Amazing Thailand: งบประมาณขาดดุล = เศรษฐกิจพอเพียง ??


ผมพึ่งได้ทราบว่ารัฐบาลไทยตั้งงบประมาณปี 2550 เป็น งบประมาณขาดดุลเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง

ผมคิดว่าผมมีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์การเงินบ้างติดตัวอยู่พอที่จะเข้าใจเรื่องอะไรต่อมิอะไรในทำนองนี้ได้ แต่วันนี้งงจริงๆ ครับ ได้โปรดเถิด ใครช่วยอธิบายผมหน่อยว่าคำว่า "งบประมาณขาดดุล" กับ "เศรษฐกิจพอเพียง" มันอยู่ด้วยกันได้อย่างไร

สงสัยผมต้องไปนั่งสมาธิในร้านเหล้าเพื่อแสวงหาปัญญาเสียแล้ว หรือผมควรไปจีบสาวในวัดเพื่อให้บรรลุธรรมดี?

แต่ก็ดีไปอย่าง ก่อนหน้านี้มีคนเคยถามผมว่าศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า oxymoron หมายความว่าอย่างไร ตอนนี้ผมมีตัวอย่างจะยกให้ฟังแล้วครับ 

หมายเลขบันทึก: 66065เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2006 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
     งบประมาณขาดดุล หมายถึงรายได้ของประเทศน้อยกว่ารายจ่ายของประเทศครับ แสดงว่ารัฐจะต้องกู้เงินจากภายนอกเข้ามาใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ชะงักงันครับ
     เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดตามแนวพระราชดำริ ให้ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด ส่วนที่เหลือจากใช้จ่ายจึงนำไปขาย ซึ่งแนวคิดนี้หลายท่านที่ดำเนินรอยตามพระราชดำริ สามารถลืมตาอ้าปากได้ครับ พอมี พอกิน พออยู่ พอเก็บ ครับ
     ดังนั้นการตั้งงบประมาณ กับการยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นคนละหัวข้อที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ครับ ไม่ใช่เป็นหัวข้อเดียวกันที่ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งครับ 

ขอบคุณสำหรับคำอธิบายครับคุณไมโต แต่ผมยังติดในในแนวคิดที่ว่า "เป็นการตั้งงบประมาณขาดดุลเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง" นี่สิครับ

แสดงว่ารัฐบาลนี้เชื่อมโยงการตั้งงบประมาณขาดดุลเข้ากับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจนทีเดียว แต่ข่าวไม่ได้แจ้งว่าโยงในประเด็นไหน

ที่น่าสนใจก็คือ ก่อนหน้านี้กลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลที่แล้ว ให้คำจำกัดความของการตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ว่า เป็นความพยายามใช้เงินเกินตัวจนต้องกู้ยืมสร้างหนี้สาธารณะให้แก่คนไทย เป็นการกระทำที่เลวร้ายอย่างยิ่ง

กลุ่มต่อต้านยังบอกชัดเจนว่า ถ้ายึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ต้องตั้งงบประมาณเกินดุลหรือสมดุลเท่านั้น ประเทศจะได้มีเงินเหลือเก็บ ไม่ต้องมีหนี้สาธารณะ 

แต่รัฐบาลนี้ได้แสดงให้เห็นว่า การตั้งงบประมาณขาดดุลเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดธุรกรรมภายในประเทศ อันจะทำให้เศรษฐกิจของไทยอยู่บนพื้นฐานของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาธุรกรรมจากการนำเข้าส่งออกในสัดส่วนที่มากอย่างที่เคยเป็นไปมา

ถ้าผมจำไม่ผิด รัฐบาลนี้กับรัฐบาลที่แล้ว มีแผนในการวางงบประมาณปี 2550 ในแนวทางเดียวกัน

แสดงว่านักเศรษฐศาสตร์ของทั้งสองรัฐบาลคิดเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือความสามารถในการ "ทำความเข้าใจ" กับ "สื่อมวลชน" ใช่ไหมครับ

ถ้าใช่ก็แสดงว่า ความถูกความผิดในประเทศไทยนั้น "สื่อมวลชน" เป็นคนตัดสินนั่นเอง 

ผมมองว่ารัฐบาลชุดนี้อาจอยู่ภาวะจำยอมด้วยครับ

เพราะเรื่องที่เซ็นสัญญาหรือดำเนินการไปแล้วหากมาหยุดกลางคันหรือล้มเอาทีหลัง ค่าความเสียหายอาจมากเป็น 10-100 เท่าของการเริ่มใหม่ก็ได้ครับ

     การตั้งงบประมาณ เป็นเรื่องใหญ่ครับ ที่เกี่ยวข้องกับหลายๆเรื่อง เหมือนเรากำลังมองภาพใหญ่ๆ ต้องถอยหลังไปหลายก้าวแล้วมองให้เต็มภาพ ให้เห็นการเชื่อมโยงกันครับ ที่ผ่านมาในบ้านเรา มักไม่นิยมที่จะมองภาพทั้งภาพ แต่นิยมที่จะดึงมาเฉพาะจุด แล้วนำมาตีเป็นประเด็นนำเสนอ เพื่อให้เห็นว่าทำอย่างนั้นไม่ดี ทำอย่างนี้ไม่ดี ค้านทุกอย่างที่ขวางหน้า คนมีความรู้เต็มหัวบางคน ก็ทราบครับ มองภาพทั้งระบบก็เป็น แต่ก็เลือกที่จะนำเสนอแล้วบิดประเด็นเพื่อให้ฝ่ายรัฐตกเป็นเป้า ยิ่งกระแสมาแรงยิ่งต้องตีแรง แต่เมื่อตัวเองต้องทำ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องทำในสิ่งที่ไม่แตกต่างกัน
     อัตราการขยายตัวของประเทศคงอยู่ประมาณ 3-4 % ครับ แล้วแต่สำนักไหนจะทำนาย จากเดิมที่เราเคยสูงกว่านี้ หากไม่ต้องการให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็คงต้องทุ่มเงินเข้าไปในระบบให้มากขึ้น หากหวังการลงทุนจากต่างชาติไม่ได้ ก็คงหนีไม่พ้นที่รัฐต้องทุ่มเงินเข้าไปในระบบโดยการสร้างโครงการใหญ่ เพื่อเติมลงเข้าไปขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจครับ ใครมาเป็นรัฐบาลก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องทำในสิ่งที่ไม่แตกต่างนี้ เพียงแต่วิธีการ และโครงการต่างๆ จะใช้วิธีการและโครงการอะไรมานำเสนอ แต่ดูจากแนวทางแล้ว คงเป็นการยกเลิกโครงการเดิมแล้วหาโครงการใหม่มาทำ โดยไม่สนใจว่าโครงการเดิมจะดีหรือไม่ หากได้ชื่อว่าเป็นโครงการของรัฐบาลเก่า คงอยากจะยกเลิกให้หมดกระมัง
     การให้ความเห็นว่าถ้ายึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ต้องตั้งงบประมาณเกินดุลหรือสมดุลเท่านั้น ประเทศจะได้มีเงินเหลือเก็บ ไม่ต้องมีหนี้สาธารณะ ในความเห็นของผม ผมคิดว่าเป็นเรื่องของคนไม่รู้เรื่องแล้วเอามาพูด ประเทศไทยเป็นระบบเศรษฐกิจระบบหนึ่ง มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย มีรายได้ มีหนี้สิน เหมือนคนทำธุรกิจที่ใหญ่พอสมควร คนทำธุรกิจก็ต้องกู้เงิน เอามาหมุน เพื่อให้เกิดรายได้ ที่คุ้มต่อการจ่ายคืนดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้มีกำไร และธุรกิจยืนอยู่ได้ อยู่ๆ ก็บอกว่า เราไม่ต้องกู้เงินแล้ว ทำเท่าที่มีกำลังเรามี ผมว่าเราจะตายเอาเพราะขาดเงินหมุนนะซิครับ ใครไม่ทำธุรกิจอาจเข้าใจได้ยากครับ
     ผมเห็นด้วยกับแนวทางที่รัฐทำอยู่โดยการตั้งงบประมาณขาดดุลครับ แสดงว่ารัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจครับ และเห็นด้วยในเรื่องที่เราควรเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะในระดับรากหญ้า เพื่อให้สามารถยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ เน้นความเข้มแข็งของชุมชน ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ ช่วยเหลือกัน สนับสนุนกัน รวมกลุ่มกัน สร้างเป็นเครือข่ายที่เกื้อกูลกัน เชื่อมโยง และโยงใยกันทั่วประเทศ  สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เงินครับ เรากำลังสอนให้ชาวบ้านหาปลาเป็นครับเพื่อให้เขารู้จักหาปลากินเอง ไม่ใช่ซื้อเรือให้ หาแห หาอวนมาให้ โดยไม่บอกว่าต้องทำอย่างไรถึงจะหาปลาเป็น นั่นก็เป็นวิธีการใช้เงินของรัฐอย่างหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยครับ ผมสนับสนุนการสร้างความรู้ให้คนใช้ความรู้ในการช่วยเหลือตัวเองให้ได้ครับ
     ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปสุดท้ายของอาจารย์ครับ ว่าความถูกผิดในประเทศไทยนั้น สื่อมวลชนเป็นคนตัดสินครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไร้สาระสิ้นดี แต่ก็พูดอะไรไม่ออก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ว่าสื่อสารมวลชนสามารถชี้นำสังคมได้ และมีคนไม่น้อย ที่หลับหูหลับตาเชื่อสื่อ เชื่อแบบคนที่เชื่ออะไรงมงาย เชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง เชื่อโดยขาดสติ เชื่อด้วยความสะใจ ผมพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยทุกอย่างกับทุกสิ่งที่รัฐบาลเก่าทำ แต่ความรู้ที่อาจารย์หลายท่านได้ประสิทธิ์ประสาทให้เมื่อครั้งยังเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น ช่วยสร้างสติให้ผม ได้มีโอกาสคิด และไตร่ตรอง ในสิ่งที่ได้ยินครับก่อนที่จะเชื่อครับ

ขอบคุณสำหรับคำอธิบายครับคุณไมโต ทุกท่านที่มาอ่านบันทึกนี้เมื่อได้อ่านคำอธิบายของคุณไมโตแล้วก็จะเข้าใจในเหตุและผลของการตั้งงบประมาณขาดดุลได้ดียิ่ง เพราะคุณไมโตอธิบายไว้ชัดเจนและเข้าใจง่ายมาก

ส่วนผมเองก็ต้องขอชี้แจงที่นี่ด้วยว่าผมไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลเก่าหรือรัฐบาลไหน ผมเลือกสนับสนุนเป็นรายนโยบาย พร้อมทั้งติดตามการดำเนินการของนโยบายนั้นๆ ให้เป็นไปตามการตั้งวัตถุประสงค์ไว้แต่ต้น

อาทิเช่น ผมสนับสนุนอย่างยิ่งกับการตั้งเป้าโดยรวมเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ "เศรษฐกิจพอเพียง" ของรัฐบาลนี้ และผมสนับสนุนอย่างมากกับนโยบาย high-speed Internet และ OLPC ของรัฐบาลที่แล้ว

ผมสนับสนุนการทำอย่างไรก็ได้เพื่อรีบเปิดสนามบินสุวรรณภูมิให้เร็วที่สุด เพราะดอนเมืองเล็กและแออัดเหลือเกินแล้ว ประเทศไทยเสียหายทุกวันกับการที่สุวรรณภูมิไม่ได้เปิดใช้ แต่ผมไม่พอใจที่บางบริษัทได้สิทธิ์ในการหาผลประโยชน์ในสนามบินใหม่จนเกินไป

ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมต่อต้านเป็นอย่างยิ่งไม่เกี่ยวกับรัฐบาลครับ ผมต่อต้านภาวะที่ "สื่อมวลชน" สามารถชี้นำประชาชนได้โดยไม่ต้องอาศัยหลักเหตุและผลเข้ามาประกอบมากนักอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

ภาวะนี้เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เป็นการสะท้อนว่าสังคมไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ที่จะค้นหาเหตุและผลที่แท้จริงของสิ่งที่มีคนบอกให้เชื่อ

ผมเชื่อว่า "สื่อมวลชน" ต่างหากคือสิ่งที่จะต้อง "ปฎิวัติ" ในประเทศไทย

จะสังเกตได้ว่าในบล็อกของผม ป้ายคำว่า "สื่อมวลชน" จะใหญ่เป็นพิเศษครับ

    การเกิดขึ้นและคงอยู่ของสื่อมวลชนไทย ตั้งอยู่บนฐานที่ได้เปรียบครับ เพราะการพิมพ์ตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัวสามารถสื่อไปได้สู่หลายสิบล้านสายตาได้ ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้คนที่พร้อมจะเชื่อทุกอย่างที่พบเห็น หรือได้พูดคุยด้วย หากรัฐเข้ามาดูแลใกล้ชิด ก็จะเป็นประเด็นรัฐแทรกแซงสื่อ ปิดหูปิดตาประชาชน แต่หากสื่อโจมตีรัฐ ก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องยอมกัน มันเหมือนกับการชกมวย ที่ฝ่ายหนึ่งถูกมัดมือไขว้หลังแล้วเอาผ้าพันตาไว้ ปล่อยให้อีกฝ่ายถลุงได้จนหนำใจ หากแกะผ้าพันตาออก ก็หาว่าตัวโตจะเอาเปรียบ หากแกะเชือกออก ก็หาว่าตัวโตจะทำร้าย ในสภาพอย่างนี้สู้ยังไงก็แพ้ครับ
     ในสังคมของสื่อสารมวลชน ที่เรียกร้องความยุติธรรมและเสรีภาพ ผมไม่รู้ว่าเสรีภาพและความยุติธรรมที่ต้องการนั้นซุกด้วยผลประโยชน์ของใครบางคนด้วยหรือเปล่า ผมไม่ได้พูดว่าสื่อบ้านเราเป็นเครื่องมือของใครบางคน ที่เมื่อคุยกับรัฐไม่รู้เรื่องก็ต้องฟาดฟันให้ตายกันไปข้างหนึ่ง ผมเห็นด้วยว่าสื่อสารมวลชนในบ้านเรา ควรได้รับการปฏิวัติ ผมไม่เชื่อว่าบุคคลในแวดวงสื่อสารมวลชนปัจจุบันสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ทำให้สื่อเป็นอิสระที่แท้จริงปราศจากผลประโยชน์ครอบงำ เหมือนที่หลายคนตั้งใจ เพราะมันผ่านจุดเหล่านั้นมาไกลมากแล้ว แต่ผมเชื่อว่าบุคคลภายนอกวงการสื่อควรเข้าไปดูแล และจัดระเบียบสื่อ เพื่อให้สื่อสารมวลชนในบ้านเราปราศจากผลโยชน์ครอบงำและตกเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม
     ผมเชื่อว่าสื่อเป็นการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง และเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีเกียรติ มีหน้า มีตาในสังคม จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะแยกในเรื่องของธุรกิจ ออกจากกระบวนการด้านการผลิต เพื่อให้สื่อสารมวลชนเหล่านี้ มีอิสระในการทำงาน และเป็นการทำงานเพื่อรายงานความเป็นจริงในทุกด้านที่ประชาชนสมควรต้องรู้ มิใช่การเลือกรายงานบางประเด็นที่อยากให้ประชาชนรู้ เพียงเพื่อการสร้างกระแสบางประการ ตราบใดก็ตามที่เราไม่สามารถแยกเรื่องของธุรกิจออกจากกระบวนการผลิตได้ ผมก็ยังเชื่อว่าตราบนั้นสื่อสารมวลชนในบ้านเรา ไม่มีวันเป็นอิสระได้ ไม่ว่าคุณจะเรียกร้องอย่างไรก็ตาม

ผมเชื่อใน Grassroots Journalism ครับ ไม่ช้าก็เร็วมันต้องเข้ามาแทนที่ mainstream media ในประเทศไทย

สิ่งที่อยากจะทำคือทำให้ Citizen Journalism (เรียกอีกชื่อหนึ่ง) มาให้ถึงให้เร็วที่สุดครับ

     แต่อาจารย์ครับสิ่งที่อาจารย์คาดหวังไว้นั้น จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีนะครับ ซึ่งในบ้านเรามีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีพอสมควร และในจำนวนผู้ที่มีความสามารถในการเข้าถึง กลับกลายเป็นผู้หลงไหลในการเข้าถึงเพื่อความบันเทิงเป็นหลักมิใช่การแสวงหาความรู้เป็นหลัก โดยวิธีการนี้ เราก็ได้แต่หวังว่าสักวันคนที่เข้าถึงจะเป็นคนที่มีคุณภาพและช่วยผลักดันไปสู่สังคมของการเผยแผ่ความรู้ และหลุดพ้นจากการปิดหูปิดตาด้วยวิธีการทั้งปวง
     อย่างไรก็ตาม สื่อที่เข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็คงยังหนีไม่พ้นสื่อสารมวลชนประเภทเดิมๆที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอยู่ ผมจึงได้แต่ฝันครับในเรื่องที่อยากเห็นสื่อหลุดพ้นจากอำนาจทางธุรกิจ และเป็นสื่อที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อประชาชนโดยปราศจากเจตนาแอบแฝง ฤๅ....เป็นแค่เพียงฝันครับ
ตอนนี้เรากับ สคส. กำลังจะพยายามทำ RootTube.org กันอยู่ครับ คงต้องรอดูว่าจะสร้าง impact ได้แค่ไหนครับ
อาจารย์ครับ เปลี่ยนรูปใหม่อีกทีได้ไหมครับ ผมดูรูปนี้แล้วตกใจ นึกว่าใครมาแขวนตัวเอง ห้อยโตงเตง ๆ ครับ
ขอบคุณคุณไมโตที่แจ้งครับ ผมก็ลืมสังเกต พอมองอีกทีก็เหมือนจริงๆ นั่นล่ะ ผมเปลี่ยนกลับเป็นรูปเดิมแล้วครับ

แอบเข้ามาอ่านด้วยความถึงอกถึงใจ เข้มข้น

นิสิตม.สงขลานครินคร์

เข้ามาอ่านแล้วเป็นประโยชน์มากค่ะหนูกำลังสนใจเรื่องนี้อยู่เลย แต่หนูไม่แน่ใจว่าหนูกำลังวิเคราะร์ถูกไหม  ความคิดเห็นทุกท่านดีค่ะแต่หนูอยากรู้ว่าการตั้งงบประมาณขาดดุลมันจะส่งผลดีและผลเสียต่อประเทศอย่างไรบ้างค่ะ

                         กรุณาช่วยแสดงความคิดเห็นทีนะคะ

งบขาดดุล ปี 54 คุณเห็นด้วยหรือ ไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท