ISO 5189 พยาธิ มอ. : อย่ามองแบบเรียลไทม์ (8)


โดยมีเป้าหมายว่าต้องเป็นคุณภาพและให้เหมาะสมกับบริบทของเราด้วย

ตั้งใจไว้ว่าอย่างไรต้องจบเรื่องเล่า “อย่ามองแบบเรียลไทม์” ใน 10 ตอนให้ได้  ถ้าอย่างนั้นเรามาต่อกันเลยนะคะ

            ในขณะนั้นมีคณะกรรมการดำเนินงาน 2 ฝ่ายคือ คณะกรรมการพัฒนาระบบคุณภาพและคณะกรรมการตรวจติดตามภายใน มีน้องใหม่เข้ามาร่วมอีก 2 คน  หรูคนสวยแห่งฮีมาโต (สาริษฐา บัวทอง) และน้องปราย (วาสนา  นวลละออง) จากไมครอส เราช่วยกันเขียน QM : Quality Manual หรือ คู่มือคุณภาพ อันนี้หล่ะที่ดิฉันเรียกว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญ ส่วน QP : Quality Procedure หรือ ระเบียบปฏิบัติ หรือเรียกว่า กฎหมายลูก และมีส่วนที่ห้องแลบต้องทำคือ WI : Working Instruction หรือเรียกว่า วิธีปฏิบัติงาน เดิมที่เราเรียกว่า SOP : Standard Operating Procedure และ สุดท้ายคือ SD : Supporting Document หรือเรียกว่า เอกสารสนับสนุน เช่น กฎระเบียบ แบบบันทึกต่างๆ ฯลฯ
 

            ส่วนกลางรับทำ QM, QP, และ SD ที่เป็นแบบฟอร์มรวมทั้งภาคฯ ที่เหลือ WI และ SD บางส่วนหน่วยจะต้องทำ


            เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมากมายในกลุ่มกรรมการ อันไหนเราเข้าใจมากก็จะไปเร็ว อันไหนไม่เข้าใจก็ช้าอืดอาด ต้องมอบหมายเป็นรายบุคคลทำการบ้านนอกรอบ  เมื่อทำไปได้ประมาณ 80%  เราบอกว่าใครก็ได้มาช่วยประเมินเราหน่อย ไม่ไหวแล้ว ตอนนี้เริ่มเป็นตาต้อกระจกกันหมดทุกคน  มองอะไรก็พร่ามั่ว  ถึงเวลาต้องเอาเลนส์เก่าออกใส่เลนส์ใหม่เสียแล้ว  เลยเชิญ คุณนัยนา  วัฒนศรี ซึ่งเป็น assessor จากสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยมาตรวจเยี่ยมเมื่อ 29 มิ.ย.2549


            และแล้ว เช้าของวันที่ 29 มิ.ย. นี้แหล่ะ ที่เราได้เห็นควันออกจากหูของหัวหน้าภาค เพราะจากการประเมินของคุณนัยนา บ่งบอกว่าที่เราเราทำกันมาต้องปรับอีกหลายกระบวนทัพ  แหม!! รู้สึกโล่งใจที่เราเลิกกินข้าวเที่ยงฟรีไปนานแล้ว ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกผิดอย่างมากที่ทำงานไม่คุ้มค่าข้าว  เราพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เรียนรู้จากข้อเสนอแนะของคุณนัยนาเอามาปรับใหม่ ขอขอบคุณพี่นัยนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ


            หัวหน้าภาค เลยกระโดดตุ๊บลงมาเอง  ดิฉันเองก็รู้สึกเสียใจที่ทำงานไม่เข้าเป้า  เธอกระโดดลงมาในฐานะเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ (Laboratory Director; LD) จัดตั้งทีมงานใหม่ เป็นคณะทำงานจัดทำเอกสารคุณภาพ มีหัวหน้าภาคเป็นประธาน ทีมก็มีป้าดา (ปนัดดา มุสิกวัณณ์) พี่เม่ย (ชวดี นพรัตน์) รุ่งริ่ง (รุ่งเรือง จารุมโนกุล) และดิฉัน


            คำว่า “ค่ายนรก” ก็จุติขึ้นมา ณ บัดนั้น เพราะ LD มอบหมายงานให้แต่ละคนไปทำมาแล้วมารวมกลุ่มกัน  เราเริ่มประชุมตั้งแต่ 13.00 น จน 17.00 น เป็นอย่างน้อย  ออกมาจากห้องประชุมก็หน้าซีดหน้าเซียว  สะโหลสะเหล เราทำอย่างนี้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง  เด็กๆ จึงเรียกว่า “ค่ายนรก”


            ได้ผลค่ะ QM, QP เสร็จ  คิดว่าสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่เราทำได้  เทคนิคหรือคะ เราเอาข้อกำหนดของ ISO15189 มาวิเคราะห์คำพูดเพื่อจะมองให้ทะลุว่าเจตจำนงค์ของถ้อยคำเหล่านั้นคืออะไร  โดยมีเป้าหมายว่าต้องเป็นคุณภาพและให้เหมาะสมกับบริบทของเราด้วย  มาถึงตอนนี้ก็คิดถึงนักกฎหมายทั้งหลายที่ตีความกฎหมายฉบับเดียวกันไปคนละทิศคนละทาง เพราะมองที่เป้าหมายไม่ตรงกัน ถ้ามองเพื่อส่วนรวมก็คงไม่มีเหตุการณ์ไล่ฟ้องเอาผิดกันอุตลุดเหมือนยามนี้


            อ้อ !  มี post test เล็กน้อย  เอกสารคุณภาพมีทั้งหมดกี่ระดับ ตอบถูก ก็ไปซื้อเฉาก๊วยทาน  ถ้าตอบผิดก็น้ำใบบัวบกไงคะ ไม่ยากเลย

หมายเลขบันทึก: 66858เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2006 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์เล่าเรื่องได้เห็นภาพมากๆ

เพิ่งถึงบางอ้อว่า ทำไม๊ทำไม  คนทำ ISO  ถึงได้หายยยย  เข้าไปในห้องประชุมน๊านๆๆๆนาน   เริ่มๆ  จะเห็นใจคนทำ ISO แล้วล่ะคะ

ขอบคุณค่ะ หน่อย ที่ให้กำลังมาโดยตลอด เพิ่งจะให้ลักษณ์สอนวิธีการตอบให้ เลยได้ตอบซะที

ตอนที่ 10 พลาดไม่ได้อย่างเด็ดขาดและอย่าลืมหามพี่ไปหาหมอด้วย เพราะวันนั้นจะเป็นวันเผาขนเพื่อนร่วมทีมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท