พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๓๔. จูฬโคปาลสูตร เรื่องคุณสมบัติของผู้นำ


๓๔. จูฬโคปาลสูตร  เรื่องคุณสมบัติของผู้นำ

นายโคบาลผู้ไม่ฉลาด

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมืองอุกกเจลาแคว้นวัชชี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลชาวแคว้นมคธ เป็นคนโง่มาแต่กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน มิได้พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่ที่มิใช่ท่าน้ำ ครั้งนั้น ฝูงโคว่ายเข้าไปในวังน้ำวนกลางแม่น้ำคงคา ถึงความพินาศในแม่น้ำนั้น

ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ฉลาดในโลกนี้ ไม่ฉลาดในโลกหน้า ไม่ฉลาดในธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร ไม่ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร ไม่ฉลาดในธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ไม่ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุราช ชนเหล่าใดเข้าใจถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง ควรเชื่อ ความเข้าใจของชนเหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน

นายโคบาลผู้ฉลาด

ภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลชาวแคว้นมคธ เป็นคนฉลาดมาแต่กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่ที่เป็นท่า นายโคบาลนั้นต้อนเหล่าโคที่เป็นจ่าฝูงซึ่งเป็นผู้นำฝูงให้ข้ามไปก่อน โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่าโคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ให้ข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่าโคหนุ่มสาวให้ข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่าลูกโคที่มีกำลังน้อยให้ข้ามไป โคเหล่านั้นก็ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี

ภิกษุทั้งหลาย ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้น ลอยไปตามเสียงโคที่เป็นแม่ แม้ลูกโคนั้นก็ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะนายโคบาลชาวแคว้นมคธนั้นเป็นคนฉลาดมาแต่กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่ที่ใช่ท่า ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้าฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมารฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุชนเหล่าใดเข้าใจถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟังควรเชื่อ ความเข้าใจของชนเหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน

ฝูงโคข้ามถึงฝั่งโดยสวัสดี

ภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคผู้ที่เป็นจ่าฝูง เป็นผู้นำฝูงว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพก็ฉันนั้นเหมือนกัน อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้วบรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ

เหล่าโคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดีแม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นโอปปาติกะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไปจึงปรินิพพานในพรหมโลกนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้นอีก

เหล่าโคหนุ่มและโคสาวว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดีแม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นสกทาคามี ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง จึงกลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว ก็จะทำให้ดีที่สุดแห่งทุกข์ได้ ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดีเหล่าลูกโคที่มีกำลังน้อยว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นโสดาบัน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้นลอยไปตามเสียงโคที่เป็นแม่ ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ภิกษุทั้งหลาย เราแลเป็นผู้ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ชนเหล่าใดจักเข้าใจถ้อยคำของเรานั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง ควรเชื่อ ความเข้าใจของชนเหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน”

พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

                            “โลกนี้และโลกหน้าตถาคตผู้รู้ได้ประกาศไว้ดีแล้ว

                          ตถาคตผู้ตรัสรู้เอง ทราบชัดโลกทั้งปวงทั้งที่มารไปถึงได้

                          และที่มัจจุราชไปถึงไม่ได้ ด้วยความรู้ยิ่ง

                          จึงได้เปิดประตูแห่งอมตะ

                          เพื่อให้ถึงนิพพานอันเป็นแดนเกษม

                                กระแสแห่งมารผู้มีใจบาปตถาคตตัดได้แล้ว

                          กำจัดได้แล้ว กำราบได้แล้ว

                          ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์

                          ปรารถนาธรรมอันเป็นแดนเกษม เถิด”

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๔. มหายมกวรรค

เรื่องที่ ๓ จูฬโคปาลสูตร ๓๕๐ - ๓๕๓  

หมายเลขบันทึก: 677699เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2020 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2020 21:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท