ข่าวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ


ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 12 ธันวาคม 2549 17:46 น.

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000152399

ครม.ไม่ค้าน ผ่านฉลุยออกนอกระบบอีก 2 ม.

ครม.มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ม.บูรพา กับมหิดล ส่วน ม.อุบลฯ ทำหนังสือแจงขอนำกลับไปรับซาวเสียงใน 18 ธันวานี้อีกครั้ง ขณะที่ศิลปากร คณาจารย์ขอให้มหาวิทยาลัยนำกลับไปทบทวน
 

        ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังประชุม ครม.ว่า วันนี้ (12 ธ.ค.) ได้นำร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับ เข้าสู่การพิจารณา 2 ฉบับ คือ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบผ่านร่างดังกล่าว ซึ่งแต่เดิมวันนี้จะนำเข้า ครม. 4 มหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีหนังสือถึงตน ว่าขอรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ สำหรับมหาวิทยาลัยศิลปากร ทางคณาจารย์ ขอให้มหาวิทยาลัยทบทวนเรื่องการออกนอกระบบ ตนเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรไปดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนเสนอมาใหม่
      
       “ผมย้ำมาตลอดว่าขอให้มหาวิทยาลัยมีความพร้อม คุยกันเสียให้เรียบร้อยก่อน และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยก็เห็นด้วยที่จะต้องกลับไปเคลียร์ให้เข้าใจตรงกันซะก่อน”
      
       ศ.ดร.วิจิตร กล่าวว่า มีกระแสออกมาว่ามหาวิทยาลัยนอกระบบ คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด พูดกันไปเอง แต่การที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะมีลักษณะหน่วยงานประเภทที่ 3 เหมือนกับองค์การมหาชน ซึ่งจะมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะมีความก้าวหน้ามีความเป็นเลิศด้านวิชาการ
      
       “การออกมาคัดค้านของนิสิต นักศึกษา ห่วงว่าค่าเทอมจะสูงขึ้น อันที่จริงๆ ทุกวันนี้รัฐบาลให้เงินอุดหนุนร้อยละ 70 ส่วนที่นิสิต นักศึกษาจ่ายเพียงแค่ร้อยละ 30 เท่านั้น และเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลยังให้การสนับสนุนงบไม่น้อยไปกว่าเดิม ดังนั้น อาจมีการขึ้นค่าเทอมบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐแล้ว ค่าเทอมของเอกชนสูงกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐประมาณ 8 เท่า”
      
       นางเนตรปรียา ชุมไชโย ผู้ช่วยโฆษกรัฐบาล แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้นำร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ...และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ....เข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ส่วนให้ถอนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ....ออกไปก่อน ทั้งนี้ที่ประชุมครม.ไม่ได้นำการเคลื่อนไหวของนักศึกษามาพิจารณาแต่อย่างใด
      
       ขณะที่ ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ว่า การพิจารณาของครม.ไม่ได้นำข้อเรียกร้องของนักศึกษามาพิจารณาแต่อย่างใด ยืนยันว่ารัฐบบาลพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งในวันเสาร์ที่ 16 ธ.ค.นี้ นายวิจิตร ศรีสะอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกระทรวงศึกษาก็พร้อมชี้แจงผ่านรายการสายตรงจากทำเนียบ ส่วนร่างพรบ.ของมหาวิทยาลัยที่ถอนออกไป เนื่องจากสภาคณาจารย์ขอให้ชะลอไว้ก่อน โดยทางรัฐบาลก็ยินดีเพื่อความสบายใจของมหาวิทยาลัย ถ้ามีปัญหาก็ต้องเคลียร์กันให้เรียบร้อย
      
       ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะหยุดนโยบายไว้ก่อนเพราะเกิดความแตกแยกในหลายสถาบัน โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบขึ้นอยู่กับการเสนอของแต่ละมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมไม่เหมือนกัน หากมหาวิทยาลัยใดต้องการชะลอก็สามารถเสนอได้ ส่วนร่างพรบ.มหาวิทยาลัยที่ผ่านมาพิจารณาของสนช.ที่เป็นเอกฉันท์ รัฐบาลก็พร้อมเดินหน้า
      
       นายภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การแปรรูปให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นการให้ผู้บริหาร หากินกับการศึกษา ให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งธุรกิทการศึกษา ซึ่งสภามหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่ตรวจสอบหรือคานอำนาจผู้บริหาร แต่กลับทำงานเข้าขากับผู้บริหาร อีกทั้งยังได้ปิดหูปิดตาและวางกฎระเบียบข่มขู่นิสิต โดยมีอาจารย์บางคนวางมาตการหักคะแนนนิสิต หากออกไปเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้นิสิตส่วนใหญ่เกิดความกังวล และมีการออกกฎระเบียบพิเศษเพื่อควบคุมไม่ให้อาจารย์ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา หากฝ่าฝืนอาจารย์จะถูกลงโทษทางวินัย ถือเป็นการบีบอาจารย์ทางอ้อม
      
       “เรื่องนี้เราไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่าการออกนอกระบบส่งผลกระทบต่อนักศึกษาโดยตรง ดังนั้นในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ผมจะมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกฯ จากนั้นจะไปยื่นคัดค้านการพิจารณาของสนช.ที่อาคารรัฐสภาด้วย ไม่เพียงเท่านั้นผมยังจะไปยื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมจากนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรมอีกด้วย” นายภาคิไนย์ กล่าว
       ส่วนในช่วงเย็นนี้ (12 ธ.ค.) นิสิต-นักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพาจะจัดเวทีภายในมหาวิทยาลัยและเชิญชวนเพื่อนนักศึกษามาร่วมชุมนุมและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อรองรับการออกนอกระบบ เพราะตอนนี้มีกระแสการต่อต้านการออกนอกระบบเป็นที่สนใจของนิสิตนักศึกษาเป็นอย่างมาก เชื่อว่าเมื่อคนค้านมากก็ต้องมีคนมาร่วมแสดงความเห็นมากอย่างแน่นอน

ข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Universities have second thoughts

Silpakorn, Ubon University plans on hold

นศ.9 สถาบันผนึกกำลังยื่นหนังสือ “มีชัย” ค้านนอกระบบพรุ่งนี้

ม.อุบลฯ ดึง กม.ออกนอกระบบพ้น ครม.วันนี้ อธิการฯแจงต้องการให้สภาเห็นชอบอีกครั้ง

จุฬาฯท้า ’วิจิตร’ ทำประชามติ ลั่นถ้าเกิน 50%พร้อมพ้นขรก.

จี้รัฐบาลทบทวนมหา'ลัยออกนอกระบบ จวกยับมรดกลัทธิทุนนิยมสามานย์

อธ.ธรรมศาสตร์หนุนออกนอกระบบ ชี้ไม่ใช่แปรรูปเข้าตลาด

นิสิตจุฬาฯ-สจพ.บุกสภายื่นค้าน ม.ออกนอกระบบวันนี้(13ธค.)

หมายเลขบันทึก: 66870เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2006 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ขอบคุณสำหรับความเคลื่อนใหว
  • ตอนนี้ชาวอุดมศึกษาทั้งหลายก็ยังมีแนวคิดอยู่สองขั้วครับ คือ ขั้วที่คิดว่าอยู่อย่างเดิมๆก็ดีอยู่แล้ว และขั้วที่ชอบท้าทายกับสิ่งใหม่
  • แต่อย่างไร ร่าง พ.ร.บ. ของแต่ละมหาวิทยาลัย จะสดุดน้อยที่สุด สำหรับผมคิดว่ากระบวนการประชาสัมพันธ์ ชี้แจง ทำความเข้าใจ ที่ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมจะเป็นส่วนสำคัญ เพื่อลดกระแสความคิดจากขั้วแรก ครับ

สวัสดีครับคุณ Mr. Kamphanat Archa (Jack)

เห็นด้วยครับว่าอ่อนประชาสัมพันธ์เกินไป ควรจะชี้ให้เห็นว่าออกนอกระบบแล้ว จะดีขึ้นอย่างไร การบริหารจะเปลี่ยนแปลงเป็นแบบไหน   คิดว่าคนในมหาวิทยาลัยเกินครึ่งที่ยังไม่ทราบว่าออกนอกระบบแล้วจะมีผลอย่างไรบ้าง  เท่าที่อ่านมาคนก็เป็นห่วงประเด็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาจะเพิ่มขึ้น กับการเปลี่ยนเป็นธุรกิจการศึกษา ถ้ามีมาตรการที่ควบคุมสิ่งเหล่านี้ชัดเจนแล้วประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจ คิดว่าคงลดกระแสขั้วแรกลงไปได้บ้างครับ

มาเยี่ยม...

ผมนึกถึงความเป็นแพทย์...ไม่ว่าจะเป็นใครใช้ภาษาอะไร...อยู่ประเทศใด...จบจากที่ใดไม่สำคัญเท่าเขารู้จักโรคและรักษาคนให้หายจากโรคนั้น...

ขอบคุณครับ... 

ขอบคุณอาจารย์ umi   ที่มาเยี่ยมชม และให้ข้อคิดอันลึกซึ้งครับ

ไม่ว่าจะอยู่นอกหรือในระบบผมคิดว่ามีสิ่งที่สำคัญคือ 1) คุณภาพ (การเรียนการสอน+วิจัย+บริการวิชาการ)  2) จรรยาบรรณในวิชาชีพ และ 3) การคงไว้ซึ่งการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม/ชุมชนครับ

ข่าวล่าสุดจากมติชน วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10512

สนช.รับร่างพ.ร.บ."บูรพา-มหิดล"

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้อภิปรายร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.)อย่างกว้างขวางกว่า 3 ชั่วโมง แล้วลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.มบ. ด้วยคะแนน 129 ต่อ 8 เสียง งดออกเสียง 1 และลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.มม. ด้วยคะแนนเสียง 129 ต่อ 9 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มบ.และ มม. ชุดละ 25 คน เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเนื่องจากเห็นว่ามหาวิทยาลัยมีความพร้อมและน่าจะสนับสนุนให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่การแปรรูป เพราะยังเป็นของรัฐ และสถานภาพบุคลากรจะไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนที่เกรงเรื่องขึ้นค่าเล่าเรียนจนคนยากจนได้รับผลกระทบนั้น ในร่าง พ.ร.บ.เขียนชัดเจนว่ารัฐบาลยังคงสนับสนุนงบฯ   อ่านต่อที่นี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท