ผู้นำยุค 4.0


ผู้นำในยุค 4.0

ในยุคที่เรากำลังก้าวสู่ความเป็น 4.0 ที่องค์กรต่างๆ จะต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (อ้างถึง ดร.พสุ เดชะรินทร์   คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มองมุมใหม่"  25 เมษายน 2560 )ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบเดิมแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ ทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเดิมๆ ล้าสมัย   คุณลักษณะของผู้นำในยุค 4.0 จะต้องเปลี่ยนหรือแตกต่างจากในอดีต  Global Center for Digital Business Transformation สำรวจผู้บริหารมากกว่าพันคนทั่วโลก เพื่อแสวงหาพฤติกรรมและความสามารถของผู้นำในยุค 4.0 และพบว่าส่วนใหญ่แล้วคุณลักษณะของผู้นำที่ประสบความสำเร็จในยุค 4.0 ไม่ได้ต่างจากผู้นำในอดีต แต่มีคุณลักษณะ 4 ประการ ที่โดดเด่น ประกอบด้วย

1. มีความถ่อมตัว  คือ การเป็นผู้นำที่พร้อมจะยอมรับว่าบุคคลอื่น มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญมากกว่าตนเอง และพร้อมจะขอความรู้และรับฟังผู้อื่นทั้งภายในและภายนอกองค์กร คือความถ่อมตัวทางปัญญาทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบัน ความรู้ ข้อมูลต่างๆ มีการแพร่กระจายไปอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ทุกๆ คนมีโอกาสในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เท่ากันหมด อีกทั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว ย่อมเป็นไปได้ยาก ที่ผู้นำจะสามารถเรียนรู้ทุกสิ่งได้อย่างรวดเร็วและมากกว่าคนอื่น  ดังนั้น   ความถ่อมตัวทางปัญญานั้นคือการที่ผู้นำยอมรับเรื่องคนอื่นมีอาจมีความรู้มากกว่าผู้นำ ผู้นำยุคใหม่จึงพร้อมที่จะยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รวมทั้งรู้จักที่จะใช้ประโยชน์จากความรู้ของผู้อื่นเพื่อประโยชน์ขององค์กร ผู้นำในยุค 4.0 จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นเร็วเกินกว่าที่ผู้นำเพียงคนเดียวสามารถที่จะติดตามและเรียนรู้ทุกอย่างได้ทัน

2. มีการปรับตัว  หมายถึง การยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นรวดเร็ว ทำให้การตัดสินใจที่ผ่านมาอาจจะผิดพลาด และผู้นำยุคใหม่ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนการตัดสินใจจากข้อมูลใหม่ๆ ที่ได้รับ ในอดีต การที่ผู้นำเปลี่ยนการตัดสินใจไปมาอาจจะดูว่าเป็นจุดอ่อนและผิดหลักของความเป็นผู้นำที่ดี แต่ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดอย่างรวดเร็ว ผู้นำจะได้รับข้อมูลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นความสามารถในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงและยอมที่จะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ จากข้อมูลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยไม่มองว่าเป็นจุดอ่อนหรือเรื่องน่าอายจึงกลายเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำยุค 4.0

3. มีวิสัยทัศน์ คือ ความสามารถในการมองเห็นทิศทางในอนาคต แม้จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนในระยะสั้น

4. การมีส่วนร่วม คือ การที่ผู้นำพร้อมที่จะสื่อสารกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรวดเร็วทำให้การสื่อสารและการมีส่วนร่วมกลายเป็นกลไกหนึ่งที่ผู้นำจะทั้งได้รับข้อมูล ความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และในทางกลับกันก็เป็นช่องทางให้ผู้นำได้สื่อสารถึงทิศทางและการตัดสินใจที่เกิดขึ้น 

คำสำคัญ (Tags): #leadership
หมายเลขบันทึก: 659799เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2019 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2019 08:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท