ชีวิตที่พอเพียง 3659. แฮร์มัน เฮสเสอะ นักแสวงหา



หนังสือ แฮร์มัน เฮสเสอะ บนเส้นทางแสวงหา ... คืนสู่ตน  สะกิดให้ผมใคร่ครวญ โดยตั้งคำถามว่า หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องคน    เรื่องภายในของคน หรือภาวะของความเป็นมนุษย์ อย่างน้อยก็มนุษย์จำพวกหนึ่ง ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ไหลไปตามกระแสสังคมในยุคนั้น    ผมตั้งคำถามว่า แฮร์มัน เฮสเสอะ ไม่มองสังคมภาพรวมเลยหรือ    จึงค้น Google และอ่านประวัติของท่านใน Wikipedia (1)   

ประวัติของท่านในวิกิพีเดียสนุกไม่แพ้นวนิยายที่ท่านเขียน    หรือกล่าวใหม่ว่า ส่วนหนึ่งของนิยายคือชีวิตของท่านเอง ... ชีวิตของกบฏ    เขากบฏต่อพ่อแม่และกติกาสังคมเมื่ออายุ ๑๕    ที่จริงแม่สังเกตตั้งแต่ลูกชายคนนี้อายุ ๔ ขวบแล้วว่า เขาเป็นเด็กที่มีพลังประหลาดอยู่ภายใน   

ผมตีความว่าพลังพิเศษของ Hermann Hesse คือผัสสะที่ละเอียดอ่อนต่อสิ่งรอบตัว    และความสามารถในการเสนอออกมาเป็นข้อเขียนและภาพวาด    ท่านเป็นกวี นักเขียน และศิลปินวาดภาพ    ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1946   

มองอีกมุมหนึ่ง ท่านคือนักแสวงหาตนเอง    นักเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง    ดังข้อความเรื่อง ชีวิตใหม่เริ่มขึ้น ในหนังสือหน้า ๗๔  “ในชีวิตผม  ก็เช่นเดียวกับชีวิตคนส่วนใหญ่   มีจุดวิกฤตของการเปลี่ยนจากลักษณะทั่วไป เป็นลักษณะเฉพาะ   ซึ่งเป็นสถานแห่งความน่ากลัวกับความมืด    ความสับสนกับความโดดเดี่ยว    ซึ่งวันทั้งวันอยู่กับความเฉื่อยเนือยกับความว่างเปล่าอันสุดบรรยาย    แล้วค่ำคืนจะเกิดดาวดวงใหม่บนฟากฟ้า  และตาดวงใหม่ด้านในผม”    อ่านแล้วผมบอกตัวเองว่า กวีบรรยาย Transformative Learning ได้สละสลวยอย่างนี้เอง   

มุมมองของนักแสวงหาต่อพระเจ้าน่าสนใจมาก “... พระเจ้าของเราชื่ออาบรั๊กซัส   และเป็นทั้งพระเจ้ากับซาตาน   มีโลกสว่างกับโลกมืดในตัวเอง   อาบรั๊กซัสไม่ปฏิเสธความคิดใดๆ หรือความฝันใดๆ ของแก    ... แต่เขาจะทิ้งแกไปทันทีที่แกกลายเป็นคนสมบูรณ์และสามัญ    เขาจะทิ้งแกไปหาหม้อใบใหม่เพื่อปรุงความคิดของเขาในนั้น” (หน้า ๕๐๘)    ผมตีความหมายว่าความดีกับความชั่วอยู่ด้วยกัน    พระเจ้าจะเข้าสิงคนที่จิตอ่อนแอ    เมื่อจิตแข็งแรงพระเจ้าจะละไป   ไม่ทราบว่าผมตีความถูกหรือไม่    แต่การอ่านวรรณกรรมดีตรงที่คนอ่านต่างคนมีสิทธิ์ตีความต่างกันได้    ไม่มีถูกผิด    มีแต่มุมมองและวิธีมองหรือตีความ  

“เมื่อแกเกลียดคนคนหนึ่ง  มันคือแกเกลียดบางสิ่งบางอย่างในตัวเขา    ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวแกเอง   สิ่งที่ไม่เป็นส่วนหนึ่งของเราจะไม่สะเทือนเรา”  (หน้า ๕๑๒)

“สิ่งที่เราเห็น เป็นสิ่งเดียวกับที่อยู่ด้านในเรา    ไม่มีความเป็นจริงใดๆ นอกจากสิ่งที่อยู่ภายในเรา    นั่นคือเหตุที่คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นจริงดังที่เป็น    เพราะพวกเขาถือว่าภาพของโลกภายนอกเป็นของจริง    และไม่เคยให้โอกาสโลกด้านในตนเองได้แสดงตัวเอง    ... ทางที่คนส่วนใหญ่เดินนั้นง่าย   แต่ทางของเรายากเย็น  แต่เราก็จะไป”    

ชีวิตมนุษย์ไม่เหมือนกัน    มีมิติที่ซับซ้อนแตกต่างกัน    แสวงหาความหมายในชีวิตแตกต่างกัน    แต่ที่ เฮอร์มัน เฮสเสอะ แสวงหาคือตัวตนของตนเอง  ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร    และยิ่งกว่านั้น ตัวตนที่ค้นหามันเปลี่ยนตัวตนได้เสียอีก

ขอขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว บรรณาธิการสำนักพิมพ์ คนบ้าหนังสือที่กรุณาส่งหนังสือมาให้  

วิจารณ์ พานิช  

๑๑ ก.พ. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 676322เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2020 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2020 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท