โรค Metabolic disease มีชื่อกลุ่มยาวๆ ว่ากลุ่มเตรียมการดำเนินการ Disease Management Metabolic Disease ในพื้นที่แบบ Population Base Health Management ร่วมกับ พญ.เขมรัศมี ขุนศึกเม็งราย และคุณนงลักษณ์ บรรจิรกุล การประชุมเริ่มด้วย พญ.เขมรัศมี ชี้แจงและให้ผู้เข้าประชุมแบ่งกลุ่มแบบนับ ๑-๒-๓ ออกเป็น ๓ กลุ่ม รับผิดชอบหัวเรื่องการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การให้ความรู้ และการรักษา ช่วงนี้ดูสีหน้าผู้เข้าประชุมเหมือนจะงงๆ กันอยู่ การจัดวงประชุมจึงไม่ค่อยคึกคัก ต่อจากนั้นมีการนำเสนอรูปแบบการดำเนินงานของหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พุทธชินราช รพ.เกาะคา รพ.เมืองชลบุรี และ รพ.น่าน เพื่อเป็นข้อมูลนำเข้า

ดิฉันทำหน้าที่เป็น group facilitator ของกลุ่มคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีสมาชิกทั้งที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการ ผู้แทนจาก สสจ. สคร. จำนวนสิบกว่าคน อาศัย “น้องเจี๊ยบ” (จำชื่อจริงไม่ได้) ทีมงานของคุณหมอนิพัธ กิตติมานนท์ มาช่วยทำหน้าที่บันทึกข้อมูล เราเริ่มกิจกรรมด้วยการให้ทุกคนแนะนำตนเอง ดิฉันเสนอให้ผู้ปฏิบัติงานจากแต่ละหน่วยบริการผลัดกันเล่าว่ามีวิธีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงอย่างไร วิธีการใดที่ใช้ได้ผลดี ปัญหาที่พบ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำระบบให้ดียิ่งขึ้น 

ดิฉันพบว่าแม้หน่วยงานเช่น สคร.จะบอกว่าการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมีมาตรฐานให้ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่วิธีการปฏิบัติของแต่ละพื้นที่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน คนทำงานในพื้นที่อยากเห็นระบบการคัดกรองที่เน้นเชิงคุณภาพ เพราะที่เป็นอยู่เน้นเชิงปริมาณเสียมากกว่า ต้องการให้มีระบบข้อมูลที่สามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงของประชากรแต่ละกลุ่มได้ ต้องการการ feedback กลับจากโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการที่มีแพทย์อยู่ว่าประชาชนที่ผ่านการคัดกรองแล้วส่งไปตรวจ confirm นั้น จริงๆ แล้วผิดปกติจำนวนมากน้อยเท่าใด หลายแห่งพบว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนยังน้อย และที่สำคัญคือ เขาบอกว่าปัจจุบันยังขาด package ที่เป็นรูปธรรมในการลดความเสี่ยง คนทำงานขาดประสบการณ์และทักษะในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยง พอได้ข้อมูลได้ข้อคิดเพื่อนำเสนอต่อ สปสช. เราปิดการประชุมกลุ่มย่อยเมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น.กว่าเล็กน้อย

การประชุมในวันที่ ๒ เริ่มในเวลา ๐๙.๐๐ น.อีกเช่นเคย เป็นการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อยของเมื่อวาน โดยช่วง ๔-๕ กลุ่มแรก นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการโรคเฉพาะ สปสช. ทำหน้าที่ชี้แจงเพิ่มเติม ตอบคำถามและบอกว่าจะทำอะไรต่อไป เมื่อใด กว่าจะนำเสนอกันครบหมดก็เลยเวลาเที่ยงไปมากแล้ว

การเข้าประชุมครั้งนี้ ทำให้ดิฉันเข้าใจ Disease Management Program และการทำงานของ สปสช.มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในฐานะคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและรูปแบบการดูแลรักษาโรคเบาหวานแบบครบวงจร

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 62060เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2006 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 07:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

     ถ้าข้อคิดในการทำกลุ่มวันนั้นได้รับการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรม คงจะเป็นประโยชน์ต่อ ผู้ปฏิบัติจริงและผู้ป่วยในโรคนั้นๆอย่างยิ่งนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท