@chokdeemeechai
วิชาชีวิตเพื่อความมั่นคงทางจิตใจ โชคชัย คงบวรเกียรติ

ทัศนคติ พื้นฐานชี้นำทางความคิดและพฤติกรรม


ความรู้สึกนึกคิดที่ตนมีต่อสิ่งต่าง ๆ คือ ทัศนคติของคนนั้น ๆ ที่มีผลชี้นำต่ออารมณ์ พฤติกรรม อุปนิสัย บุคลิกภาพ และส่งผลถึงการดำเนินชีวิตของคนนั้น ๆ การมองโลกรอบตัว

ทัศนคติ (Attitude)

        ทัศนคติ คือ ความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของแต่ละบุคคล ความคิดคำนึงถึงสิ่งนั้น แล้วจิตใจเตรียมความพร้อมในการประเมินตีความหมายแปลเป็นผลสรุป ชี้นำไปปรุงแต่งจิตให้มีความโน้มเอนเอียง พิจารณาตัดสินเลือกที่จะตีความหมายของความรู้สึกนึกคิดเช่นไร เลือกทางใดทางหนึ่งต่อสิ่งหนึ่งที่เฉพาะเจาะจง ระหว่าง ความพึงพอใจ ชอบ ตัดสินในด้านดีมีผลเป็นทัศนคติด้านบวก กับ ด้านไม่ดีมีผลเป็นทัศนคติด้านลบความไม่พอใจ ไม่ชอบ และเป็นกลางไม่เลือก หรือ ไม่แสดงออกไปทางด้านใดด้านหนึ่ง  ต่อสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว ของคนนั้น รู้สึกนึกคิดต่อบุคคล สัตว์ สิ่งของวัตถุ เหตุการณ์ เรื่องราว สภาพสิ่งแวดล้อม ที่คนเรารับรู้ หรือได้รับข้อมูลข่าวสารมา ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งเร้ากระตุ้นให้เราเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัว เพื่อตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ  ตามความนึกคิดของตน

                ทัศนคติมีอิทธิพลต่อการแสดงออกมาทางอารมณ์ กระตุ้นให้เกิดความต้องการแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม ที่สื่อความหมายให้คนอื่นได้รับรู้ถึง แนวทางความคิดเห็น เจตนาจุดประสงค์ของเรา ที่ตัวเราแสดงออกมา ต่อสิ่งนั้น ๆ เป็นอย่างไร

                กระผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นตัวกำหนดความคิดของคนเราในระดับแรกเริ่มต้น บ่งบอกความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และมีอิทธิพลอย่างมากต่อสิ่งที่เราสนใจ สิ่งที่เราจดจำ สิ่งที่เราคิดถึงขึ้นมา หรือเรียกขึ้นมาจากจิตกึ่งสำนึก ความทรงจำ และการแปลความหมายข้อมูล มาเปรียบเทียบกับ ความเชื่อ ค่านิยม  จริยธรรม ประสบการณ์การเรียนรู้ของตัวเรา นำมาประเมินพิจารณาตีความหมายทางเลือก เป็นตัวชี้นำความคิดที่ตัวเรามีความรู้สึกในด้านใดด้านหนึ่ง ต่อสิ่งนั้นเฉพาะเจาะจง ถ้ามีความรู้สึกดี ผลของพฤติกรรมจะแสดงออกในด้านดี แต่ถ้ามีความรู้สึกไม่ดี ผลของพฤติกรรมจะแสดงออกในด้านไม่ดี ตามไปด้วย ดั้งนั้นจึงต้องศึกษาเรื่องทัศนคติให้เข้าใจถึงแก่น เพราะเป็นตัวกำหนดความคิด จิตใจภายในที่รู้สึกนึกคิด เป็นแนวทางการแสดงออกของพฤติกรรม อุปนิสัย บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล เป็นไปด้านที่ดี หรือด้านที่ไม่ดีไม่เหมาะสม ก็ขึ้นกับทัศนคติ ความคิดในการประเมินพิจารณาทางเลือกก่อนกระบวนการตัดสินใจเลือกคิด ตีความหมาย เลือกกระทำแสดงออก โดยปกติคนเรา เลือกที่จะเชื่อ เลือกที่จะกระทำตามความชอบพอใจของตนเองเป็นหลัก หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ตนไม่พอใจ วิตกกังวล กลัว ซึ่งเป็นไปตามหลักของ Ego ที่ค่อนข้างจะเข้าข้างตนเองเป็นหลัก ให้ความสำคัญกับความต้องการที่ตนเองชอบพอใจเป็นใหญ่ จึงเกิดบุคลิกภาพแห่งตัวตน Self ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในแบบของตนเองขึ้นมา ทัศนคติยังรวมทั้งการชี้นำให้ตัวของเรานั้น มีความเพียรพยายาม มีความอดทน ต้านทานความเครียด ความกดดัน ยอมรับความจริง ได้มากน้อยเพียงไรก็ขึ้นกับ ทัศนคติที่เรามีต่อชีวิตและการงานของเราเองนั้นเป็นไปทางด้านดี คิดบวก และคอยให้เหตุผลที่ดีเป็นกำลังใจต่อตัวเราเองดีแค่ไหน ถ้ามีความเป็นธรรม และเป็นกลางที่เหมาะสม ก็จะส่งผลด้านดีต่อการปรับตัว การอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ดี และทำให้เรามีชีวิตที่มีความมั่นคงทางจิตใจ และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขทั้งกายและใจ

ประเภทของทัศนคติ (Types of Attitude) มี 3 ประเภท

                1. ทัศนคติด้านบวก ส่งผลทางด้านดี (Positive Attitude)ความรู้สึกนึกคิดที่ชักนำ การแสดงออกถึงอารมณ์ด้านความรู้สึกดี ความพึงพอใจ ชอบ พอใจ รักใคร่ เสน่หา ถูกใจ ต่อสิ่งต่าง ๆ บุคคล สิ่งของ เหตุการณ์ เรื่องราว ข้อมูลข่าวสาร ที่เฉพาะเจาะจง มีความคิดเห็น ตีความหมาย ด้านบวกเข้าข้างความพอใจของตน

                2. ทัศนคติด้านลบ ส่งผลทางด้านไม่ดี(Negative Attitude) ความรู้สึกนึกคิดที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกถึง ความไม่พึงพอใจ ไม่ชอบ ไม่พอใจ เกลียด กลัวอยากที่จะหลีกเลี่ยง หรือมีอคติ อิจฉา ริษยา เกลียดชัง เหยียดหยาม ไม่หวังดี เป็นปรปักษ์ต่อต้าน คิดให้ร้าย ก้าวร้าวคิดจู่โจมทำร้ายผู้อื่น ตีความหมาย ด้านลบไม่ดีต่อสิ่งนั้น ๆ

                3. ทัศนคติเป็นกลาง (Neutral  Attitude) ไม่เลือกด้านใดข้างหนึ่ง ต่อสิ่งนั้น โดยที่ไม่มีความรู้สึกทั้งด้านดีและไม่ดี ไม่มีความคิดเห็น ไม่แสดงอารมณ์ใด ๆ วางเฉย นิ่ง ไม่แสดงความรู้สึกออกมา แต่บางครั้งก็เกิดจากความสงสัย ลังเลไม่กล้าตัดสินใจ หรือต้องการหาเหตุผลเพิ่มเติม ยังหรือหาข้อมูลไม่เพียงพอ จึงยังไม่ตัดสินใจเลือกในตอนนี้

                โดยส่วนใหญ่ คนเราจะเลือกเพียงแค่หนึ่งจากสองทางเลือก คือเลือกทางบวกที่ดีกับตนเองชอบพอใจ กับ เลือกทางลบ ที่ไม่ชอบไม่พอใจที่ตนเองปฏิเสธ โดยธรรมชาติจิตใจของคนเราชอบที่จะเป็นคนตัดสินใจชี้ขาด ให้ความรู้สึก ความคิดเห็นกับสิ่งต่าง ๆ  อย่างชัดเจน ตามความต้องการของจิตใจ เลือกที่จะกระทำ เลือกที่จะชอบ ในความคิดของตนเป็นหลัก เอาความรู้สึกตัวเองเป็นที่ตั้ง ในการวัด ประเมินสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เกือบทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ค่อยมีใครที่จะหยุดการปรุงแต่งของจิตใจของตนได้ แทบจะทุกคนล้วนเลือก ตัดสิน ใส่ความหมาย ตีความ ว่า ดี เลว ชั่ว ผิด ถูก สมควร ไม่เหมาะสม สวยงาม ไม่สวย ไม่น่ามอง ชอบ เกลียด สนใจ ไม่สนใจ ต้องการ อยากได้ ไม่ต้องการ ไม่ปรารถนา ตีค่า ให้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ตนเองพบเจอ เกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์ ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยความที่เป็นคน จึงแสวงหาการตัดสินชี้ขาด ทุกผู้ทุกคน เพราะเรามี อัตตา Ego Id อยู่ในตัวของเราเหมือนกับสัญชาตญาณความอยากในสันดานกมลในจิตใจของตนเอง

ทัศนคติ ในแบบมองผ่านจิตของตนเอง

                ทัศนคติ ก็เปรียบเหมือนกับ

                1. ดวงตาแห่งจิตใจ (สายตามุมมอง วิสัยทัศน์ ความรู้สึกนึกคิดที่เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ)

                2. การพูดคุยกับตัวของเราเอง (วิธีการพูดคุยกับจิตของตน)

                3. ตัวกรองทางความคิดของจิตวิญญาณ(Filter  yours Soul)

                                3.1 คนน้ำในแก้วให้เข้ากัน

                        3.2 เครื่องคัดกรองน้ำแห่งจิต วิจารณญาณ

                        3.3 กาลามสูตร ความเชื่อและสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ จนกว่าจะได้พิสูจน์

                        3.4 Defragment จัดเรื่องความคิด ทัศนคติ

                4. ประเมินผล นำไปสู่ กระบวนการตัดสินใจ (ตีค่า ชั่งน้ำหนัก แล้วตัดสิน)

                                4.1 SWOT Analysis วิเคราะห์เปรียบเทียบ ประเมินผล สถานการณ์

                        4.2 ชั่งน้ำหนัก วิเคราะห์ความสำคัญ ประเมินผลทางเลือก

                        4.3 Decision Making กระบวนการตัดสินใจเลือก โดยไม่เสียใจภายหลัง

                5. ชี้แนะชักนำส่งผลให้แสดงพฤติกรรมออกมา(กระจกเงาสะท้อน) ตามทัศนคติ

1. ดวงตาแห่งจิตใจของเรา (Eye Focus) มุมมอง วิสัยทัศน์ (Eye Vision) ของเราเป็นอย่างไร)

                เรามองสิ่งต่าง ๆ ผ่านดวงตาแห่งจิตใจ เราเลือกที่จะโฟกัส ให้ความสนใจ เอาใจใส่ มุ่งเน้นในส่วนใด เรื่องใด (ด้านใกล้ Zoom In เรื่องเฉพาะ) (ด้านกว้างรอบตัว Zoom Out มองในมุมกว้างภาพรวม) (ในด้านลึก Macro ละเอียด ลึกซึ้ง) ก็อยู่ที่มุมมอง วิสัยทัศน์ ที่เรามีความรู้สึกนึกคิด ถึงสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเกี่ยวกับ คน สัตว์ สิ่งของ เหตุการณ์ เรื่องราว ข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับมา จากคำบอกกล่าว ความคิดเห็น ของคน หนังสือ หรือสื่อสารมวลชน โทรทัศน์ ข่าวสารจาก Social Network ต่าง ๆ Website Internet เป็นต้น ตัวของเราเลือกที่จะมองมันสิ่งนั้น ๆ อย่างไร เรามีความคิดเห็นต่อสิ่งนั้นอย่างไร เราเลือกที่จะเชื่อ เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย อยู่ที่ดวงตาแห่งจิตใจ ของเรา ที่มีมุมมอง วิสัยทัศน์ (ความฉลาดที่จะมองเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ) ของตัวเราคิด คาดหวังต่อสิ่งนั้น อย่างไร ถูกผิด ชอบไม่ชอบ ดีเหมาะสมเห็นด้วย หรือไม่ดีไม่สมควรไม่เห็นด้วย ก็ขึ้นอยู่กับ จิตของเราที่มีความคิดถึงสิ่งนั้นอย่างไรนั่นเอง

                ยกตัวอย่าง คน ๆ นั้น ที่เราเห็นนั้น ในสายตาแห่งจิต ของเรา เรามองว่าเขาเป็นคนอย่างไร ในอดีตเขาเป็นคนอย่างไร เคยทำอะไรให้เรารู้สึกดี หรือรู้สึกไม่ดีต่อเขา เราพอใจ ชอบ ที่จะเข้าใกล้เขาไหม หรือเราไม่พอใจเขา อยากที่จะหลีกเลี่ยงหลีกหนีไม่อยากที่จะเข้าใกล้เขา หรือเขาคนนั้นทำให้เรามีความรู้สึกว่าเขาหล่อ สวย น่ามอง น่าประทับใจ ในรูปร่างหน้าตา ประทับใจในบุคลิกภาพของเขา เป็นต้น ซึ่งมันก็อยู่ที่มุมมองทางความคิด ที่เรามีทัศนคติอย่างไร รู้สึกอย่างไรต่อสิ่งนั้น ๆ

                จิตใจของเราเป็นตัวกำหนด เลือกใส่ความหมายตีความให้กับสิ่งนั้น มุ่งเน้นความสนใจ มองด้วยความรู้สึกของตนที่มีต่อสิ่งนั้น ไปในด้านใด ดี ไม่ดี จิตเลือกที่จะมองให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยจิตแห่งตัวตนของเราเองกำหนด จิตปรุงแต่งขึ้นมาให้กับสิ่งนั้น

                การมองโลกในแง่ดี หรือ การมองโลกในแง่ลบต่อการมองสิ่งต่าง ๆ  คน เรื่องราว เหตุการณ์ สิ่งนั้น ๆ ผ่านดวงตาแห่งจิตใจของเรา ที่บ่งบอกความรู้สึกนึกคิด ประเมินค่า แปลตีความ ใส่ความหมายคำจำกัดความ ตีค่าให้กับสิ่งนั้น ๆ ตัวตนของเราที่เป็นจิต คิด รู้สึก ต่อสิ่งนั้น อย่างไร เป็นบวก หรือลบ ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการเรียนรู้ ความรู้ความเข้าใจ ความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน ของตนเอง  ที่มีต่อสิ่งนั้น เมื่อพบเจอสิ่งที่เป็นเรื่องราวเดียวกันใกล้เคียง กับอดีต ก็ดึงความทรงจำ ความรู้สึกแบบนั้นที่เคยคิดเช่นเดียวกันนั้นมาใช้สรุป ตัดสิน ให้ค่า ความหมายแก่สิ่งนั้นเหมือนเช่นเคย ๆ ทำ เมื่อกระทำ คิดรู้สึกแบบนั้นบ่อย ๆ นาน ๆ เข้าก็จะฝั่งลึกเป็นคนติดกับความรู้สึกเดิม ๆ นำไปสู่การชักนำตัวตนให้โน้มเอนเอียงทางด้านนั้นที่ใช้บ่อยมากกว่า ส่งผลให้เป็นคนมองโลกแบบนั้น(มองโลกในแง่ดี หรือ มองโลกในแง่ร้าย) ก่อเป็นบุคลิกภาพในแบบของตนเองขึ้นมา จะดีไม่ดี จะเหมาะสมหรือไม่สมควร จะถูกหรือผิด ก็อยู่ที่ทัศนคติของคนนั้น ๆ นั่นเอง

2. วิธีการพูดคุยกับตัวของเราเอง (Talking  with YourSelf) ฟังเสียงจิตใจตัวเองคือคำเตือน คำชี้แนะ

                การพูดคุยกับตัวตนแห่งจิตภายในใจของเราเอง เราบอกกล่าวเล่าเรื่องราวต่าง ๆ กับตัวเราเอง ว่าคิดอย่างไร ชี้นำความคิดเห็นอย่างไร ต่อสิ่งต่าง ๆ ด้วยคำพูดเช่นไร ชี้นำไปทางใด วีธีการในการพูดคุยกับจิตของตนเอง

                พูดในแง่บวก ให้กำลังใจกับตนเอง ถึงแม้เรื่องที่พบเจอจะเป็นด้านไม่ดีเลวร้ายสาหัสเพียงใด แต่เรามองให้เป็นบวก คุยให้เหตุผลที่ดีกับตนเอง คุยให้กำลังใจในด้านดีกับตัวเอง เราจะมีทัศนคติที่ดี มีแรงอึด เพียรพยายาม อดทน ต้านทานได้มากขึ้น ดีขึ้น ไม่หวั่นไหว มีจิตใจที่มั่นคง

                พูดในแง่ลบ ตัดท้อหมดกำลังใจพูดในสิ่งไม่ดี ในทางร้ายกับตนเอง ยิ่งพูดไม่ดี ตำหนิ โทษตัวเอง เก็บกด เครียด เจ็บช้ำน้ำใจต่อตนเอง จิตใจก็จะห่อเหี่ยว ท้อแท้ หมดหวัง หมดกำลังใจ ในการทำกิจกรรมการงาน วิตกกังวล หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจผู้คนและสภาพแวดล้อม ส่งผลไม่ดีต่อบุคลิกภาพ และการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม

                คำพูดที่พูดคุยกับตนเอง ต้องพูดด้วยคำสุภาพไม่ต้องถึงกับไพเราะก็ได้ แค่ให้เกียรติ นับถือเคารพในคุณค่ากับตนเองเพราะการพูดด้วยคำพูดที่ดีกับตนเอง จะส่งผลดีกับจิตใจตนเองและมีผลต่อการมองโลก ทัศนคติที่ดีต่อผู้คนและสภาพแวดล้อมรอบตัวเราในวิสัยทัศน์ที่ดีด้วยเช่นกัน

                ถ้าเราพูดคำหยาบคาย พูดกับตัวเราเองว่า "มึง กู ไอ้บ้า ไอ้โง่"  ตัวของเราเองจะมีความรู้สึกที่ไม่ดี ตำหนิ โทษตัวเอง ส่งผลถึงจิตใจของเราที่ไม่ดี สุขภาพจิตก็ไม่ดีไปด้วย เมื่อไม่มีความนับถือในตนเอง ก็ไม่มีความนับถือในผู้อื่น เมื่อคิดไม่ดีต่อตนเอง ก็คิดไม่ดีต่อผู้อื่นไปด้วย เพราะมันสะท้อน (กระจกเงา) ออกมาเป็นพฤติกรรมแสดงออกมาทางกาย สีหน้า คำพูด น้ำเสียง แม้แต่รัศมี บรรยากาศรอบตัวอย่างไร คนรอบข้างก็สามารถรับรู้ได้ว่าไม่ควรเข้าใกล้ไม่น่าคบหาสมาคมด้วย ไม่เชื่อลองพูดจาไม่ดีกับใครก่อน อยู่เฉย ๆ ก็พูดคำหยาบคาย กับคนที่ไม่รู้จัก คนแปลกหน้า ว่าเขาคนนั้นจะอยากเข้าใกล้คุณไหมล่ะ

                การตอบคำถาม ข้อสงสัยในจิตของเรา เช่น เราเป็นยังไงตอนนี้ รู้สึกอย่างไร เราจะทำอย่างไรดี ทำอย่างนี้น่าจะดีกว่าไหม เราจะเลือกทำเช่นนี้แล้วผลกระทบที่จะตามมาจะเป็นยังไง กระทบต่อคนอื่นให้เดือดร้อนไหม การให้เหตุผลกับตนเอง ในทางที่ดี สร้างสรรค์ เพื่อหาทางออกที่ดีให้กับตนเอง การให้เหตุผลเข้าข้างตนเองบ้างแต่เป็นไปทางที่สร้างสรรค์ให้มีกำลังใจในการคิด การแก้ไข ปรับปรุง อดทน มีความตั้งใจ มุ่งมั่นทุ่มเท มากขึ้น พัฒนาให้ดีขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดี ที่ตัวเราจะพูดคุยกับตนเองในเชิงให้กำลังใจตนเอง และยังส่งผลต่อการภาคภูมิใจในตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง รักตนเองอย่างไม่ทำร้ายตนเองด้วยการโกหกต่อความรู้สึกนึกคิดของตนเองที่มีต่อจิตใจทัศนคติที่ดีต่อตนเอง

                จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะมีความคิดเห็น ทัศนคติบอกกับจิตของตนเองให้คิดบวก ปรับตัว ให้มองโลกในแง่ดี ให้เหตุผลที่ดีเหมาะสม ไม่เข้าข้างอีโก้ตัวเองมากเกินไป อย่าคิดว่าตัวเองถูกต้องเสมอ คนอื่นผิดทุกครั้งไป มันไม่ใช่ความเป็นจริง และคนอื่น ๆ เขาก็มีความคิดเป็นของตนเอง คิดได้เฉกเช่นเดียวกับเรา เพียงแต่อาจจะคิดต่างมุมมอง ต่างสถานะ ต่างเจตนา อย่ายึดมั่นเอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากไป หมั่นปรับความคิดให้ถูกต้องเที่ยงตรงเหมาะสม ให้คิดบวกให้กำลังใจในทางที่ดี พูดกับตัวเอง ตอบคำถามข้อสงสัยกับตัวเอง อย่างมีเหตุผลในทางสร้างสรรค์เป็นบวกมีประโยชน์ในทางที่ดี ช่วยให้มีกำลังเสริมสร้างพลังกำลังใจ เมื่อต้องเผชิญสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่สมหวัง ไม่ได้ดั่งใจ อุปสรรคขวางกั้น ใช้ความคิดชี้นำทัศนคติในทางที่ดี ให้เหตุผลกับตัวเอง ว่า เราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง เพียรพยายามตั้งใจทำมากพอหรือยัง อดทนต้านทานความกดดันได้มากพอหรือยังไม่พอ เราต้องอดทนอีกนิดสิ ยังไหวอยู่ เราจะสามารถทำการแก้ไขข้อบกพร่องแล้วพัฒนาให้ดีขึ้นได้ไหม มันย่อมมีทางออกทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่านี้ ลองหาดู บางเรื่องอาจต้องใช้เวลาอดทน รอคอย เตรียมความพร้อม เพื่อที่จะแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างเหมาะสม ทัศนคติเป็นตัวชี้นำแนวความคิด การตอบสนองความต้องการที่เราคิดถึง และชักนำเป็นพฤติกรรมแสดงออกมาเพื่อตอบสนองความคิดที่เรามีต่อสิ่งนั้น มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมีทัศนคติทางบวก เพื่อพูดคุยกับจิตของตนเอง

                ฟังเสียงจิตใจเตือน ชี้แนะตัวเองบ้าง จิตของเรามีทั้ง เทวดาด้านดี และ มารปีศาจด้านไม่ดี เราต้องเลือกที่จะฟังเสียงตัวเองในฝั่งใด บางครั้งตัวมารปีศาจก็คอยเตือนเราถึงสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ ส่อพิรุธ การมองด้านลบบางครั้งก็ทำให้เราระมัดระวัง สอดส่องเฝ้ามองว่าอาจจะมีคนหรือสถานการณ์บางอย่างที่ไม่ดีเกิดขึ้นช่วยให้เรามองเห็นถึงความเป็นจริงที่อาจจะส่งผลด้านลบ0ต่อตัวเราได้ เราจะได้ระวังป้องกันได้ รับมือได้ทัน ไม่ให้มันเกิดผลกระทบด้านลบ ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยต่อตัวเราและคนรอบข้างตัวเราได้ รวมทั้งสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดได้ หรือผลไม่ดีไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

                การให้เหตุผลกับตนเอง ในด้านบวก ให้กำลังใจต่อตนเอง ในด้านที่ดีต่อตนเองและในด้านความเป็นจริง ไม่ผิดต่อคนในสังคม ก็จะส่งผลต่อบุคลิกภาพที่ดีด้วยอย่างแน่แท้ คิดดี ทำดี ชีวิตก็ดี

3. ตัวกรองทางความคิดของจิตวิญญาณ (Filter  yours Soul)

คน คือ กิริยาที่เอามือหรือสิ่งอื่นกวน เพื่อทำสิ่งที่นอนก้นหรือที่เกาะกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนให้กระจายขยายตัว หรือกวนสิ่งต่างๆ ให้เข้ากัน

                3.1 คนน้ำในแก้ว คนให้เข้ากัน จิตของเรา ก็เหมือนน้ำในแก้วใส

                คนเรา ก็เปรียบเหมือน แก้วน้ำใส ที่เป็นภาชนะบรรจุ ที่มีน้ำอยู่ในแก้ว มีส่วนประสม (ความคิด จิตใจ ที่ไม่เหมือนกัน  มีสีแตกต่างกัน มีมวลความหนาแน่น ข้น เหนียว ใส เหลวแตกต่างกัน  คน จึงต้องหมั่นคนแก้วเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากันอยู่เสมอ (ปรับปรุง พัฒนาความคิดจิตใจ ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นตลอดเวลา)

                "แรกเริ่มเด็กเกิดมา ลืมตาขึ้นมาบนโลก ก็เหมือนกับ แก้วน้ำใสที่มีน้ำใสบริสุทธิ์ มองเห็นทะลุผ่านไปมองด้านตรงกันข้ามได้ชัด เมื่อตอนเกิดมาสะอาดไร้มลทิน แต่เมื่อมีการปฏิสัมพันธ์กับคนที่เลี้ยงดูแล (คือพ่อ แม่ ญาติ)  ก็จะเริ่มเรียนรู้ว่าควรจะกระทำอย่างไร เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ และบุคคลที่เลี้ยงดูแล ก็จะสั่งสอนอบรม ว่าสิ่งใดเรื่องใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรกระทำ เด็กก็เริ่มที่จะเรียนรู้แล้วเลือกที่จะกระทำ และเก็บสิ่งนั้นเข้าไปในจิตใจ เป็นการเติมน้ำ สี เข้าไปในแก้ว โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นถูก หรือ ผิด ดี ไม่ดี คือมีความอคติ มีการปรุงแต่งความคิด พอใจ ไม่พอใจ เข้าไปโดยที่ไม่รู้ตัว  จากนั้นเมื่อเด็กโตพอที่จะเรียนหนังสือ เด็กก็จะได้รับการเรียนรู้จากประสบการณ์ ทั้งที่บ้านครอบครัว และโรงเรียน ชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ สังคม  สภาพแวดล้อม  ก่อเกิด ทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม มีการคิดที่ดีในด้านบวก และความคิดที่มองในแง่ลบ ต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามามีผลต่อจิตใจ และเลือกกระทำ  ผ่านจิตสำนึก เมื่อทำบ่อย ๆ  ซ้ำ ๆ ก็จะเกิดการบันทึกเข้าไป ในส่วนของจิตใต้สำนึกก็เหมือนกับการเติมวัตถุดิบเข้าไปในแก้วน้ำ ซึ่งเป็นภาชนะเก็บรวบรวมจิตใจเป็นคุณลักษณะเฉพาะตัว อัตลักษณ์ ของบุคคล หรือเรียกว่า SELF ตัวตน ของคน คนนั้น  เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น เรียนรู้จนสามารถแยกแยะสิ่งถูกต้อง สิ่งที่ควร สิ่งผิด สิ่งที่ไม่ควรกระทำ ก็จะมีการได้ตรึกตรองความคิด จึงเลือกได้ว่าจะกระทำสิ่งใดให้ถูกต้อง ให้ดีขึ้น  ด้วยการคนส่วนประสมให้เข้ากัน  คนยังไงก็ยังเป็นคนที่ไม่สมบรูณ์แบบ เราจึงต้องหมั่น คน ปรับปรุง เรียนรู้ พัฒนาดียิ่งขึ้น ให้มีจิตใจที่สูงขึ้น"

                จิตของเรา แก้วน้ำในจิตใจของเราเอง ตัวเราเป็นคนเลือกที่จะใส่อะไร สิ่งใด เรื่องราว เหตุการณ์ ต่าง ๆ เข้าไปในแก้วน้ำแห่งจิตอย่างไร แบบไหน ด้านดี ด้านไม่ดี มันอยู่ที่เราเป็นคนกำหนด ใส่คำจำกัดความ บอกกล่าวกำกับ สิ่งนั้น เรื่องนั้นว่าเป็นอย่างไรให้กับมัน เราเลือกที่จะป้อนข้อมูลทางดี ทางไม่ดี เข้าไปในแก้วแห่งจิตนั้นเอง สิ่งไม่ดี เรื่องราวไม่ดี น้ำที่ใส่ในแก้ว ใส่น้ำเป็นสีต่าง ๆ ตามอารมณ์ที่เราใส่ให้กับสิ่งนั้น ๆ

เขียว       อารมณ์ดี สนุกสนาน รื่นเริง เบิกบานใจ / ความหึงหวง ไม่ซื่อสัตย์ ทุจริต

แดง         โกรธ โมโห โทสะ เกลียด รุกราน ก้าวร้าว จู่โจมตี ทำร้ายผู้อื่น / ความตื่นเต้น ความหลงใหล สเน่หา ป้องกันตนเอง

เหลือง     ความสุข สนุก สว่างอิ่มเอมใจ ปลื้มปิติยินดี มีชีวิตชีวาสดใส ความเป็นมิตร / เตือน อันตราย ขี้ขลาดหวาดกลัว ไม่จริงใจ หลอกลวง

ม่วง         รังเกียจเดียดฉันท์ เหยียดหยามดูหมิ่น โอ้อวดหยิ่งยโส อิจฉาริษยา ปมด้อย มีเลศนัยหลอกหลวง / หรูหราเลอค่า สเน่ห์ซ่อนเร้นน่าค้นหา

ส้ม           ความไม่พอใจ ผิดหวัง คับข้องใจ หงุดหงิด ไม่พอใจ รำคาญ / อบอุ่นใจ ความคึกคัก กระตือรือร้น

ชมพู        ความรัก เอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจ เมตตา ห่วงใย / อ่อนแอ การข่มใจ การยอมรับ

ฟ้า           ความเศร้า ความเสียใจ เป็นทุกข์ ลำบากใจ / ความสงบ สุขุมรอบคอบ

น้ำตาล   หยาบคาย กระด้าง ต่อต้าน ขาดแคลนขัดสน หมองมัว น่ากลัว ความลำบาก / เชื่อถือไว้วางใจ

เทา          เศร้าเสียใจ หดหู่ ท้อแท้ หมดอาลัยตายอยาก / สงบ เฉยเมย

ดำ           น่ากลัว เสียใจเ ป็นทุกข์  ลำบากใจ เศร้าโศก สิ้นหวัง ความชั่วร้าย / ดึงดูดใจ ลึกลับ

ขาว         ใสบริสุทธิ์ สะอาด  จริงใจ ศรัทธา ปัญญา ความดีงาม ความหวัง คุณธรรม / ว่างเปล่า ไร้อารมณ์

https://en.wikipedia.org/wiki/Color_psychology

http://www.toucandesign.co.uk/blog/colour-why-is-colour-choice-so-important-in-design

                ตัวเราเป็นคนเลือกใส่สีสันให้น้ำที่จะเติมเข้าไปในแก้วแห่งจิต แม้แต่สี ยังบอกอารมณ์ได้ทั้งสองด้าน บวก หรือ ลบ นับประสาอะไรกับสิ่งต่าง ๆ บนโลกนี้ ย่อมมีสองความหมายนัยที่ซ้อนอยู่ในใจของเราที่ตีความหมายของทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่สีสันที่เราเห็นตามความรู้สึกของใจเราคิด เราใส่น้ำที่มีอารมณ์กำกับสีสันลงไปในแก้วตลอด อีกทั้งยังใส่สิ่งปฏิกูล น้ำที่มีฝุ่น  สิ่งเจือปน =ความขุ่นเคืองใจ น้ำที่มีมวลความหนาแน่นเพียงไร เหลว ข้น เหนียวหนืด มีเม็ดทราย ดิน โคลน=ความคับช้องใจ กรวด=ความไม่พอใจ หิน =อารมณ์ทางด้านลบ กิเลส โมโห โทสะ โลภมาก โกรธ เกลียด รังเกียจเดียดฉันท์ เหยียดหยามดูหมิ่น โทษใส่ความใส่ร้าย เข้าไปในแก้วแห่งจิตใจ สิ่งที่มีน้ำหนักเจือปนความผิดกฏระเบียบ ทำบาปผิดต่อผู้อื่น นานเข้าก็จะตกตะกอน เกาะเกรอะกรัง เป็นตะกรัน แข็งแน่น นอนก้น ยึดมั่นในอัตตา Ego ของตนเอง คิดเข้าข้างตนเอง เห็นแก่ตัว ทำผิดทำบาป โดยไม่ละอายใจ ไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมา

                เราเป็นคน เราจึงต้องหมั่น คน น้ำในแก้วแห่งจิต ให้เข้ากันอยู่เสมอ ขจัดตะกรันตะกอนสิ่งไม่ดีทิ้งซะบ้าง มีเวลาคิดตรึกตรองจิต ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำ สิ่งไม่ดีไม่ควรทำ ไม่เหมาะสม ละหลีกเลี่ยงไม่ทำ ไม่ประพฤติผิด เติมน้ำที่ใส สะอาด ไล่สิ่งไม่ดี ล้าง ทำให้เจือจาง ลดความกระด้าง สันดานที่ตกตะกอนออกไป หมั่นเพียรพยายามเติมน้ำที่ดีเข้าไปเพื่อชะล้างสิ่งไม่ดีออกไป ทำบ่อย ๆ สม่ำเสมอ ใส่น้ำไปเลย ๆ ให้ล้นให้ขับดันน้ำไม่ดีออกไปหรือให้เจือจาง ที่สำคัญน้ำดีต้องมีมากพอและมีแรงขับความดันมากพอที่จะไล่น้ำเสียออกไปจากแก้ว ทำให้เป็นกิจวัตรเพียรพยายามสม่ำเสมอ น้ำในแก้วแห่งจิตจะเริ่มใสขึ้น จิตใจจะดีขึ้น คิดในทางบวก มีกำลังใจ สามารถอดทน ต้านทานความกดดัน สิ่งยั่วยุ สันดานสัญชาตญาณ Id ไม่ให้กระทำตามใจตนเองจนมากเกินไป โดยไม่สนใจแคร์คนอื่น และต้องหมั่นใส่สารส้ม สารทำให้สะอาดขึ้น คือ Superego ศีลธรรม จริยธรรม มโนธรรม สติสัมปะชัญญะแยกแยะดีชั่ว หิริโอตัปปะละอายเกรงกรัวต่อบาป ตักตะกอนออกไป เฝ้าดูแลสอดส่อง ทมะข่มยับยั้งชั่งใจตน มีวินัยอยู่ในกรอบกฏระเบียบ กฏหมาย ข้อบังคับ ของสังคม เราก็จะมีน้ำที่ใสสะอาดขึ้น สุขภาพจิตที่ดี มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีน้ำใสใจจริงที่บริสุทธิ์ ซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความมั่นคงทางจิตใจ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

            3.2 เครื่องคัดกรองน้ำแห่งจิต วิจารณญาณ ก่อนใส่น้ำ เข้าไปในแก้วน้ำ

                วิจารณญาณ = ปัญญาที่สามารถรู้หรือให้เหตุผลที่ถูกต้องได้ ตัวกรองจิตใจพยายามกรองให้มีแต่น้ำดีเท่าที่สามารถจะทำได้ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นตั้งใจ รับแต่สิ่งที่ดี ที่เป็นประโยชน์ในด้านบวก เข้ามาในแก้วแห่งจิต วิจารณญาณเป็นตัวคัดกรอง เลือกที่จะยอมรับให้สิ่งที่ตัวเราต้องการเข้ามาได้ และเลือกที่จะปฏิเสธไม่ให้สิ่งที่ไม่ต้องการ ไม่สามารถเข้ามาข้างในจิตแห่งตนได้ เราจึงต้องกำหนดจิต มีวิจารณญาณที่ดีมีคุณธรรม ก็คือ Superego มโนสำนึก และ มโนธรรม ในโครงสร้างของจิตใจที่ดี มีความเข้มแข็ง พลังทางบวกที่สร้างสรรค์และอดทนแข็งแรง มากกว่าสัญชาตญาณ Id ด้วยการควบคุมตนเอง ทมะ การข่มใจ ยับยั้งชั่งใจตนเอง ไม่ให้คิดจะกระทำความผิด ด้วย Ego ที่มีความเป็นกลางไม่โอนเอียงไปทางเห็นแก่ตัวเห็นแก่อยากได้ ตามความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ต้องมีวิจาณญาณสามารถพิจารณาแยกแยะดีชั่วถูกผิดได้อยู่บนรากฐานแห่งความเป็นจริง มีเหตุผล อันสมควรเหมาะสม เลือกที่จะไม่ให้ความรู้สึกนึกคิด ใส่ความหมายในด้านอารมณ์ที่เป็นทางลบเข้าไปในจิต เช่น อิจฉาริษยา ให้ร้ายป้ายสี เหยียดหยามดูหมิ่น โกรธโมโหโทโส คุกคามก้าวร้าว กรองคัดแยกทิ้งมันไปจากจิตใจของเราซะ พูดคุยกับจิตของตนเองให้ดี คอยเฝ้าสอดส่องจิต และรับฟังเสียงเตือนของดวงจิตวิญญาณของเรา สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ด้วยจิตที่มีความตั้งใจที่จะทำดี มีทัศนคติที่ดี เลือกคิดเลือกทำได้ถูกต้องเหมาะสม

            3.3 ความเชื่อและสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ กาลามสูตร

  • 1) อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา (ไม่เชื่อตาม คำพูด คำกล่าวบอกเล่าเรื่องของคนอื่นง่าย ๆ )
  • 2) อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบ ๆ กันมา (ไม่เชื่อตาม เรื่องเล่า กล่าวขาน  มาแต่ครั้งอดีตกันมาอย่างผิด ๆ โดยที่ไม่เคยได้รับการพิสูจน์มาก่อนที่จะเชื่อ)
  • 3) อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ              (ไม่เชื่อตาม ข่าว สื่อสารมวลชน โซเชียลเน็ตเวิร์ค บางครั้งเป็นมุมมองที่แคบเสนอไม่หมดไม่ได้บอกให้เห็นถึงภาพรวมทั้งหมด จนกว่าพิสูจน์ได้แล้ว)
  • 4) อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา (ไม่เชื่อตาม การอ่าน หนังสือ หนังสือพิมพ์ ตำรา เพราะเสนอความคิดแค่ด้านเดียวในมุมมองของผู้เขียน อย่าเชื่อไปทั้งหมด)
  • 5) อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง (ไม่เชื่อตาม ความรู้สึกนึกคิดของตนที่คิดไปเองเพียงคนเดียว )
  • 6) อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา (ไม่เชื่อตาม ความคาดหมาย คาดคะเน ของตนหรือกลุ่มคนที่คิดล่วงหน้าถึงความน่าจะเป็น)
  • 7) อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ (ไม่เชื่อตาม ที่อาการแสดงให้เห็น จนกว่าจะได้พิสูจน์ว่าเป็นจริง)
  • 8) อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน (ไม่เชื่อตาม เพราะมีความคิดเห็นคล้ายสอดคล้องต้องกัน ตรงกับความคิดเห็นของตนเอง)
  • 9) อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้ (ไม่เชื่อตาม เพียงเพราะเขา เป็นคนน่าเชื่อถือ หรือเป็นผู้เขี่ยวชาญ เช่นเป็น หมอ ตำรวจ เป็นนักบวช จนกว่าจะพิสูจน์ได้แล้ว)
  • 10) อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา (ไม่เชื่อ เพียงเพราะเขา เป็น ครูอาจารย์ บุคคลที่เรานับถือ เพราะเขาอาจมีเลศนัย จุดประสงค์ที่ปิดบังซ่อนเร้นอยู่ก็เป็นได้ ให้ทำการพิสูจน์สิ่งที่พูดให้ได้ก่อน จะตัดสินใจเชื่อถือในสิ่งที่เขาพูด)

                พระพุทธเจ้า ทรงให้คำสอนว่า "เมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษเมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศล หรือไม่มีโทษ เมื่อนั้นพึงถือปฏิบัติ

พระพุทธเจ้า ทรงให้คำสอนว่าอย่าได้เชื่ออะไรง่าย ๆ ให้มีวิจารณญาณตรึกตรองความคิด ก่อนที่จะเชื่อในสิ่งใด ต้องมีวิจารณญาณที่ดีที่ถูกต้อง เรื่องหรือสิ่งเหล่านั้น ได้ทำการทดสอบ พิสูจน์ แล้วเพียงพอหรือยัง สามารถที่จะเชื่อนำมาเป็นความคิดของตนเองได้ไหม

                โดยธรรมชาติของคน ชอบที่จะด่วนสรุป แล้วรีบตัดสินใจ ชี้ขาดถูกผิด  เลือกที่จะเชื่อตามความรู้สึกนึกคิดของจิตตนเองเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะพิสูจน์ความเป็นจริง ซึ่งบางเรื่องอาจจะต้องใช้เวลา ทักษะชีวิต ประสบการณ์ในการกลั่นกรอง พิจารณาว่าควรที่จะรับความเชื่อนั้น ยึดถือมาเป็นความคิดของตนได้ไหม เชื่อถือได้ไหม ก็อยู่ที่วิจารณญาณของตนเองนั้นแหละ

                บางเรื่องบางเหตุการณ์ บางสถานการณ์ บังคับให้เราตัดสินใจเลือก ก็ไม่ต้องยึดทั้งหมดทั้งสิบข้อมาช่วยตรองหรอก แค่มีสามถึงสี่ข้อก็เพียงพอที่จะช่วยให้มีวิจารณญาณที่ดีแล้ว อย่าเชื่อเพียงคำกล่าวอ้างบอกเล่าตามกันมา อย่าเชื่อเพียงคิดคาดคะเนไปเอง อย่าเชื่อเพียงเพราะเขามีอำนาจหรือมีอาชีพเฉพาะด้าน ตำรวจ หมอ ครู หรือเป็นนักบวช เพราะว่าพวกเขาก็ยังมีความเป็นคนยังไงก็มีกิเลส และมีดีมีชั่วปะปนกันไป คนยังไงก็ต้องคน ไม่มีใครดีไปทั้งหมด และไม่มีใครชั่วไปทั้งหมดจนไม่มีความดีอยู่ในตัวเลย ยังไงก็มีกิเลสความต้องการอยู่ในจิตใจไม่มีใครสมบรูณ์แบบ เป็นต้น เรานำ กาลามาสูตร มาช่วยในการพิจารณาอย่างมีวิจารณญาณ อย่างน้อยก็รู้จักแยกแยะ ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ให้ตรวจสอบพิสูจน์ คิดก่อนที่จะเลือกเชื่อสิ่งนั้น ๆ มาเป็นทัศนคติ ความเชื่อ อุดมคติในใจของตนเอง

จับใจความจาก     https://th.wikipedia.org/wiki/กาลามสูตร

http://stat.bora.dopa.go.th/religion/tammar.html

            3.4 Defragment จัดเรียงความคิด ทัศนคติ เรียบเรียง ขจัดไฟล์ขยะ จัดรูปแบบความคิดใหม่ เอาความรู้ความเข้าใจประสบการณ์เก่ามาประมวญผลใหม่ ปรับปรุง พัฒนา ให้เหมาะสมกับ สถานภาพ บทบาทหน้าที่ของเรา และสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน เช่น ในอดีตตัวเราอาจเคยมีความเชื่อ ค่านิยม ที่เคยยึดถือเป็นอุดมคติปฏิบัติมา แต่สถานะบทบาทของเราเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น ทำงานแล้วเกิดข้อผิดพลาด หรือวางตัวไม่เหมาะสมในสังคม เราจึงต้องกลับมาคิด ตรึกตรอง เพื่อปรับตัว แก้ไข ข้อผิดพลาด ปรับปรุง พัฒนา ตัวเองให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น แสวงหาความรู้ในงานที่ทำมากขึ้น  วางตัวแสดงพฤติกรรมการเข้าสังคมให้ดีเหมาะสม ปรับทัศนคติของตนเองเสียใหม่ อีกตัวอย่างเช่น เราเปลี่ยนบทบาทของเราเป็นผู้ให้กำเนิดบุตร มีลูกเป็นสมาชิกใหม่ เราซึ่งเป็นพ่อแม่ มีหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ เลี้ยงดู อบรมสั่งสอนให้เด็กมีความพร้อมในการดำเนินชีวิต จากเคยทำอะไรตามใจตนเองมาก ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบเที่ยวเตร่ ได้เงินมาก็ใช้หมด เมื่อเป็นพ่อแม่ จึงต้องเลิกนิสัยไม่ดี ขยันทำงานเก็บเงิน เพื่อหาเงินเลี้ยงดูแลลูก รับผิดชอบทำหน้าที่ สถานะของพ่อแม่ ให้การคุ้มครองปกป้องดูแลอย่างเต็มความสามารถด้วยความรักความเอาใจใส่ จึงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ในทางที่ดีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและลูกของตน ละเลิก สิ่งไม่ดี นิสัยไม่ดี ทำเพื่อลูกและคนในครอบครัว เป็นต้น

                จิตใจของเรา ทำงานอยู่ตลอดเวลา เราเป็นผู้ใช้ แต่น้อยคน ที่จะดูแลรักษาจิต (ไม่ใช่ในแง่ทำตามความพึงพอใจอย่างเดียวนะ ที่ให้ความสุขต่อใจตัวเอง) ตัวเราควรหมั่นตรวจสอบ เฝ้าดูสอดส่อง สำรวจจิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ว่าเรามีทัศนคติเป็นอย่างไรในภาพรวม บางช่วงของการปรับตัว ปรับเปลี่ยนความคิด เพื่อให้เติบโตพัฒนาความคิดจิตใจ ให้เหมาะสมกับวัยวุฒิ คุณวุฒิ ภาระหน้าที่การงาน การเปลี่ยนแปลงสถานะของบุคคล หรือการมีเวลาได้ตรึกตรองครุ่นคิดเรื่องราวการกระทำในอดีต เพื่อปรับให้ทันเหตุการณ์ สถานภาพ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ให้มีทัศนคติที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันได้ดียิ่งชึ้น

                รวมถึงต้องจัดเรียงความคิด นำความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทัศนคติ (Attitude)ใหม่ พัฒนาใช้ในทางสร้างสรรค์มีผลที่ดีให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันการยอมรับทั้งอย่างเต็มใจและฝืนใจที่จะเปลื่ยน และนำไปปฏิบัติ (Practice) ประยุกต์นำไปใช้จริงเพื่อช่วยให้กระบวนการคิดตัดสินใจเลือก กระทำปฏิบัติให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดีเหมาะสมมีประสิทธิภาพ

                ในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ อุดมคติ นำประสบการณ์การเรียนรู้ในอดีต มาปรับกับความรู้ความเข้าใจในปัจจุบัน ให้ทันคน ทันเหตุการณ์ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม และสามารถปรับตัวอย่างเหมาะสมสำหรับการดำเนินชีวิตในอนาคตได้เป็นอย่างดี ถ้าตัวของเรามีการสำรวจ ปรับปรุง พัฒนาทัศนคติ อุดมคติอย่างสม่ำเสมอ ด้วยมุมองที่เปิดกว้าง มีวิจารณญาณกลั่นกรองความคิดที่เหมาะที่ควรสำหรับตนเอง และดุลยพินิจที่ถูกที่ควรอยู่ในพื้นฐานความเป็นจริงและบรรทัดฐานทางสังคม มาปรับใช้ โดยต้องหมั่นคนน้ำในแก้วแห่งจิตใจ คนให้เข้ากัน ตักตระกอนออกมา กรองแต่สิ่งที่คิดว่าดี กลับเข้าไป เติมน้ำที่ใส ที่ดีเข้าไป ไล่ชำระล้างสิ่งเจือปน ฝุ่นสิ่งปฏิกูลที่ไม่พึงประสงค์ออกไปบ้าง ทำให้น้ำในแก้วแห่งจิตใจ ใสขึ้น จิตใจที่ดี มีความคิดความรู้สึกที่ดี พฤติกรรมก็จะดีไปด้วย ส่งผลถึงการดำเนินชีวิตในด้านดี มีความสุข มีความบริสุทธิ์ใจ ใสมีน้ำใจดี เห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น อยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมั่นคงปลอดภัย

4. ประเมินผลพิจารณาวิเคราะห์ทางเลือก ไปสู่ กระบวนการตัดสินใจ เลือก (Evaluation to Decision Making)

            การประเมินผล ในการพิจารณาทางเลือก ชั่งน้ำหนัก ก่อน กระบวนการตัดสินใจ วิธีการประเมินผลกระทบ ทางบวก ทางลบ ใช้ SWOT พูดคุย ตอบข้อสงสัย ประเมินทางเลือก หรือทางออกที่เราจะเลือก ก่อนตัดสินใจ

            4.1 SWOT Analysis วิเคราะห์เปรียบเทียบ ประเมินผล สถานการณ์

            (S) Strengths จุดแข็ง ข้อดี ส่งผลทางด้านบวกดี เป็นปัจจัยภายในตัวเราที่ควบคุมได้

                (W) Weaknesses จุดอ่อน ข้อเสีย ส่งผลทางด้านลบไม่ดี เป็นปัจจัยภายในตัวเราที่ควบคุมได้

                (O) Opportunities โอกาส มีผลด้านดี ประโยชน์เอื้ออำนวยต่อตัวเรา แต่เป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้

                (T) Threats อุปสรรค มีผลด้านไม่ดี มีผลกระทบทางลบ เป็นข้อจำกัดต่อเรา แต่เป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้

                SWOT จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค เป็นการประเมินวิเคราะห์ทางเลือกที่นิยมใช้ทางธุรกิจ แต่ผมมองว่าเหมาะกับการนำมาใช้ช่วยให้ประเมินผลทางเลือกในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เพราะทุกวันนี้ คนเราแยกแยะไม่ออก ว่าทุกสิ่งที่ตนประสบพบเจอ คิดว่าตัวเองสามารถจัดการควบคุมได้ทั้งหมด ซึ่งความเป็นจริงไม่เป็นอย่างที่คิด เช่น ฝนตกก็ด่าฟ้าด่าฝน หรือ เกิดอุบัติเหตุข้างหน้า ทำให้รถติด ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็อารมณ์เสียหงุดหงิดไปเองแล้ว ซึ่งสองตัวอย่างข้างบน เป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ อยู่เหนือความสามารถของเราที่จะไปจัดการควบคุมได้ กระผมแค่อยากให้คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ได้รู้จักแยกแยะความคิด แม้แต่เรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน ว่าสิ่งที่เราประเมิน มีทั้งจุดแข็งทางบวก จุดอ่อนทางลบ ปัจจัยภายในที่เราสามารถแก้ไขปรับปรุงควบคุมได้  และทางที่เป็นโอกาสเอื้ออำนวยต่อเรา กับ ทางที่เป็นอุปสรรคข้อจำกัดต่อเรา ตัวเราไม่สามารถจะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ควบคุมไม่ได้ด้วยกำลังของตัวเรา

                จุดแข็ง ทางที่เราจะเลือก มีข้อดีอย่างไรบ้าง ส่งผลกระทบด้านบวกที่ดี

                จุดอ่อน ทางที่เราจะเลือก มีข้อเสียข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง ส่งผลกระทบด้านลบที่ไม่ดี

                ถ้าเทียบ อุปสรรคของเรา ก็คือ ข้อจำกัดที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ เช่น ฝนตก ถนนลื่น เกิดอุบัติเหตุรถชนกันกีดขวางการจราจร หรือ ติดไฟแดง เป็นต้น มันเป็นสิ่งที่ตัวเราไม่สามารถที่จะไปควบคุมจัดการมันไม่ได้ อยู่เหนือขอบเขตความสามารถที่เราจะไปกำหนดบงการควบคุมมันไม่ได้

                โอกาส ก็คือ สิ่งที่ดีมีประโยชน์กับตัวเราแต่เราไม่สามารถกำหนดควบคุมสิ่งเหล่านั้นได้เองด้วยตัวของเรา หรือ เรามีคุณสมบัติมากเพียงพอก็มีโอกาสดีดีเข้ามา เช่น เราทำงานได้ดี บริษัทคู่แข่งสนใจดึงตัวไปทำงานด้วยโดยให้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น หรือตอนนี้เราเก็บเงินได้มากพอ จึงเป็นโอกาสที่จะซื้อรถแล้ว ไปเดินดูรถยนต์เพื่อตัดสินใจซื้อรถเป็นของตนเอง หรือ เรามีเงินเก็บอยู่แล้ว มีคนมาเสนอขายที่ดิน จึงมีโอกาสที่ดีที่เราจะได้เป็นเจ้าของมีที่ดิน ถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของในสิ่งนั้นเลย เป็นต้น

                ที่สำคัญจะได้รู้จักแยกแยะว่าสิ่งใด เรื่องใด เกี่ยวข้องกับตัวเราไหม เรื่องใดเราสามารถจัดการได้ เรื่องใดมันมีต้นเหตุที่เราแก้ไขไม่ได้ บางทีก็ต้องทำใจยอมรับ เพราะมันเป็นปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถจัดการควบคุมมันได้ เราก็ไม่ควรที่จะอารมณ์เสีย ไม่พอใจจนหงุดหงิด รำคาญ พาลโทษคนอื่นก็ไม่มีประโยชน์อันใด ได้แต่ทำใจ ยอมรับความเป็นจริงที่ไม่สามารถทำได้เป็นข้อจำกัดที่ควบคุมไม่ได้

                ปัจจัยภายในที่ขึ้นอยู่กับตัวเรา ข้อดี ข้อเสีย ของตัวเรา ปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านบวกเป็นประโยชน์กับเรา ปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านลบเป็นโทษเสียหายต่อตัวของเรา เราต้องนำเหตุปัจจัยเหล่านี้มา ชั่งน้ำหนักในทางเลือกที่ต้องตัดสินใจ ว่าถ้ากระทำสิ่งนั้นแล้วจะมีผลลัพธ์ข้อสรุปออกมาทางที่ดี หรือทางไม่ดี เพื่อเป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์ชั่งน้ำหนักในการประกอบการตัดสินใจเลือกทำสิ่งนั้น

            4.2 ชั่งน้ำหนัก วิเคราะห์ความสำคัญ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ วิเคราะห์ผลกระทบจากสิ่งที่จะเลือก ประเมินค่า

                เมื่อผ่านการวิเคราะห์เปรียบเทียบด้วย SWOT จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค แล้ว ก็ต้องชั่งน้ำหนัก ว่าสิ่งที่จะเลือกสองอย่าง เลือกด้านไหนดีกว่ากัน ด้านใดสิ่งใดมีความสำคัญกว่ากัน และผลกระทบที่จะตามมาหากต้องเลือกทางนี้ อันไหนมีผลทางออกที่ดีที่สุดเหมาะสมกับเรามากที่สุด ให้ประโยชน์เอื้ออำนวยในทางที่ดี  วิเคราะห์ถึงความสำคัญของเรื่องราว สิ่งที่เราจะทำ ว่าทำไปแล้วเกิดผลกระทบต่อตัวเราในทางเสียหายไหม สิ่งนั้นส่งผลกระทบในทางสร้างสรรค์ไม่ไปเดือดร้อนใคร และไม่เดือดร้อนเสียหายต่อตนเองด้วย ก็ให้เลือกทางนั้น ยกเว้นว่ามีน้ำหนักเท่ากัน ตัดสินใจเลือกไม่ถูก ก็มาวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ที่สิ่งนั้น เชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งใดบ้าง ทำให้เสียหายกระทบถึงหลายด้าน หลายคนที่มีความสัมพันธ์กันไหม ถ้าไม่เสียหายต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือต่อสิ่งนั้น ก็ให้เลือกทางที่เสียหายน้อยที่สุด ทางที่ดีที่สุด มีทางที่เป็นไปได้ตามเป้าหมายความคาดหวังหรือไม่ คุ้มค่าที่จะทำมากน้อยเพียงใด คาดหวังได้ไหมว่าจะได้รับผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

                4.3 Decision Making ตัดสินใจเลือก โดยไม่เสียใจภายหลัง

            กระบวนการตัดสินใจ ส่วนมากจะ ใช้ความรู้สึกนึกคิดทางอารมณ์ทัศนคติ ชี้นำการตัดสินใจ บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ ในการแปลความ ตีความหมาย ขยายความ ใส่ป้ายกำกับให้ต่อสิ่งนั้น ๆ หรือเรื่องราวนั้น ๆ เช่น ใช่ หรือ ไม่ใช่ พอใจ หรือ ไม่พอใจ ชอบ หรือ ไม่ชอบ ดี หรือ ไม่ดี ถูก หรือ ผิด ทำ หรือ ไม่ทำ เป็นต้น ซึ่งเมื่อทำบ่อย ๆ จะเกิดความเคยชิน เมื่อตัวเรานึกถึงมีความคิด ความทรงจำถึงสิ่งนั้น ก็จะดึงความรู้สึกนึกคิดถึงที่มีต่อสิ่งนั้นขึ้นมาใช้แล้วใส่ป้ายกำกับจำกัดความหมายให้กับสิ่งนั้นเลยแถบจะเป็นอัตโนมัติในความรู้สึก

                ทัศนคติ มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการเป็นตัวชี้นำ องค์ความรู้แบบฉบับของตนเอง Mind-Set ในการคิด กระบวนการตัดสินใจ เลือกการกระทำเป็นการแสดงออกทางพฤติกรรม (ซึ่งทัศนคติ นั้นรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอยู่ร่วมด้วยทุกกระบวนการในการคิดแก้ปัญหาในชีวิตของคนในทุก ๆ เหตุการณ์ทุกเวลา)

                Mindset จิตใจองค์ความรู้แบบฉบับของตนเอง ประกอบด้วย (จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ ทัศนคติ ความเชื่อ อีโก้อัตตาเหตุผลอิงอารมณ์เข้าข้างตนเอง กระบวนการคิด กระบวนการตัดสินใจ วิธีการคิดแก้ปัญหา และกระบวนการกระทำแสดงพฤติกรรมออมาถึงเจตนาภายในจิตใจของตนเอง)

                หลักการทำงานของ  Mindset อย่างย่อ ประเมิน/ชั่ง/คุ้มค่าที่เสี่ยง/วางแผน/ลงมือทำ/ตรวจสอบ/ปรับปรุงคิดใหม่

  1. 1. Evaluation ประเมินสถานการณ์
  2. 2. Weight balance ชั่งน้ำหนักความสำคัญ และ ชั่งน้ำหนักวิเคราะห์ทางเลือก และวิเคราห์ความสัมพันธ์ผลกระทบ
  3. 3. Risk analysis and Expected Value analysis วิเคราะห์ความเสี่ยงและความคุ้มค่าเป็นไปตามคาดหมาย คุ้มค่าที่จะเสี่ยงทำ ลองทำ
  4. 4. Plan วางแผนกำหนดวิธีการ
  5. 5. Act ลงมือทำปฏิบัติจริง
  6. 6. Check ตรวจสอบ สมหวังตามความคาดหมาย กับ ผิดหวังไม่ตรงตามคาดหวัง นำไปสู่
  7. 7. Improvement แก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น (Rethinking and Reconsider) คิดใหม่ และ พิจารณาใหม่อีกครั้ง

                ถ้าเป็นเรื่องใหม่ หรือเรื่องที่มีความยาก เรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องปรับตัว ต่อการดำเนินชีวิตของเรา กระบวนการตัดสินใจจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องใช้เวลา ในการคิด วิเคราะห์เปรียบเทียบ ข้อดีข้อเสีย ใช้เหตุผลเชิงตรรกะ ประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจมาเปรียบเทียบ ชั่งน้ำหนัก ประเมินผลทางเลือกเชิงคุณภาพ ความสำคัญ และเชิงความสัมพันธ์ มีผลกระทบที่จะตามมา หากเราเลือกทางเลือกนั้น

                "ขั้นตอนการตัดสินใจ แบบตรรกะ สามารถแบ่งออกได้เป็นดังนี้ คือ

                ขั้นที่ 1 การระบุปัญหา (Define problem) เป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะต้องระบุปัญหาได้ถูกต้อง จึงจะดำเนินการตัดสินใจในขั้นตอนต่อ ๆ ไปได้
                ขั้นที่ 2 การระบุข้อจำกัดของปัจจัย (Identify limiting factors) เป็นการระบุปัญหาได้ถูกต้องแล้ว นำไปพิจารณาถึงข้อจำกัดต่างๆ ของตัวเรา โดยพิจารณาจากกำลังความสามารถของเรา
                ขั้นที่ 3 การพัฒนาทางเลือก (Development Alternative) ขั้นตอนที่ต้องพัฒนาทางเลือกต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งทางเลือกเหล่านี้ ควรเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพและมีความเป็นไปได้ ในการแก้ปัญหาให้น้อยลง และให้เกิดประโยชน์สูงสุด

                ขั้นที่ 4 การวิเคราะห์ทางเลือก (Analysis the Alternatives) เมื่อได้ทำการพัฒนาทางเลือกต่าง ๆ โดยนำเอาข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกมาเปรียบเทียบกันอย่างรอบคอบ ควรพิจารณาว่าทางเลือกนั้นนำมาใช้ จะเกิดผลต่อเนื่องอะไรตามมา ส่งผลทางด้านดีหรือไม่ดีอย่างไร
                ขั้นที่ 5 การเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด (Select the Best Alternative) เมื่อได้ทำการวิเคราะห์ และประเมินทางเลือกต่าง ๆ แล้ว ตัวเราควรเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือกอีกครั้งหนึ่งเพื่อพิจารณาว่าทางเลือกที่ดีที่สุดเพียงทางเดียว
                ขั้นที่ 6 สรุปตัดสินใจเลือก แล้วนำผลการตัดสินใจไปปฏิบัติ (Implement the Decision) เมื่อได้หาทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว ก็ควรมีการนำผลการตัดสินใจนั้นไปปฏิบัติ
                ขั้นที่ 7 การสร้างระบบควบคุมและประเมินผล (Establish a Control and Evaluation System) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของ กระบวนการตัดสินใจ ได้แก่การสร้างระบบการควบคุมและประเมินผล ตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยได้รับ ข้อมูลย้อนกลับ ที่เกี่ยวกับผล การตัดสินใจว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ ตอบสนองความต้องการเป็นที่พอใจ หรือไม่พอใจ ข้อมูลย้อนกลับมาปรับปรุงพัฒนาในการแก้ปัญหา หรือทำการตัดสินใจใหม่ในครั้งต่อไปได้"  ซึ่งมีส่วนช่วยนำข้อมูลมาใช้ในการปรับทัศนคติและวิธีการคิดแก้ปัญหา แก้ไขปรับปรุงให้ค้นหาวิธีการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไปได้ในอนาคต

https://www.novabizz.com/NovaAce/Behavior/Decision_Making.htm

                การตัดสินใจเลือกผลสรุปทางออกนี้ เมื่อชั่งน้ำหนักดีแล้ว ประเมินคุณค่า กับสิ่งนั้น เรื่องราวนั้น ว่าคุ้มค่าไหมที่จะตัดสินใจเลือกทำสิ่งนั้น โดยที่จะไม่เสียใจภายหลังต่อการตัดสินใจลงมือทำสิ่งนี้ หรือคิดอยากจะกลับไปแก้ไขข้อผิดพลาดจากการที่ได้ตัดสินใจลงไปในครั้งนี้ ซึ่งไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้อีก ได้แต่นำข้อผิดพลาดไปแก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป ตัวเราจึงต้องมีสติ คิดให้ดีก่อน วิเคราะห์ ประเมินผล ตัดสินใจเลือก ให้ถูกต้องเหมาะสม การมีทัศนคติที่ดี จะส่งผลต่อกระบวนการคิด กระบวนการตัดสินใจที่ดี นำไปสู่พฤติกรรมแสดงออกที่ดี

                ทัศนคติเป็นตัวสำคัญที่มีอิทธิพลที่เชื่อมโยงสัมพันธ์ มีผลกระทบต่อ ระบบจิตใจของคน กระบวนการคิด วิธีจัดการแก้ปัญหา กระบวนการตัดสินใจ มีผลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเราด้วย หากเรามีทัศนคติภาพรวมที่ดี มีความตั้งใจดีมุ่งมั่นค้นหาวิธีการแก้ปัญหาภายในกรอบมโนสำนึกที่ดี มีโมนธรรม อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงที่มีความเป็นไปได้ (ไม่ใช่เพ้อฝันจิตนาการไปเองเกินจริงหลอกตัวเอง) เราจึงต้องมีทัศนคตืที่ก็จะรับมือ แก้ไชปัญหาได้ วางแผนการดำเนินชีวิตได้ด้วยดี

5. ชี้แนะชักนำจูงใจ ให้แสดงพฤติกรรมออกมา (Influence to Behavior) เพื่อสื่อความหมายตามเจตนาวัตถุประสงค์

                ทัศนคติ มีส่วนสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อพฤติกรรมการแสดงออกของคน เพราะ ทัศนคติ เป็นจิตของเราปรุงแต่ง ความรู้สึกนึกคิดที่ชี้วัดคุณค่า ประเมินผล ตัดสินใจเลือก ตีความแปลความหมาย ใส่คำจำกัดความ ให้กับสิ่งต่าง ๆ เรื่องราวต่าง ๆ เป็นการชี้แนะชักนำจูงใจให้คิดแบบนั้นต่อสิ่งต่าง ๆ เมื่อพูดถึง หรือนึกคิดถึงเรื่องราว สิ่งเดิม ก็จะดึงความรู้สึกนึกคิดถึงนั้นขึ้นมาจากความทรงจำมากำกับความหมายให้กับสิ่งนั้นตามความรู้สึกเคยชินแบบเดิมเหมือนประสบการณ์ในครั้งเก่ามาใช้ เมื่อใช้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จนเกิดความเคยชิน ก็จะติดเป็นนิสัยแบบอัตโนมัติ คือนึกถึงสิ่งนี้ก็จะดึงความรู้สึกในอดีตมากำกับความหมายให้สิ่งนั้นแทบจะทันที

                กระบวนการคิด กระบวนการตัดสินใจ ที่ทำอยู่บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จนเกิดความเคยชิน ก็จะติดเป็นอุปนิสัย ก็จะเป็นบุคลิกภาพ ตัวตนจิตของเรา ที่มีกระบวนการคิด ทัศนคติ วิสัยทัศน์ในการมองโลก การมองถึงปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันที่เป็นแบบฉบับเฉพาะตัวของเขาเอง ถึงแม้ว่าคนพบเจอเรื่องราวเดียวกัน สถานะเหมือนกัน ในเวลาเดียวกัน แต่ความคิด ทัศนคติ วิธีการแก้ปัญหามีความแตกต่างกัน ก็เพราะทัศนคติและวิธีการคิดแก้ไขปัญหาต่างกันนั้นเอง

                ความคิดเป็นอย่างไร มันจะชี้นำพฤติกรรมให้แสดงอย่างที่จิตคิด ทัศนคติของเราเป็นส่วนหนึ่งของจิต MindSet or MindSelf

            สรุป สิ่งเดียวกัน เรื่องเดียวกัน คนแต่ละคน คิดต่างกัน มีความคิดเห็น แปลความหมาย ตีความ ประเมินผล ตัดสิน ตีค่า ใส่ความหมาย คำจำกัดความ ต่อแต่ละสิ่ง แต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ก็ด้วยองค์ประกอบของจิตใจของบุคคล ต่างกันที่ ดวงจิต และ สมอง ความคิด อารมณ์ ความคิดเห็น ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิดในตัวตน (จิตวิญญาณ) ที่ความคิดต่างกัน กระบวนการประเมินผลในคุณค่า กระบวนการตัดสินใจ ที่แตกต่างกันไป หลักใหญ่คือการพูดคุยกับตัวเอง ความรู้สึกนึกคิดที่ตนมีต่อสิ่งต่าง ๆ คือ ทัศนคติของคนนั้น ๆ ที่มีผลชี้นำต่ออารมณ์ พฤติกรรม อุปนิสัย บุคลิกภาพ และส่งผลถึงการดำเนินชีวิตของคนนั้น ๆ การมองโลกรอบตัวเป็นอย่างไร ถ้าพูดคุยกับตัวเองดีดี มีวิสัยทัศน์ ทัศนคติ ที่ดีต่อตนเองและคนอื่นในสังคมที่ดีเหมาะสม มองโลกในแง่ดี ก็จะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดีและมีความสุข ในแบบฉบับของตน ที่เลือกและกระทำได้ตามความสามารถของตนเองที่มีอยู่ การมีทัศนคติที่ดีก็มีผลต่อจิตใจที่มั่นคง ยึดมั่น ตั้งใจทำอย่างเพียรพยายามทุ่มเทมากเพียงพอที่จะได้สิ่งนั้นมา โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ชีวิตจะมีความสุข สมบรูณ์ พร้อมที่จะเผชิญกับทุกสถานการณ์

หมายเลขบันทึก: 661346เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2019 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2019 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท