ชมรมตามรอยเท้าพ่อ_ (๖) ค่าย "ปั่นฮู้ปั่นฮัก มักเศรษฐกิจพอเพียง"


วันที่ ๒๓ - ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒  มีโอกาสไปร่วมค่ายกับชมรมตามรอยเท้าพ่อ ตอน "ปั่นฮู้ปั่นฮัก มักเศรษฐกิจพอเพียง"  ที่ โรงเรียนบ้านสองคอน ต.นาฝาย อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เกือบติดเส้นแบ่ง จ.ชัยภูมิ ประมาณ ๓ ชั่วโมงรถยนต์จากมหาสารคาม  มีนักเรียนทั้งหมด ๓๗ คน มีครูประจำการเพียง ๒ คน ผม AAR ว่า ค่ายที่นิสิตจัดขึ้นบรรลุผลดีมาก และปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญคือ การให้ความร่วมและความเมตตาจากชุมชนเป็นสำคัญ ... รายละเอียดต่าง ๆ ทั้งเป้าหมาย กิจกรรม กระบวนการ ฯลฯ นิสิตชมรมฯ คงได้รายงานต่อไป  ในบันทึกนี้ จะเขียนเฉพาะได้รู้ร่วมด้วยเท่านั้น

ถอดบทเรียน ปศพพ.  

ได้รับหน้าที่ให้พานิสิตชาวค่ายถอดบทเรียน  จึงนำเสนอวิธีการถอดบทเรียน ๒ แบบให้นิสิต ดังภาพด้านล่าง

  • แบบแรกเรียกว่า ๓-๒-๔ (อ่านว่า ๓ ห่วง ๒ เงื่อน ๔ มิติ) ประโยชน์ของการถอดบทเรียนแบบนี้ จะทำให้นิสิตจำได้และเข้าใจในคุณลักษณะของความพอเพียง 

  • อีกแบบหนึ่งเรียกว่า ๒-๓-๔  มีสองวิธี สำหรับการนำไปเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตจริง วิธีแรกเรียกว่า 
    • พิจารณา ๒ เงื่อนไข ตัดสินใจ ๓ ด้วย ๓ ห่วง ระมัดระวัง ๔ มิติ สู่เป้าหมายสมดุล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
    • พอเพียงคือ การใช้ความรู้คู่คุณธรรม อย่างรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง รายละเอียดดังภาพ 

ด้วยเวลาที่จำกัด จึง ใช้เทคนิค "คิดเดี่ยว" โดยใช้กระดาษ A4 ให้แต่ละคนถอดบทเรียนตนเอง โดยกำหนดภารหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เช่น ฝ่ายสันทนาการ งานทาสีผนังโรงเรียน งานทำแปลงผัก เป็นต้น

เรียนรู้เกษตร "พอเพียง" พ่อมนตรี

กิจกรรมเรียนจากผู้รู้ ดูจากผู้มีประสบการณ์ แบบนี้ดีมาก ๆ  ขอเชียร์ให้ทางชมรมฯ ทำต่อไป ยิ่งทำบ่อย ๆ เจอผู้เชี่ยวชาญมาก ๆ  ยิ่งจะเพิ่มพูลปัญญานักปราชญ์ให้แก่ตนเอง   ... เสียดายตอนที่ผมไปถึง ขบวนของนิสิตกำลังเดินทางกลับจากไร่ของพ่อมนตรี (พ่อปราชญ์เกษตรอินทรีย์หนึ่งเดียวของคนระแวกนั้น) จึงไม่ได้เข้าไปกระตุ้นให้นิสิตเห็นความสำคัญให้มาก ๆ  ... อย่างไรก็ดี ทันทีที่ไปถึง ผมก็บึ่งไปเรียนรุ้จากท่านทันที และสรุปคลิปวีดีโอสิ่งดีมาฝากท่านครับ ... ขอขอบพระคุณท่านมาก ไว้ตรงนี้มาก ๆ ครับ

พ่อมนตรี ไม่ใช่เกษตรกรตอนเลือกอาชีพครั้งแรก ท่านเป็นช่างเชี่ยวชาญเรื่องการผลิตเครื่องชงกาแฟ  ทำมาหากินในเมืองหลวง รายได้ก็ไม่ได้แย่ ได้มากพอสมควร เรียกว่าอยู่ได้สบาย ๆ  แต่วันหนึ่งเมื่อพ่อตาท่านป่วย ท่านและภรรยาจึงกลับมาดูแล (ความกตัญญูคือคุณสมบัติของคนดี) จึงได้มีโอกาสได้สัมผัสชีวิตแบบเรียบง่าย ใกล้เชิงเขา มีคลองน้ำชลประธานไหลผ่าน ช่วงแรกก็ทำปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามที่คนทำกัน แต่ด้วยความมีปัญญาทั้งสามีภรรยา จึงเริ่มศึกษาและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เป็นแปลงแรก

พืชเศรษฐกิจที่เลือกและได้ผลดีมากในขณะนี้คือฝรั่ง ท่านนำมาฝากที่ค่ายถุงใหญ่ ลงชิมแล้วอร่อย หวาน กรอบ (ชอบมาก) และทำร้านกาแฟสดที่ริมทางข้างถนนโค้งพอดี วิวสวยมาก  ที่น่าสนใจมาก ๆ คือ การปลูกผักโฮโดรโปนิคแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพและดินมูลใส้เดือนแทน

สรุปแล้ว สิ่งที่ทุกคนควรจะไปเรียนรู้จากท่านคือ กระบวนการทำปุ๋ยน้ำหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ท่านพบสูตรปุ๋ยดี องค์ประกอบที่สำคัญที่ต้องมีคือถั่วเหลือง และต้องเป็นถั่วเหลืองอินทรีย์ ซึ่งท่านปลูกเองด้วย ... ด้วยเวลาที่จำกัด  ไม่สามารถถอดบทเรียนท่านได้หมด ....โอกาสหน้าจะไปหาท่านใหม่

ความสามัคคีของชุมชน

บรรยากาศแบบที่ได้ประสบพบเจอมิตรภาพและความร่วมมือที่ดีแบบนี้ จำได้ว่าไม่เห็นนานมากแล้ว  เหมือน ๒๐ ปีที่แล้วที่เคยทำค่ายอาสา ชาวบ้านเข้มแข็ง ร่วมมือ และเมตตา ดูแลนิสิตในค่ายเป็นอย่างดี

โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้านและคุณครูประจำการทั้งสองท่าน และชาวบ้านอาสา ... ผมสังเกตว่า นิสิตมีความสุข รู้สึกว่าค่ายประสบความสำเร็จ และมีพลังที่จะทำค่ายอาสาลักษณะนี้ต่อไป


บรรยากาศชาวบ้านมาร่วมด้วยช่วยเตรียมวัตถุดิบ  


ปลาจาระเม็ดที่โรงเรียนเลี้ยงไว้ ชาวบ้านลงสระนำมาทำอาหาร 

ภาพนี้ถ่ายก่อนเดินทางกลับ ขอเก็บไว้ในความทรงจำ (จะได้สืบค้นง่าย)

กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ 

กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ตามความต้องการของชุมชน ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "เป็นบุญ เป็นทาน เป็นการ เป็นงาน " คือการงานที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับค่ายอาสาแบบค่ายสร้างหรือค่ายอาสาแบบนี้


กิจกรรมสันทนาการ

ฝ่ายสันทนาการ เป็นงานสำคัญของการออกค่ายที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นสันทนาการแบบบูรณาการ "กระบวนการเรียนรู้" ด้วยแล้ว  ยิ่งจะทำให้ค่าย สนุก ทุกคนมีความสุข และเกิดงานสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าต่อจิตใจของผู้ไปร่วมค่าย

กิจกรรมรอบกองไฟ

กิจกรรมรอบกองไฟ ไม่ได้เริ่มหลังการจุดไฟ แต่เริ่มตั้งแต่การช่วยกันหาฟืน เตรียมการงานหน้ากองไฟ สิ่งที่เป็นหัวใจ ทำให้งานรอบกองไฟสนุกหรือไม่ ก็คือ การแสดงรอบกองไฟของแต่ละกลุ่ม และอีกปัจจัยในก็คือพิธีกรดำเนินกา (นิสิตจากชมรมครูคณิตมาร่วมด้วยช่วยกัน)... สนุกสนานมาก

ธรรมชาติอันสวยงาม

การไปร่วมค่าย ทุกคนย่อมได้อะไรมากมาย แตกต่างกันหลากหลาย แล้วแต่ความสนใจและคุณภาพของจิตใจของแต่ละคน เรียนมากรู้มาก ทำมากเกิดผลมา มีเหตุมากมีผลมาก มีเหตุน้อยผลย่อมน้อย ...  ผมขับรถสำรวจรอบพื้นที่ และไม่ลืมที่จะค้นหาความงามของธรรมชาติทั้งภายในและภายนอกของชุมชนระแวกนั้น

บายศรีสู่ขวัญ

ทำนุบำรุง "ศรัทธา" และ "ปัญญา" อันดีงามนี้ต่อไป ให้ถึงแก่น ทำพิธีกรรมนำให้ถึงใจ ขอชมเชยว่า ชมรมทำได้ดีมาก ๆ ครับ  ชาวบ้านท่านประทับใจมาก ๆ

ขอจบบันทึกแห่งความทรงจำ ด้วยภาพด้านล่างนี้ครับ  ขอบคุณสมาชิกชมรมตามรอยเท้าพ่อทุกคน ผู้ใหญ่บ้าน อาจารย์ ชาวบ้านสองคอน และน้อง ๆ นักเรียน ที่ได้ร่วมกันทำให้เสร็จสำเร็จแล้วซึ่งกิจกรรมอันช่วยสืบสานพระราชปณิธาน ในหลวง ร.๙ และประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามแห่งการเรียนรู้ของนิสิตนี้ ....  ปั่นฮูปั่นฮัก มักเศรษฐกิจพอเพียง บรรลุผลอย่างยิ่ง

    หมายเลขบันทึก: 660287เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2019 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2019 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท