เขียนประเด็นสัมภาษณ์ เกี่ยวกับ New Normal ให้กับวารสาร (จดหมายข่าว) มหาวิทยาลัยตัวเอง


น้องแมว นักประชาสัมพันธ์ที่มหาวิทยาลัย ส่งไลน์มาขอให้ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับ "โควิด-๑๙"
เพื่อนำไปลงวารสาร (จดหมายข่าว) ของมหาวิทยาลัย มีเวลาสัก ๒ - ๓ วัน
วันนี้ก็เลยมานั่งจุ๊กปุ๊กเพื่อนั่งเขียนที่บ้านแบบรวดเดียวให้เสร็จ

..

๑. ชื่อ-สกุล ...................... ตำแหน่ง ...........................

..

๒. รู้สึกอย่างไรหลังจากที่ในปัจจุบันเริ่มมีการปลดล็อค สามารถเข้าใช้บริการห้างสรรพสินค้าและร้านค้าและสถานบริการบางแห่งได้โดยไม่เคร่งครัดเหมือนช่วงแรก

ยังเป็นความรู้สึกถึง “ความไม่ไว้วางใจ” อยู่ดี เนื่องจากโควิด-๑๙ มีการแพร่เชื้อง่าย ระยะฟักตัวนาน ไม่แน่นอน อาการหลากหลาย ไม่มีอาการก็แพร่ได้ อัตราการตาย ประมาณ ๓% คนตายน้อย คนป่วยเยอะ แพร่เชื้อไปเรื่อย ๆ และยังไม่มีวัคซีน ตราบใดก็ตามที่คนป่วยในประเทศไทยยังมีค่าไม่เท่ากับ ๐ เราก็ยังคงไว้วางใจอะไรไม่ได้

..

๓. มีวิธีการป้องกันตนเองอย่างไรบ้างเมื่อต้องออกไปข้างนอก

  • หาเครื่องมือป้องกันโรคติดตัวเอาไว้ ได้แก่ “หน้ากากอนามัย” คือ เครื่องมือสำคัญสำหรับป้องกันโควิด-๑๙ อันดับหนึ่ง หมายถึงว่า ก่อนออกจากบ้านทุกครั้งจะใส่หน้ากากอนามัยเสมอ แถมไม่พอยังพกหน้ากากสำรองไว้ในกระเป๋าตะพายอีกต่างหาก เพื่อกันลืมอีกชั้นหนึ่ง เครื่องมืออีกชิ้น คือ เจล หรือ อัลกอฮอล์ล้างมือ ถ้าต้องไปจับอะไรก็ฉีดมือ หรือ ฉีดสิ่งของที่ถือมาด้วยสักหน่อย เช่น กรณีกดลิฟท์ เข้าห้องน้ำสาธารณะ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในสถานที่ชุมชนแออัดหรือหนาแน่น ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จะต้องใช้ “สติ” เดินให้ดี ไม่ไปชนหรือสัมผัสบุคคลอื่น ไม่อยู่ในกลุ่มคนแน่น ๆ และรีบทำภารกิจให้เร็วที่สุด แล้วจากไป
  • เมื่อกลับมาถึงบ้าน สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การล้างมือก่อนทำกิจกรรมอย่างอื่น ถ้ามากไปกว่านั้น คือ จะอาบน้ำทันที เนื่องจากที่บ้านมีผู้สูงอายุอยู่ ถ้าเราไม่เร่งดูแลตัวเอง เราก็ไม่สามารถจะดูแลคนที่เรารักได้ อีกอย่าง สถานการณ์แบบนี้ เราไม่สามารถเข้าไปหอม เข้าไปกอดได้ เพราะโควิด-๑๙ อาจติดมากับตัวเรา แล้วจะนำไปติดผู้สูงอายุอีกที ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่ท่านจะได้รับเชื้อเข้าไป

..

๔. การดำเนินชีวิต วิถีชีวิตในช่วงโควิดต่างจากเดิมอย่างไรบ้าง

  • ทำให้อยู่บ้านนานขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา เพราะโดยส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ที่ทำงานมากกว่าอยู่ที่บ้าน
  • การจะเดินทางออกจากบ้านไปไหนต้องคิดมากขึ้น เช่น สถานที่ที่จะไปนั้นแออัดไหม มีความเสี่ยงในการติดของโรคไหม และเตือนตัวเองเรื่องการป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลา
  • ชีวิตมีความสงบงามมากขึ้น มี “สติ” ในการใช้ชีวิตมากขึ้น มองโลกตามเป็นจริงมากขึ้น และได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท
  • เสียค่าใช้จ่ายกับเครื่องอุปโภคบริโภคมากกว่าเสียค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง การบำรุงรักษาพาหนะเดินทาง ค่าน้ำมัน
  • ใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือติดต่อสื่อสารสมัยใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องการทำงาน เครื่องมือเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญขึ้นมาในทันที เดิมก็สามารถใช้การติดต่อสื่อสารอย่างอื่นได้ แต่เมื่อสถานการณ์โควิดเข้ามา เครื่องมือที่ล้าสมัยเกินไป ก็ต้องรีบอัพเกรดทันที มิฉะนั้น จะมีปัญหาติด ๆ ขัด ๆ ในการทำงานหรือการติดต่อสื่อสาร
  • ถึงแม้จะเป็นมนุษย์เงินเดือน แต่ก็ต้องรู้จักอดออมมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนไปทุกวัน เราไม่รู้ว่าวันไหน การไม่มีเงินสดถืออยู่ในมือเลยอาจจะทำให้เราต้องเดือดร้อนเหมือนคนหลาย ๆ อาชีพในสังคม จนทำให้รัฐบาลต้องหันมาเยียวยาจนเกิดปัญหาสังคมไปทั่ว
  • งดการเดินทางไกลข้ามจังหวัด มิฉะนั้น เราอาจจะถูกตัวไปยังจังหวัดปลายทาง ๑๔ วัน
  • ผมเราจะยาวมากขึ้นจนรกรุงรัง เนื่องจากตาม พรก.ฉุกเฉิน มีการปิดสถานบริการตัดผมหลายเดือน แต่คิดในแง่ดี คือ เราได้ลองไว้ทรงผมใหม่ที่ไม่เคยไว้มาก่อน
  • เดิม คุณหมอประจำตัวนัดตรวจสุขภาพประจำวงรอบที่คลินิก แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-๑๙ เกิดขึ้น คุณหมอใช้วิธีการเช็คสุขภาพผ่านสายโทรศัพท์ และส่งยาประจำผ่านระบบไปรษณีย์เอกชนมาที่บ้านเลย

..

๕. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการทำงานยังไงบ้าง มีการปรับตัวอย่างไร

  • การประชุมที่มีการพบหน้าค่าตากันในห้องประชุมเดิม กลายเป็นต้องเป็นการประชุมทางไกลแทน ไม่ว่าจะใช้โปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นใด เช่น Line, Zoom เป็นต้น โดยผู้ประชุมไม่ได้เดินทางไปไหน ประชุมได้จากการนั่งอยู่ที่บ้าน แต่ความรู้สึกก็ยังสู้การประชุมต่อหน้าต่อตาไม่ได้อยู่ดี
  • การทำงานส่ง เช่น งานด้านเอกสารต่าง ๆ เราจะนั่งทำงานที่บ้าน แล้วส่งด้วยโปรแกรมติดต่อสื่อสาร เช่น Line, e-mail เป็นต้น
  • การไม่ได้เดินทางไปนั่งทำงานที่ห้องทำงาน แต่ทำงานที่บ้านแทน ประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทาง
  • มีการยกเลิกการอบรม สัมมนา ประชุมที่ต้องเจอหน้ากันทั้งหมด เปลี่ยนเป็นการอบรมทางไกล
  • มีการยืดหยุ่นในงานบางงานอยู่บ้างที่ต้องเข้าไปจัดการงานในห้องทำงานหรือสำนักงาน เข้าไปให้เร็ว และกลับออกมาให้เร็ว
  • ถ้าการประชุมใดได้รับเบี้ยประชุม ก็ไม่ต้องเซ็นชื่อประชุม แต่ใช้หน้าตาจากโปรแกรมประชุมทางไกลแทน และค่าเบี้ยประชุมจะมีฝ่ายการเงินโอนเข้าที่บัญชีธนาคารให้
  • ในฐานะอาจารย์ผู้สอน ปัญหาใหญ่มาก ๆ คือ การสอนที่ต้องนำวิธีการเรียนการสอนทางไกลเข้ามาใช้มากขึ้น และมีปัญหาเกิดขึ้นตามมากอีกมากมาย เช่น วิธีการเรียนการสอนทางไกล เครื่องมือในการเรียนการสอนทางไกล สื่อการเรียนการสอน ใบงาน ใบความรู้ การส่งการบ้าน การทำรายงาน ฯลฯ สถานการณ์โควิด-๑๙ เร่งปฏิกิริยาให้การเรียนการสอนทางไกลเกิดขึ้นเร็วมากขึ้น เดิมไม่ค่อยได้ใช้กันมากนัก แต่หลังจากนี้ไป อาจารย์ผู้สอนต้องใช้กันทุกคน ไม่ว่าจะเครื่องมือใด ๆ ก็ขอให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเรียนการสอนในวิชานั้น ๆ ก็พอ

..

๖. ฝากถึงท่านผู้อ่านเรื่องการป้องกันตนเองและให้กำลังใจผู้ที่กำลังเจอกับวิกฤตในช่วงนี้

ทุกสิ่งในโลกนี้ไม่มีอะไรไม่เปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เสมอเป็นสัจธรรมของโลก ไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป การใช้ชีวิตในสถานการณ์ที่ยากลำบากครั้งหนึ่งในชีวิตของเรานั้น ขึ้นอยู่กับ “การใช้สติ” และ “การใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท” เป็นที่ตั้ง การรู้เท่าทัน การรู้สิ่งที่ควร สิ่งที่ไม่ควร การที่รู้ว่า หากทำแบบนี้ เราอาจจะไม่ใช่คน ๆ เดียวที่จะเดือดร้อน แต่ทุกคนรอบ ๆ ตัวเดือดร้อนกันหมด โควิด-๑๙ เป็นเสมือนครูของเราแวะมาสอนเรา มองให้ครบด้าน แล้วเราจะรู้ว่า เหตุปัจจัยใด ๆ ในโลกล้วนมีคำสอนให้เราเกิดปัญญาอยู่เสมอ

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปด้วยกัน ขอให้พบปัญญาอันควรค่าต่อการเรียนรู้

..

...............................................................

ประเด็นสัมภาษณ์วารสารพิงค์ราชภัฏปีที่ ๑๗
ฉบับที่ ๕ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ 
คอลัมน์ Interview หน้าที่ ๖ และ ๗
ชาวรั้วดำ-เหลืองกับชีวิตวิถีใหม่ป้องกันโควิด ๑๙

...............................................................

..

เป็นบทความที่เรียกว่า สัมภาษณ์ผ่านไลน์ นั่งตอบคำถาม ๖ ข้อ
แล้วจึงส่งคำตอบไป

จริง ๆ ไม่ได้ชำนาญการในการเขียนเท่าไหร่นักหรอก
แต่สงสารน้อง จึงต้องขอช่วยเหลือสักหน่อย

เนื้อความก็เป็นไปตามความคิดเห็นส่วนตัว
คิดอย่างไร ก็เขียนอย่างนั้น ครบหรือไม่ครบก็ไม่ทราบ
ทราบเพียงแต่ว่า เขียนรวดเดียวจบ
แต่ตอนตบท้าย ไม่ปัง จึงยังนำกลับมาแก้อีกรอบ

บันทึกเก็บไว้ที่เป็นอนุสรณ์

บุญรักษา ทุกท่าน ;)...

..

หมายเลขบันทึก: 677702เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2020 23:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2020 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท