สมุดค่าย : ว่าด้วยสมุดกระจก จดหมายน้อย และสมุดค่ายบางเล่มที่เริ่มเลือนหาย


ผมสรุปหักดิบแบบกรายๆ ว่า สมุดค่ายมีหลากหลายหน้าที่ ขึ้นอยู่กับเราจะเข้าใจแก่นแท้และให้ความสำคัญแค่ไหน ถ้าเข้าใจและเห็นความสำคัญ นิสิตชาวค่ายก็จะเขียนออกมาอย่างสร้างสรรค์ ในแบบ “จริงจัง-จริงใจ” ทั้งต่อตนเองและเพื่อนๆ เรียกได้ว่า ครบรส “บันเทิง-เริงปัญญา” ถ้าไม่คิดอะไรมาก สมุดค่ายที่ว่า ก็จะเป็นจดหมายเหตุเล็กๆ ที่ชวนจำในมิติส่วนตัว และนั่นก็ไม่ผิด

บันทึกที่แล้ว พ่อฮักแม่ฮัก : อีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้ชุมชนของคนค่าย  ผมเขียนถึงบทเรียนที่ว่าด้วย “พ่อฮัก-แม่ฮัก”  ไปแล้ว  มาถึงบันทึกนี้ผมปรารถนาที่จะเขียนถึงประเด็น “สมุดค่าย” บ้าง เพราะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นิสิตชาวค่ายได้หยิบยกมาพูดถึงแทบจะทุกองค์กร

เพียงแต่ว่าทุกองค์กรที่เดินทางไปจัดค่ายอาสาพัฒนา รวมถึงกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือกิจกรรมนอกสถานที่ พวกเขาจะเรียกสมุดค่ายว่า “สมุดกระจก”

สมุดกระจกในความหมายของนิสิตชาวค่าย หมายถึง สมุดบันทึกชีวิตประจำวันของคนที่ไปออกค่าย  เป็นสมุดรายบุคคลที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เจ้าตัวบันทึกการเรียนรู้ในแต่ละวัน  ส่วนเจ้าตัวจะบันทึกในแง่มุมใด  บันทึกในรูปแบบใด  จะเป็นสาระวิชาการ หรือบันเทิง-จิปาถะก็ไม่ผิด

เพียงแต่มีหลักปฏิบัติร่วมกัน กล่าวคือสมุดที่ว่านี้ต้องถูกนำมาวางไว้ในจุดที่กำหนดให้  เพื่อให้คนอื่นได้อ่าน หรือกระทั่งได้เขียนถึงเจ้าของสมุด –



สมุดกระจก : สมุดค่ายที่เป็นมากกว่าสมุดบันทึกประจำวัน


เวทีการถอดบทเรียนครั้งนี้  พบว่า สมุดกระจก คืออีกหนึ่งกระบวนการที่ชาวค่ายสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการสานสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในค่าย  ช่วยให้คนค่ายได้ส่งข้อความ หรือความรู้สึกในแง่มุมต่างๆ ถึงกันและกัน -

มุมมองของนิสิตข้างต้น  จึงนับได้ว่า สมุดกระจกเป็นเสมือนกิจกรรมละลายพฤติกรรมก็ไม่ผิด เพียงแต่ไม่ได้ขับเคลื่อนผ่านการ “ตี กลอง ร้อง-เต้น” เท่านั้นเอง

โดยส่วนตัวผม  - ผมมองมากกว่านั้น ผมไม่ได้มองว่าสมุดกระจก คือสมุดบันทึกประจำวันธรรมดาๆ เท่านั้น  ขึ้นอยู่กับว่านิสิตจะเข้าใจ หรือให้ความสำคัญแค่ไหน 

ความเข้าใจ จะนำมาสู่การให้ความสำคัญ  และประเด็นเหล่านี้ คือสิ่งที่ผมสื่อสาร หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีดังกล่าว เช่น

  • สมุดกระจก คือ สมุดบันทึกประจำวัน หรือไดอารี่ดีๆ นั่นเอง
  • สมุดกระจก คือการชำระตัวเอง คือการเปิดเปลือยตัวเองผ่านตัวหนังสือ หรือภาพ เพื่อให้คนอื่นได้ซึมซับ-รับรู้ และทำความเข้าใจ รวมถึงการทำให้เราได้เรียนรู้ตัวตนของคนอื่นผ่านสมุดกระจกไปพร้อมๆ กัน
  • สมุดกระจก คือ กระบวนการทบทวนชีวิต หรือการทบทวนการเรียนรู้รายวันของแต่ละคน ผ่านมุมมองของตนเอง และมุมมองของคนอื่นที่เข้ามาเขียนถึงเจ้าของสมุดฯ


  • สมุดกระจก คือ กระบวนการพัฒนาศักยภาพนิสิตในมติการเฝ้ามองชีวิต ถอดรหัสชีวิตและสังคมแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ  หากจะเรียกว่า นี่เป็นการฝึกการสังเกตสิ่งรอบตัว ทั้งตัวเองและอื่นๆ ก็ไม่ผิด สังเกตแล้วทำการวิเคราะห์-ตีความ จากนั้นก็ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราว
  • สมุดกระจก คือ กระบวนการของการฝึกทักษะการสื่อสารสาธารณะผ่านตัวหนังสือ ภาพวาด
  • สมุดกระจก คือ กระบวนการ หรือเครื่องมืออีกหนึ่งชิ้นของการประเมินการเรียนรู้โครงการฯ
  • ฯลฯ

ในทางกระบวนการของสมุดกระจกทุกๆ องค์กรมีทิศทางในการสร้างขึ้นมาที่เหมือนกัน เช่น  การเย็บด้วยมือ มีทั้งคณะกรรมการชมรมฯ เย็บกันเอง แล้วแจกจ่ายให้สมาชิกค่ายนำไปตกแต่งปก  การตกแต่งปกจะมีทั้งที่เป็นเงื่อนไง และไม่มีเงื่อนไข เช่น ระบุชื่อ-ชื่อสกุล ชื่อเล่น สาขา

หรือแม้แต่ “อะไรก็ได้” – อะไรก็ได้ที่สบายใจจะตกแต่งให้สมุดกระจกดูดีมีสีสัน หรือบ่งบอกความเป็นตัวตนของเขาเอง

เช่นเดียวกับการแจกกระดาษให้สมาชิกค่ายแต่ละคนไปเย็บเอง ตกแต่งเองก็มี –


จดหมายน้อย :การสื่อสารอันคลาสสิค และโรแมนติกของคนค่าย


นอกจากสมุดกระจกแล้ว ในเวทีถอดบทเรียนครั้งนั้นยังพบว่ามี “จดหมายน้อย” เข้ามาเป็นหนึ่งในเครื่องมือการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

“จดหมายน้อย” มีสถานะเช่นเดียวกับ “สมุดกระจก”  ต่างกันตรงแทนที่จะอยู่ในรูปของสมุดเป็นเล่มๆ  กลับทำเป็นกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่กรรมการค่ายฯ ตัดไว้ เพื่อให้แต่ละคนนำไปเขียนถึงสมาชิกในค่ายที่อยากจะสื่อสาร  พอเขียนเสร็จก็นำไปหย่อนไว้ ณ จุดที่กำหนดให้

โดยส่วนใหญ่จุดที่กำหนดให้ก็จะให้แต่ละคนทำเป็นเหมือน “กล่องรับจดหมาย”  หรือ “กล่องไปรษณีย์” ที่ตั้งอยู่หน้าบ้านของเรานั่นแหละ  กล่องจดหมายที่ว่านั้นจะบ่งบอกว่า “ใครเป็นเจ้าของ”

ผมมองว่า  กระบวนการนี้คลาสสิคและโรแมนติกมากๆ  เป็นกระบวนการที่น่ารัก อบอุ่น  เป็นกระบวนการที่ห้าวหาญที่เดินทางสวนกระแสหลักในสังคมออนไลน์  แทนที่จะก้มๆ เงยๆ ส่งข้อคามผ่านมือถือถึงกัน  แต่กลับมานั่งเขียนความรู้สึกด้วยลายมือตัวเอง เพื่อสื่อสารไปยังคนที่นิสิตอยากสื่อสาร –

ครับ – ผมว่ากระบวนการเหล่านี้ จริงๆ ซ่อนนัยสำคัญเรื่องของวินัยในการใช้ชีวิตร่วมกันพอสมควรเลยล่ะ  ว่างค่อยมาเขียน  มิใช่หยิบจับมือถือขึ้นมาเขียนแล้วกดปุ่มส่งได้ทุกเวลา จนบางทีอาจไม่มีสมาธิในการทำงานด้วยก็เป็นได้

อีกทั้งในบางค่าย ยังนำจดหมายน้อยมาอ่านเป็นสาธารณะร่วมกัน  เรียกได้ว่า เอามาเปิดเปลือยแบบน่ารักๆ หยิกหยอกตามประสาคนค่าย สร้างบรรยากาศก่อนทานข้าวเช้าข้าวเย็น หรือแม้แต่ก่อนเข้านอนได้เป็นอย่างดียิ่ง


สมุดค่าย : สมุดที่เริ่มเลือนหายไปจากสังคมค่าย


โดยสรุปแล้ว ข้อมูลที่ค้นพบจากเวทีดังกล่าวนี้  ทำให้ผมรู้ว่าสมุดบันทึกค่าย หรือสมุดค่ายที่พบในปัจจุบัน จะพบอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ นั่นคือ สมุดกระจก-และจดหมายน้อย 

ดังนั้นในฐานะกระบวนกร  ผมจึงถือโอกาสให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วยังมีสมุดค่ายอีก 2 เล่มที่ควรให้ความสำคัญ  นั่นคือ  1) สมุดค่าย  และ 2) สมุดเยี่ยมค่าย

  • สมุดค่าย ในที่นี้ มิใช่สมุดบันทึกค่ายที่คณะกรรมการค่ายทำการจดบันทึกกิจกรรมประจำวัน หรือรายรับรายจ่ายหรอกนะครับ  หากแต่หมายถึงสมุดที่กรรมการค่ายทำขึ้นมาอีก 1 เล่มเป็นการเฉพาะ เป็น “เล่มกลาง” มิใช่สมุดกระจก  ทำขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกค่ายได้เขียนอะไรๆ ต่อค่ายที่เข้าร่วม

    ข้อเขียนที่สมาชิกค่ายเขียนลงในสมุดค่ายเล่มนี้  จะเป็นการชื่นชม ให้กำลังใจ  ท้วงติง - ติเตียน และเสนอแนะสิ่งอันเป็นประโยชน์ต่อกรรมการค่าย ซึ่งสามารถนำมาปรับแต่งสู่การทำงานรายวัน  หรือการนำไปพัฒนาในครั้งต่อไป  ประหนึ่งแบบสำรวจ / สอบถามก็ไม่ผิด เพียงแต่ไม่ได้มีประเด็นการซักถามใดๆ ผมเรียกสิ่งนั้นว่า  “3 ป.”  คือ “ปลายเปิด-เปิดรับ-ปรับปรุง” 

    -ปลายเปิด
      คือไม่มีคำถามเฉพาะเจาะจง
    -เปิดรับ
    คือ เปิดรับฟังเสียงสะท้อน
    -ปรับปรุง
    คือ นำไปปรับเปลี่ยนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์

  • สมุดเยี่ยมค่าย ในที่นี้คือสมุดค่ายที่คณะกรรมการค่ายต้องจัดทำขึ้นรองรับการมาเยี่ยมเยียนของผู้คน  ทั้งที่เป็นผู้นำในท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ  หรือแม้บุคคลในภาคเอกชน และอื่นๆ ที่สัญจรแวะมาเยี่ยมค่าย  ซึ่งก็มักจะบันทึกไว้ให้รู้ว่า “มาหนุนเสริม”

สมุดเล่มนี้ ผมบอกกับนิสิตว่า “สำคัญมาก” เพราะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้ประเมินการมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี ประเมินว่าใครเข้ามาเยี่ยม ใครมาหนุนเสริมอย่างไร เพราะจะสัมพันธ์กับหนังสือที่มหาวิทยาลัยฯ ส่งไปยังส่วนต่างๆ นั่นเอง

เรียกได้ว่า หนังสือที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดทำขึ้นและส่งไปนั้น  มีผลอย่างไร มีการสั่งการใดๆ  จากส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ –

ซึ่งในเวทีครั้งนี้  ทำให้รู้ว่า ไม่มีองค์กรใดทำสมุดค่ายเล่มนี้ไว้เลย  อาจเพราะไม่เข้าใจ หลงลืม หรือการมองไม่เห็นความจำเป็น หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยฯ ไม่เคยแนะนำก็เป็นได้


เหนือสิ่งอื่นใด


นอกจากประเด็นข้างต้น  ผมสรุปหักดิบแบบกรายๆ ว่า  สมุดค่ายมีหลากหลายหน้าที่ ขึ้นอยู่กับเราจะเข้าใจแก่นแท้และให้ความสำคัญแค่ไหน  ถ้าเข้าใจและเห็นความสำคัญ นิสิตชาวค่ายก็จะเขียนออกมาอย่างสร้างสรรค์ ในแบบ “จริงจัง-จริงใจ” ทั้งต่อตนเองและเพื่อนๆ  เรียกได้ว่า ครบรส “บันเทิง-เริงปัญญา”

ถ้าไม่คิดอะไรมาก สมุดค่ายที่ว่า ก็จะเป็นจดหมายเหตุเล็กๆ ที่ชวนจำในมิติส่วนตัว และนั่นก็ไม่ผิด –

รวมถึงการทิ้งประเด็นว่า สมุดบันทึกค่ายโดยเฉพาะสมุดกระจก  ไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสารในค่ายเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการฝึกทักษะ (skills) ต่างๆ เช่น  

  • การออกแบบ/จินตนาการ ฝึกใช้ศิลปะตกแต่งสมุด  
  • ฝึกการสังเกตชีวิต 
  • ฝึกทบทวนชีวิต ฝึกสังเคราะห์เรื่องราว สังเคราะห์การเรียนรู้
  • ฝึกการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านอักษร/ตัวหนังสือ -ภาพ

รวมถึงฝึกให้นิสิตได้วิเคราะห์ตัวเอง  และเปิดใจรับฟังข้อคิดเห็นจากคนอื่นด้วยเช่นกัน ฯลฯ

นี่คืออีกหนึ่งชุดบทเรียนที่ผมและทีมงาน ตลอดจนนิสิตได้ค้นพบร่วมกันในเวทีการถอดบทเรียนเล็กๆ ที่ผ่านมา


เขียน : อาทิตย์ที่ 5 เมษายน 2563
เวที : วันที่ 25 เมษายน 2563
ภาพ : พนัส ปรีวาสนา / องค์กรนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 676646เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2020 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2020 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ชอบ “สมุดกระจก” ครับ ;)…

ชอบสมุดกระจกมากค่ะ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้ชาวค่ายมีความสนุกสนานในการเขียน หยอกล้อกัน และเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้ชาวค่ายมีกำลังใจในการทำงานในค่าย เขียนให้กำลังใจ เขียนให้มีพลังทำงานเสร็จเเวะดูสมุดกระจก ว่าจะมีใครเขียนให้หรือเปล่า หรือจะมีใครเขียนอะไรให้บ้าง เป็นกิจกรรมที่ทำให้ลุ้นเพราะจะได้ดูและเดาว่าใครเขียนให้ทำให้สนุกหายเหนื่อยไปในแต่ละวัน ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันความอบอุ่นที่ได้ให้กำลังใจ ได้ฝึกทำ และทำให้คนในค่ายอบอุ่นไปด้วยกัน

สวัสดีครับ อ.วัส

ค่ายที่ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ สามารถใช้กระบวนการสมุดบัรทึกค่าย และจดหมายนัอย ได้นะครับ ให้นักศึกษาเขียนบันทึกรายวันด้วยลายมือ…

ครบกระบวนการแล้วเอามาอ่าน ..มาวิเคราะห์ดูว่ามีอะไรในข้อเขียนเหล่านั้นบ้าง

ครับ คุณธัญวรัตม์

เห็นด้วยครับว่าสมุดค่ายช่วยสร้างสรรค์บรรยากาศการอยู่ร่วมกันให้รื่นรมย์ ส่งผลต่อพลังการทำงานอย่างเป็นทีมไปในตัว

ในเชิงบุคคล เอาง่ายๆ แค่มานั่งเขียนสมุดค่ายให้ตัวเอง หรือคนอื่น อย่างน้อยก็ฝึกสมาธิได้นะครับ

เขียนบ่อยๆ ก็ตกผลึกทางความคิด มีสมาธิ….

สวัสดีจ้ะน้องแผ่นดิน น้องคงสบายดีนะจ๊ะ คิดถึงน้องเสมอจ้ะ

สมุดกระจก คือ สมุดที่จะช่วยสะท้อนตัวเราจากมุมมองคนอื่น เพราะว่าเรานั้นไม่รู้หรอกว่าตัวเองเป็นอะไร ทำอะไรไปแล้วคนจะชอบรึเปล่า และหลายๆ คนจะมองว่ามันคือสมุดธรรมดาแต่จริงๆ แต่มันไม่ธรรมดาเลย แค่ชื่อมันก็บอกชัดเจนแล้วว่า “สมุดกระจก” ครับผม

สมุดกระจก เปรียบเสมือนหน้าต่างหนึ่งบาน ที่เปิดรับเรื่องราวต่างๆ ผ่านแผ่นกระดาษ ซึ่งจะพบเห็นได้มากในหมู่เด็กค่าย การมีสมุดกระจกในค่าย เป็นการให้โอกาส สำหรับทุกคนได้แสดงความเห็น ให้กำลัง บอกกล่าวเรื่องราว ความรู้สึก ต่อเจ้าของสมุดกระจกเล่มนั่น แทนการพูดกับคนนนั่นโดยตรง ซึ่งเราอาจจะไม่กล้าพูดความรู้สึกต่างๆ ที่มีต่อเขา เมื่อจบค่าย สมุดกระจก จะแจกคืนแก่เจ้าของสมุด ไว้เป็นที่ระลึก แทนความคิดถึง และเป็นบันทึกความทรงจำที่ทำให้เราคิดถึงได้ตลอดเมื่อเปิดมันออกมาดู

“ในวันที่เรารู้สึกว่าท้อกับเรื่องอะไรก็ตาม ให้คิดย้อนกลับไปว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกใช่ไหมที่เราเคยพบเจอกับเรื่องราวและความรู้สึกแบบนี้ และถ้าเราอยู่มาถึงตอนนี้ได้ แสดงว่าตอนนั้นเราผ่านมันมาได้ กับความทุกข์และปัญหาที่เจอครั้งนี้ก็เช่นกัน เราจะผ่านมันไปได้เหมือนทุกครั้งที่เราผ่านมาได้ “

เรื่องราวในค่าย คือเรื่องราวที่ความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นได้มากมายในเวลาอันสั้น หากยามใดที่เรารู้สึกท้อ ลองหาสมุดกระจกมาเปิดดูอีกครั้งก็ได้ แล้วถามตัวเองว่า เราผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มามากมาย ทำไมเรื่องแค่นี้ เราจะผ่านมันไปไม่ได้

บอกความรู้สึกผ่านแผ่นกระดาษ #สมุดกระจก

ชอบกิจกรรม “สมุดกระจก” มากค่ะมันเหมือนเป็นไดอารี่ที่เราอาจจะไม่ได้เขียนเอง แต่จะเป็นเหมือนไดอารี่บันทึกความทรงจำที่คนอื่นเขียนในเรา อาจจะเป็นการให้กำลังใจ ติ ชม แต่มันก็เป็นความทรงจำดีๆ ที่เราสามารถหยิบสมุดนี้ขึ้นมาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ เราก็ได้อ่านข้อความเดิม ที่ผ่านมาแล้วหลายปี โดยไม่ต้องไปเลื่อนหาเหมือนในโทรศัพท์

ชอบกิจกรรม “สมุดกระจก” มากค่ะมันเหมือนเป็นไดอารี่ที่เราอาจจะไม่ได้เขียนเอง แต่จะเป็นเหมือนไดอารี่บันทึกความทรงจำที่คนอื่นเขียนในเรา อาจจะเป็นการให้กำลังใจ ติ ชม แต่มันก็เป็นความทรงจำดีๆ ที่เราสามารถหยิบสมุดนี้ขึ้นมาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ เราก็ได้อ่านข้อความเดิม ที่ผ่านมาแล้วหลายปี โดยไม่ต้องไปเลื่อนหาเหมือนในโทรศัพท์

หนูเรียกวันมันว่า สมุดบันทึกความในใจค่ะ เพราะการที่บางคนนั้นเขียนความรู้สึกของเขาลงไปในสมุดกระจกของเรา เขาคงไม่กล้าพูดต่อหน้าเราตรงๆ หนูจะลุ้นมากว่า ใครจะมาเขียนให้บ้างน้า คนที่เราอยากรู้จักคนนั้นจะมาเขียนให้เราบ้างหรือเปล่า ทุกครั้งที่เปิดอ่านเหมือนว่า เราย้อนกลับไปในตอนนั้น ความทรงจำมันชัดเจนมากๆเลย ชื่นชอบมากๆค่ะ

หนูเรียกวันมันว่า สมุดบันทึกความในใจค่ะ เพราะการที่บางคนนั้นเขียนความรู้สึกของเขาลงไปในสมุดกระจกของเรา เขาคงไม่กล้าพูดต่อหน้าเราตรงๆ หนูจะลุ้นมากว่า ใครจะมาเขียนให้บ้างน้า คนที่เราอยากรู้จักคนนั้นจะมาเขียนให้เราบ้างหรือเปล่า ทุกครั้งที่เปิดอ่านเหมือนว่า เราย้อนกลับไปในตอนนั้น ความทรงจำมันชัดเจนมากๆเลย ชื่นชอบมากๆค่ะ

คิดถึงค่ายแล้วครับท่านพี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท