ธรรมะกับธรรมชาติ


ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก
ธรรมะ คือ ความจริง คือหน้าที่ คือคุณากร
ชาติ  (ชาตะ) คือ  กำเนิด  เกิดขึ้น
ธรรมะ+ชาติ  คือ ความจริงที่เกิดขึ้น
 

               ธรรมะที่มีอยู่ในธรรมชาติมีมากมายหลากหลายจากหลายแง่มุม แล้วแต่คนมอง ในที่นี้ขอพูดถึงต้นไม้ให้ธรรมะก็แล้วกันนะคะ

               ต้นไม้มีความอดทน ทนต่อแดดร้อน ทนต่อความแห้งแล้ง ทนต่อความหนาวเย็น ทนต่อฝนตก  ต้นไม้มีความอ่อนน้อม โอนอ่อน แต่ไม่อ่อนแอ เช่นเวลามีลมพัด มีพายุ ต้นไม้ก็จะโอนเอน โอนอ่อนผ่อนตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ต้นไม้มีความซื่อสัตย์ เช่น เราปลูกมะม่วงก็ย่อมได้ลูกมะม่วง ปลูกอะไรก็ได้สิ่งนั้น
               
                มีคำพังเพยที่เปรียบเทียบต้นไม้ กับพฤติกรรมของมนุษย์ไว้หลายเรื่องด้วยกันที่จะทำให้เรามองสะท้อนถึงสัจจธรรมที่เกิดขึ้น ดังเช่น ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก หรือบอกว่ากล้วยเป็นไม้อกตัญญู เพราะกล้วยเวลามีลูกแก่แล้วจะถูกตัดเครือไป  ทำให้ต้นแม่ตาย แต่ก่อนตายกล้วยจะแตกหน่อเพื่อสืบทอดสายพันธุ์ไว้เช่นเดียวกันเพราะเป็นสิ่งเดียวที่บ่งบอกชื่อว่าเป็นกล้วย (ลำต้น เรียกว่า กาบ  ใบกล้วย เรียกว่า ใบตอง  หรือแม้แต่ดอกกล้วย เรายังเรียกว่า หัวปลี ฯลฯ ) แต่ทางตรงกันข้ามประโยชน์จากกล้วยมีมากมายมหาศาล

               ต้นไม้เป็นที่พึ่งของสรรพสิ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ ต่างอาศัยร่มเงา และเป็นอาหาร ให้ความร่มเย็นและร่มรื่นรวมถึงอากาศในการหายใจ ให้ความสุข ความสมบูรณ์ เฉกเช่น ธรรมะที่มีในตัวตนของมนุษย์ มองจากแก่นของธรรมะในพุทธศาสนาแล้วนำมาเปรียบกับต้นไม้ได้ดังนี้

          • ลาภสักการะชื่อเสียง        เปรียบเหมือน  กิ่งไม้ใบไม้
          • ความสมบูรณ์ด้วยศีล       เปรียบเหมือน  สะเก็ดไม้
          • ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ   เปรียบเหมือน  เปลือกไม้
          • ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา  เปรียบเหมือน กระพี้ไม้
          • ความหลุดพ้นแห่งจิต       เปรียบเหมือน  แก่นไม้หรือสาระ

                ดังนั้นไม่สามารถแยกธรรมะออกจากธรรมชาติได้ เพราะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป  ทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนอนิจจังดังหลักธรรมที่ว่า อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ...สาธุ
หมายเลขบันทึก: 66570เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2006 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ธรรมชาติของ ความรู้เป็นอย่างไรครับ

ต่างจากปัญญาอย่างไร

 

  •  ธรรมชาติคือความจริงที่เกิดขึ้น
  •  ความรู้ คือ ประสบการณ์ ความชำนาญ การทำงาน

        เป็นมุมมองอีกด้านหนึ่งนะคะอาจจะไม่ตรงประเด็นก็ได้ เพราะเป็นแต่เพียงรู้ ปัญญายังไม่แตกฉาน

  • ธรรมชาติของความรู้ เป็นความรู้ความชำนาญความจริงที่เกิดขึ้น และมีอยู่ในตัวคนแต่ละคนที่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิต  การทำงานและ วิถีชีวิต
  • ปัญญา คือ ความรอบรู้ บ่อเกิดแห่งปัญญา การรู้ทั้งหมด ได้แก่ การฟัง การคิด และการฝึกอบรม  ดังทฤษีของ Ott0 Schrmer ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า เมื่อใครพูดอะไรอย่าเพิ่งรับหรือปฏิเสธ (ฟังอย่างลึก) ให้นำมาพิจารณาอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) มีสติแล้วจะเกิดปัญญา
  • ปัญญาหมายถึงการเข้าถึงความจริง ความจริงที่มีคนอื่นและสิ่งอื่นด้วยไม่ใช่มีแต่ตัวเรา
  • ปัญญาเป็นเรื่องที่ไปไกลกว่าความรู้นะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท