โรงเรียนกับสุขภาพของนักเรียนเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)



เช้าวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๒ ผมไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง โครงการวิเคราะห์สังเคราะห์แนวทางการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนป้องกันโรค NCDs    ซึ่งผมเคยเล่าเรื่องโครงการนี้ไว้ที่ ()  

เป็นการประชุมคณะกรรมการ steering ครั้งสุดท้ายของโครงการ    ที่ทีมงานเตรียมเอกสารเสนอข้อมูล ผลการวิเคราะห์ และผลการสังเคราะห์ มาอย่างดีมาก    มีข้อมูลจากโรงเรียนสารพัดแบบ ถึง ๔๐ โรงเรียน    และนำเสนอโดยใช้ CIPP Model   คือ Context, Input, Process, Product   ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นมาก   

ทีมงานเสนอว่าพฤติกรรมเสี่ยง NCDs ในเด็กและเยาวชน อันได้แก่ อาหารไม่เหมาะสม  เคลื่อนไหวร่างกายไม่เพียงพอ บุหรี่ เหล้า ยาเสพติด   เกิดจาก (๑) health literacy & life skills ไม่ดี  (๒) สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กไม่ดี  (๓) สถานการณ์โลก โดยที่พฤติกรรมเสี่ยงในเด็กต่างวัย แตกต่างกัน    และยังมีรายละเอียดเชิงบริบทรอบตัวเด็กมากมาย   

สิ่งที่โครงการนี้ต้องส่งให้แก่ สสส. คือสังเคราะห์ข้อค้นพบเป็น แนวทางดำเนินการของโรงเรียน เพื่อป้องกันโรค NCDs ในนักเรียน    ซึ่งที่จริงกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็มี guideline ชุดหนึ่งแล้ว สำหรับใช้ประเมินโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ    ที่โรงเรียนต่างก็ต้องการได้รับการยกย่องเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร (http://hp.anamai.moph.go.th/ewt_dl_link.php?nid=381)     แต่ guidelines ของกรมอนามัยเป็นเรื่องสุขภาพรวมๆ    ไม่เน้น NCDs โดยเฉพาะ  

ผมมีอคติเชิงความเชื่อว่า หากโรงเรียนทำงานจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนอย่างถูกต้อง  การป้องกันโรค NCDs ก็จะบูรณาการอยู่ในงานตามปกติ ไม่ต้องแยกออกมาเป็นกิจกรรมเสริม    หรือกล่าวใหม่ว่า การดำเนินการป้องกันโรค NCDs ในบริบทโรงเรียน ควรเป็นกิจกรรมที่บูรณาการในการทำงานตามปกติ    ไม่ควรทำให้เป็นงานเสริม    ดังนั้น  guidelines ที่จะสร้างขึ้น ควรเสนอในลักษณะที่บูรณาการอยู่ในงานตามปกติของโรงเรียน   

ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนในอุดมคติ ในยุคปัจจุบัน ต้องไม่ใช่แค่ทำงานดูแลเด็กในห้องเรียนหรือในเขตรั้วโรงเรียนเท่านั้น     ต้องคำนึงถึงชีวิตเด็กตลอด ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน ๓๖๕ วันต่อปี    แต่โรงเรียนไม่ได้ทำงานด้วยตนเองเท่านั้น    ต้องทำงานแบบมี engagement partners จำนวนมาก มาช่วยกันดูแลส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก     

ผศ. ดร. พิณสุดา สิริธรังศรี กรรมการท่านหนึ่งให้คำแนะนำว่า ผลงานส่งมอบแก่ สสส. ควรมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อนักการศึกษา     ว่าวงการศึกษาไทยควรมีการปรับปรุงด้านใดบ้าง     เพื่อให้ประชาการไทยพร้อมรับมือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเมื่ออายุมากขึ้น    โดยข้อเสนอแนะที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือการพัฒนาครู ทั้งในหลักสูตรผลิตครู และในการพัฒนาครูประจำการ     ให้มีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียน    โดยมีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย     และร่วมมือกับกลไกในชุมชน   

ในที่ประชุมไม่ได้เอ่ยถึงวิธีเรียนโดยการจัดตั้ง ชมรมอาสาสมัครเยี่ยมบ้าน  ให้นักเรียนที่เป็นสมาชิกเป็นอาสาสมัครเยี่ยมบ้าน    ไปดูแลผู้สูงอายุ เช่นปัดกวาดบ้าน ทำความสะอาดที่นอน อาบน้ำเช็ดตัวให้คนแก่ติดเตียง     พูดคุยไต่ถามเรื่องราวในชีวิตของคนแก่    นำมาทำ critical reflection ร่วมกับเพื่อนนักเรียนและครู    โดยครูมีทักษะในการเป็น reflection facilitator โดยตั้งคำถาม ให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง    ว่าในอนาคตเมื่อตนอายุมากขนาดนั้น ตนมีโอกาสสูงเพียงใดที่จะเป็นอย่างนั้น    และจะหลีกเลี่ยงได้ย่างไร    ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองขณะเป็นเด็กอย่างไรบ้าง    จากคำถามของครู (และของนักเรียน) ให้เด็กไปค้น นำมานำเสนอต่อชั้นเรียน   

วิธีการในย่อหน้าบน เด็กจะได้เรียนรู้บูรณาการหลายด้าน    ทั้งด้านการพัฒนาจิตใจด้าน empathy   การมีจิตใจใฝ่ช่วยเหลือผู้อื่น   เห็นแก่ส่วนรวม    ทักษะการเรียนรู้ (learning skills)    ทักษะการใคร่ครวญสะท้อนคิด (critical reflection) เพื่อการเรียนรู้ระดับลึก (deep learning)  และเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning)    รวมทั้งความรู้ด้าน health literacy   และ life skills

ในระหว่างการประชุม ผมบันทึกความคิดไว้ใน S Note ของโทรศัพท์ Galaxy Note 8 ว่า    โรงเรียนควรจัดชมรมสุขภาพ    ให้นักเรียนร่วมกันจัดสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคมในโรงเรียนและโดยรอบโรงเรียน    โดยมีครูที่ปรึกษา ส่งเสริมให้นักเรียนร่วมกันทำงานในลักษณะ knowledge-based  คือค้นคว้าว่าโรงเรียนที่ฝึกเด็กให้มีพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อประโยชน์ต่อชีวิตยามเป็นผู้ใหญ่ และในวัยสูงอายุ ควรเป็นอย่างไร    ทำและไม่ทำอะไร    ทำเป็นรายงานเก็บไว้ใช้เอง และไว้ให้นักเรียนรุ่นน้องใช้อ้างอิง    แล้วชมรมเลือกทำบางเรื่องที่ยากหรือท้าทายเพียงเรื่องเดียวหรือสองเรื่อง    มีการทำ critical reflection ร่วมกันเพื่อการเรียนรู้เชิงลึกเป็นระยะๆ     

การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเน้นการเรียนจากสภาพจริง เรียนจากการปฏิบัติ มีการตั้งคำถามให้ค้นคว้าหาคำตอบ มีการนำเสนอ และมีการใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างลึก

 วิจารณ์ พานิช

๑๐ ม..ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 659687เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2019 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2019 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดค่ะอาจารย์ จะมีกี่โรงเรียนที่ครูได้รับการพัฒนาให้สมรรถนะพอจะจัดการเรียนรู้แบบอาจารย์กล่าวมาได้

กี่โรงก็ได้ ขอเพียงมีคนเริ่ม ดีจริง … ขยายต่อเนื่องไปอีก

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ … ยังมีหวังจากบันทึกนี้ สร้างเสริม ป้องกัน NCDs

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท