สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๑. บทนำ


บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ    นักเรียนในระดับประถมและมัธยมของไทย ประมาณ ๖ ล้านคน    กว่าครึ่งหนึ่งตกอยู่ในสภาพที่ระบุในหนังสือนี้    และที่น่าแปลกใจคือ ในสหรัฐอเมริกา ร้อยละ ๕๒ ของนักเรียน มาจากครอบครัวยากจน 

การดำเนินการตามอุดมการณ์และวิธีการที่ระบุในหนังสือเล่มนี้    ที่ผมตีความโยงเข้าสู่สภาพไทย    หากดำเนินการได้ผลจริงจังในระบบการศึกษาของเรา น่าจะช่วยให้ครึ่งหนึ่งของพลเมืองไทยในอนาคตได้รับการยกระดับคุณภาพอย่างมากมาย    หรือกล่าวในมุมกลับ    ระบบการศึกษาตามแบบที่เราดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้ทำลายศักยภาพของครึ่งหนึ่งของพลเมืองไทยในอนาคต ลงไปมาก

ที่กล่าวในย่อหน้าบนอาจจะคลาดเคลื่อน  เพราะจริงๆ แล้ว วิธีการตามที่จะเสนอในบันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน นี้    จะมีคุณประโยชน์ต่อนักเรียนทั่วไปที่ไม่ได้ขาดแคลนด้วย    เพราะเป็นวิธีปลุกศักยภาพในตัวเด็ก ให้เรียนรู้ได้ครบด้าน ลุ่มลึก และเชื่อมโยงกว้างขวางยิ่งขึ้น (mastery learning)    มีคุณประโยชน์ ทั้งต่อเด็กที่ขาดแคลน   และเด็กที่ไม่ขาดแคลน

หัวใจของบันทึกชุดนี้ อยู่ที่ชื่อรองของหนังสือ “Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty”    โดยที่คำว่า mindset ในที่นี้ หมายถึงชุดความคิด (กระบวนทัศน์) ของครู บันทึกชุดนี้จะค่อยๆ ชี้ให้เห็นว่า    ชุดความคิดที่ถูกต้องของครูแต่ละข้อ นำไปสู่การจัดการเรียนรู้ที่ถูกต้องอย่างไร   

บันทึกชุดนี้ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ “ชุดความคิด”     แต่จะโยงชุดความคิดไปสู่ “ชุดการกระทำ” ของครู    ที่เป็น “การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สูงคุณค่า” ต่อศิษย์    

ข้อสรุปในภาพรวมคือ ครูเพื่อศิษย์ขาดแคลน ต้องเลือกชุดความคิดที่เป็นสองขั้ว ใน ๗ ประเด็นต่อไปนี้

  • จะสมาทานชุดความคิด  “เขาจ้างฉันมาเป็นครูเพราะฉันมีความรู้วิชาการ    ฉันไม่มีเวลาพอที่จะเอาใจใส่ทักษะด้านสังคม   นั่นมันเรื่องของพ่อแม่”  หรือ  “นักเรียนและครูต่างก็มีชีวิตที่เชื่อมโยงกัน    เป้าหมายแรกของการเชื่อมโยงระหว่างฉันกับศิษย์คือ ความสัมพันธ์ในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์   ความสัมพันธ์ในฐานะครูกับศิษย์เป็นเป้าหมายรอง”  
  • จะสมาทานชุดความคิด   “เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ลูก  ไม่ใช่หน้าที่ของครู”   หรือ   “ฉันจะกระตุ้นความพยายาม แรงจูงใจ และเจตคติสู่ความสำเร็จ ของศิษย์    ทักษะเหล่านี้ฝึกได้”
  • จะสมาทานชุดความคิด  “ฉันได้พยายามมองโลกแง่บวกแล้ว   แต่ในความเป็นจริง มีสารพัดอุปสรรค    มองโลกแง่บวกเป็นเรื่องหลอกๆ  แต่ฉันจริงใจต่อนักเรียน  ฉันบอกความจริงตามที่เป็น”   หรือ   “ฉันเป็นพันธมิตรที่มองโลกแง่บวกต่อเด็ก  และจะช่วยให้ศิษย์สร้างความฝันสู่อนาคต”
  • จะสมาทานชุดความคิด   “ฉันมีหน้าที่สอนเนื้อหาวิชาความรู้   หากคุณต้องการให้นักเรียนเรียนได้ดี  จงบอกให้เขาตื่นและตั้งใจเรียน   ห้องเรียนไม่ใช่สถานบันเทิง”   หรือ   “ฉันโฟกัสที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    และเชื่อมโยงสู่กระบวนการเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของทุกวัน” 
  • จะสมาทานชุดความคิด   “เด็กบางคนได้เรียนรู้  แต่บางคนก็ไม่ได้    ถ้าเด็กพร้อม เขาจะเรียนรู้   เขาต้องรู้วิธีเรียนรู้ มิฉนั้นก็จะเรียนตามไม่ทัน”   หรือ   “ฉันเชื่อว่าสมองมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง   ฉันสามารถสร้างการเติบโตและเปลี่ยนแปลงให้แก่ตนเอง    แล้วจึงช่วยสร้างทักษะการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์”
  • จะสมาทานชุดความคิด   “ฉันมีเรื่องต้องสอนมาก   และฉันรู้ว่าวิธีสอนที่ดีที่สุดคือการบรรยาย    เรื่อง student engagement เป็นเรื่องเหลวไหล”   หรือ   “ฉันจะ engage กับเป้าหมายที่ทรงคุณค่า กับศิษย์ทุกคน ทุกวัน  ทุก ๙ นาทีหรือสั้นกว่านั้น”
  • จะสมาทานชุดความคิด   “ฉันได้พยายามคิดบวกแล้ว   แต่เด็กเหล่านี้มาจากสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด   ฉันไม่คิดว่าเขาจะประสบความสำเร็จในชีวิต”   หรือ   “ฉันเอาใจใส่เรื่องสำคัญ  ที่จะช่วยให้ศิษย์เข้ามหาวิทยาลัยได้ หรือพร้อมทำงาน”

เขียนสองขั้วตรงข้าม เป็นคู่ๆ ของชุดความคิดทั้ง ๗ นี้แล้ว    ผมสรุปกับตนเองว่า     ชุดความคิดที่เอ่ยถึงเป็นอันแรกของแต่ละคู่ เป็นชุดความคิดของ “ครูเพื่อกู”  ในขณะที่ชุดความคิดที่เอ่ยถึงทีหลังในแต่ละคู่ เป็นชุดความรู้ของ “ครูเพื่อศิษย์”

ประเด็นสำคัญคือ ศิษย์ยิ่งมาจากครอบครัวยากจน มีปัญหา หรือขาดแคลน ครูต้องยิ่งเอาใจใส่   ความเอาใจใส่นี้จะช่วยให้ครูได้เรียนรู้มาก   และบรรลุผลสำเร็จในวิชาชีพครู    หรืออาจกล่าวได้ว่า ศิษย์ที่ยากลำบากเหล่านี้คือพรที่สวรรค์ประทานมาเป็นเส้นทางแห่งความสำเร็จในชีวิตความเป็นครู   ที่ฝรั่งเรียกว่าเป็น blessing in disguise    ดังนั้น “ครูเพื่อศิษย์” จะได้รับรางวัลชีวิตสูงกว่า “ครูเพื่อกู”  อย่างเทียบกันไม่ได้เลย

จะพลิก “ความขาดแคลนของศิษย์” ให้เป็น “ขุมทรัพย์ของครู” ได้ ครูต้องสมาทานกระบวนทัศน์หรือชุดความคิดที่สำคัญ ๗ ประการ   ที่จะเป็นต้นทางสู่การจัดการเรียนรู้ที่ดี  คือ  (๑) ชุดความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์กับศิษย์ (relational mindset),  (๒) ชุดความคิดว่าด้วยความสำเร็จของศิษย์ (achievement mindset),  (๓) ชุดความคิดบวก (positivity mindset),  (๔) ชุดความคิดห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้ม (rich classroom climate mindset),  (๕) ชุดความคิดหนุนศักยภาพของนักเรียน (enrichment mindset),  (๖) ชุดความคิดว่าด้วยการสร้างความเอาใจใส่ของนักเรียน (engagement mindset),  และ (๗) ชุดความคิดมีเป้าหมายเพื่อให้ศิษย์เรียนจบ (graduation mindset)    ไม่ว่าศิษย์จะขาดแคลนเพียงใด  ครูต้องมุ่งมั่นดำเนินการให้ศิษย์ได้รับผลตามเป้าหมายหลักทั้ง ๗   

วิจารณ์ พานิช

๑๒ เม.ย. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 661339เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2019 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2019 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท