ร่วมด้วยช่วยพัฒนาชุมชนต้นแบบ (๒) : เทศบาลตำบลท่าขอนยาง: (๒) การบริหารจัดการขยะ_๐๓: สำรวจข้อมูลปริมาณการก่อขยะ


วันที่ ๑ - ๖ มีนาคม ๒๕๖๒ คือช่วงเวลาที่นิสิตกว่า ๓๐๐ คน ผู้ลงทะเบียนเรียนรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ลงพื้นที่สำรวจปัญหาขยะในชุมชนเทศบาลตำบลท่าขอนยาง เพื่อเก็บข้อมูลปริมาณการก่อขยะ ตามแบบสอบถามที่ได้ร่วมกันพิจารณาในที่ประชุมวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา…  ขอสรุปเป้าหมาย สื่อสารวิธีการและขอบเขตในการสำรวจ และอธิบายวิธีการประเมินผลการร่วมมือของนิสิต ให้นิสิตทุกคนได้ทราบชัด ๆ และเป็นประโยชน์ต่อไปในการเรียนรู้แก้ปัญหาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและเทศบาลฯ


เป้าหมายของการสำรวจปัญหา

เป้าหมายในการลงพื้นที่สำรวจ
  • ได้ข้อมูลพื้นฐานอันเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการก่อปริมาณขยะในพื้นที่ที่กำหนด เช่น 
    • จำนวนผู้อยู่อาศัย ทั้งประชากรหลักและประชากรแฝง
  • ได้ข้อมูลสภาพปัญหาและการบริหารจัดการขยะของแต่ละครัวเรือน
    • จำนวนของร้านค้า ร้านอาหาร หอพัก ร้านซ่อม ร้านประกอบการต่าง ๆ  ที่อาจเป็นแหล่งก่อขยะในพื้นที่ที่กำหนด 
    • สภาพปัญหาในการบริการจัดการขยะของคนในพื้นที่ที่กำหนด
  • ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะต่อเทศบาลตำบลท่าขอนยาง 
ขอบเขตของการสำรวจ (พื้นที่แรก)

ตามที่ได้วางพื้นที่ไว้ แบ่งเป็น ๓ โซน เป้าหมายครั้งนี้เป็นพื้นที่โซนที่ ๓  ดังรูป 





แบ่งเป็นพื้นที่ทั้งหมด ๒๙ พื้นที่ย่อย สำหรับนิสิตประมาณ ๓๐ กลุ่ม (บางพื้นที่ ๒ กลุ่มย่อยแบ่งกันครึ่ง ๆ) นิสิตแต่ละกลุ่มมีสมาชิกประมาณ ๘ คน  เฉลี่ยภาระงานการสำรวจคนละประมาณไม่เกิน ๑๐ หลังคาเรือน  โดยกำหนดช่วงเวลาในการลงสำรวจ ๖ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม - ๖ มีนาคม ๒๕๖๒ นี้ 

แต่ละกลุ่มย่อยจะได้รับแผนที่ภาพรวมแบบนี้ ๑ ฉบับ และแผนที่ย่อยเฉพาะพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง ๑ ฉบับ ตัวอย่างเช่นภาพด้านล่าง 



วิธีการสำรวจ

วิธีการสำรวจ เป็นการสำรวจด้วยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (constructed interview) โดยบันทึกข้อมูลลงในแบบสอบถามที่เตรียมให้ (ดูตัวอย่างแบบสอบถามที่นี่)  ดังนี้ 
  • ให้ระบุหมายเลขสิ่งปลูกสร้างลงในแผนที่  หากแผนที่เล็กเกินไป ให้วาดใส่กระดาษใหม่ ขยายขนาดใหญ่ขึ้น แล้วเขียนตัวเลขกำกับให้ชัดเจน 
    • ที่อยู่อาศัย ๑ หมายเลข ต่อ ๑ หลัง 
    • หอพัก ๑ หมายเลข ต่อ ๑ ชื่อหอพัก (ให้เขียนชื่อหอพักในแบบสอบถามด้วย) แม้จะมีหลายอาคารก็ให้เขียนเพียงหมายเลขเดียว 
    • อาคารพาณิชย์  ๑ หมายเลข ต่อ ๑ เจ้าของ หรือผู้ประกอบการ 
    • ร้านอาหาร หรือร้านค้า  ๑ หมายเลข ต่อ ๑ ชื่อ (หากมีชือร้าน ให้เติมชื่อร้านด้วย)
  • ให้เติม "รหัสแบบสอบถาม" เป็น ชื่อ พื้นที่ต่อด้วยหมายเลขบ้านที่กำหนดขึ้น โดยใช้เลขสองหลัก เช่น   
    • ถ้าเป็นพื้นที่  A5 หลังที่ 3   รหัสแบบสอบถามจะเป็น A0503
    • ถ้าเป็นพื้นที่ A10 หลังที่ 14 รหัสแบบสอบถามจะเป็น A1014
    • กรณีที่พื้นที่เดียวแบ่งเป็นสองส่วน เช่น A5.1 และ A5.2 ให้เติมจุดด้วยเลย เช่น A05.103  A05.203 ฯลฯ
    • เป็นต้น
  • การลงพื้นที่สำรวจ
    • ใส่ชุดสุภาพหรือชุดนิสิต สวมร้องเท้าผ้าใบ 
    • ให้ลงพื้นที่สำรวจช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ห้ามไปในเวลามืดค่ำ 
    • แสดงอาการที่นอบน้อม ใช้ภาษาสุภาพ ใช้ได้ทั้งภาษากลางหรือภาษาถิ่น  
    • เริ่มด้วยการแนะนำตัวเองว่า  ...เป็นนิสิตสาขาวิชา คณะอะไร กำลังเรียนวิชาอะไร  ซึ่งได้มอบหมายให้มาสำรวจปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน  เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบตำแหน่งการทำที่พักขยะชั่วคราว และกำหนดเส้นทางการเก็บขนขยะ...
    • ถามว่า หากจะรบกวนขอสัมภาษณ์เพื่อ จะพอได้ไหมครับ(คะ) หากยังไม่สะดวก ให้ถามว่า ผม(หนู) ควรจะมาช่วงเวลาใดดีครับ(คะ)  ข้อมูลที่ได้จะไม่ส่งผลต่อท่าน เป็นข้อมูลที่นำไปประกอบการออกแบบ 
    • หลังสัมภาษณ์อย่างลืมขอบคุณนะครับ 
    • อย่าลืมขอถ่ายภาพบ้าน  และสถานที่บริหารจัดการขยะ (ถ้ามี) เพื่อนำไปเป็นตัวอย่าง (หากเขายินดี)
  • นิสิตสามารถกรอกข้อมูลลงในแบบสอบถามก่อน แล้วค่อยมากรอกลงใน Google Form ที่ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSfh_v2DeZ0VBGgjOS4_S2-oTRA5VryGCcRUvah6ylKuK3zRow/viewform
  • หรือจะสัมภาษณ์และกรอกลงใน Google Form โดยตรงได้เลย  
ข้อมูลและชิ้นงาน

  • ข้อมูลใน Google Form ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ  พร้อมกับแบบสอบถาม (กรณีกรอกลงแบบสอบถามก่อน)
  • แผนที่แสดงหมายเลขสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอาจวาดขึ้นใหม่ (ในกรณีที่แผนที่เล็กเกินไป) พร้อมรายละเอียด (หมายเหตุ) เพิ่มเติม กรณีที่ไม่มีการใช้ประโยชน์หรือไม่มีผู้อยู่อาศัย 
  • ภาพถ่ายแต่ละหลัง (อัพโหลดลงใน google form เลย ตามข้อที่กำหนด) โดยต้องตั้งชื่อตามวิธีที่กำหนด
  • ภาพถ่ายการลงพื้นที่ และรายชื่อผู้ลงพื้นที่ 

คำถามที่พบบ่อย
  • ถ้าไม่มีคนอยู่บ้าน ให้ข้ามเลยไหม?  ....   จำเป็นต้องได้ข้อมูลทุกบ้านที่มีผู้อยู่อาศัยครับ เพราะ คนคือผู้ก่อขยะ  จำนวนคนที่อาศัยในสิ่งก่อสร้างคือข้อมูลสำคัญ 
  • ถ้ากำลังก่อสร้าง ไม่มีผู้อยู่อาศัย ให้กรอกข้อมูลอย่างไร..... ไม่ต้องกรองในแบบสอบถาม  ให้เขียนสรุปรายละเอียดของหลังนั้นไว้ว่า หลังหมายเลขใด  มีลักษณะอย่างไร และระบุว่าสภาพไว้พอสังเขป เช่น  กำลังก่อสร้าง ปิดป้ายประกาศขาย เป็นต้น 
ขอขอบคุณและอนุโมทนากับนิสิตทุกคนครับ เรากำลังเดินทางสู่ชุมชนต้นแบบการจัดการขยะรอบ ๆ มหาวิทยาลัย ... ไปด้วยกันครับ 






หมายเลขบันทึก: 660254เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2019 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2019 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท