เสียงจากคนค่าย : ถือศาสตร์และศิลป์ คืนถิ่นชุมชน (ชมรมรักษ์อีสาน)


การลงไปพบปะชุมชนในครั้งนั้น จะเรียก “สำรวจค่าย” หรือ “พัฒนาโจทย์” ก็ไม่ผิด การลงพื้นที่ด้วยตนเอง ทำให้รู้ข้อเท็จจริงในชุมชน รู้ว่าฝายชะลอน้ำที่ว่านั้นมีต้นน้ำมาจาก "มอหินขาว" ที่ไหลลงสู่ “ลำน้ำเจา” ไปสู่ “ลำปะทาว” และไหลไปสู่ “น้ำตกตาดโตน”

ผมกับทีมงานชมรม “รักษ์อีสาน” ตัดสินใจทำค่ายอาสาพัฒนา 3 วัน 2 คืนที่โรงเรียนบ้านท่าหิมโงม สาขาวังคำแคน บ้านคำแคน ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ในระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2563 ภายใต้ชื่อโครงการ “ถือศาสตร์และศิลป์ คืนถิ่นชุมชน”โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้จัดค่ายฯ บนฐานคิด “เรียนรู้คู่บริการ”

ค่ายครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ คือ การซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ ซ่อมแซมสนามเด็กเล่น ทาสีอาคารเรียน หอพระและกำแพง/รั้วโรงเรียน สร้างลาน BBl รวมถึงกิจกรรมเรียนรู้วิถีชุมชนที่เน้นไปในด้านการบริหารจัดการน้ำของคนในชุมชน

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่กองกิจการนิสิตได้จัดอบรมผู้นำองค์กรนิสิตที่จังหวัดอุดรธานี ครั้งนั้นเจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิต (พี่พนัส ปรีวาสนา) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าชมรมรักษ์อีสาน คือชมรมที่มีจุดเด่นเรื่องเครื่องมือการเรียนรู้ เพราะส่วนใหญ่เป็นนิสิตที่มาจากสาขาการพัฒนาชุมชน แต่การจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง มักจะมีรูปแบบกิจกรรมที่ไม่เหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงไปตาม “แกนนำองค์กร” และเปลี่ยนแปลงไปตาม “บริบทของชุมชน”รวมถึงมีพื้นที่ดำเนินการในเขตจังหวัดสุรินทร์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น  -

การได้รับฟังในครั้งนั้น ทำให้ผมเริ่มคิดและสร้างความท้าทายให้กับตัวเองอย่างเงียบๆ  เป็นความท้าทายทั้งในเรื่องรูปแบบและสถานที่การจัดกิจกรรมว่าจะขับเคลื่อนกิจกรรมและองค์กรของตนเองอย่างไร

จวบจนวันหนึ่งผมและเพื่อนๆ ได้พูดคุยกับ “รุ่นพี่” (ศิษย์เก่า) ซึ่งรุ่นพี่ได้บอกเล่าว่าเคยไปจัดกิจกรรมมอบสิ่งของให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าหิมโงม ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองพอสมควร อีกทั้งโรงเรียนยังมีสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชนและมีแนวคิดที่ดีร่วมกับชุมชนในการบริหารจัดการน้ำ

ด้วยเหตุนี้ ผมกับเพื่อนๆ และรุ่นพี่ศิษย์เก่า  จึงออกเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านท่าหิมโงม เพื่อพบปะพูดคุยกับคณะครูและแกนนำชาวบ้าน จนได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกว่าทั้งโรงเรียนและชุมชนมีแผนที่จะซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้กับการเกษตร ประมง หรืออุปโภคทั่วๆ ไป รวมถึงการทำฝายเพื่อป้องกันมิให้ถนนถูกกัดเซาะจากการไหลของน้ำ

การพบปะพูดคุยในช่วงนั้น ผมกับเพื่อนๆ ได้ใช้แนวคิดของการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์ (แบบไม่มีโครงสร้าง) รวมถึงการลงดูพื้นที่จริงบนฐานของการสังเกตการณ์จริงร่วมกับชุมชน 

การลงไปพบปะชุมชนในครั้งนั้น จะเรียก “สำรวจค่าย” หรือ “พัฒนาโจทย์”ก็ไม่ผิด การลงพื้นที่ด้วยตนเอง ทำให้รู้ข้อเท็จจริงในชุมชน รู้ว่าฝายชะลอน้ำที่ว่านั้นมีต้นน้ำมาจาก "มอหินขาว" ที่ไหลลงสู่ “ลำน้ำเจา” ไปสู่ “ลำปะทาว” และไหลไปสู่ “น้ำตกตาดโตน”

เช่นเดียวกับการรับรู้ว่าบนต้นน้ำที่ว่านั้น  ทางโรงเรียนกับชุมชนได้ “เดินท่อน้ำ” มาพักน้ำไว้ที่วัดก่อนจะผ่องถ่ายน้ำออกไปสู่หมู่บ้าน อีกทั้งการได้รับรู้ว่า การซ่อมแซมครั้งนี้เป็นแผนพัฒนาชุมชนที่ชาวบ้านตั้งใจจะดำเนินการอยู่แล้ว จึงช่วยให้ผมและทีมงานมั่นใจว่ากิจกรรมที่จะมาทำนั้น จะเกิดประโยชน์จริงทั้งต่อนิสิตและชุมชน

พอผมและทีมงานตัดสินใจที่จะทำค่ายกันที่นั่น พวกเราไม่ได้ลงพื้นที่กันอีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว ได้แต่โทรศัพท์ติดต่อสอบถามความคืบหน้าและร่วมวางแผนผ่าน “มือถือ” เป็นระยะๆ  เหตุที่เราไม่ได้ลงพื้นที่ก็เพราะว่าชุมชนไม่อยากให้เป็นภาระในการเดินทางไปๆ มาๆ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและกระทบต่อการเรียน ซึ่งผมกับเพื่อนๆ ก็เห็นด้วย พร้อมๆ กับการเชื่อมั่นว่าชุมชนเข้มแข็งและสามารถจัดเตรียมสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นแผนงานและความต้องการของชุมชนอยู่แล้ว

ผมกับเพื่อนๆ ไปเตรียมค่ายล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน หนึ่งในกิจกรรมการเตรียมค่ายก็คือการไปขน “ก้อนหิน” มาเตรียมทำฝาย  สิ่งนี้สอนให้ผมรู้เรื่องการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่อาจจะ “บานปลาย” หรือ “ปูด” ขึ้นมา

ตลอดระยะเวลาเตรียมค่าย ชุมชนให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ชุมชนไม่ปล่อยให้เราทำงานแบบโดดเดี่ยว รวมถึงการจัดสรรงบประมาณก้อนหนึ่งมาซ่อมแซมฝาย  นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจและมั่นใจว่า “เลือกพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง”สะท้อนหลักคิด “การมีส่วนร่วม” และหลักคิด “การเป็นเจ้าของ”ที่เด่นชัดจากชุมชนอย่างน่าประทับใจ

ในระยะแรกๆ ของการทำค่ายก็พบปัญหาบ้างเล็กน้อย กล่าวคือ นิสิตชาวค่ายยังไม่คุ้นเคยกัน แกนนำค่ายก็ยังไม่รู้จักสมาชิกค่ายอย่างลึกซึ้งมากนัก จนต้องปรับแผนมาเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ปฐมนิเทศก่อนไปค่าย จัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เป็นระยะๆ เพื่อให้ทุกคนรู้จักกันให้มากขึ้น จะได้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

รวมถึงปัญหาเรื่องการเดินทางไปศึกษาแหล่งต้นน้ำที่ใช้เวลาร่วมๆ จะ 6 ชั่วโมง ส่งผลให้นิสิตกลุ่มนั้นไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมในสายงานอื่นๆ ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการทาสี ทำลาน BBL ฯลฯ 

แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะระยะทางไป-กลับไกลมาก แถมเส้นทางของการเดินทางก็ไม่ได้สะดวกราบรื่น เรียกได้ว่าไป-กลับทั้งวันเลยทีเดียว

ในส่วนเรื่องของการทำฝาย เราไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำฝายชะลอน้ำเลยก็ว่าได้ ทางชมรมจึงเปิดรับสมัครนิสิตที่มีประสบการณ์ด้านนี้เข้ามาช่วย เริ่มตั้งแต่เปิดรับสมาชิกค่ายทั้งหมดผ่านระบบออนไลน์ เดิมตั้งเป้าให้มีคนสมัครสัก 80% แต่ไม่เป็นไปตามเป้า มีมาสมัครเพียง 70% ที่เหลือจึงให้คณะกรรมการชมรมฯ เข้าไปสมัครตามยอดที่เหลือ 

โดยในใบสมัครจะให้นิสิตกรอกประวัติทั่วไป ระบุประสบการณ์ค่ายและเหตุผลของการไปค่าย เพื่อนำมาพิจารณาและทำฐานข้อมูลสมาชิกค่าย ซึ่งครั้งนี้มีนิสิตสาขาอื่นๆ เข้ามาร่วมประปราย เช่น นิสิตสาขาภาษาจีน นิสิตจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง

การทำงานในค่าย พวกเราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน คณะครู หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่แวะเข้ามาสอดส่องดูแล เช่นเดียวกับการมีอาจารย์ที่ปรึกษา ศิษย์เก่าและอดีตประธานชมรมรักษ์อีสาน 

รวมถึงเครือข่ายนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เคยออกค่ายด้วยกันก็มาฝังตัวอยู่ในค่าย คอยหนุนเสริมการทำงานในค่าย หรือแม้แต่ผู้ปกครองของนิสิตชาวค่ายก็มาสนับสนุนเรื่องน้ำดื่มและสวัสดิการอื่นๆ กลายเป็นความอบอุ่นและพลังที่มีค่ายิ่งต่อชาวค่าย

การทำงานค่ายครั้งนี้ หากไม่นับเรื่องจิตอาสา โดยส่วนตัวแล้ว ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง  ยกตัวอย่างเช่น 

  • ไม่มีประสบการณ์ด้านการทำฝาย ก็ต้องเรียนรู้จากชุมชน 
  • ขาดความรู้และประสบการณ์ในการบริหารคนและงานค่าย ก็ต้องเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงร่วมกันอย่างเป็นทีม 
  • ขาดความรู้และประสบการณ์ในการสร้างฝายชะลอน้ำ ส่งผลให้คำนวณงบประมาณไม่สัมพันธ์กับความจริงเท่าใดนัก 
  • รวมจนถึงปัญหาความรู้ความเข้าใจในการเขียนโครงการและการจัดการเอกสารการเงิน เพื่อเบิกจ่ายและเคลียร์เงินยืม
  • ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ ผมในฐานะผู้นำต้องแบกรับและเรียนรู้อย่างจริงจังด้วยตนเอง มิใช่ปล่อยปละให้เป็นภาระของคนอื่นๆ

นอกจากนี้แล้ว ค่ายๆ นี้สอนให้ผมเรียนรู้ “ความเป็นผู้นำ” มากขึ้น จากไม่เคยกล้าตัดสินใจอะไรๆ ก็ต้องกล้าที่จะตัดสินใจให้มากขึ้น ในอดีตเวลาลงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นในรายวิชาเรียนหรือกิจกรรมอื่นๆ ผมก็จะไม่ค่อยกล้าคุยกับชาวบ้าน  แต่ค่ายนี้ตัวเองต้องเป็นแกนหลัก จึงต้องกล้าหาญที่จะพูดคุยกับชาวบ้าน

หรือแม้กระทั่งจากที่เคยเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นเรื่องเรียนและเรื่องทำงานกลุ่ม พอมาออกค่ายก็เปลี่ยนตัวเองเป็นคนที่ใส่ใจและรับผิดชอบต่อการเรียนและงานกลุ่มมากขึ้น เพราะรู้ว่าความเฉื่อยชาของเราได้ส่งผลกระทบต่อตนเองและคนรอบข้าง อีกทั้งผมกลายเป็นคนใส่ใจต่อเวลามากขึ้น ทำงานแข่งกับเวลามากขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนเกิดจากการ “ทำค่าย” ในกิจกรรมนอกหลักสูตรนั่นเอง

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอขอบคุณค่ายๆ นี้ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองในหลายๆ อย่าง  พอได้ทบทวนตัวเองจึงค้นพบปัจจัยความสำเร็จหลายประการ อาทิเช่น 

  • การมีส่วนร่วมของชุมชน 
  • ความสามัคคีของนิสิตชาวค่าย 
  • การดูแลของที่ปรึกษา ศิษย์เก่าและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น 
  • การยืดหยุ่นเรื่องกิจกรรม 
  • การจัดกิจกรรมบนแผนงานหรือความต้องการของชุมชน 
  • การเตรียมค่ายที่จริงจังและสอดคล้องกับกิจกรรมจริง 
  • การนำองค์ความรู้ที่กองกิจการนิสิตได้อบรมให้ไปใช้จริงในค่าย

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ คือปัจจัยความสำเร็จที่ผมเชื่อว่าสามารถนำไปใช้ได้กับทุกๆ กิจกรรม

และที่สำคัญคือการได้รู้ว่าฝายชะลอน้ำเล็กๆ นี้ ทำหน้าที่หลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน ทั้งการอุปโภค  การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ หรือกระทั่งการคมนาคม  เพราะมีลักษณะเป็นฝายน้ำล้นในตัวเองที่สร้างขึ้นมิให้ถนนถูกกัดเซาะจรพังทลายลง


ภาพ : ชมรมรักษ์อีสาน
เสียงจากคนค่าย : นายวัชรินทร์​ กมลเมือง​
ประธานชมรมรักษ์อีสาน ปีการศึกษา 2562
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 676329เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2020 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2020 00:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท