วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ผมไปประชุมพิจารณาการปรับปรุงหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เอกสารการประชุมทำให้ผมฉุกคิด นำมาสู่ชื่อบันทึกนี้
พิจารณาจากรูปแบบ (format) ของเอกสาร ทำให้ผมคิดว่า รูปแบบนี้ทำให้อาจารย์ที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และนำเสนอเพื่อให้ผ่านขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ไปสู่ สกอ. ไม่ให้โดน สกอ. ทักท้วง กล่าวแรงๆ ว่า ปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ของหน่วยงานที่มีอำนาจควบคุม กล่าวแรงยิ่งขึ้นไปอีก ว่า ทำงานสนองอำนาจเหนือ
ผมอยากเห็นการทำงานปรับปรุงหลักสูตร ที่เน้นทำเพื่อศิษย์ เพื่อบัณฑิตของมหาวิทยาลัย จึงอยากเห็นรูปแบบการนำเสนอที่ต่างไปจากที่ สกอ. กำหนด คือเน้นเสนอว่า หลักสูตรปรับปรุงให้คุณประโยชน์เพิ่มขึ้นต่อนักศึกษาและบัณฑิตอย่างไร แทนที่จะเน้นนำเสนอว่า ดำเนินการตามกฎกติกา และคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิอย่างไร ในทำนอง ทำงานสนองนักศึกษา หรือสนองผู้ไม่มีอำนาจ
ที่จริงจะว่าสนองผู้ไม่มีอำนาจก็อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะต่อจากนี้ไป นักศึกษาจะกลายเป็นผู้มีอำนาจ เป็นผู้มีสิทธิเลือก ว่าจะเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยใด ในสาขาใด จึงจะวางรากฐานชีวิตที่เข้มแข็งที่สุด หลักสูตรที่นักศึกษารู้ว่าอ่อนแอ หรือคุณภาพต่ำ ก็จะไม่ค่อยมีคนเข้าเรียน
ที่ผมสนใจหรือเป็นห่วงคือ กว่าจะมาเป็นเอกสารปรับปรุงหลักสูตร (สกอ. กำหนดให้ปรับปรุงทุก ๕ ปี) มีขั้นตอนมากมาย ที่เน้นปฏิบัติตามกฎระเบียบและความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ กระบวนการดังกล่าว ทำให้ความสนใจหรือเอาใจใส่ผลประโยชน์ของผู้เรียนน้อยไปหรือไม่ หากมีขั้นตอนวิธีการและการเขียนเอกสารที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (แทนที่จะเน้นผู้มีอำนาจเป็นศูนย์กลาง) จะช่วยให้คุณภาพการศึกษาเพิ่มขึ้นหรือไม่
ผมคิดมากไปหรือเปล่า
ข้างบนเขียนก่อนการประชุม
ในการประชุมผมเสนอความเห็นนี้ และชี้ว่า ประเด็นข้อเสนอปรับปรุงเพื่อประโยชน์ของผู้เรียนควรอยู่บน เว็บไซต์ ของสถาบัน ที่เสนอหลักสูตรต่อสาธารณชน จะเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักศึกษาเข้ามาเรียน ที่ประชุมเห็นด้วย
วิจารณ์ พานิช
๒ พ.ย. ๖๒
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน สภามหาวิทยาลัย
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก