ร่วมด้วยช่วยพัฒนาชุมชนต้นแบบ (๓) : เทศบาลตำบลท่าขอนยาง: (๓) การบริหารจัดการขยะ_๐๕: ผลการสำรวจปริมาณการก่อขยะ


วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๒ (ว่าที่) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะของเทศบาลตำบลท่าขอนยาง มาประชุมกันตามแผนที่ได้นัดหมายไว้ (ตามบันทึกที่แล้ว)

ท่านนายกเทศมนตรีฯ ลงมาเป็นประธานที่ประชุมขับเคลื่อนด้วยตนเองอีกเช่นเดิมครับ ผอ.สุดา ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข และดร.ศศิธร รองปลัดเทศบาล เป็นฝ่ายเลขาฯ  มีทีมอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดร.ธนายุทธ อ.เมทินี และ อ.ประสิทธิ์   วาระที่สำคัญคือ  การชี้แจงผลการสำรวจเบื้องต้น และการร่วมกันออกแบบและวางแผนกิจกรรมกระบวนการต่อไป

ผลการสำรวจปริมาณการก่อขยะ

บริเวณพื้นที่ที่สำรวจคือ  Zone 3  รอบบริเวณถนนเส้นหน้าป้ายมหาวิทยาลัยฝั่ง บ.ดอนยม  (ดูภาพ) ผู้เก็บข้อมูลเป็นนิสิต กลุ่มการเรียนที่ ๑, ๓, และ ๔ ของรายวิชาภาวะผู้นำ ประจำปีการศึกษา ๒-๒๕๖๑  ด้วยแบบสอบถามที่จัดทำโดยทีมนักวิจัยจากคณะสถาปัตย์ฯ  โดยการสัมภาษร์แบบเคาะประตูบ้าน ... ตามที่ได้เล่าไว้ในบันทึกที่ผ่านมา

ผลการสำรวจนี้วิเคราะห์ข้อมูลโดยทีมนักวิจัยฯ รายละเอียดน่าจะถูกตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไป บันทึกนี้ขอเอามาเล่าบอกไว้เฉพาะส่วนเด่น ๆ ของข้อมูลที่เราพบ เพื่อให้เกิดการรับรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • มีผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 405 แบบสอบถาม  หมายถึง มีเจ้าของที่อยู่อาศัย กิจการ ร้านค้า  หอพัก ฯลฯ จำนวน 405  หน่วยในการก่อขยะ ....  (หอพัก ๑ แห่ง สำรวจด้วยแบบสอบถาม ๑ ฉบับ)
  • ในจำนวน 405 หน่วยนี้  แบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้ 
    • บ้านพักอาศัย 88 หลัง (ไม่รวมบ้านจัดสรร)
    • อาคารพาณิชย์ 84 หลัง
    • บ้านเช่า 72  หลัง
    • บ้านจัดสรร 61 หลัง
    • โรงแรม 4 แห่ง รวมทั้งหมด 384 ห้อง
    • หอพัก 75 แห่ง รวมทั้งหมด 3,106 ห้อง 
    • อื่น ๆ 21 หลัง
  • ในจำนวน 405 หน่วยนี้ แยกตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ได้ดังนี้ 
    • ที่อยู่อาศัย 301 หน่วย  (หอพักรวมอยู่ในกลุ่มนี้)
    • ร้านสะดวกซื้อ 18 ร้าน
    • ร้านอาหาร 47 ร้าน
    • สถานบันเทิง 2 แห่ง
    • ร้านซ่อม 11 แห่ง
    • อื่น ๆ 26 หน่วย 
  • มีจำนวนผู้อยู่อาศัยโดยประมาณ 6,049 คน ในจำนวนนี้  เป็นประชากรหลัก (มีทะเบียนราษฎร์) เพียง 616  แสดงว่า เกือบ 5,400 คน เป็นประชากรแฝง ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นนิสิต 
  • ในจำนวน 405 หน่วย ไม่มีการคัดแยกขยะเลย จำนวน 226 หน่วย  ส่วนที่เหลือมีการคัดแยก แตกต่างกัน  (ยังไม่ได้แสดงรายละเอียดตามประเภทใช้ประโยชน์ และจัดกลุ่มตามระดับการคัดแยก)
  • กลุ่มที่ไม่มีการคัดแยกขยะ 226 หน่วยนั้น ทิ้งขยะวันละ 827 ถุงดำ (น่าจะขนาดมาตรฐาน 20x32 ตารางนิ้ว)
  • ในกลุ่มที่มีการคัดแยกขยะ พบปริมาณการก่อขยะ ดังนี้ 
    • แยกขยะเปียก 112 หน่วย  มีขยะ 790 กิโลกรัมต่อวัน
    • แยกขยะรีไซเคิล 133 หน่วย ก่อขยะรีไซเคิล 545 กิโลกรัมต่อวัน
    • แยกขยะทั่วไป 108 หน่วย ก่อขยะ 530 กิโลกรัมต่อวัน
    • แยกขยะอันตราย 42 หน่วย  ก่อขยะ 100 กิโลกรัมต่อวัน
    • แยกขยะติดเชื้อ 20 หน่วย  .... ไม่ระบุ...
โดยสรุป ปริมาณการก่อขยะใน Zone 3 ต่อวัน ประมาณทั้งหมด 827 ถุงดำ และ 1,964 กิโลกรัม ถ้าคิดคร่าว ๆ  ขยะหนักถุงละ ๑๐ กิโลกรัม จะรวมขยะต่อวันในโซนนี้ประมาณ ๑๐ ตัน 

การเก็บขนขยะ
  • ในจำนวน 405 หน่วยนี้   
    • รวบรวมขยะไว้ ให้รถเข้ามาเก็บขน 161 หน่วย (ต้องการทราบต่อไปว่า มีที่ใดบ้าง)
    • ขนไปทิ้งตามจุดที่ทิ้งขยะ 228 หน่วย 
    • อื่น ๆ 16 หน่วย 
  • 172 หน่วย คิดเป็น 42% ต้องการให้มาเก็บขนทุกวันตามจุดที่ตนเองเอาไปวางไว้ 
  • เกือบทั้งหมด (90%) ต้องการให้เทศบาลมาเก็บช่วงเช้า 
    • 228 หน่วย หรือ 56% ต้องการให้มาเก็บช่วง 05.00 น. - 07.00 น. 
  • แต่เมื่อถามว่ ยินดีจะเสียค่าธรรมเนียมในการเก็บขนขยะหรือไม่ 
    • 327 หน่วย หรือ 81%  ตอบว่า ไม่ยินดี 
    • 78 หน่วย ที่เหลือ บอกว่า ยินดีแต่ต้องพิจารณาจัดเก็บอย่างเหมาะสม และเมื่อถามถึงค่าเฉลี่ยที่เหมาะสม ได้คำตอบที่แตกต่างกันมาก (SD 140) โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 77 บาทต่อเดือน 
แนวทางการดำเนินการต่อไป 

จากการหารือกันในที่ประชุม สรุปคร่าว ๆ ได้ดังนี้ 
  • จะนำข้อมูลที่มีไปวิเคราะห์แยกประเภทตามลักษณะการใช้ประโยชน์ให้ละเอียดขึ้น โดยเน้นไปที่ หอพัก ร้านอาหาร และสถานที่ที่ ก่อขยะมากที่สุด 




  • น้ำข้อมูลไป Mapping ตามความหนาแน่นของปริมาณการก่อขยะ และจุดที่พบการทิ้งขยะ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบต่อไป 
  • ออกแบบ ตำแหน่ง เส้นทางการเก็บขน และถังขยะ ณ จุดพักขยะ (อาจเป็นจุดพักขยะเคลื่อนที่) ซึ่งส่วนนี้  ได้มอบหมายให้นิสิตคณะสถาปัตย์ ได้ทดลองออกแบบเบื้องต้นแล้ว 
  • นำเสนอผลงานการออกแบบ คืนข้อมูลสู่ชุมชน เพื่อรับฟังความคิดเห็น  และนำไปปรับตามที่เหมาะสม  
  • นำเสนอต่อที่ประชุมสภาเทศบาลฯ เพื่อดำเนินการต่อไป 
  • ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ต่อประชาชนและเริ่มกระบวนการ  
  • ประเมินผล
เราตกลงว่า วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๒ นี้ จะมีการจัดเวทีนำเสนอผลงาน เพื่อนำข้อมูลคืนสู่ชุมชน ณ บริเวณ ตลาดทางโค้ง เทศบาลตำบลท่าขอนยาง  ....  ผมไปร่วมงานมาแล้วครับ จะมาเขียนเล่าให้ฟังในบันทึกต่อไป 

หมายเลขบันทึก: 660442เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2019 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2019 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท