วางรากฐานทักษะชีวิต สร้างคนไทยสุขภาพดี


ชีวิตวัย ๗๖ ของผมเต็มไปด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD – Non-Communicable Diseases) ที่รับมรดกจากพ่อแม่    และตอนนี้มีไว้อวดว่า ผมสามารถอยู่ร่วมกับโรคเหล่านั้นอย่างมีสุขภาพดี    คือยังสามารถดำรงสภาพ “สุขภาพดีโดยมีโรค” ไว้ได้    แต่ก็เป็นสุขภาพดีระดับคนแก่นะครับ

เช้าวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๑ ผมเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศ โครงการ วิเคราะห์สังเคราะห์แนวทางการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน ป้องกันโรค NCD โดยมีคุณอ้อ (วรรณา เลิศวิจิตรจรัส) เป็นหัวหน้าโครงการ    สนับสนุนทุนโดย สสส.    เป็นการประชุม สองชั่วโมงครึ่งที่สนุกสนานมาก    เพราะคนเสนอก็ทำการบ้านมาดี    กรรมการก็มีความรู้ดี    ช่วยให้คำแนะนำ ที่เกิดประโยชน์มาก   

โจทย์ของโครงการนี้คือ  

วิเคราะห์ และสังเคราะห์บทเรียนการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างพฤติกรรมป้องกันการเกิด NCDs เพื่อค้นหาแนวทาง องค์ประกอบและปัจจัยความสำเร็จในการทำงานลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรค NCDsในตัวเด็กและเยาวชน  ผ่านพื้นที่ฐานการทำงาน (setting) รอบตัวเด็กที่สำคัญคือ โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน/หน่วยงานในพื้นที่   แล้วนำเสนอเป็นคู่มือการทำงานของโรงเรียน

ซึ่งผมตีความว่า เป็นการทำงานเล็กๆ ที่มีเป้าหมายใหญ่ที่ทรงคุณค่า คือ การวางรากฐานทักษะชีวิต สร้างคนไทยสุขภาพดี ที่ดำเนินการตั้งแต่วัยเด็ก    โจทย์ที่ สสส. ให้เน้นการดำเนินการที่โรงเรียน  ซึ่งหากจะให้ได้ผลดีทางโรงเรียนก็ต้องร่วมมือสิบทิศ    และต้องรู้จักเอาตัวนักเรียนนั่นเองเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อน   

ทีมงานไปเก็บข้อมูลจากโรงเรียน ๒๒ แห่ง ที่ดำเนินการได้ผลดีพอสมควร    

รวมทั้งให้คุณก้อย รับจ้างอ่านบทความ  ๒๐ บทความของต่างประเทศ  สรุป ๙ ประเด็น  มาเสนออย่างดีมาก    ดังนี้

  1. 1. ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับทุกฝ่าย ว่างานนั้นเป็นงานที่ต่อเนื่อง ระยะยาว และต้องทำกันไปโดยตลอด ดังน้ัน จึงต้องพัฒนาระบบที่มีการรับช่วง หรือส่ง ต่องานร่วมกันทำร่วมกันคิดอย่ากำหนดให้เป็นความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะจะทำไม่ไหว
  2. 2. ต้องพัฒนาทั้งวิชาการและสขุภาพควบคู่กันไป จะเน้นแค่วิชาการหรือสุขภาพ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เนื่องจากองค์ประกอบทั้งสองอย่างมีความเกี่ยวเนื่องกัน  นักเรียนสุขภาพดีทั้งกายและใจ ก็จะสามารถเรียนไปได้จนตลอดรอดฝั่ง
  3. 3. พัฒนาทั้งระบบ จะมุ่งที่ตัวนักเรียน หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้   ต้องให้เกิด การเปลี่ยนแปลงทั้งโรงเรียนและชุมชน   ทั้งในเชิงของพฤติกรรม และความคิดความเชื่อเกี่ยวกับการมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่สมบูรณแข็งแรง
  4. 4. เห็นความสาคัญของนักเรียน   เปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีส่วนคิดและตัดสินใจใน เรื่องที่เกี่ยว ข้องกับชีวิตของพวกเขาด้วย (เราเป็นผู้ใหญ่กว่า ต้องเมตตาผู้น้อย และรู้จักฟังพวกเขาบ้าง)
  5. 5. ความต้องการของคนในพื้นที่สำคัญเสมอ (นักเรียน ครอบครัว ชาวบ้าน ผู้สอน) ในการออกแบบโครงการ  จะละเลยความต้องการของคนกลุ่มนี้ไม่ได้
  6. 6. ระดมความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย
  7. 7. มีระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (คน  สื่อที่ใช้) 

  8. 8. จัดสรรงบประมาณให้ ในลักษณะที่ให้ความสาคัญกับงานั้นอย่างจริงใจ   ไม่ใช่ให้แค่พอเป็นพิธี หรือแค่มีจำนวนโครงการให้ครบตามเกณฑ์ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
  9. 9.  มีระบบในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญสาหรับให้คำปรึกษาแต่ละโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง   รวมถึงการจัดอบรมเพิ่มพูนทกัษะและความรู้ในการดำเนินงานด้านนั้นให้กับคณะทำงานของทุกฝ่ายด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สาหรับทุกคน    ประเทศไ ท ยจำเ ป็นต้องปูพื้นความ รู้ที่ถูกต้องให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องไ ปก่อน  และตระหนักด้วยว่าต้องให้เวลากับผู้คนในการสั่งสมความรู้และความชำนาญด้วย 


ในบริบทไทย เห็นชัดเจนว่า การดำเนินการสร้างสุขภาวะของนักเรียนที่โรงเรียนดำเนินการมักดำเนินการเป็นโครงการ โดยมีหน่วยงานภายนอกเข้าไปสนับสนุน    และกลายเป็นภาระต่อโรงเรียนและต่อครู    สิ่งที่ผมอยากเห็นคือทางโรงเรียน/ครู ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายพัฒนาการของนักเรียนตามหน้าที่ของตน และเรื่องสุขภาวะ/NCD ฝังแฝงอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ตามปกติ    ที่ผมขอเรียกว่า การสร้างสุขภาวะของนักเรียนแนวบูรณาการ    โดยทางโรงเรียนมีเป้าหมายของตน    และมีวิธีวัดผลลัพธ์ด้านสุขภาวะที่ตัวเด็ก    มีการวัดสภาพปัจจุบันของเด็ก เอามาคิดแนวทางแนะนำแก่เด็ก พ่อแม่ และเป็นแนวทางดำเนินการสร้างสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขในโรงเรียน

นพ. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ให้คำแนะนำที่ดีมากว่า อย่ามุ่งประเมินหรือตำหนิระบบและสภาพจริงที่โรงเรียนเผชิญอยู่    ให้ยอมรับบริบทจริง    ทั้งบริบทที่โรงเรียน และบริบททางสังคม ที่เวลานี้สังคมเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองหรือกึ่งเมือง เด็กต้องรีบไปโรงเรียนทำให้ไม่ได้กินอาหารเช้า    

กรรมการที่มีประสบการณ์ลงเยี่ยมโรงเรียน คือ ผศ. ดร. พิณสุดา สิริธรังศรี บอกว่า นักเรียนระดับประถมในชนบทครึ่งหนึ่งไม่ได้กินอาหารเช้ามาจากบ้าน    จึงไปซื้ออาหารฟาสต์ฟู้ดแบบชาวบ้าน คือข้าวเหนียวหมูปิ้ง กินที่หน้าโรงเรียน    ที่หน้าโรงเรียนจึงมีร้านขายอาหารสารพัดชนิดที่เด็กชอบกิน ถูกสุขภาพบ้างไม่ถูกบ้าง    การดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กนักเรียนจึงต้องเข้าใจและคำนึงถึงบริบททางสังคมเช่นนี้ด้วย     

ทำให้คนรู้น้อยอย่างผม ได้ตระหนักว่า  การดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กต้องทำอย่างเป็นองค์รวม   ทำแบบเชื่อมโยงหลายบริบทรอบตัวเด็ก    ไม่ใช่เฉพาะในโรงเรียน    โดยต้องเคารพและทำความเข้าใจ/เรียนรู้ ร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง    โดยนำเอาข้อมูลหลักฐานมาทำความเข้าใจร่วมกัน    ว่าเมื่อเรารักเด็ก หวังดีต่อเด็ก ต้องการให้เขามีชีวิตที่ดี มีสุขภาวะในท่างกลางการระบาดของ NCD ที่รู้ปัจจัยเสี่ยงในเชิงทฤษฎีดีอยู่แล้ว    หาทางนำความรู้เชิงทฤษฎี และเชิงบริบท นำมาสร้างโมเดลเชิงปฏิบัติ   ที่ทุกฝ่ายร่วมกันเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก    มีการดำเนินการระยะยาว  มีการวัดผลเป็นระยะๆ นำไปแจ้งแก่ภาคีให้ช่วยกันหาทางทำให้ได้ดียิ่งขึ้น    แนวทางนี้อาจเรียกว่าเป็น whole community approach ก็ได้ 

               

วิจารณ์ พานิช        

๒๒ ก.ย. ๖๑

บน WE 168 เดินทางไปเชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 656234เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2018 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2018 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาตสะท้อนความคิดเห็น ในฐานะครูมวยบ้านนอกคนนึงที่อายุ65ปีแล้ว..(หากบางส่วนใช้ถ้อยคำหรือข้อความไม่เหมาะสมประการใด ต้องกราบขออภัยท่าน ด้วยความเคารพ..ครับ)1.หากแม้แต่ ผู้มีความรู้สูง มีฐานะดี มีบทบาทหน้าที่สำคัญในสังคม เพิ่งจะตระหนักถึงภัยของNCD..ก็ต่อเมื่อร่วงโรยมาจนถึงวัยชราอายุ76ปี..จนเกิดความสำนึกเป็นห่วงถึเด็กและเยาวชน ผู้เป็นอนาคตของชาติ..ย่อมแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาและระบบดูแลรักษาสุขภาพ..ในช่วง40กว่าปีมานี้!!2.ความจริงเราเคยมีกิจกรรมการเรียนรู้แบบองค์รวมที่ดีๆสำหรับเด็กและเยาวชน เช่น กิจการลูกเสือ กระบี่กระบอง การละเล่นพื้นบ้าน การระบลำ รำฟ้อน กลองยาว เซิ้ง และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ศิลปวัฒนธรรมตามวิถีชีวิตไทย ที่มุ่งความสนุกสนานเรียบง่ายต่างๆ..รวมถึงการฝึกมวยตามชนบทที่เคยเป็นวิถีชีวิตไทยๆ..แต่กลับถูกละเลยและทำลายด้วยระบบการศึกษาและคนในยุคทุนนิยมสามานย์..ตลอดจนพวกคลั่งตะวันตก..3.ขอเรียนว่า สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้บิดเบี้ยวและละเลย จากบุคคลชั้นนำของสังคมทั้งสิ้น ครับ!!..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท