พ่อฮักแม่ฮัก : อีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้ชุมชนของคนค่าย


พ่อฮักแม่ฮัก คือระบบและกลไกอันสำคัญของการเดินทางไปจัดกิจกรรมนอกสถานที่ ไม่ใช่สำคัญเพราะนิสิตชาวค่ายจะได้ใช้บริการ รองรับ หรือพึ่งพาในเรื่อง “ห้องน้ำห้องท่า” หากแต่หมายถึงการได้เรียนรู้และสัมผัสจริงในเรื่องวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน การกินอยู่ อาชีพ ความเชื่อ ประเพณี สุขภาพ

ผมและทีมงานจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับนิสิตเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563  ณ ห้องประชุม 1 อาคารพัฒนานิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เวทีดังกล่าวเป็นทั้งเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับนิสิต นิสิตกับนิสิต และการ “ถอดบทเรียน” ก็ว่าได้

ประเด็นหลักๆ ที่จัดการเรียนรู้ร่วมกันในวันนั้นเป็นเรื่อง “การจัดกิจกรรมนอกสถานที่” ครอบคลุมไปทั้งกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาและอื่นๆ โดยมีนิสิต หรือผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ยกตัวอย่างเช่น

  • องค์การนิสิต
  • กลุ่มนิสิตพลังสังคม
  • ชมรมรุ่นสัมพันธ์
  • ชมรมสานฝันคนสร้างป่า
  • ชมรมรักษ์ทางไทย
  • ชมรมอาสายุวกาชาด
  • ชมรมพรางเขียว
  • ชมรมรักษ์อีสาน
  • ชมรมครูอาสา
  • ชมรม World Culture Club
  • ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง
  • ชมรมเดินตามรอยเท้าพ่อ
  • ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม (ทำดีเพื่อพ่อทำดีเพื่อแผ่นดิน)

ซึ่งแต่ละองค์กรก็มิได้มาเพียงคนเดียว หรือมาแค่สองคน แต่อย่างน้อยก็มาขั้นต่ำ 3 คนเลยทีเดียว

กระบวนการเริ่มต้นขึ้นจากคุณณัฐภูมินทร์ ภูครองผา จัดกระบวนการละลายพฤติกรรมผ่านตาราง 6 ช่อง (ไว้โอกาสจะมาเขียนขยายความให้ได้อ่านกัน)  

ถัดจากนั้นคุณสุริยะ สอนสุระก็ให้ความรู้กึ่งกระบวนการไปในตัวในประเด็นการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ เสมือนการทวนความรู้อีกครั้ง  เพราะในกลุ่มที่เข้าร่วมมีทั้งที่ได้จัดกิจกรรมไปแล้วและอยู่ระหว่างจะขับเคลื่อนกิจกรรม

ถัดจากนั้น ผมก็เข้าไปเป็นกระบวนกรหลักในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนไปในตัว  โดยบรรยายไปด้วย ถามทัก ชวนคิดชวนคุย เชื้อเชิญให้ผู้แทนองค์กรได้ “บอกเล่า”  เรื่องราวการจัดกิจกรรมสู่กันฟัง  ทั้งที่เคยจัดมาแล้ว  ทั้งที่กำลังจะไปจัด  เพื่อค้นหาองค์ความรู้บางเรื่องร่วมกัน

โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นหัวใจหลัก  อย่างน้อยก็มีทั้งที่ถามไป-ตอบกลับ  หรือเปิดเวทีให้เล่าเรื่องราวสั้นบ้าง ยาวบ้าง ขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์การสื่อสารของนิสิต

ใช่ครับ- ผมใช้คำว่า “บางเรื่อง” เพราะไม่ได้เจาะจง หรือกำหนดประเด็นไว้เป็นรูปธรรมมากนัก เพราะต้องการให้นิสิตได้มีอิสระในการสื่อสาร กล่าวคือ “ให้เล่าในสิ่งที่ทำ – ย้ำในสิ่งที่มี”จากนั้นผมค่อยจับเป็นประเด็นๆ ขมวดๆ สื่อสารกลับเข้าสู่เวทีและชวนให้แต่ละคนร่วมเติมแต่งข้อมูลร่วมกันอีกครั้ง

คำว่า “บางเรื่อง” ในที่นี้  ผมไม่ใคร่แน่ใจว่าเรียกว่า “ชุดความรู้ได้ไหม”  
แต่สำหรับผมแล้ว ผมมองว่า “ถึงไม่ใช่ ก็ไม่ขี้เหร่” เลยแหละ 
เพราะข้อมูลที่ได้รับมาล้วนเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนกิจกรรมมากโขเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น



พ่อฮัก-แม่ฮัก : กระบอกเสียงและสะพานเชื่อมโยงนิสิตกับชุมชน


พ่อฮักแม่ฮัก  คือระบบและกลไกอันสำคัญของการเดินทางไปจัดกิจกรรมนอกสถานที่  ไม่ใช่สำคัญเพราะนิสิตชาวค่ายจะได้ใช้บริการ รองรับ หรือพึ่งพาในเรื่อง “ห้องน้ำห้องท่า” หากแต่หมายถึงการได้เรียนรู้และสัมผัสจริงในเรื่องวิถีชีวิตของชุมชน  ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน การกินอยู่ อาชีพ ความเชื่อ ประเพณี สุขภาพ ฯลฯ

พ่อฮักแม่ฮัก ไม่เพียงช่วยให้นิสิตได้เข้าถึงวิถีวัฒนธรรม หรือบริบทชุมชนเท่านั้น หากแต่ยังช่วยเป็นกระบอกเสียง หรือสะพานเชื่อมโยงความร่วมมือของชุมชนให้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับนิสิตได้เป็นอย่างดียิ่ง เรียกได้ว่าพ่อฮักแม่ฮักคือหน่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมในชุมชนก็ว่าได้ แถมยังช่วยเกื้อหนุนอุปกรณ์ วัตถุดิบที่เกี่ยวกับข้าวปลาอาหารได้ด้วยเช่นกัน

หรือกระทั่งการให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้รู้/ปราชญ์ชาวบ้าน สถานที่สำคัญๆ ในชุมชน ข้อพึงปฏิบัติ หรือข้อต้องห้ามที่เรียกว่า “ขะลำ-คะลำ-กะลำ”

และนั่นยังไม่รวมถึงสิ่งที่นิสิตมีมุมมองเดียวกันคือกิจกรรมพ่อฮักและแม่ฮัก  ไม่เพียงช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้ชุมชน หรือหนุนเสริมให้กิจกรรมของนิสิตลุล่วงไปได้ด้วยดีเท่านั้น  หากแต่การเข้าไปของนิสิต (ลูกฮัก) ก็เป็นการไปเติมเติมชีวิตของชาวบ้านด้วยเหมือนกัน เพราะหลายคนอยู่คนเดียว หรืออยู่กับลูกหลานเพียงไม่กี่คน เนื่องเพราะคนอื่นๆ ต้องไปทำมาหากินทั้งนอกหมู่บ้านและต่างจังหวัด

การเข้าไปของนิสิตในฐานะ “ลูกฮัก” จึงเสมือนการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวบ้าน ไปอุดรูรั่วทางจิตใจ เป็นเป็นหนึ่งในแรงใจ คลี่คลายความเหว่ว้าเดียวดายให้กับชาวบ้าน ถึงจะไม่ใช่ระดับป้องกันโรคซึมเศร้าก็เถอะ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “มันช่วยได้จริงๆ” 


กระบวนการของการได้มาซึ่งพ่อฮักแม่ฮัก


ในทางกระบวนการของการได้มาซึ่งพ่อฮักและแม่ฮักนั้น ภาพรวมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เบื้องต้นผู้ใหญ่บ้าน หรือคณะครูจะประสานไปยังชุมชน ประกาศรับสมัครผู้มีความพร้อม หรือประสงค์จะมี “ลูกฮัก” และนัดหมายมารวมกันในวันแรกของการ “เปิดค่าย”

พอพิธีการต่างๆ สิ้นสุดลง นิสิตจะนำสลากรายชื่อของนิสิตที่เตรียมมาจากมหาวิทยาลัยใส่ลงในกล่อง  ในสลากนั้นจะเขียน “ชื่อ-ชื่อสกุล” หรือ “ชื่อเล่น-สาขา” ไว้ แล้วเรียนเชิญชาวบ้านออกมา “จับเอาลูกฮัก”  พอจับได้ลูกฮักจะเดินออกมาสวัสดีทักทายและกลับไปนั่งกับพ่อฮักและฮัก รวมถึงนั่งรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน –


เช่นเดียวกับการนัดหมายให้ลูกฮักเข้าไปยังครัวเรือน เพื่อทำความรู้จักกับเครือญาติ รวมถึงการให้รู้จักเส้นทางระหว่างค่ายไปยังครัวเรือนนั้นๆ

ในบางค่ายนิสิตมีจำนวนเยอะมาก พ่อฮักแม่ฮักจำต้องจับสลากวนเป็นรอบสองรอบก็มี แต่การวนที่ว่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นไปตามความสมัครใจ และส่วนใหญ่ก็จะแย่งกัน “จับเอาลูกฮัก” เลยก็ว่าได้

โดยส่วนตัวแล้ว  ผมได้เน้นย้ำกับนิสิตว่า พ่อฮัก-แม่ฮัก คือกระบวนการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริง เพราะนิสิตได้สัมผัสกับความจริงของชาวบ้านภายใต้โครงสร้างครัวเรือนนั้นๆ ที่มิได้ปรุงแต่ง หรือจะมีบ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

และกระบวนการพ่อฮักแม่ฮัก มิใช่กระบวนการที่มีขึ้นเพื่อรองรับการ “ใช้ห้องน้ำห้องท่า” หรือประโยชน์แอบแฝงอื่นๆ

เช่นเดียวกับการเสนอแนะสั้นๆ ว่า กระบวนการพ่อฮักแม่ฮัก นิสิตสามารถเตรียมของที่ระลึกไปมอบให้พ่อฮักแม่ฮักล่วงหน้าเลยก็ได้ สิ่งเหล่านั้นหาสามารถจัดเตรียมไปตั้งแต่มหาวิทยาลัยฯ หรือไม่เพียงพอ ก็จัดหาเพิ่มเติมในชุมชนละแวกนั้น หรือจัดหาเพิ่มในระหว่างทางก็ได้

เช่นเกียวกับแนะนำให้ลองมี free time clamp (ผมเรียกเอง) อันหมายถึง งดงานค่ายสักวัน หรือครึ่งวัน แล้วให้นิสิตไปใช้ชีวิตจริงอยู่กับพ่อฮักแม่ฮัก  ตกเย็นค่อยกลับมาพบปะกัน แล้วนำเรื่องต่างๆ มาเล่าสู่กันฟัง- ว่าค้นพบอะไร เห็นอะไร ได้เรียนรู้อะไร ฯลฯ

รวมถึงการตระหนักถึงความยั่งยืนที่มิใช่เอาความรู้สึกของชาวบ้านมาล้อเล่น เพราะกลับออกจากค่ายแล้วละเลย เพิกเฉยที่จะสานต่อความสัมพันธ์ เพราะส่วนใหญ่ที่พบคือ กลับออกมาจากค่ายแล้ว พ่อฮักแม่ฮักมักที่จะติดต่อกลับมาหานิสิตอยู่เสมอๆ มีการฝากข้าวของเครื่องใช้ หรือข้าวปลาอาหารมาให้นิสิตก็มาก

นั่นคือความรักความงดงามของชาวบ้านที่มีเป็นทุนอยู่แล้ว และถูกแบ่งปันสานสายใยอีกครั้งในระบบและกลไกของพ่อฮักแม่ฮัก

นี่คือเรื่องบางเรื่อง หรืออีกหนึ่งชุดความรู้ที่เราร่วมกันค้นพบและยืนยันว่าเป็นเรื่องสำคัญของการนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิถีของค่ายอาสาพัฒนา-


เวที : 25 กุมภาพันธ์ 2563
เขียน :  3 เมษายน 2563

หมายเลขบันทึก: 676621เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2020 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2020 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เด็กกิจกรรมจะรู้จักคำว่า “พ่อฮักแม่ฮัก” เป็นอย่างดี ว่าพ่อแม่ฮักคืออะไร ทำไมต้องจับ จับแล้วได้อะไร ที่แน่ๆ นิสิตจะได้สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน เรียนรู้วิถีชีวิตคนในชุมชนไปในตัว ส่วนเรื่องของการใช้ห้องห้องน้ำนั้น เป็นแค่ผลพลอยได้การทำกิจกรรมในชุมชน จะนำพานิสิตเข้าไปใช้ชีวิตในชนบทอีกครั้งหนึ่ง จะทำให้หวนคิดถึงบ้านตัวเอง คิดถึงพ่อแม่ และพ่อฮักแม่ฮัก จะเป็นส่วนเติมเต็มความรัก ความเมตตา ความอบอุ่น ฯลฯ ให้กับนิสิต ส่วนนิสิตก็จะทำงานบ้านช่วย เสมือนกับอยู่บ้านตัวเอง และพ่อฮักแม่ฮักก็จะเอ็นดูนิสิตราวกับเป็นลูกของตัวเองจริง นี้แหละคือเสน่ห์ของกิจกรรม #พ่อฮักแม่ฮัก ครับผม

ขอบคุณมากๆ ครับ [email protected]ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู็ครับ และเห็นความชัดจากปากคำขึ้นมาก เช่นที่ผมประทับใจมากก็คือ

“พ่อฮักแม่ฮัก จะเป็นส่วนเติมเต็มความรัก ความเมตตา ความอบอุ่น ฯลฯ ให้กับนิสิต ส่วนนิสิตก็จะทำงานบ้านช่วย เสมือนกับอยู่บ้านตัวเอง”

ดีไม่ดี กระบวนการนี้ พลิกกลับมาที่ตัวนิสิต ส่งผลให้นิสิตได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกรอบว่าได้ทำสิ่งนี้กับตัวเองดีแล้วหรือยัง ได้ดูแลบ้านตัวเอง หรือคนที่บ้านดีแล้วหรือยัง

ขอบคุณที่มาขยายความ นะครับ

ในส่วนของทางชมรมนั้นได้ร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้ได้มีการแลกเปลี่ยนกับชมรมอื่นๆที่มีกิจกรรมภายในค่ายที่เหมือนกัน สามารถนำสิ่งต่างๆที่ได้รับความรู้มาปรับใช้ในค่ายของทางชมรม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีมากค่ะ

สวัสดีครับ [email protected]

เวทีวันนั้น บางอค์กรได้พูดถึงประเด็นปัญหาการจัดกิจกรรมที่สำคัญๆ เช่น การไม่กระจายงาน การใช้คนไม่ตรงกับงาน (การบริหารคน-บริหารค่าย)

หรือแม้แต่ ทักษะจะทำงานร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มช่างชุมชน รวมถึงประเด็นการสำรวจค่าย การได้มาซึ่งสถานที่ออกค่าย ล้วนน่าสนใจมากครับ

ผมเป็นหนึ่งคนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม แล้วมีควมรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์มาก เราได้รู้แนวคิด รูปแบบ และวัตถุประสงค์ในการจัดทำค่ายของแต่ล่ะชมรม ซึ่งเป็นทั้งประสบการณ์และแนวคิดมี่เราสามารถต่อยอดหรือนำมาปรับใช่ให้กับค่ายหรือบริบทชมรมเราได้ ส่วนด้านพ่อฮักแม่ฮัก ทางชมรมผมที่จัดทำค่ายก็ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านอิกทั้งยังได้สานสัมพันธ์กับชาวบ้าน และได้เข้าหาชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยรวมแล้ว ผมคิดว่ากิจกรรมพ่อฮักแม่ฮักเป็นกิจกรรมที่ดีครับ หากเรามีการต่อยอดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของเราด้วย และจนถึงตอนนี้ผมก็ยังติดต่อแม่ฮักผมอยู่ตลอด ครับ……ขอบคุณครับ#ค่ายความรู้นี้พี่ให้น้องครั้งที่17

เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นมุมมองหลาย ๆ อย่างที่เราเคยเข้าใจผิดไป ทำให้ได้เห็นปัญหาและวิธีการจัดการปัญหา วิธีการจัดกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮักที่เด็กกิจกรรมหลาย ๆ กลุ่มได้จัดทำขึ้น เป็นการที่เราได้เข้าไปเห็นมุมมองต่าง ๆ ตามวิถีชีวิตของพื้นถิ่นนั้น ๆ การเข้าอบรมในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นข้อกระจ่างที่แท้จริงว่า เราไม่ได้เข้าไปแค่อาศัย แต่เรายังเข้าไปเรียนรู้และเติมเต็มบางส่วนในสิ่งที่ชุมชนขาดหลายไป

จริงๆแล้วกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮักก็เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของค่ายปัจจัยนึงนะครับ แต่น่าเสียดายที่ค่ายของชมรมรักษอีสานในปีนี้ไม่ได้จัดกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮักเนื่องจากข้อจำกัดหลายๆอย่าง แต่เล็งได้เห็นความสำคัญของพ่อฮักแม่ฮักครับ จึงเรียนเชิญพ่อๆแม่ๆในชุนชนมาร่วมกิจกรรมร่วมกับนิสิตแทนครับ และได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาของชุมชน หลังการทำกิจกรรมต่างๆ ก็ทำให้เราเห็นอะไรหลายๆอย่างเช่น ความห่วงใย ความเมตตา รวมรักที่พ่อฮักแม่ฮักมีต่อนิสิตชาวค่ายครับ จากคนที่ไม่ใช่ญาติก็เหมือนเป็นญาติครับ นี่แหละครับเสน่ห์ของกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮัก

จริงๆแล้วกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮักก็เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของค่ายปัจจัยนึงเลยก็ว่สได้นะครับ แต่น่าเสียดายที่ค่ายของชมรมรักษ์อีสานในปีนี้ไม่ได้จัดกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮักเนื่องจากข้อจำกัดหลายๆอย่าง แต่เล็งได้เห็นความสำคัญของพ่อฮักแม่ฮักครับ จึงเรียนเชิญพ่อๆแม่ๆในชุนชนมาร่วมกิจกรรมร่วมกับนิสิตแทนครับ และได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาของชุมชน หลังการทำกิจกรรมต่างๆ ก็ทำให้เราเห็นอะไรหลายๆอย่างเช่น ความห่วงใย ความเมตตา รวมรักที่พ่อฮักแม่ฮักมีต่อนิสิตชาวค่ายครับ จากคนที่ไม่ใช่ญาติก็เหมือนเป็นญาติครับ นี่แหละครับเสน่ห์ของกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮัก​

ใช่ครับ [email protected]

ย้อนกลับไปเมื่อปีเศษๆ ในเวทีถอดทบเรียนครั้งนั้น ชมรมรุ่นสัมพันธ์ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่สะท้อนแนวคิดถึงเรื่องนี้ในทำนองว่า ที่ผ่านมาชมรมฯ ยังไม่ได้จัดกิจกรรมเชิงลึกเกี่ยวกับพ่อฮักแม่ฮักมากเท่าที่ควร เพราะรุปแบบกิจกรรมเป็นเรื่องแนะแนวการศึกษาภายในสถานศึกษา (จุดประกายไฟใส่สีควมฝัน) เสียมากกว่า

และอีกกิจกรรมฯ คือ “ความรู้นี้พี่ให้น้อง” ก็ยังไม่มีภาพที่ชัดในเรื่องของการเข้ามามีส่วนร่วมของ “ชุมชน” ซึ่งเวทีครั้งนั้นทางชมรม ตั้งเป็นความท้าทายว่าในปีการศึกษา 2552 จะนำแนวคิดนี้ไปใช้ให้มากขึ้น ใช้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

พอได้ฟังเช่นนี้แล้วก็ชื่นใจ เหมือนทำเวทีแล้วไม่สูญเปล่า

ยิ่งมาได้ยินว่า ทุกวันนี้ ยังคงติดต่อสื่อสาร ไปมาหาสู่กันเหมือนเดิม -ยิ่งสุขใจไปด้วย ครับ

และขอให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เข้มแข็งและเป็นหนึ่งในการเรียนรู้ของชมรมฯ สืบไป และสืบไปนะครับ

ขอบคุณครับ - [email protected]….

ฟังแล้ว เป็นอีกประเด็นที่ทำให้สุขใจที่เวทีได้สร้างการเรียนรู้ให้นิสิต และแกนนำขององค์กรได้ เช่น “ความเข้าใจผิดในบางประเด็น” (ซึ่งแม้จะไม่ระบุ แต่ก็ชื่นใจ และขอบคุณมากๆ ที่นำความรู้จากเวทีไปปรับใช้จริงกับการทำงาน นะครับ)

สัวนประเด็นนี้ มีความชัดเจน มากๆ -ชื่ชมเช่นกันครับ

“กิจกรรมพ่อฮักแม่ฮักที่เด็กกิจกรรมหลาย ๆ กลุ่มได้จัดทำขึ้น เป็นการที่เราได้เข้าไปเห็นมุมมองต่าง ๆ ตามวิถีชีวิตของพื้นถิ่นนั้น ๆ การเข้าอบรมในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นข้อกระจ่างที่แท้จริงว่า เราไม่ได้เข้าไปแค่อาศัย แต่เรายังเข้าไปเรียนรู้และเติมเต็มบางส่วนในสิ่งที่ชุมชนขาดหลายไป”

ขอบคุณครับ

เยี่ยมมากครับ [email protected]

โดยข้อจำกัดพื้นที่ักในค่ายกับชุมชนอยู่ห่างกันมาก จึงไม่สะดวกในการจัดกิจกรรมพ่อฮัก-แม่ฮัก

แต่ การที่ชมรม พลิกรูปแบบอื่นมาแทน เน้นชวนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมสร้างฝาย หรือจัดเวที “โสเหล่-เสวนา” ขึ้นแทน ก็ถือว่า เป็นกระบวนการชดเชยและทดแทนได้อย่างดีเยี่ยม

ยิ่งพอได้รู้ว่า ทุกๆ เช้า ชาวบ้านจะเอารถมารับนิสิต เพื่อไปทำงานซ่อมแซม ผมคิดว่า นั่นคืออีกหนึ่งของการมีส่วนร่วม นั่นคืออีกหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า “นิสิตได้ใจชาวบ้าน” นะครับ

ขอให้ผ่องถ่ายหลักการทำงานดีๆ เหล่านี้ไปยังรุ่นน้อง หรือคนทำงานของชมรมฯ ในปีถัดไปเรื่อยๆ นะครับ ให้วิธีคิดและวิธีการเหล่านี้ เป็น “วัฒนธรรมองค์กร” ของชมรมฯ สืบไป ครับ

เป็นกิจกรรม ที่ดีมากๆ ค่ะ ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างในการทำงาน กระบวนการทำงานด้านต่างๆ ได้ประสบการณ์กับกิจกรรมได้รู้จักกิจกรรม พ่อฮักแม่ฮัก ที่ได้แลกเปลี่ยนและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กับพ่อฮักแม่ฮัก ได้เรียนรู้วิถีชาวบ้าน ได้เรียนรู้วิถีของชุมชน อีกทั้งความรักและความอบอุ่นที่ได้รับ จากกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮัก

เป็นกิจกรรม ที่ดีมากๆ ค่ะ ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างในการทำงาน กระบวนการทำงานด้านต่างๆ ได้ประสบการณ์กับกิจกรรมได้รู้จักกิจกรรม พ่อฮักแม่ฮัก ที่ได้แลกเปลี่ยนและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กับพ่อฮักแม่ฮัก ได้เรียนรู้วิถีชาวบ้าน ได้เรียนรู้วิถีของชุมชน อีกทั้งความรักและความอบอุ่นที่ได้รับ จากกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮัก

กิจกรรมพ่อฮักแม่ฮัก ช่วยให้ฝึกการใช้เครื่องมือไปในตัว เครื่องมือเรียนรู้ที่ว่าด้วยการ สังเกต การซักถาม สัมภาษณ์ สนทนาจำและวิธีการคิด ด้วยค่ะ

ครับ คุณธัญวรัตน์

ขอบคุณที่มาร่วม ลปรร.ใน 2 ประเด็น ประเด็นแรกชัดเจนว่ากระบวนการ หรือกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮักคือสะพานเชื่อมสู่การเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม หรือบริบทของชุมชนอย่างใกล้ชิดถึงความจริง

และที่น่าสนใจก็คือประเด็นเครื่องมือการเรียนรู้นั่นแหละครับว่าใช้อะไรบ้างกับกระบวนการพ่อฮักแม่ฮ้ก ทั้งที่เป็นการสังเกต ซักถาม สนทนา ฟัง…

และที่ไม่ได้กล่าวถึงก็คือ “เรียนรู้จากการลงมือทำ” นั่นแหละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท