Social Distancing" ในมิติชาติพันธุ์ : การสื่อสารโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพผ่านสมดุลแห่งพลัง (Hard&Soft Power Balancing)


"Social Distancing" หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม ที่หลายคนฟังเข้าใจยาก หรือ หลายพื้นที่ก็จะใช้คำว่า "กักตัว" ซึ่งมีนัยยะของการบังคับ และใช้อำนาจ คำๆนี้ ใช้อย่างไรให้ผู้ฟังโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆอยากร่วมมือ และเกิดสมดุลแห่งพลัง (Hard&Soft Power Balancing)

Social Distancing" ในมิติชาติพันธุ์ : การสื่อสารโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพผ่านสมดุลแห่งพลัง (Hard&Soft Power Balancing)

ในยุคของวิกฤตโรคระบาด ไปที่ไหนใครๆก็ประกาศ "Social Distancing" หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือเข้มขึ้น ก็จะใช้คำว่า "กักตัว" ซึ่งมีนัยยะของการบังคับ และใช้อำนาจ

ใครบ้างชอบการบังคับ? และเราแน่ใจหรือว่าจะบังคับเขาได้ตลอดเวลา?

แม้แต่ตัวเรา เราบังคับร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ทางสังคมรอบข้างเราได้แค่ไหน?

นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต่อต้าน การ "กักตัว" นะครับ แต่คำๆนี้มันแสดงถึงการใช้อำนาจที่แข็งกระด้างอย่างชัดแจ้ง "ที่ใดมีการใช้อำนาจกดทับ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน" ซึ่งอาจจะไม่ใช่การต่อต้านโดยตรง แต่มันมักจะไปโผล่ในรูปของความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่ง ถูกพ่อแม่ทำโทษรุนแรงในตอนเด็ก แม้ไม่กี่ครั้งแต่มันฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก วันดีคืนดี พลังงานเหล่านี้ก็โผล่ขึ้นมาทำให้เขาไปทำความรุนแรงต่อคนอื่นโดยที่เขาเองก็คาดไม่ถึง

หรือใกล้ตัวหน่อย บางวันเราถูกเจ้านายตำหนิ เราโกรธ แต่ทำอะไรเจ้านายไม่ได้ แต่พอกลับบ้านไป พลังโทสะที่ตกค้างในใจเหล่านั้นก็ไปลงที่คนใกล้ชิดในบ้าน ทั้งๆที่เราไม่เจตนา

บางคนทะเลาะรุนแรงกับคนรัก ขับรถออกบ้านไป เจอคนขับรถปาดหน้า เขาก็จอดแล้วขาดสติลงไปทำร้ายปางตาย

จะเห็นว่าพลังเชิงลบมันถ่ายเทจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่ง จากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งได้ตลอด

อำนาจกดทับ การบังคับเป็นพลังงานลบ เป็น Hard Power ถ้าเราเข้าใจและรู้เท่าทันมัน เราย่อมใช้ได้ ข้อสำคัญคืออย่าหลงใช้ต่อเนื่องจนตนเองและระบบถูกครอบเข้าสู่ด้านมืด หากใช้ Hard Power ตามจังหวะเวลาและบุคคล ใช้อย่าง “พอเพียง”เท่าที่จำเป็นต้องใช้
และเมื่อใช้แล้วต้องรู้จักนำเอา Soft Power เช่น สติ เมตตา ความรัก ความอ่อนโยน เข้ามาจัดสมดุลแห่งพลัง (Hard&Soft Power Balancing) เพื่อสลายผลกระทบที่จะตามมา

อย่างที่เกริ่นไว้แต่ต้น "Social Distancing" หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม ที่หลายคนฟังเข้าใจยาก หรือ หลายพื้นที่ก็จะใช้คำว่า "กักตัว" ซึ่งมีนัยยะของการบังคับ และใช้อำนาจ
คำๆนี้ ใช้อย่างไรให้ผู้ฟังโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกอยากร่วมมือ และเกิดสมดุลแห่งพลัง (Hard&Soft Power Balancing)

วานนี้ ผมได้โทรคุยกับแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์หลายท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็ให้ความกรุณาสละเวลา ให้ข้อมูลว่าในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ปกติก็จะให้ความร่วมมือในเรื่องการดูแลสุขภาพกับภาครัฐเป็นอย่างดี แต่ถ้าใช้คำที่มีนัยยะอำนาจ ควบคุม กักตัว อะไรทำนองนี้ พวกเขามักจะเกิดการวิตกกังวล หวาดกลัว หรือบางคนจะหลบซ่อน เพราะไม่รู้ ไม่ชัดว่าที่จะเผชิญต่อไปคืออะไรแน่ บางคนนอกจากจะฟังภาษาราชการไม่เข้าใจ มีความหวาดกลัวอยู่เป็นทุน และเคยมีข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่รัฐมาก่อน หรือเครียดมาจากสภาวะต่างๆที่รุมเร้าก็อาจเกิดอาการ "หัวร้อน"

ตรงนี้ เบื้องต้น เราในฐานะแกนนำชุมชนก็ดี นักพัฒนา นักสื่อสารสุขภาวะก็ดีควรหันมาส่องกระจกมองดูจิตใจตัวเองก่อน ถ้าเห็นจิตใจสงบแจ่มใส และเบาด้วยเมตตากรุณาแล้วก็ให้สัญญาณว่าเราไปต่อได้ แต่ถ้ายัง ก็ต้องพยายามเท่าทันใจตัวเอง ระวังตัวเองไว้ด้วย หากุศโลบาย ทำให้ใจแจ่มกระจ่างและเพิ่มพูนสติปัญญา

เรื่องเดียวกัน แต่สื่อต่างกัน ผลที่ได้รับย่อมต่างกัน

ในการปรับพฤติกรรมของคน (หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตอย่าง หมา แมว ฯลฯ) สิ่งสำคัญมากๆอย่างหนึ่ง คือการใช้ภาษาที่เข้าถึง และละเมียดละไม ด้วยใจที่เมตตาประณีต

วานนี้ แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นกัลยาณมิตรหลายท่านได้ช่วยแปลงคำว่า “กักตัว” เป็นภาษาชาติพันธุ์ที่ใช้ในการสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆและรู้สึกได้ถึงความเป็นมิตร หลากหลายแบบ เช่น



ถูกเต๋ไลอยู่ตี้เฮินตี้เย...อ่ำออกเฮินออกเยกั๋นข้าหนอ. เป็นภาษาไทใหญ่ หมายถึง โปรดรักษาเนื้อรักษาตัวอยู่ในบ้าน อย่าพยายามออกไปข้างนอก

"แฮนโก๊ะเปอะ อาวตนึงเญือะ เผือ ปองกัน โรค ละเอะ เลอเวือะ โครย ปุย ม่องฆอต เปอ อะ หมอ ..ไมจๆโอ๊ะ" อันนี้เป็นภาษาละเวือะ แปลว่า

โปรดระวังตนเอง อยู่บ้าน เพื่อป้องกันโรค ให้ละเวือะเราทุกคน และรอคำเตือนจากหมอ

" โอ่ง เดีย โด่ง โอ่ง เดีย ล่ำ " อันนี้เป็นภาษาปะโอ แปลว่าการอยู่แต่ในหมู่บ้าน/ชุมชน ของตนเอง ไม่ไปสุงสิงกับใคร

“เมอแอะลอเกอจ่า เด๊าะแอะปื่อแหว่ โหม่ ป่า เด๊าะ ปาก่าเกรอเน กวาเชวลอคี เต่อชีหลุยนี เลอะเด๊อะเนอ” เป็นภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า ดูแลตัวเองอยู่บ้าน. 14 วัน. เพื่อตัวเอง พ่อแม่ และคนที่คุณรัก

"อ่า มา โก โดว่ อ่า มา ก่า ต้า ,โบว ต้า ,ฝะ ต้า , หมื่อ ตี้ กว่ะ สวื่อ , ถ่า นา เจ่ , ทา จิ กวัว จิ ถ่า เย ,ฮี ขัว หมื่อ จวู้ จ๋า ....โควิด อี้ นา ทา มา อ่าคื่อ จั๊ว งา" เป็นภาษาลีซูแปลว่า อยู่บ้านตัวเอง ไม่ออกไปพบปะกันในที่มีหมู่คน เพื่อดูแลสุขภาพ และป้องกันโรค COVID-19



"อ่อตูฮ่ะสาแชเว ฮ่ะดะเวโหย่ลาโก อาซูยออ้าคอแชเวแหม่" ภาษาลาหู่ดำ แปลว่า ดูแลรักษาตัวเอง ถ้าหากรักกันจริง ขอให้อยู่บ้านของตัวเองนะ

ทั้งหมดเป็นตัวอย่างของการใช้ภาษาชาติพันธุ์ต่างๆที่มีความสุภาพ แฝงความรัก ความอ่อนโยน

ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมืองอยู่มากกว่าสามสิบกลุ่ม นับรวมๆกันก็เป็นประชากรหลายล้านคนที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ชนบทพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท และพื้นที่ในเมืองตามลำดับ

หากแต่การสื่อสารว่าด้วย Social Distancing กับการ “กักตัว” นั้นมีข้อจำกัดและผลกระทบมากในการใช้ภาษาไทยแบบทางการภาษาเดียว

ซึ่งแม้กระทั้งในภาษาไทย แกนนำภาคประชาสังคมเองอย่างคนทำงานเครือข่ายรักการอ่านของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็พูดคุยกันในวงเล็กๆแล้วว่า น่าจะเปลี่ยนมาใช้คำว่า “เก็บตัว เก็บใจ” ที่มีนัยยะของการดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ตามนิยามของสุขภาวะที่กว้างและลึกซึ้งกว่า

การใช้ภาษา จึงมิใช่แค่การบอกเล่า หรือประกาศ สั่งการ อันเป็นการสื่อสารแนวดิ่ง ที่เป็น Hard Power แต่ต้องจัดสมดุลหรือ Balancing ของอำนาจ โดยการสื่อ Soft Power ที่เป็นแนวราบผ่านภาษาชาติพันธุ์ สัญลักษณ์ รวมถึงสื่อสารผ่านศิลปะแขนงต่างๆ เช่น ดนตรี ภาพวาด การแสดงพื้นบ้าน ฯลฯ ที่ชุมชนร่วมเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการสื่อสารนั้นๆ จึงจะก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจจากก้นบึ้งที่แท้จริง และลดผลสวิงกลับของอำนาจสั่งการที่เป็น Hard Power ลงไป

ขอบคุณแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ประเสริฐ ประดิษฐ์ เครือข่ายไทใหญ่จากแม่ฮ่องสอน , คุณปณชัย จันตา เครือข่ายละเวือะจากแม่ฮ่องสอน , คุณสุพจน์ หลี่จา เครือข่ายลีซูจากเชียงราย , คุณกันตพงศ์ จองนัน เครือข่ายปะโอจากแม่ฮ่องสอน , คุณชุลีพร ใกล้แสงธรรม เครือข่ายปกาเกอะญอ จากเชียงใหม่ , คุณพิชัย เฉลิมรื่นรมย์ เครือข่ายลาหู่ จากแม่ฮ่องสอน รวมถึงคุณสุดใจ พรหมเกิด เครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านจาก สสส. ที่ร่วมอภิปรายถึงการใช้ภาษาไทย

ขอบคุณ สสส. สำนัก 9 (กลุ่มประชากรเฉพาะ) ที่ใส่ใจในมิติชุมชนชาติพันธุ์ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดพื้นที่สื่อสารอันสร้างสรรค์ในยุควิกฤต COVID-19 นี้ รวมถึงอาจารย์ ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ช่วยประสานการสับสนุนให้เกิดข้อเขียนเพื่อช่วยกันหาทางออกร่วมกันเช่นนี้

รู้เท่าทันการสื่อสารแบบสั่งการในแนวดิ่ง เพิ่มการสื่อสารแนวราบด้วยความรักอย่างเข้าใจ ด้วยภาษาชาติพันธุ์ ผ่านวิถีศิลปะ วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา จะช่วยให้เราฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ด้วยความสามัคคี

cr.ภาพชนชาติพันธุ์จากเฟสบุ๊ค ประเสริฐ ประดิษฐ์ , มณีรัตน์ หลีจา , รอน ใจกันทา , ปณชัย จันตา , ชุลีพร ใกล้แสงธรรม , พิชัย เฉลิมรื่นรมย์ เว็ปไซต์ https://www.tvpoolonline.com/c... เว็ปไซต์ https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_3537979 เว็บไซต์ https://www.thebangkokinsight.com/301821/





หมายเลขบันทึก: 676337เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2020 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2020 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท