League of ordinary students : สะท้อนคิดโดย ศ. นพ. สุรศักดิ์ บูรณะตรีเวทย์



ศ. นพ. สุรศักดิ์ บูรณะตรีเวทย์ ส่งข้อเขียนต่อไปนี้มาให้ผมอ่าน และผมขออนุญาตเอามาเผยแพร่ต่อ   

“ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะเขียนถึงกลุ่มนักศึกษา ปี 3 ที่ผมเป็นอาจารย์ประจำกลุ่มในรายวิชาการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม 2 เมื่อสิ้่นสุดการเรียนปลายสัปดาห์หน้า แต่ผมทนแรงกระตุ้นภายในใจของผมไม่ได้ จึงต้องมานั่งเขียนในวันที่เพิ่งเดินทางกลับจากชุมชน

รายวิชานี้ได้ให้นักศึกษาได้เข้าชุมชนเดิมที่นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้สุขภาพทั้ง 4 มิติ และเรียนรู้การเข้าถึงชุมชนตอนต้นปี 2   ชุมชนที่นักศึกษาไปออกอยู่ในอำเภอพนมสารคาม ฉะเชิงเทรา   ในปีนี้วัตถุประสงค์ต้องการให้นักศึกษาดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพโดยอาศัยการมีส่วนร่วมกับชุมชนในช่วงเวลา 11 วันที่พักอยู่ในวัดในชุมชน

นักศึกษากลุ่มนี้เหมือนนักศึกษาแพทย์โดยทั่วไปที่เป็นเด็กดี ต้องการทำให้พ่อแม่ ครูอาจารย์ภาคภูมิใจ และทำสิ่งดีๆ ให้กับคนรอบข้าง   แต่ที่เพิ่มเติมมาสำหรับกลุ่มนี้ คือ ความละเอียดละออ อดทน ตั้งใจจริง   บางครั้งมากไปจนกระทั่งผมยังเครียดแทน (นักศึกษากลุ่มผมที่อ่านแล้ว อย่าไปตัดพ้อตนเองว่าเป็นคนทำให้ผมต้องเครียดนะครับ)

ตามโจทย์ที่ให้   ได้มีการคุยกันในกลุ่มอาจารย์ว่า  ไม่ได้เน้นการมีส่วนร่วมแบบเต็มที่ ขอให้เพียงชุมชนมีส่วนร่วมบ้างก็พอแล้ว   แต่กลุ่มนี้ตั้งเป้ากันตั้งแต่ก่อนเข้าชุมชนว่าจะพยายามทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ค้นหาปัญหา จัดลำดับความสำคัญ กำหนดปัญหาที่จะทำโครงการ และทำโครงการ และนักศึกษาหลายคนตั้งใจว่าจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนอย่างแท้จริง

ช่วงแรกของการออกชุมชนโดยเฉพาะขั้นตอนค้นหาปัญหา จัดลำดับความสำคัญ และกำหนดปัญหา ในกลุ่มมีการพูดคุยกันอย่างเคร่งเครียดมาก เนื่องจาก ห่วงกังวลว่าจะทำโครงการไม่ทันในเวลาที่กำหนด   ผมได้แต่บอกไปว่าไม่ต้องกังวลอย่างไรก็ทำทัน  และนักศึกษาพูดคุยกันและวางแนวทางการทำงานร่วมกับชุมชนทุกขั้นตอน  จนบางครั้งผมต้องกดกั้นตัวเองไม่ให้บอกนักศึกษาว่าต้องทำอย่างไร เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มและเรียนรู้จากชุมชน  ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้ก็ทำได้ดี สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้โดยผมไม่ต้องยื่นมือเข้าไป

ในขั้นค้นหาปัญหา จัดลำดับความสำคัญ และกำหนดปัญหา นักศึกษาได้พูดคุยปรึกษากับพี่ต้อม ผอ. รพสต. บ้านต้นนา ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และสมาชิก อบต. ในหมู่บ้าน และเกิดการจัดประชาคม   จนได้มาเป็นโครงการออกกำลังและกินเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน โดยจัดกิจกรรมเดินวิ่งระยะทาง 1.1 กม. ในหมู่บ้านที่ชาวบ้านกำหนดเส้นทางเดินให้ และกิจกรรมเลือกอาหารเพื่อห่างไกลเบาหวาน จากนั้นก็ร่วมกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ทำโดยป้าบังอร ซึ่งปลูกผักอินทรีย์เองที่บ้าน

กิจกรรมเดินวิ่ง นักศึกษาวางแผนกันอยู่นานกว่าจะลงเอยที่จะให้เดินวิ่งประมาณ 10 นาที ด้วยความแรงปานกลาง เนื่องจาก กลุ่มผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ยังไม่เคยออกกำลังกาย จึงแนะนำให้เริ่มครั้งละ 10 นาที วันละ 3 ครั้ง แต่ในกิจกรรมนี้เป็นเพียงการฝึกให้ชาวบ้านได้รู้ถึงความแรงปานกลางในการออกกำลังกายว่าเป็นอย่างไร นักศึกษาคิดหาวิธีการวัดความแรงปานกลางอยู่หลายวิธี   จะใช้วิธี talk test หรือร้องเพลงไม่ได้ตลอดเพลงเป็นรายคนก็ไม่สามารถทำได้   จึงตัดสินใจใช้วิธีการแบ่่งกลุ่มชาวบ้านและให้มีนักศึกษาเดินวิ่งประจำกลุ่มไปกับชาวบ้าน โดยให้นักศึกษาวิ่งด้วยความแรงปานกลาง และหากชาวบ้านเดินวิ่งตามนักศึกษาได้ทันก็แปลว่าชาวบ้านได้ออกกำลังแรงปานกลางแล้ว

กิจกรรมเลือกอาหารมีการจัดฐาน 5 ฐานให้ชาวบ้านเลือกอาหารที่กินแล้วทำให้ไม่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน โดยมีการแจกคูปองให้ชาวบ้านวางตรงอาหารที่ตนเลือก แล้วนักศึกษาไปนับคูปองดูว่าชาวบ้านเลือกได้ถูกหรือผิด

อาหารเพื่อสุขภาพที่กินร่วมกันหลังกิจกรรมที่ให้ป้าบังอรทำให้  มีข้าวขาวผสมข้าวกล้อง ผักต้ม น้ำพริก (เค็มน้อย) ปลาทูนึ่ง และแกงจืดเต้าหู้ อร่อยมาก

เมื่อกินอาหารกันเสร็จ อ.. ยินดี ซึ่งเป็นประธานชมรมออกกำลังเพื่อป้องกันเบาหวานที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่มาร่วมงานว่าจะจัดกิจกรรมเดินวิ่งดังกล่าวต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และได้ข้อตกลงว่าจะเดินวิ่งกันทุกเย็นวันเสาร์ ทำให้วันรุ่งขึ้นเกิดมีการเดินวิ่งกันอีกครั้ง น่าประทับใจมาก และที่ไม่คาดคิดมาก่อน คือ เมื่อวานตอนไปจัดการเรื่องเอกสารการเงินกับชาวบ้าน พบว่ามีอาจารย์จาก สสส. มาพูดคุยกับลุงมงคล (ปลูกหม่อน และร่วมโครงการกับ สสส. มา 4-5 ปีแล้ว) ป้าบังอร และ อ.ยินดี เพื่อจะร่วมมือทำโครงการเดินวิ่งต่อเนื่องต่อไป

ว่าจะพูดถึงนักศึกษาในกลุ่มเล่าไปเล่ามาดันไปเล่าเรื่องกิจกรรมซะยืดยาว นักศึกษากลุ่มนี้เป็นนักศึกษาที่มีความตั้งใจ มุมานะพยายาม ช่วงแรกการคุยกันในกลุ่มมีการพูดกันโดยไม่ค่อยฟังกัน เมื่อปรับตัวได้ ต่างคนต่างตั้งใจฟังคนอื่นมากขึ้น แต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกันไปก็ช่วยเหลืองานให้ผ่านไปด้วยดี แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น คือ ต่างคนต่างช่วยกันประคับประคองกันและกันช่วยเหลือเพื่อนในกลุ่ม ต้องผ่านการเรียนรู้ในการทำโครงการร่วมกับชุมชน และยังต้องเรียนรู้ชีวิตจริงในการดูแลความรู้สึกของตนเองและของเพื่อน คนนอกกลุ่มอาจมองว่ากลุ่มนี้เครียดกันเกินไป ไม่ใส่ใจความรู้สึกของเพื่อนในกลุ่ม แต่ที่ผมเห็นทุกคนในกลุ่มใส่ใจ เห็นใจ เป็นห่วงเพื่อนในแบบของตนเอง นักศึกษากลุ่มนี้เติบโตอย่างมากทั้งความคิด ความรู้สึกในช่วง 11 วันที่ผ่านมา ผมภูมิใจและได้เรียนรู้จากกลุ่มนี้อย่างมาก

คืนสุดท้ายก่อนออกจากชุมชนได้มีการพูดคุยสะท้อนถึงเรื่องราวของแต่ละคนในการออกชุมชน เรื่องราวเหล่านั้นจะประทับอยู่ในใจผมตลอดไป

ขอบคุณ กลุ่มคนธรรมดาๆ ที่สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ตอนแรกจะเรียกว่ากลุ่ม avengers แต่ผมว่า ถึงแม้พวกเราไม่มีพลังหรืออำนาจวิเศษอะไร เป็นเพียงคนธรรมดาที่มีความตั้งใจที่ดี มุมานะ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ ล้มแล้วยังลุกขึ้นมาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อต่อกรกับ Thanos อย่างผม (ได้สมญานามมาจากนักศึกษากลุ่มปีที่แล้ว

End credit นักศึกษากลุ่มผมรุ่นก่อนๆ อย่าน้อยใจนะครับ แต่ละรุ่นมีข้อดีของกลุ่มแตกต่างกันไปครับ แต่ละกลุ่มมีความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองที่ดีมาก”

ผมนำมาเผยแพร่เพื่อสื่อสารว่า    นี่คือส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่โค้ช  ให้เกิด “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ในตัวศิษย์

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ม.ค. ๖๒

ห้อง ๔๕๒๒  โรงแรมเซนทารา แกรนด์


หมายเลขบันทึก: 660294เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2019 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2019 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

May I congratulate these (unnamed) students for the inspiration they (unknowingly) provide to me.

Once again, I learned from more from younger people with ‘drive’ that determination is the prime factor for success, knowledge is only a tool.

Thank you.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท