พุทธวิธีในการบริหาร


พุทธวิธีในการบริหาร

พุทธวิธีในการบริหาร

ดร.ถวิล  อรัญเวศ

รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

การบริหาร

   การบริหาร คือการทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่นช่วยทำ (Getting things done through other people)

   การบริหาร คือ การทำให้คนอื่นทำงานตามที่ผู้บริหารต้องการ

       การบริหาร คือความสามารถในการจูงใจให้คนเกิดความต้องการอยากปฏิบัติตามที่ผู้บริหารต้องการ

พุทธวิธีในการบริหาร

        หมายถึงวิธีการในการบริหารคณะสงฆ์และพุทธบริษัท 4 สมัยพุทธกาล

        วิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ซึ่งดำรงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน  เป็นเวลากว่า  2,500 กว่าปี  เป็นข้อมูลให้เราได้ศึกษาเรื่องพุทธวิธีบริหาร  นอกจากนี้ ยังมีพุทธพจน์ที่เกี่ยวกับการบริหารกระจายอยู่ในพระไตรปิฎก  การศึกษาพุทธพจน์เหล่านี้ก็จะทำให้ทราบถึงพุทธวิธีบริหาร

หน้าที่ของนักบริหาร  5  ประการ

            หน้าที่ของนักบริหาร มีอยู่  5  ประการ  ตามคำย่อในภาษาอังกฤษว่า  POSDC

            P  คือ  Planning  หมายถึง  การวางแผน  เป็นการกำหนดแนวทางดำเนินงานในปัจจุบัน  เพื่อความสำเร็จที่จะตามมาในอนาคต  ผู้บริหารที่ดีต้องมีวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดทิศทางขององค์กร

            O  คือ  Organizing  หมายถึง  การจัดองค์กร  เป็นการกำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกและสายบังคับบัญชา  ภายในสัมพันธ์ของสมาชิกและสายบังคับบัญชา  ภายในองค์กรมีการแบ่งงานกันทำและการกระจายอำนาจ

            S คือ  Staffing  หมายถึงงานบุคลากร  เป็นการสรรหาบุคลากรใหม่  

การพัฒนาบุคลากรและการใช้คนให้เหมาะกับงาน

            D คือ Directing  หมายถึง  การอำนวยการ   เป็นการสื่อสาร  เพื่อให้เกิดการดำเนินการตามแผน  ผู้บริหารต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและมีภาวะผู้นำ

            C  คือ  Controlling  หมายถึง  การกำกับดูแล  เป็นการควบคุมคุณภาพของการปฏิบัติงานภายในองค์กร  รวมทั้งกระบวนการแก้ปัญหาภายในองค์กร

            พุทธวิธีบริหารในประเด็นที่เกี่ยวกับการวางแผน  การจัดองค์กร 

การบริหารงานบุคคล  การอำนวยการ  และการกำกับดูแลนั้น มีดังนี้

พุทธวิธีเกี่ยวกับวางแผน

           ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้บริหารต้องมี จักขุมา คือมีสายตาที่ยาวไกล มองการณ์ไกลวิสัยทัศน์ช่วยให้ผู้บริหารสามารถวาดภาพจุดหมายปลายทางได้ชัดเจนและใช้สื่อสารให้สมาชิกภายในองค์กรยอมรับและดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นองค์กรทั้งหมดก็จะถูกขับเคลื่อนไปด้วยวิสัยทัศน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงกำหนดจุดหมายปลายทางในพระพุทธศาสนาไว้ว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมทุกอย่างมีเป้าหมายสูงสุดที่จุดเดียวคือวิมุตติ (ความหลุด พ้นทุกข์) ดังพุทธพจน์ที่ว่า      

          “เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม ฉันใด ธรรมวินัยนี้ก็มีรสเดียวคือวิมุตติรส ฉันนั้น”

พุทธวิธีในการอำนวยการ

          ต้องอาศัยภาวะผู้นำเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพราะไม่มีระบบการใช้กำลังบังคับให้ปฏิบัติตามผู้นำในพระพุทธศาสนา การที่สมาชิกจะทำตามคำสั่งของผู้บริหารหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำในผู้บริหารเป็นสำคัญ อะไรคือความแตกต่างระหว่างผู้บริหารกับผู้นำ

          พุทธวิธีบริหาร ยึดหลักธรรมาธิปไตยเป็นสำคัญด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้บริหารเองต้องประพฤติธรรมและใช้ธรรมเป็นหลักในการบริหาร พุทธวิธีบริหารจึงไม่เป็นทั้งอัตตาธิปไตยและโลกาธิปไตย

          ผู้บริหารที่เป็นอัตตาธิปไตยก็มักจะคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนหรือความพอใจของตนเป็นที่ตั้งโดยยึดคติว่าถูกต้องคือถูกใจข้าพเจ้า ผู้บริหารประเภทนี้มักลงท้ายด้วยการเป็นเผด็จการ

          ส่วนผู้บริหารที่เป็นโลกาธิปไตยก็พยายามเอาใจทุกคน เพื่อให้ตนเองอยู่ในตำแน่งต่อไปได้ เขาพยายามทำให้ถูกใจทุกคน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ผู้บริหารประเภทนี้มักหนีปัญหา เมื่อมีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้นในองค์กรก็พยายามลอยตัวหนีปัญหา

          ผู้บริหารที่ดีต้องเป็นธรรมาธิปไตย เขายึดถือคติว่า ถูกต้องไม่จำเป็นต้องถูกใจ

หรือถูกต้องเป็นหลัก ถูกใจเป็นรองข้าพเจ้าหรือต้องถูกใจทุกคน เขากล้าตัดสินใจลงมือทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม โดยไม่พยายามลอยตัวหนีปัญหา เขาถือคติว่า อำนาจหน้าที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ เขายอมเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือประโยชน์สุขส่วนรวมดังพุทธพจน์ที่ว่า “ถ้าเห็นว่าจะได้ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่เพราะสละประโยชน์สุขเล็กน้อย บุคคลควรสละประโยชน์สุขเล็กน้อยเพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่”

Buddhist Style in Management

         การบริหารของพระพุทธเจ้าก็คือความสามารถในการสื่อสารกับคนทั่วไป ใน

การสื่อสารเพื่อการบริหารแต่ละครั้งพระพุทธเจ้าทรงใช้หลัก ๔ ส. ซึ่งคำอธิบายเชิงประยุกต์เข้ากับการบริหารดังต่อไปนี้

          ๑. สันทัสสนา (แจ่มแจ้ง) หมายถึง อธิบายขั้นตอนของการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน แจ่มแจ้งช่วยให้สมาชิกปฏิบัติตามได้ง่าย

          ๒. สมาทปทา (จูงใจ) หมายถึง อธิบายให้เข้าใจและเห็นชอบกับวิสัยทัศน์จนเกิดศรัทธาและความรู้สึกว่าต้องฝันให้ไกลและไปให้ถึง

          ๓. สมุตเตชนา (แกล้วกล้า) หมายถึงปลุกใจให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองและมีความกระตือรือร้นในการดำเนินการไปสู่เป้าหมาย

          ๔. สัมปหังสนา (ร่าเริง) หมายถึง สร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกันแบบกัลยาณมิตรซึ่งจะส่งเสริมให้บุคคลที่จะเป็นผู้บริหารต้องมีคุณสมบัติสำคัญ ๒ ประการดังกล่าวมาแล้ว คือ อัตตหิตสมบัติ หมายถึงความเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติส่วนตัวที่เหมาะกับการเป็นผู้นำ และปรหิตปฏิบัติ หมายถึงความมีน้ำใจในการปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมและองค์กรของตน

            จะเห็นได้ว่า  เมื่อพ้นพรรษาแรกมีพระภิกษุสำเร็จพระอรหันต์  60  รูป  พระพุทธเจ้าทรงวางแผนเพื่อประกาศพระศาสนา  แล้วส่งพระสาวกเหล่านั้นให้แยกย้ายกันไปในทิศทางต่างๆ  ด้วยพระดำรัสว่า  ภิกษุทั่งหลาย  เราพ้นแล้ว  จากบ่วงทั้งปวง  ทั้งที่เป็นของทิพย์  ทั้งที่เป็นของมนุษย์  เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก  เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก  เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  แต่อย่าไปทางเดียวกันสองรูป  แม้เราก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม  (วิ.มหา.  1/32/39)

            เนื่องจากพระองค์มีพระสงฆ์จำนวนจำกัด  พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญชาให้แต่ละรูปไปตามลำพังผู้เดียว  ส่วนพระองค์ทรงเลือกไปประกาศธรรมแก่เจ้าลัทธิในแคว้นมคธ  คือ  ชฎิลสามพี่น้อง  ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลา  2 เดือน  ปราบพยศชฎิลสามพี่น้องและบริวาร  จนให้พวกเขาหันมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  จากนั้นไปเสด็จไปเทศน์โปรดพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชาแห่งแคว้นมคธ  พระเจ้าพิมพิสารและประชาชนชาวมคธพอเห็นว่าชฎิลสามพี่น้องที่พวกตนนับถือได้ยอมรับเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้วก็คลายทิฏฐิมานะ    หันมาตั้งใจฟังธรรม  ในที่สุดก็ได้ดวงตาเห็นธรรมและหันมานับถือพระพุทธศาสนา

            พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลาไม่นานนับจากวันตรัสรู้ซึ่งเป็นหนึ่งในแคว้น

มหาอำนาจสมัยนั้น  นี่เป็นผลจากการวางแผนประกาศพระศาสนาในเบื้องต้นของพระพุทธเจ้า

            ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ประสบผลสำเร็จในการประกาศพระศาสนา  โดยที่หา

ผู้บรรลุธรรมตามอย่างพระพุทธองค์ไม่ได้สักคนเดียว  พระพุทธเจ้าก็เป็นเพียง

พระปัจเจกพุทธะ  คือผู้ตรัสรู้เฉพาะตนที่ไม่สามารถสอนคนอื่นให้ตรัสรู้ตามได้  จึงไม่ใช่นักบริหาร  แต่เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าสามารถสอนให้คนอื่นตรัสรู้ตามได้  พระองค์จึงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ  ผู้สามารถจัดตั้งองค์กรพระพุทธศาสนาและเป็นนักบริหารกิจการพระศาสนา

            ในการวางแผนเพื่อบริหารองค์กรของพระพุทธเจ้านั้นมีการใช้วิสัยทัศน์กำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และพันธกิจขององค์กรคณะสงฆ์ไว้อย่างชัดเจน

            ในการวางแผนเพื่อประกาศพระศาสนาดังกล่าวมานั้น  พระพุทธเจ้าทรงกำหนดวัตถุประสงค์  สำหรับให้สมาชิกในองค์กรทุกคนถือปฏิบัติเป็นแบบเดียวกัน  นั่นคือ  ให้สมาชิก ยึดความหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัว  หรือการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ของคนอื่น  เป็นเป้าหมายของการดำเนินชีวิต

            การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัวเรียกว่า  อัตตหิตสมบัติ  การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ของคนอื่น  เรียกว่า  ปรหิตปฏิบัติ

            พระพุทธเจ้าทรงมีทั้ง  อัตตหิตสมบัติที่เกิดจากพระปัญญาคุณและปรหิตปฏิบัติที่เกิดจากพระกรุณาคุณ  จึงทรงวางรากฐานในการประกาศพระศาสนาด้วยการแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอรหันต์  1,250  รูป  ในวันมาฆบูชา  หลังตรัสรู้ได้  9  เดือน

            โอวาทปาฏิโมกข์  หมายถึง  คำสอนที่เป็นหลักสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระอรหันต์เพื่อให้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป  ในโอวาทปาฏิโมกข์นี้มีการกำหนดให้นิพพานหรือความหลุดพ้นทุกข์เป็นเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม  แนวทางปฏิบัติธรรมให้ยึดหลัก  3  ประการ คือ  ไม่ทำชั่วทั้งปวง  ทำดีให้ถึงพร้อม  และทำจิตใจให้ผ่องใส  นอกจากนี้ยังกำหนดวิธีการประกาศพระพุทธศาสนาว่า  ให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยขันติหรือความอดทน  ไม่ใช้การว่าร้าย  หรือการเข่นฆ่าประหัตประหาร  เพื่อบีบบังคับให้คนหันมานับถือพระพุทธศาสนา  (ขุ.ธ.  25/24/39)  ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ

            จะเห็นได้ว่า  ในการวางแผนเพื่อบริหารองค์กรของพระพุทธเจ้านั้นมีการใช้วิสัยทัศน์กำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์และพันธกิจขององค์กรคณะสงฆ์ไว้อย่างชัดเจน  องค์กรพระพุทธศาสนาเจริญเติบโตขึ้นมาได้  นั่นก็เพราะผลมาจากวิสัยทัศน์ของพระพุทธเจ้า

พุทธวิธีในการจัดองค์กร

            ในการรับสมาชิกใหม่เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจะมี

การกำหนดให้สมาชิกทุกคนเริ่มต้นจากศูนย์  นั่นคือไม่มีการอนุญาตให้นำชาติชั้นวรรณะหรือตำแหน่งหน้าที่ในเพศฆราวาสเข้ามาในองค์กรคณะสงฆ์

            ดังพุทธพจน์ที่ว่า

                  “เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่บางสาย  คือ  แม่น้ำคงคา  ยมุนา  อจิรวดี  สรภู  มหี  ไหลถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรอันเดิมเสีย  ถึงซึ่งอันนับว่ามหาสมุทรเหมือนกัน  วรรณะ  4  เหล่านี้ คือ  กษัตริย์  พราหมณ์  แพศย์  ศูทร   ก็เช่นเดียวกัน  คือ ออกจากเรือน  บวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วย่อละชื่อและตระกูลเดิมเสีย  ถึงซึ่งดันนับว่าสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหมือนกัน”  (วิ.จุล. 7/461/290)

            พุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นว่า  ทุกคนที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา  เป็นพระภิกษุเสมอเหมือนกันหมด  การอยู่ร่วมกันของคนที่เท่าเทียมกันนี้  อาจก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับบัญชาภายในองค์กร  เพราะเหตุที่ว่า  เมื่อสมาชิกถือตัวว่าเท่าเทียมกับคนอื่นก็จะไม่มีใครเชื่อฟังใครหรือยอมลงให้ใคร

            ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  “การอยู่ร่วมกันของคนที่เสมอกัน  นำทุกข์มาให้”  (ขุ.ธ. 25/31/45)  ถ้าเป็นเช่นนั้นการบังคับบัญชาภายในองค์กรก็มีไม่ได้  พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดให้พระภิกษุต้องเคารพกันตามลำดับพรรษา  ผู้บวชทีหลังต้องแสดงความเคารพต่อผู้บวชก่อน

            เมื่อสาวกมีจำนวนมากขึ้น  พระพุทธเจ้าทรงจัดองค์กรในพระพุทธศาสนาออกเป็นพุทธบริษัท  4  คือ ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  ในส่วนของภิกษุบริษัท  และภิกษุณีบริษัท  พระพุทธเจ้าทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่พระสงฆ์  ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงกระจายอำนาจให้คณะสงฆ์ดำเนินการให้การอุปสมบท  เมื่อมีกิจจาธิกรณ์หรือกิจการที่จะต้องทำร่วมกัน  คณะสงฆ์สามารถบริหารจัดการเองหรือเมื่อมีกรณีความขัดแย้งเกิดขึ้นในคณะสงฆ์พระพุทธเจ้าก็ทรงมอบอำนาจให้คณะสงฆ์เป็นผู้จัดการแก้ปัญหา

            พระพุทธเจ้าทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระธรรมราชาคือ  ผู้บริหารสูงสุดในองค์กรพระพุทธศาสนา  ดังพุทธพจน์ที่ว่า  เราเป็นพระราชา  นั่นคือเป็นธรรมราชา

ผู้ยอดเยี่ยม  (ม.ม.13/609/554)

            พระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งพระสารีบุตร  ให้เป็นพระธรรมเสนาบดีมีฐานะเป็นรองประธานบริหารอยู่ในลำดับถัดมาจากพระพุทธเจ้า  และเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา  รับผิดชอบงานด้านวิชาการ

            พระโมคคัลลานะ    เป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้าย  รับผิดชอบงานด้านบริหาร

            พระอานนท์          เป็นเลขานุการส่วนพระองค์

            และทรงแต่งตั้งสาวก    ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์เป็นเอตทัคคะ คือ ผู้ชำนาญการที่รับภาระงานด้านต่างๆ เช่น พุทธวิธีการบริหาร ( Buddhas Administration Method)

          

พุทธวิธีการบริหารตามกรอบหน้าที่ ( Function)

ของนักบริหาร คือ POSDC

P = Planning : การวางแผน

O = Organizing :การจัดองค์กร

S = Staffing :การบริหารงานบุคคล

D = Directing:การอำนวยการ

C = Controlling:การกำกับดูแล

พุทธวิธีในการวางแผน

Buddha’s Planning

๑. ทรงวางแผนไปโปรดปัญจวัคคีย์

๒. ทรงกำหนดวัตถุประสงค์ของการบวชที่ชัดเจน

    เช่นตัวอย่าง เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด (วิ. มหา. ๑/๑๘/๒๓)

๓. ทรงให้ผู้บริหารต้องมี จักขุมา คือ มีสายตา ที่ยาวไกล หรือมองการณ์ไกล หรือมีวิสัยทัศน์ (องฺ. ติก. ๒๐/๔๕๙/๑๔๖)

๔. ทรงกำหนดเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรม คือ ความหลุดพ้นทุกข์ หรือวิมุตติ ตัวอย่างเช่น เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ฉันใด ธรรมวินัยนี้ก็มีรสเดียว คือ วิมุตติรส ฉันนั้น (วิ. จุล. ๗/๔๖๒/๒๙๑)

๕. ทรงวางแผนเพื่อประกาศพระศาสนาไปในทิศต่าง ๆ

   ตัวอย่างเช่น ภิกษุทั้งหลาย...เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกันสองรูป...แม้เราเองก็จะไปยังตำบลอุรุเวลเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม (วิ. มหา. ๑/๓๒/๓๙)

๖. ทรงวางแผนให้เผยแผ่ธรรมด้วยหลักสมานฉันท์ ตัวอย่างเช่น ให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยขันติ คือ ความอดทน ไม่ให้ว่าร้ายหรือการเข่นฆ่าประหัตประหาร เพื่อบีบบังคับให้คนหันมานับถือพระพุทธศาสนา (ขุ. ธ. ๒๕/๒๔/๓๙)

พุทธวิธีในการจัดองค์กร

Buddha’s Organizing

๑. ทรงให้มีความเสมอภาคและภราดรภาพ                                                                                                                      

ตัวอย่างเช่น เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่บางสาย...ไหลถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนามและโคตรอันเดิมเสีย วรรณะ ๔...ผู้ออกเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและตระกูลเสีย เข้ามาเป็นสมณะ เชื้อสายศากยบุตรเหมือนกัน (วิ. จุล. ๗/๔๖๐/๒๙๐)

๒. ทรงกำหนดให้พระภิกษุเคารพกันตามลำดับพรรษา เพราะถ้าเท่าเทียมกันหมด ไม่มีใครฟังใครหรือยอมให้ใคร เช่น การอยู่ร่วมกันของคนที่เสมอกัน นำทุกข์มาให้ (ขุ. ธ. ๒๕/๓๑/๕๔)

๓. ทรงจัดตั้งพุทธบริษัท ๔ และทรงมอบอำนาจให้ สงฆ์บริหารจัดการเอง เช่น อธิกรณ์ , อุปสมบท ทรงเป็น ธรรมราชา ผู้บริหารสูงสุดในองค์กร เชน เราเป็นพระราชา นั่นคือ ธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม(ม. ม. ๑๓/๖๐๙/๕๕๔)

๔. ทรงแต่งตั้งพระสารีบุตร เป็นธรรมเสนาบดี มีฐานะเป็น รองประธานบริหารพุทธบริษัท และอัครสาวกฝ่ายขวา ทรงแต่งตั้ง พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย ดูแลงานบริหาร ทรงแต่งตั้ง พระอานนท์ เป็นเลขาธิการของพุทธองค์ และทรงแต่งตั้ง สาวกทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์เป็นเอตทัคคะ คือ ผู้ชำนาญการที่รับภาระงานด้านต่าง ๆ เช่น พระมหากัสปะ ทางด้านธุดงค์(องฺ. เอกก. ๒๐/๑๔๖/๓๐)

(เป็นการกระจายอำนาจ ใช้คนให้เหมาะสมกับงาน ( Put right man on the right job) )

พุทธวิธีในการบริหารงานบุคคล

Buddha’s Staffing

๑. การรับหรือบรรจุคนเข้ามาเป็นสมาชิกในพุทธบริษัท ๔ เช่น พระภิกษุ กำหนดคุณสมบัติและกลั่นกรองโดยคณะสงฆ์ ภิกษุณี กำหนดคุณสมบัติและกลั่นกรองโดยคณะสงฆ์ ทั้ง ๒ ฝ่าย อุบาสก กำหนดคุณสมบัติและแสดงตนเป็นพุทธมามกะ อุบาสิกา กำหนดคุณสมบัติและแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

๒. การพัฒนา : การศึกษาและฝึกอบรม ยึดหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เน้นภาคฝึกปฏิบัติ (Training) มากกว่าภาคทฤษฎี (Teaching) เช่น เธอทั้งหลายต้องทำความเพียรเผากิเลสเอง ตถาคตเจ้าเป็นแค่ผู้บอกทาง (ขุ. ธ. ๒๕/๓๐/๕๑)

๒.๑ การจูงใจ : สิทธิประโยชน์ การได้บรรลุความเป็นอริยบุคคลเช่นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

๒,๒ ผลของงาน เป็นไปตามกฎแห่งกรรม เช่น พฤติกรรมมนุษย์เป็นกระบวนการของกรรมและผลของกรรม (วิบาก) กล่าวคือ ทำกรรมดี ได้ผลดี ทำกรรมชั่ว ได้ผลชั่ว (ที. อ. ๒/๓๔)

๓. การธำรงรักษา มีการยกย่องและลงโทษ

นิคฺคณฺเห นิคฺคณฺหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคณฺหารหํ หมายถึง ข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง (ขุ. ชา. ๒๗/๒๔๒๒/๕๓๑)

 พุทธวิธีในการอำนวยการ

(Buddhas Directing)

๑. ผู้บริหารกับผู้นำ ผู้บริหาร หมายถึง ผู้ที่ทำให้คนอื่นทำงานตามที่ ผู้บริหารต้องการ ผู้นำ หมายถึงผู้ที่ทำให้คนอื่นต้องการทำงาน ตามที่ผู้นำต้องการ

๒. ผู้บริหารที่ดีต้องมีภาวะผู้นำที่สามารถจูงใจ ด้วยการสื่อสาร ด้วยหลัก ๔ ส.

๑. สันทัสสนา : แจ่มแจ้ง ๒. สมาทปนา : จูงใจ

๓. สมุตเตชนา : แกล้วกล้า ๔. สัมปหังสนา : ร่าเริง (ที.สี. ๙/๑๙๘/๑๖๑)

๓. หลักตถาคตอำนวยการ ตรัสอย่างไรแล้วทรงทำอย่างนั้น (ยถาวาที ตถาการี)

ทรงสอนให้รู้ (ยถาวาที) ทำให้ดู (ตถาการี) อยู่ให้เห็น (/๒๑๑/๒๕๕ที.ม. ๑๐ )

๔. การอำนวยการแบบอธิปไตย ๓ อัตตาธิปไตย หมายถึงถือตนเองเป็นใหญ่ โลกาธิปไตย หมายถึงถือคะแนนนิยมจากคนอื่นเป็นที่ตั้ง และ ธัมมาธิปไตย หมายถึง ยึดธรรมคือความถูกต้องเป็นหลัก

(องฺ.ติก. ๒๐/๔๗๙/๑๘๖)

พุทธวิธีในการกำกับดูแล

( Buddhas Controlling )

๑. ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ โดยเหตุผลดังนี้ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ เพื่อข่มบุคคลไร้ยางอายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ฯลฯ (วินย. ๑/๒๐/๓๗)

๒. ทรงให้มีการทบทวนสิกขาบททุกกึ่งเดือน ในตอนจบของศีลแต่ละสิกขาบท ผู้สวดถามที่ประชุมสงฆ์ว่า กจฺจิตฺถ ปริสุทฺธา ท่านทั้งหลายบริสุทธิ์ในศีลสิกขาบทนี้แล้วหรือ ? (วิ. มหา ๑/๓๐๐/๒๒๐)

๓. ทรงให้มีการตักเตือนกันเองวันปวารณา เช่น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ เพราะเห็นก็ดี เพราะได้ยินก็ดี เพราะสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าเห็นว่าผิดพลาด ก็จักปรับปรุงแก้ไขตัวเอง (วิ. มหา. ๔/๒๒๖/๓๑๔)

๔. ทรงให้ขับผู้ทุศีลออกจากสงฆ์ เช่น เปรียบเหมือนมหาสมุทรไม่ร่วมกับซากศพที่ตายแล้ว ซากศพที่ตายแล้วใดมีอยู่ในมหาสมุทร มหาสมุทรย่อมนำซากศพที่ตายแล้วนั้นไปสู่ฝั่ง ซัดขึ้นบกโดยพลัน

กล่าวโดยสรุป

๑. ทรงให้ถือประโยชน์สุขส่วนรวมเป็นสำคัญ เช่น ถ้าเห็นว่าจะได้ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่ เพราะสละประโยชน์สุขเล็กน้อย บุคคลควรสละประโยชน์สุขเล็กน้อย เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่ (ขุ.ธ. ๒๕/๘/๙)

๒. ทรงให้ประพฤติตามครรลองครองธรรม เช่น เมื่อฝูงโคข้ามฟากแม่น้ำ ถ้าโคผู้นำฝูงไปตรง โคเหล่านั้นย่อมไปตรงทั้งหมดในเมื่อโคผู้นำฝูงไปตรง ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติ

๓. ทรงยกย่องนักบริหาร ผู้ประสาน ๑๐ ทิศ

เอโส หิ อุตฺตริตโร ภาราวโห ธุรนฺธุโร โย ปเรสาธิปนฺนานํ สยํ สนฺธาตุมรหติ ผู้ใดเมื่อคนเหล่าอื่นขัดแย้งกันอยู่ ตนเองเป็นผู้ประสานให้พวกเขาดีกัน ผู้นั้นเป็นคนรับภาระและจัดการธุระที่ยอดเยี่ยม

                                                                                                               

พุทธวิธีในการวางแผน

      เมื่อว่าตามคำนิยามและหน้าที่ของนักบริหารดังกล่าวมานี้ เราต้องยอมรับว่า หลังจากตรัสรู้ในวันเพ็ญกลางเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ตามลำพังพระองค์เดียว ในขั้นนี้ยังไม่มีการบริหารในพระพุทธศาสนา การบริหารเกิดขึ้น เมื่อมีสมาชิกใหม่เข้ามาในพระพุทธศาสนา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๒ เดือน นั่นคือ เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา แก่พระปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหบูชา ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ด้วงตาเห็นธรรมแล้วขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงประทานการอุปสมบทแก่ท่านอัญญาโกณฑัญญะด้วยพุทธดำรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทถกจ์โดยชอบเถิด”

เราจะเห็นได้ว่าในพุทธดำรัสนี้ มีการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการอุปสมบทไว้ชัดเจนว่า “เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” นั่นหมายถึงว่า มีการกำหนดวัตถุประสงค์ส่วนตัวเพื่อให้สมาชิกใหม่ได้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้ผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนายุดเป้าหมายเดียวกัน คือ มุ่งปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในโอกาสอื่นว่า พรหมจรรย์

(การบวช) นี้ไม่ได้มีไว้สำหรับแสวงหาลาภสักการะและคำสรรเสริญ ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อศีล สมาธิ และปัญญาเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อเจโตวิมุตติหรือความหลุดพ้นแห่งจิต (ม. มู. ๑๒/๓๕๒/๗๓๓)

       ในพุทธวิธีเกี่ยวกับวางแผนนี้ สิ่งที่สำคัญมากคือผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้บริหารต้องมีจักขุมา แปลว่า มีสายตาที่ยาวไกล คือมองการณ์ไกล (อง ติก. ๒๐/๔๕๙/๑๔๖) วิสัยทัศน์ช่วยให้ผู้บริหารสามารถวาดภาพจุดหมายปลายทางได้ชัดเจนและใช้สื่อสารให้สมาชิกภายในองค์กรยอมรับและดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นองค์กรทั้งหมดก็จะถูกขับเคลื่อนไปด้วยวิสัยทัศน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงกำหนดจุดหมายปลายทางในพระพุทธศาสนาไว้ว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมทุกอย่างมีเป้าหมายสูงสุดที่จุดเดียวคือวิมุตติ (ความหลุด พ้นทุกข์) ดังพุทธพจน์ที่ว่า “เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม ฉันใด ธรรมวินัยนี้ก็มีรสเดียวคือวิมุตติรส ฉันนั้น) (วิ.จุล. ๗/๔๖๒/๒๙๑)

         การถือเอาความหลุดพ้นทุกข์เป็นวัตถุหระสงค์ส่วนตัวสำหรับสมาชิกทุกคนในพระพุทธศาสนานี้ใช้ได้กับผู้ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่เมื่อสมาชิกนั้นเป็นพระอรหันต์ได้เจโตวิมุตติ หลุดพ้นทุกข์แล้ววัตถุประสงค์ของเขาก็เปลี่ยนไป นั่นคือแทนที่จะดำเนินชีวิตเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัว พระอรหันต์จะดำเนินชีวิตเพื่อช่วยคนอื่นให้หลุดพ้นทุกข์ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อพ้นพรรษาแรก มีภิกษุผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ๖๐ รูป พระพุทธเจ้าทรงวางแฟนเพื่อประกาศพระศาสนาแล้วส่งพระสาวกเหล่านั้นให้แยกย้ายกันไปในทิศทางต่าง ๆ ด้วยพระดำรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกันสองรูป...แม้เราเองก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม” (วิ.มหา. ๑/๓๒/๓๙)

เนื่องจากพระสงฆ์มีจำนวนจำกัด พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญชาให้แต่ละรูปไปตามลำพังคนเดียว ส่วนพระองค์เองทรงเลือกไปประกาศธรรมแก่เจ้าลัทธิในแคว้นมคธ คือ ชฏิลสามพี่น้องที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พระพุทธเข้าทรงใช้เวลา ๒ เดือนปราบพยศชฏิลสามพี่น้องและบริวาร จนทำให้พวกเขาหันมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จากนั้น ได้เสด็จไปเทศน์โปรดพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชาแห่งแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารและประชาชนชาวมคธพอเห็นว่าชฏิลสามพี่น้องที่พวกตนนับถือได้ยอมเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็คลายทิฐิมานะหันมาตั้งใจฟังธรรม ในที่สุดก็ได้ดวงตาเห็นธรรมและหันมานับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลาไม่นานนับจากวันตรัสรู้ก็สามารถวางรากฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ ซึ่งเป็นหนึ่งในแคว้นมหาอำนาจสมัยนั้น นี่เป็นผลจากการวางแผนประกาศพระศาสนาในเบื้องต้นของพระพุทธเจ้า

        ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ประสบความสำเร็จในการประกาศพระศาสนา โดยที่หาผู้บรรลุธรรมตามอย่างพระพุทธองค์ไม่ได้สักคนเดียว พระพุทธเจ้าก็เป็นเพียงพระปัจเจกพุทธะ คือ ผู้ตรัสรู้เฉพาะตนที่ไม่สามารถสอนคนอื่นให้ตรัสรู้ตามได้ จึงไม่ใช่นักบริหาร แต่เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถสอนให้คนอื่นตรัสรู้ตามได้พระองค์จึงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะผู้สามารถจัดตั้งองค์กรพระพุทธศาสนา และเป็นนักบริหารกิจการพระศาสนา

ในการวางแผนเพื่อประกาศพระศาสนาดังกล่าวมานั้น พระพุทธเจ้าทรงกำหนดวัตถุประสงค์สำหรับให้สมาชิกในองค์กรทุกคนถือปฏิบัติเป็นแบบเดียวกัน นั้นคือให้สมาชิกยึดความหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัวหรือความหลุดพ้นทุกข์ของคนอื่นเป็นเป้าหมายของการดำเนินชีวิต การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัว เรียกว่า อัตตหิตสมบัติ การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ของคนอื่น เรียกว่า ปรหิตปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าทรงมีทั้งอัตตหิตสมบัติที่เกอดจากพระปัญญาคุณและปรหิตปฏิบัติที่เกิดจากพระกรุณาคุณ จึงทรงวางรากฐานในการประกาศพระศาสนาด้วยการแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ในวันมาฆบูชา หลังจากตรัสรู้ได้ ๙ เดือน

โอวาทปาฏิโมกข์ หมายถึง คำสอนที่เป็นหลักสำคัญในการเผยแผ่ในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระอรหันต์เพื่อให้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป ในโอวาทปาฏิโมกข์นี้ มีการกำหนดให้นิพพานหรือความหลุดพ้นทุกข์เป็นเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม แนวทางปฏิบัติธรรมให้ยึดหลัก ๓ ประการ คือ ไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ผ่องใส นอกจากนี้ยังกำหนดวิธีการประกาศพระพุทธศาสนาว่า ให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยขันติหรือความอดทน ไม่ให้ใช้การว่าร้ายหรือการเข่นฆ่าประหัตประหาร เพื่อบีบบับคับให้คนหันมานับถือพระพุทธศาสนา (ขุ.ธ. ๒๕/๒๔/๓๙) ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ

           จะเห็นได้ว่าในการวางแผนเพื่อบริหารองค์กรของพระพุทธเจ้านั้นมีการใช้วิสัยทัศน์กำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และพันธกิจขององค์กรคณะสงฆ์ไว้อย่างชัดเจน องค์กรพระพุทธศาสนาเจริญเติบโตขึ้นมาได้เพราะผลจากวิสัยทัศน์ของพระพุทธเจ้า

ในการรับสมาชิกใหม่เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจะมรการกำหนดให้สมาชิกทุกคนเริ่มต้นจากศูนย์ นั่นคือ ไม่มีการอนุญาตให้นำชาติชั้นวรรณะหรือตำแหน่งหน้าที่ในเพศฆราวาสเข้ามาในองค์กรคณะสงฆ์ ดังพุทธพจน์ที่ว่า “เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่บางสายคือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรอันเดิมเสีย ถึงซึ่งอันนับว่ามหาสมุทรเหมือนกันวรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็เช่นเดียวกันคือ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วย่อมละชื่อและตระกูลเดิมเสีย ถึงซึ่งอันนับว่าสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหมือนกัน” (วิ.จุล. ๗/๔๖๐/๒๙๐)

     พุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นว่า ทุกคนที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นพระภิกษุเสมอเหมือนกันหมด การอยู่ร่วมกันของคนที่เท่าเทียมกันนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับบัญชาภายในองค์กร เพราะเหตุที่ว่าเมื่อสมาชิกถือตัวว่า เท่าเทียมกับคนอื่นก็จะไม่มีใครเชื่อฟังใครหรือยอมลงให้ใคร ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “การอยู่ร่วมกันของคนที่เสทอกันนำทุกข์มาให้) (ขุ.ธ. ๒๕/๓๑/๕๔) ถ้าเป็นเช่นนั้นการบังคับบัญชาภายในองค์กรก็มีไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดให้พระภิกษุต้องเคารพกันตามลำดับพรรษา ผู้บวชทีหลังต้องแสดงความเคารพต่อผู้บวชก่อน

         เมื่อสาวกมีจำนวนมากขึ้น พระพุทธเจ้าทรงจัดองค์การในพระพุทธศาสนาออกเป็นพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในส่วนของภิกษุบริษัทและภิกษุณีบริษัท พระพุทธเจ้าทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่คณะสงฆ์ ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงกระจายอำนายให้คณะสงฆ์ดำเนินการอุปสมบท เมื่อมีกิจจาธิกรณ์หรือกิจการที่จะต้องทำร่วมกัน คณะสงฆ์สามารถบริหารจัดการเอง หรือเมื่อมีกรณีความขัดแย้งเกิดขึ้นในคณะสงฆ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงมอบอำนาจให้คณะสงฆ์เป็นผู้จัดการแก้ปัญหา

พระพุทธเจ้าทรงดำรงตำแหน่งเป็นธรรมราชา คือผู้บริหารสูงสุดในองค์กรพระพุทธศาสนา ดังพุทธพจน์ที่ว่า “เราเป็นพระราชานั่นคือเป็นธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม” (ม.ม. ๑๓/๖๐๙/๕๕๔) พระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งพระสารีบุตรให้เป็นพระธรรมเสนาบดี มีฐานะเป็นรองประธานบริหาร อยู่ในลำดับถัดมาจากพระพุทธเจ้า และเป็นอัครสาวกฝ่ายขวารับผิดชอบ งานด้านวิชาการ พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้ายรับผิดชอบ งานด้านบริหาร พระอานนท์เป็นเลขานุการส่วนพระองค์ และทรงแต่งตั้งสาวกทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์เป็นเอตทัคคะ คือ ผู้ชำนาญการที่รับภาระงานด้านต่าง ๆ เช่น พระมหากัสสปะเป็นผู้ชำนาญด้านธุดงค์ พระปุณณะมันตานีบุตรเป็นผู้ชำนาญด้านการแสดงธรรม ภิกษุณีปฏาจาราเป็นผู้ชำนาญด้านวินัย จิตตคหบดีเป็นผู้ชำนาญด้านการแสดงธรรม (องฺ.เอกก. ๒๐/๑๔๖/๓๐) การแต่งตั้งเอตทัคคะนี้เป็นตัวอย่างของกระจายอำนาจ และการใช้คนให้เหมาะกับงานในพระพุทธศาสนา

         ประเพณีปฏิบัติในสมัยปัจจุบันที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ผู้มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ ก็สอดคล้องกับการแต่งตั้งเอตทัคคะในครั้งพุทธกาลนั่นเอง ส่วนการที่มหาวิทยาลัยทั้งหลายถวายปริญญากิตติมศักดิ์แก่พระสงฆ์ในสมัยปัจจุบันก็พออนุโลมให้เป็นการยกย่องพระเถระเป็นเอตทัคคะในด้านต่าง ๆ ได้เหมือนกัน

                   

ธรรมเพื่อการบริหาร

          วิธีบริหารงานที่ดี คือ ธรรมาธิปไตยที่ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ ซึ่งทำให้ได้ทั้งน้ำคนและผลของงาน นักบริหารแบบธรรมาธิปไตยยึดธรรมเป็นหลักในการบริหาร เขามีธรรมที่เรียกว่า พละ ๔ ประการ

๑) ปัญญาพละ กำลังความรู้หรือความฉลาด

๒) วิริยพละ กำลังแห่งความเพียร

๓) อนวัชชพละ กำลังการงานที่ไม่มีโทษหรือความสุจริต

๔) สังคหพละ กำลังการสงเคราะห์ หรือ มนุษยสัมพันธ์

      พละหรือกำลังแห่งคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ช่วยทำให้นักบริหารปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ นักบริหารจะสามารถวางแผน จัดองค์การ แต่งตั้งบุคลากรอำนวยการ และควบคุมได้ดีต้องมีความฉลาด ขยัน สุจริต และมนุษยสัมพันธ์ ยิ่งเขามีคุณธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้เพิ่มมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ตรงกันข้ามถ้าใครคนใดขาดคุณธรรมทั้ง ๔ ประการแม้เพียงบางข้อ เขาก็เป็นนักบริหารที่ดีไม่ได้

          นักบริหารต้องเป็นคนฉลาดรอบรู้และขยันขันแข็ง เรื่องนี้เข้าใจได้ง่ายว่าเพราะเหตุใด คนโง่และเกียจคร้านเป็นนักบริหารเมื่อใดก็พาให้องค์กรล่มจมเมื่อนั้น

คนบางคนมีทั้งความฉลาดและความขยัน แต่เขาก็ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นนักบริหาร เมื่อสอบถามแล้วก็ได้รับคำอธิบายจากผู้ใหญ่ว่า “คนคนนี้อะไร ๆ ก็ดีหรอก สียอยู่อย่างเดียวคือเลว เขาเป็นคนที่ฉลาดและขยัน แต่ฉลาดโกงและขยันโกง”

ดังนั้นนักบริหารที่ดีต้องมีความฉลาด ความขยัน และความสุจริต

คนบางคนมีคุณธรรมทั้งสามประการ คือเป็นคนฉลาดขยันและสุจริต แต่เขาก็ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นนักบริหารเมื่อสอบถามแล้วก็ได้รับคำอธิบายว่า “คนคนนี้เป็นคนดีจริง แต่เป็นคนดีที่โลกไม่ต้องการ เพราะเขาถือว่าตัวฉลาดกว่าคนอื่น จึงได้เที่ยววิพากษ์วิจารณ์ชาวบ้าน ขยันก่อศัตรูทั่วไป เขาเป็นคนที่พูดไม่เข้าหูคน และค่อนข้างจะแล้งน้ำใจ” นี่แสดงว่า คนคนนี้ขาดมนุษยสัมพันธ์ จึงทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้

เหตุนั้นนักบริหารที่เก่งและดี ต้องมีพละหรือกำลังภายใน ๔ ประการ คือ ความฉลาด ความขยัน ความสุจริต และมนุษยสัมพันธ์

          นักบริหารต้องหมั่นพิจารณาตรวจสอบตนเองว่า มีพละความทั้ง ๔ ข้อหรือไม่ หากพบว่าตนขาดพละข้อใด ต้องพัฒนาข้อนั้น แม้พละทั้ง ๔ ข้อนี้จะมีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่ละพละข้อที่ ๔ คือ สังคหพละ จะสำคัญมาก เนื่องจากนักบริหารทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น ดังนั้น นักบริหารจะเสียเรื่องมนุษยสัมพันธ์ไม่ได้ นโปเลียนมหาราชกล่าวว่าการจะเป็นใหญ่ ท่านต้องมี ๒ สิ่ง คือ

๑) มีศัตรูที่กล้าแข็งที่สุด และ

๒) มีมิตรที่ซื่อสัตย์ที่สุด

       เพื่อจะขึ้นสูงท่านจะต้องผ่านด่านอันตรายให้ได้ นั่นคือต้องเอาชนะอุปสรรคหรือศัตรูที่กล้าแข็งเสียก่อน ท่านจึงจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ แต่ท่านจะเอาชนะอุปสรรคหรือศัตรูไม่ได้ ถ้าท่านไม่มีกัลยาณมิตรที่ซื่อสัตย์ที่สุดไว้คอยช่วยเหลือท่าน ท่านจะมีมิตรเช่นนั้นได้ก็ด้วย “สังคหพละ”

      ต่อไปนี้เราจะพิจารณาความหมายของพละแต่ละข้อ และวิธีพัฒนาพละสำหรับนักบริหาร

๑. ปัญญาพละ : กำลังแห่งความรอบรู้

ปัญญาพละ หมายถึง กำลังแห่งความรอบรู้ ความรู้มีหลายระดับ บางคนเห็นคำว่า “ปัญญาพละ” ก็สะกดและอ่านได้ แต่ไม่รู้ความหมายของคำ ในกรณีนี้ความรู้แค่อ่านออกจัดเป็นความรู้ระดับ “สัญญา” คือ ความจำได้หมายรู้ เมื่อตาเห็นภาพ การรับรู้ภาพจัดเป็นรูปสัญญา เมื่อหูได้ยินเสียง การรับรู้เสียงเป็นสัททสัญญา ฯลฯ สัญญา (perception) จึงเป็นการรับรู้เฉพาะส่วน คือ เห็นแค่ไหน รับรู้แค่นั้น ได้ยินแค่ไหน เช้าใจแค่นั้น ฯลฯ แต่ปัญญารู้มากกว่านั้น เพราะปัญญาเป็นความรอบรู้ เช่น บางคนพอเห็นคำว่า “ปัญญาพละ” ก็อธิบายได้ว่าหมายความว่าอย่างไร และจะพัฒนาขึ้นได้ด้วยวิธีไหน ความรู้ของเขาจัดเป็นปัญญา คือ รู้มากกว่าที่เห็น เข้าใจมากกว่าที่ได้ยิน เช่น เด็กของเราไม่สบายเราจับตัวเด็ก ก็รู้ตัวว่าเด็กตัวร้อนจึงพาไปหาหมอ พอหมอจับตัวเด็กตรวจดูอาการเท่านั้น หมอรู้ว่าเด็กป่วยเป็นโรคอะไร และสั่งยารักษาโรคได้ ความรู้ของเราว่าเด็กตัวร้อนเป็นความรู้ระดับสัญญา ส่วนความรู้ของหมอเป็นความรู้ระดับปัญญา

นักบริหารต้องมีปัญญา คือ ความรอบรู้เกี่ยวกับงานในหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปนักบริหารต้องทำหน้าที่บริหารตน บริหารคน และบริหารงาน ดังนั้นเขาต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับตนเอง คนอื่น และงานในความรับผิดชอบนั้นคือนักบริหารต้องมีความรู้ ๓ เรื่อง ได้แก่ รู้ตน รู้คน รู้งาน

ก. รู้ตน

หมายความว่า นักบริหารต้องรู้จักความเด่นและความด้อยของตนเอง การรู้ความเด่นก็เพื่อทำงานที่เหมาะกับความสามารถของตน ตามปกตินักบริหารมักมองเป็นความผิดพลาดของลูกน้องได้ง่าย แต่มองข้ามความผิดพลาดของตน

ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ความผิดพลาดของคนอื่นเห็นได้ง่าน แต่ความผิดพลาดชองตนเองเห็นได้ยาก”

         เมื่อนักบริหารทำงานผิดพลาด ลูกน้องไม่กล้าบอกหรือแนะนำ ดังนั้นนกบริหารต้องหัดมองตนและตักเตือนตนเอง ดังพุทธพจน์ที่ว่า “อตฺตนา โจทยตฺตานํ จงเตือนตนด้วยตนเอง” เช่น ถ้านักบริหารสั่งการหลายครั้ง แต่ลูกน้องไม่เข้าใจ นักบริหารก็อย่าด่วนตำหนิลูกน้องว่าโง่เง่า บางทีตัวเราเองอาจสั่งการไม่ชัดเจนก็เป็นได้ ดังภาษิตอุทานธรรมที่ว่า

“ถ้าพูดไป เขาไม่รู้ อย่าขู่เขา

ว่าโง่เง่า งมเงอะ เซอะนักหนา

ตัวของเรา ทำไม ไม่โกรธา

ว่าพูดจา ให้เขา ไม่เข้าใจ”

         การที่นักบริหารมักมองไม่เห็นความผิดพลาดของตนนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะวันหนึ่ง ๆ ดวงตาของเรามีไว้สำหรับมองด้านนอกมันไม่ได้มองตัวเราเอง เวลาคนอื่นทำผิดพลาดเราจึงเห็นทันที แต่เวลาเราทำผิดพลาดเองกลับมองไม่เห็น ดังนั้นเพื่อสำรวจตนเอง นักบริหารต้องหัดมองด้านใน คือ เจริญวิปัสสนา ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Insight คือทองด้านในนั่นเองวิปัสสนากรรมฐานเน้นเรื่องการเจริญสติ พิจารณากาย เวทนา จิต และธรรม หรือความดีและความชั่วในใจของเรา

โลกภายนอก กว้างไกล ใครใครรู้

โลกภายใน ลึกซึ้งอยู่ รู้บ้างไหม

จะมองโลก ภายนอก มองออกไป

จะมองโลก ภายใน ให้มองคน

ข. รู้คน

หมายถึง ความรอบรู้เกี่ยวกับคนร่วมงาน นักบริหารต้องรู้ว่าใครมีความสามารถในด้านใด เพื่อจะได้ใช้คนให้เหมะกับงานนอกจากนั้น นักบริหารต้องรู้จักจริตของคนร่วมงาน เพื่อใช้งานที่เหมาะสมกับจริตของเขา

       จริต ได้แก่คนที่ประพฤติบางอย่างเคยชินจนเป็นนิสัย จริตจึงหมายถึงประเภทนิสัยของคนมี ๖ แบบด้วยกัน คือ

๑) ราคจริตคือ พวกรักสวยรักงาม มักทำอะไรประณีตเรียบร้อยและใจเย็น คนพวกนี้ชอบทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดประณีต

๒) โทสจริตคือ พวกใจร้อน ชอบความเร็ว และมักหงุดหงิดง่ายถ้าถูกขัดใจ คนพวกนี้ชอบทำงานที่ต้องใช้ความรวดเร็ว

๓) โมหจริตคือ พวกเขลาซึม ขาดความกระตือรือร้นทำงานอืดอาด เฉื่อยชา ชอบหลับในที่ทำงานเป็นประจำ

๔) สัทธาจริตคือ พวกเชื่อง่าย เวลามีข่าวเรื่องแปลกแต่จริง เชื่อหรือไม่ พวกนี้จะเชื่อก่อนใคร คนพวกนี้ถ้าชอบใครจะทำงานให้เต็มที่

๕) พุทธิจริตคือ พวกใฝ่รู้ เป็นคนช่างสงสัย รักการศึกษาหาความรู้ มักต้องการรายละเอียดมากกว่าคนอื่น คนพวกนี้ถนัดทำงานด้านวิชาการ

๖) วิตกจริตคือ พวกช่างกังวล เป็นคนไม่กล้าตัดสินใจมักปล่อยเรื่องค้างไว้เป็นเวลานาน โดยไม่ยอมลงนาม หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราต้องการคนใส่เบรคให้กับการตัดสินใจของเราบ้างลองปรึกษาคนพวกนี้

คนจริตใดเราก็พอทำงานร่วมกันกับพวกเขาได้พวกที่นักบริหารต้องระวังให้มากคือ วิกลจริตที่แฝงเข้ามาในองค์กร

ค. รู้งาน

        หมายถึง ความรอบรู้เกี่ยวกับงานในความรับผิดชอบเพื่อประโยชน์ในการวางแผนบรรจุบุคลากร อำนวยการและติดตามประเมินผล ความรู้เรื่องงานมี ๒ ลักษณะ คือ รู้เท่าและรู้ทัน

“รู้เท่า” คือ ความรู้รอบด้านเกี่ยวกับงานว่ามีขั้นตอนอย่างไรและมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ อย่างไร และยังหมายถึงความรู้เท่าถึงการณ์ในเมื่อเห็นเหตุแล้วคาดว่าผลอะไรจะตามมา แล้วเตรียมการป้องกันไว้ เหมือนคนขับรถลงจากภูเขาที่เขาชินกับเส้นทางว่าที่ใดมีเหวหรือเป็นทางโค้งอันตราย แล้วขับอย่างระมัดระวังเมื่อถึงที่นั้นความรู้เท่าจึงช่วยให้มีการป้องกันไว้ก่อน

“รู้ทัน” หมายถึงความรู้เท่าทันสถานการณ์ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ดังกรณีของคนที่ขับรถลงจากภูเขาแล้วรถเบรกแตก เมื่อเจอกับสภาพปัญหาเช่นนั้น เขาตัดสินใจฉับพลันว่าจะทำอย่างไร นั้นเป็นความรู้ทันเพื่อนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าความรู้เกี่ยวกับงานจึงได้แก่ ความรู้เท่าและความรู้ทัน

รู้เท่าเอาไว้ป้องกัน รู้ทันเอาไว้แก้ไข

นักบริหารต้องพัฒนาปัญญา

      ปัญญา คือ ความรู้ตน รู้คน และรู้งาน เป็นสิ่งสำคัญในการบริหาร นักบริหารต้องพัฒนาปัญญาอยู่เสมอ ด้วยวิธีพัฒนาปัญญา ๓ ประการ ดังนี้

๑. สุตามยปัญญา

      หมายถึง ความรอบรู้ที่เกิดจากสุตะ คือ การรับข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ คนที่มีปัญญาประเภทนี้ต้องเป็นคนอ่านมากและฟังมาก ใครที่จดจำเรื่องราวที่อ่านและฟังแล้วได้มากมาย เรียกว่า พหูสูต

      นักบริหารต้องพัฒนาปัญญาขั้นสุตะอยู่เสมอ นั่นคือเกาะติดสถานการณ์ ด้วยการขยันอ่านหนังสือ ใช้ข้อมูลจากงานวิจัย และฟังคำแนะนำของวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญ ก่อนสั่งการแต่ละครั้งนักบริหารต้องมีข้อมูลพร้อมเพื่อประกอบการตัดสินใจ

นักบริหารควรมีใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นที่เสนอแนะจากทุกฝ่ายเขาไม่ควรปิดใจตัวเองไม่รับข้อมูลใหม่ เพราะหลงผิดคิดว่าตัวเองรู้ดีอยู่แล้ว เขาควรยึดแนวปฏิบัติของ

โสคราตีสผู้กล่าวว่า “หนึ่งเดียวที่ข้าพเจ้ารู้ คือรู้ว่าข้าพเจ้าไม่รู้อะไร”เมื่อรู้ตัวว่าขาดความรู้ในเรื่องใด โสคราตีสก็ศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้น

       พระพุทธเจ้าเสนอคำสอนในทำนองเดียวกันเมื่อพระองค์ตรัสว่า “คนโง่ (พาล) ที่รู้ตัวเองว่าเป็นคนโง่ยังพอเป็นคนฉลาด (บัณฑิต) ได้บ้าง แต่คนโง่ที่สำคัญผิดคิดว่าตัวเป็นคนฉลาด จัดเป็นคนโง่แท้ ๆ”

       ดังนั้น นักบริหารต้องรู้จักแกล้งทำโง่เพื่อศึกษาหาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ดังภาษิตที่ว่า

“หัดนิ่งเป็นบ้าง หัดโง่เป็นบ้าง หัดแพ้เป็นบ้าง

นั่นแหละ ท่านกำลังชนะ และกำลังฉลาดขึ้น”

        เวลาศึกษาความรู้เรื่องใหม่ นักบริหารต้องเก็บความรู้เก่าใส่ลิ้นชักสมองไว้ชั่วคราว อย่าให้เรื่องเก่าครอบงำความคิด กลายเป็นอคติบังตาเสียจนไม่ยอมรับข้อมูลใหม่ หรือไม่ยอมรับปรับเปลี่ยนความคิดให้ทันเหตุการณ์ นั่นคือต้องมียถาภูตญาณทัสสนะ หมายถึง ความรู้เห็นตามความเป็นจริง นักบริหารต้องรู้จักคนตามที่เขาเป็น ไม่ใช่ว่าชอบใคร หลงใคร ก็ปกป้องคนนั้น ทั้ง ๆ ที่เขาทำผิดมหันต์ หรือเกลียดใคร ก็ตำหนิคนนั้น ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย นักบริหารต้องมองคนที่เป็นจริง ด้วยการถอดแว่นสีออกจากปัญญาจักษุ

           อคติหรือความลำเอียงเปรียบเสมือนแว่นสีที่เราสวมใส่ ซึ่งกำหนดให้เรามองโลกไปตามสีของแว่น เราไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง คนที่สวมแว่นสีเขียวจะมองเห็นทุกสิ่งเป็นสีเขียว คนที่สวมแว่นสีแดงจะมองเห็นทุกสิ่งเป็นสีแดง สีที่แท้จริง คืออะไรเขาไม่มีทางทราบ อคติที่ว่านั้น มี ๔ ประการ คือ

๑) ฉันทาคติ(ลำเอียงเพราะชอบ) ถ้าเราชอบใครไม่ว่าเขาจะพูดหรือทำอะไร เราเห็นกับเขาไปเสียทุกอย่าง

๒) โทสาคติ(ลำเอียงเพราะชัง) ถ้าเราชังใครไม่ว่าเขาจะพูดหรือทำอะไร เรารู้สึกขวางหูขวางตาไปหมด

๓) โมหาคติ(ลำเอียงเพราะหลง) ถ้าเราขาดข้อมูลในเรื่องใด พอมีคนให้ข้อมูลเท็จในเรื่องนั้น เรามักเชื่อเขาและตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย

๔) ภยาคติ(ลำเอียงเพราะกลัว) ถ้าผู้มีอำนาจสั่งให้เราพูดหรือทำสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกของเรา บางครั้งเราจำเป็นต้องทำตามเพราะความกลัวภัย

นักบริหารที่ดีต้องมีความยุติธรรมในหัวใจ เขาตัดสินคนตามที่เป็นจริง เพราะเขาไม่ยอมให้อคติทั้ง ๔ ประการมาเป็นม่านบังตา เขาจะทำอย่างนั้นได้ก็ต่อเมื่อรู้จักวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องที่เห็นหรือได้ยินด้วยจินตามยปัญญา

๒. จินตามยปัญญา

       หมายถึง ความรอบรู้ที่เกิดจากการคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่เรารับมาจากการฟังหรือการอ่าน สุตมยปัญญาเปรียบเสมือนการรับประทานอาหารในขั้นตักบาตรใส่ปาก

จินตามยปัญญาเปรียบเหมือนการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดแล้วกลืนลงไป คนบางคนฟังเรื่องอะไรแล้วเชื่อทันทีโดยไม่ทันพิจารณา เหมือนกับคนที่กลืนอาหารโดยไม่ทันได้เคี้ยว การพินิจพิจารณาไตร่ตรองเรื่องที่ฟังหรืออ่าน รวมถึงการตรวจสอบแหล่งข่าว แหล่งข้อมูล หรือหนังสืออ้างอิง เหล่านี้เป็นกระบวนการของจินตามยปัญญา

คนบางคนจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้มาก แต่วิเคราะห์ไม่เป็น บางคนท่องกฎหมายได้ทุกมาตรา แต่ไม่สามารถตีความกฎหมายเหล่านั้น คนเหล่านี้ขาดจินตามยปัญญา

คนทีมีจินตามยปัญญา ได้แก่ คนที่คิดเป็นตามแบบโยนิโสมนสิการ

โยนิโส แปลว่า ถูกต้อง แยบคาย

มนสิการ แปลว่า ทำไว้ในใจหรือการคิด

       ดังนั้น โยนิโสมนสิการจึงหมายถึง การทำไว้ในใจโดยแยบคาย หรือการคิดเป็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

      คนโบราณเข้าใจความสำคัญของโยนิโสมนสิการดี จึงกล่าวได้ว่า

“สิบปากว่าไม่เท่าหนึ่งตาเห็น

สิบตาเห็นไม่เท่าหนึ่งมือคลำ

สิบมือคลำไม่เท่าหนึ่งทำไว้ในใจ”

        คำว่า “ทำไว้ในใจ” คือ โยนิโสมนสิการ การคิดแบบโยนิโสมนสิการ สรุปได้ ๔ วิธี คือ

๑) อปายมนสิการ(คิดถูกวิธี) หมายถึง การคิดที่อาศัยวิธีการ (Methodology) อันสอดคล้องกับเรื่องที่ศึกษา เช่นเดียวกับการทำวิจัยต้องมีระเบียบวิธีวิจัยที่เหมาะสม หากใช้วิธีวิจัยผิดก็จะไม่ได้ความจริงในเรื่องนั้น

การตรวจสอบความจริงบางเรื่องต้องใช้วิธีอุปนัย (Induction) บางเรื่องต้องใช้วิธีนิรนัย (Deduction) แต่บางเรื่องต้องใช้ประสบการณ์ตรงเป็นเครื่องตรวจสอบยืนยันความจริง เช่น พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า การทรมานตนหรือทุกขกิริยาไม่ใช่วิธีบำเพ็ญเพียรที่ถูกต้อง เมื่อพระองค์ทรงหันมาใช้วิธีบำเพ็ญเพียรทางจิต จึงต้องตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

๒) ปตมนสิการ(คิดมีระเบียบ) หมายถึง การคิดที่ดำเนินตามขั้นตอนของวิธีการนั้น ๆ ไม่มีการลัดขั้นตอน หรือด่วนสรุปเกินข้อมูลที่ได้มา

การด่วนสรุปจัดเป็นเหตุผลวิบัติ (Fallacy) ประการหนึ่ง ดังกรณีที่เราหยิบส้มผลหนึ่งมาชิม เมื่อส้มผลนั้นเปรี้ยว เราก็ด่วนสรุปว่าส้มที่เหลือในลังทั้งหมดเปรี้ยว นอกจากนั้นการคิดต้องดำเนินตรงทางไปสู้เป้าหมาย โดยไม่มีการฟุ้งซ่านออกนอกทาง นั่นคือ นักบริหารต้องมีสมาธิในการคิด บางคนกำลังค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำวิจัยเรื่องน้ำท่วมอยู่ดี ๆ เมื่อพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องภัยแล้งก็ลืมจุดมุ่งหมายเดิม เขาไปเสียเวลาอ่านข้อมูลเรื่องภัยแล้ง ซึ่งออกนอกทางไปเลย คนนี้ไม่มีปถมนสิการ

๓) การณมนสิการ(คิดมีเหตุผล) หมายถึง การคิดจากเหตุโยงไปหาผล (ธัมมัญญุตา) และการคิดจากผลสาวกลับไปหาเหตุ (อัตถัญญุตา) และการคิดแบบนี้จะทำให้นักบริหารเป็นคนรู้เท่าทันเหตุการณ์ เมื่อจะสั่งการแต่ละครั้งต้องคาดได้ว่าผลอะไรจะคามมาหรือเมื่อเห็นความผิดปกติเกิดขึ้นในองค์การต้องสามารถบอกได้ว่าจากสาเหตุอะไร นอกจากนั้นนักบริหารไม่กลัวความล้มเหลว อันที่จริงความล้มเหลวไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความล้มเหลวนั้นแท้ที่จริงคือวิบากหรือผลของกรรมที่ไม่ดี ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ ครั้งต่อไปเร่ต้องทำกรรมคือเหตุที่ดี แล้ววิบากหรือผลที่ดีก็จะตามมา

๔) อุปปาทมนสิการ(คิดเป็นกุศล) หมายถึงการคิดแง่สร้างสรรค์ (Creative thinking) คือคิดให้มีความหวัง และได้กำลังใจในการทำงาน เมื่อเห็นหรือได้ยินอะไรก็เก็บมาปรับใช้ประโยชน์ในหน่วยงานของตน ดังที่ขงจื้อกล่าวว่า

   “เมื่อข้าพเจ้าเห็นคนสองคนเดินสวนทางมา คนหนึ่งเป็นคนดี อีกคนหนึ่งเป็นคนเลว คนทั้งสองเป็นครูของข้าพเจ้าได้เท่ากัน เมื่อเห็นคนดี ข้าพเจ้าพยายามเอาอย่างเขา”

     คนที่คิดสร้างสรรค์ จะรู้จักแสวงหาประโยชน์แม้จากสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีประโยชน์ เขาหาสาระแม้จากเรื่องที่ดูไร้สาระ เขาเห็นความงามในความน่าชัง ดังคำประพันธ์ที่ว่า “ศิลปินอย่าดูหมิ่นศิลปะ กองขยะดูให้ดียังมีศิลป์”

๓. ภาวนามยปัญญา

       หมายถึงความรอบรู้ที่เกิดโดยประสบการณ์จากภาคปฏิบัติหรือการลงมือทำจริง ๆ สุตมยปัญญาทำให้นักบริหารได้ข้อมูลใหม่ จินตามยปัญญาทำให้ได้ความคิดที่ดี ส่วนภาวนามยปัญญาทำให้มีผลงานเป็นรูปธรรม

      นักบริหารบางคนมีความรู้และความคิดดี แต่ไม่มีผลงานเพราะไม่ยอมลงมือทำตามความคิด ส่วนบางคนมีความรู้ดี แต่ไม่สามารถนำความรู้ออกมาใช้ทันท่วงที คนเหล่านี้ขาดความชำนาญในการปฏิบัติ ดังคำกล่าวที่ว่า “มีเงินให้เขากู้ มีความรู้อยู่ในตำรา” เมื่อเกิดความจำเป็นก็เรียกความรู้นั้นมาใช้ไม่ได้ ดังนั้นภาวนามยปัญญาจึงมีความสำคัญในการบริหาร เพราะเป็นความรอบรู้ที่แปรทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ ดังกรณีต่อไปนี้

เมื่อพระเจ้าจันทรคุปต์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์เมารยะของอินเดีย ยกทัพเข้าตีเมืองหลวงของกษัตริย์เชื้อสายกรีก ผู้ปกครองภาคเหนือของอินเดียนั้น ปรากฏว่ากองทัพของพระเจ้าจันทรคุปต์ประสบความปราชัย พระเจ้าจันทรคุปต์หนีเอาชีวิตรอด ไปซ่อนพระองค์ด้านหลังกระท่อมชาวนาในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ขณะที่หลบซ่อนอยู่นั้น พระองค์ได้ยินเสียงเด็กร้อง และแม่ของเด็กได้กล่าวกับเด็กด้วยเสียงอันดังว่า “เจ้าโง่ ขนมเบื้องยังร้อนอยู่ เจ้ากัดกินมันที่ตรงกลางได้อย่างไร ปากเจ้าก็พองหมดหรอก เจ้าควรกัดกินขนมเบื้องที่ร้อน โดยเริ่มจากมุมรอบ ๆ ก่อนมิใช่หรือ”

       เมื่อได้ยินคำพูดประโยคนี้ พระเจ้าจันทรคุปต์ได้ความคิดว่าพระองค์เองก็ไม่ต่างจากเด็กคนนั้น การยกทัพเข้าตีเมืองหลวงในขณะที่ข้าศึกยังเข้มแข็ง ก็มีลักษณะเหมือนกับการกัดกินขนมเบื้องร้อน ๆ ที่ตรงกลาง พระองค์จึงประสบความพ่ายแพ้ ดังนั้น พระเจ้าจันทรคุปต์จึงคิดเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ โดยใช้ยุทธการ “ป่าล้อมเมือง” คือนำทัพยึดเมืองเล็กรอบนอกให้ได้ก่อนที่จะบุกตีเมืองหลวงเช่นเดียวกับการเริ่มกินขนมเบื้องจากมุมโดยรอบมาก่อน ในที่สุดพระเจ้าจันทรคุปต์ได้ประสบชัยชนะเพราะใช่ยุทธวิธีนี้ ซึ่งเกิดจากการได้ยินคำด่าเด็กของหญิงชาวนาคนหนึ่ง ในกรณีนี้พระเจ้าจันทรคุปต์ได้ปัญญาทั้งสามประการ คือพระองค์ได้สุตมยปัญญา จากการฟังคำพูดของหญิงชาวนา

ได้จินตมยปัญญาจากการนำคำพูดนั้นมาไตร่ตรอง จนค้นพบยุทธวิธีใหม่

และได้ภาวนามยปัญญาจากการแปรยุทธวิธีเป็นยุทธการในสนามรบ

        นักบริหารบางคนมีความคิดแปลกใหม่ดี แต่ไม่ยอมนำความคิดนั้นไปปฏิบัติ เขาจึงไม่มีภาวนามยปัญญา ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขาขาดกำลังใจในการปฏิบัติ คือวิริยะพละ

๒. วิริยะพละ : กำลังความเพียร

     วิริยะพละ หมายถึง กำลังความเพียรหรือความขยัน คนมีความขยันต้องมีกำลังใจเข้มแข็ง อาจกล่าวได้ว่าวิริยะพละก็คือกำลังใจนั่นเอง กำลังใจต้องมาคู่กับกำลังปัญญาเสมอ

      คนมีกำลังใจแต่ไม่มีกำลังปัญญาจะเป็นคนบ้าบิ่น คนมีกำลังปัญญาแต่ขาดกำลังใจจะเป็นคนขลาด คนที่มีทั้งกำลังใจและกำลังปัญญาจึงจะเป็นคนกล้าหาญ นักบริหารที่มีกำลังปัญญาแต่ขาดกำลังใจ มักถือนโยบายหลบภัยหนีปัญหา เหมือนกับนักมวยชั้นเชิงที่เอาแต่หนีตลอด ๑๒ ยก แม้ว่าคู่ต่อสู้เพลี่ยงพล้ำ เขาก็ไม่กล้าใช้หมัดเด็ดเก็บคู่ต่อสู้ คนดูเบื่อนักมวยประเภทหนีลูกเดียวฉันใด ประชาชนก็เบื่อผู้บริหารที่เอาแต่หลบภัยหนีปัญหาฉันนั้น

           นักมวยที่น่าสนใจคือ นักมวยที่มีทั้งชั้นเชิงและหมัดหนักพอที่จะเก็บคู่ต่อสู้ นักบริหารที่ดีควรเป็นเช่นนั้น เขามีชั้นเชิงคือกำลังปัญญาและมีหมัดหนักคือกำลังใจ รวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน เรียกว่าความกล้าหาญ

          นักบริหารที่ดีต้องเป็นคนกล้าตัดสินใจ กล้าได้กล้าเสีย ไม่กลัวความยากลำบากที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า เขาจะถือคติว่า “ล้มเพราะก้าวไปข้างหน้า ดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่” ใครที่ไม่ก้าวเดินไปข้างหน้าจะกลายเป็นคนล้าหลัง เพราะคนอื่น ๆ ได้แซงขึ้นหน้าไปหมด นักบริหารต้องกล้าลองผิดลองถูก ถ้าทำผิดพลาดก็ถือว่าผิดเป็นครู ใครที่ถนอมตัวจนไม่กล้าทำอะไรเลย จัดเป็นคนขลาด เขาควรฟังคำเตือนของนโปเลียนมหาราลที่ว่า...

“คนที่ไม่อะไรผิดคือคนไม่ทำอะไรเลย”

          ผู้ทำการใหญ่ย่อมต้องเจออุปสรรค เหมือนต้นไม้สูงใหญ่มักจะเจอลมแรง นักบริหารต้องกล้าจับทำโครงการใหญ่หรืองานใหญ่ ถือคติว่า “คนสร้างงาน งานก็สร้างคน” ถ้าขยันทำงานยาก ๆ ความชำนาญก็ตามมา คนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก จะฉลาดและแกร่งขึ้นดังนั้น นักบริหารจะต้องไม่หลบเลี่ยงหน้าที่ที่ลำบากยากเย็น ถือภาษิตที่ว่า “ว่าวขึ้นสูงเพราะมีลมต้าน คนจะขึ้นสูงเพราะเผชิญอุปสรรค” พระพุทธเจ้ายังต้องรบกับมารก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังคำกล่าวที่ว่า “มารมามี บารมีไม่แก่” ไม่มีความสำเร็จอันใดที่ได้มาโดยไม่ต้องลงทุนลงแรง

พระพุทธองค์ตรัสว่า...

“วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความขยัน”

ดังสุภาษิตอุทานธรรมที่ว่า...

จะเป็นสุข ก็ต้องทุกข์ ลงทุนก่อน

จะเป็นก้อน ทีละน้อย ค่อยผสม

จะเป็นพระ ก็ต้องละ กามารมณ์

จะเป็นพรหม ก็ต้องหมั่นเพียร เรียนทำฌาน

วิริยะในการบริหาร

      วิริยะหรือความขยันมี ๒ ประเภท คือ

๑) สสังขาริกวิริยะ ความขยันที่ต้องมีคนอื่นปลุกใจ หรือมีสถานการณ์บีบบังคับ ถ้าไม่มีคนปลุกหรือบีบบังคับ บางคนก็หมดกำลังใจ และไม่ยอมทำอะไรต่อไป

๒) อสังขาริกวิริยะ ความขยันที่เกิดจากการปลุกใจตัวเอง แม้คนอื่นจะหมดกำลังใจ ล้มเลิกการทำงานไปแล้ว แต่คนที่ปลุกใจตัวเองจะลุกขึ้นสู้ต่อไป

ในฐานะผู้นำคนอื่น ๆ นักบริหารต้องมีอสังขาริกวิริยะ คือ ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เมื่อเผชิญอุปสรรค เขาต้องปลุกใจตนเอง และปลุกระดมคนอื่นให้ทำงานต่อไป ถ้าหัวขบวนยอมแพ้เสียคนเดียวองค์กรทั้งหมดก็สิ้นฤทธิ์

เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

“วายเมเถวปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา

เกิดเป็นคนต้องพยายามร่ำไปจนกว่าจะได้สิ่งที่ปรารถนา”

         แน่นอนว่า คนที่ทำการใหญ่บางครั้งทานแรงต้านไม่ไหวก็ต้องถอยบ้าง แต่เป็นการถอยตั้งหลักแล้วค่อยรุกคืบหน้าไปใหม่ ถ้าจำเป็นต้องซวนเซก็ประคองตัวไว้อย่าให้ล้ม ถ้าหากต้องล้มลงไปจงลุกขึ้นมาอีก และอย่าลุกขึ้นมามือเปล่า นั่นคือ ถ้าต้องพ่ายแพ้ผิดหวังต้องหาบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีต เมื่อกลับคืนสังเวียนอีกครั้งเขาต้องฉลาดกว่าเก่า สุขุมกว่าเก่า และเข้มแข็งกว่าเก่า

นักบริหารที่ยิ่งใหญ่หลายคนเคยลิ้มรสชาติของความพ่ายแพ้กันมาก่อน เมื่อคนที่มีวิริยะล้มลง เขาจะลุกขึ้นมาอีก

        ดังชีวิตอดีตประธานาธิบดีคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา บุคคลผู้นี้ประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าดังนี้

อายุ ๒๑ ปี ล้มเหลวในการประกอบธุรกิจ

อายุ ๒๒ ปี พ่ายการเลือกตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐ

อายุ ๒๔ ปี ล้มเหลวในการประกอบธุรกิจอีกครั้ง

อายุ ๒๖ ปี คนรักของเขาตายจากไป

อายุ ๓๔ ปี พ่ายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

อายุ ๓๖ ปี พ่ายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

อายุ ๔๕ ปี พ่ายการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก

อายุ ๔๗ ปี พยายามเป็นรองประธานาธิบดีแต่ไม่มีใครสนับสนุน

อายุ ๔๘ ปี พ่ายการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก

อายุ ๕๒ ปี ชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

บุคคลผู้นี้มีชื่อว่า อับราฮ้ม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของสหรัฐอเมริกา เขาจะไม่มีวันได้เป็นประธานาธิบดีเลย ถ้าไม่รู้จักปลุกใจตัวเองด้วยอสังขาริกวิริยะให้ลุกขึ้นเดินหน้าต่อไป

สุนทรภู่เขียนไว้ว่า...

จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอด

ช่วยให้รอดรักให้ชิดพิสมัย

ตัดให้ขาดปรารถนาหาสิ่งใด

เพียรจงได้ดังประสงค์ที่ตรงดี

      นักบริหารที่ประสบความสำเร็จต้องเป็นคนพากเพียรอย่างหนักข้อสำคัญเขาต้องพากเพียรเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ดี ดังคำกลอนของสุนทรภู่นั้น ความสำเร็จรวมทั้งชื่อเสียงเกียรติยศคงทนถาวรนั่นคือ นักบริหารต้องมีพละข้อที่สาม คือ อนวัชชพละ

๓. อนวัชชพละ : กำลังแห่งการงานที่ไม่มีโทษ

          อนวัชชพละ แปลว่า กำลังแห่งการงานที่ไม่มีโทษ หรือข้อเสียหาย หมายถึง

นักบริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“ธมฺมญฺจเร สุจริตํ บุคคลควรปฏิบัติธรรม (หน้าที่) ให้สุจริต”

      ชีวิตคนเราเปรียบเหมือนเรือหรือนาวาชีวิตที่แล่นไปในห้องมหาสมุทร เรือส่วนมากอับปางก่อนถึงจุดหมาย เพราะมีรูรั่วให้น้ำทะเลไหลเข้าข้างใน เรือจึงจมลงอย่างรวดเร็ว เหมือนนักบริหารหลายคนเสียอนาคตเพราะถูกจับได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือมีประวัติด่างพร้อย นาวาชีวิตของพวกเขามีรูรั่ว เรื่องต่อไปนี้นับเป็นอุทาหรณ์ที่ดี

      เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม 2536 วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ให้ความเห็นชอบต่อการที่ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ได้แต่งตั้งนางเจเนต เรโน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ดังนั้น นางเจเนต เรโน จึงได้รับเกียรติประวัติเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งถือกันว่าเป็นหนึ่งในกระทรวงเกรดเอกของสหรัฐอเมริกา

       อันที่จริงเกียรติยศอันนี้ควรตกเป็นของนางโช ไบร์ด ผู้เคยถูกเสนอชื่อต่อวุฒิสภา เพื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่สื่อมวลชนได้ขุดคุ้ยจุดด่างพร้อยในชีวิตของเธอที่ว่านางโช ไบร์ด ได้ว่าจ้างชาวเปรูสองคนผู้ลักลอบเข้าประเทศมาเป็นคนเลี้ยงลูกที่บ้านของเธอ จุดด่างพร้อยนี้น้อยนิดก็จริง แต่ก็มีผลเลวร้ายเท่ากับรูรั่วของเรือเดินสมุทร ที่ทำให้เรือจมได้ ในที่สุด นางโช ไบร์ด จึงขอถอนตัวออกจากการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนางเจเนต เรโน ก็ได้รับการเสนอชื่อแทน

รูรั่วของชีวิตเช่นนี้ พระท่านเรียกว่า อบายมุข แปลว่า ทางแห่งความเสื่อม นักบริหารหลายคนเสียอนาคตเพราะถูกผีอบายมุขเข้าสิง นักบริหารต้องหลีกเว้นอบายมุข พระท่านเตือนไปว่าไปงานศพครั้งใดเมื่อเผาศพทั้งทีต้องเผาผีเสียด้วย มิฉะนั้นผีจะสิงเรากลับบ้านและทำให้คนเรามีอาการแปลกไป ตามประเภทของผีที่เข้าสิง ผีมี ๖ ตัว คือ

ผีตัวที่หนึ่ง ชอบดื่มสุราเป็นอาจิณ

ไม่ชอบกินข้าวปลาเป็นอาหาร

ผีตัวที่สอง ชอบท่องเที่ยวยามวิกาล

ไม่รักลูกรักบ้านของตน

ผีตัวที่สาม ชอบเที่ยวดูการเล่น

ไม่ละเว้นบาร์คลับละครโขน

ผีตัวที่สี่ ชอบคบคนชั่วมั่วกับโจร

หนีไม่พ้นอาญาตราแผ่นดิน

ผีตัวที่ห้า ชอบเล่นไพ่เล่นม้ากีฬาบัตร

สารพัดถั่วโปไฮโลสิ้น

ผีตัวที่หก ชอบเกียจคร้านการหากิน

มีทั้งสิ้นหกผีอัปรีย์เอย

        ผีทั้งหกตัวก็คืออบายมุข ๖ นั่นเอง คนที่ถูกผีอบายมุขเข้าสิงเสียแล้ว มักไล่ผีออกไปจากชีวิตได้ยากมาก เพราะเขาติดใจในอบายมุข นักบริหารบางคนถูกผีการพนันเข้าสิง ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นคนฉลาด แต่ก็เลิกเล่นการพนั้นไม่ได้ เขามีลักษณะเช่นเดียวกับช้างตกหล่มลึก ช้างตัวใหญ่มีน้ำหนักมาก ยิ่งช้างดิ้นก็ยิ่งจมลงไป

ช้างตกหล่มมีวิธีขึ้นจากหล่มอยู่ ๒ วิธีคือ

๑) ช้างจะต้องช่วยตัวเองก่อน ด้วยการเอางวงจับกิ่งไม้หรือต้นไม้ใกล้ตัว เพื่อพยุงตัวไม่ให้จมลงไปอย่างรวดเร็ว

๒) จากนั้นช้างจะร้องดังลั่นเรียกควาญให้มาช่วยดึงมันขึ้นจากหล่ม

      พระพุทธเจ้าสอนว่า คนที่ติดอบายมุขหากประสงค์ที่จะถอนตัวออกมา ต้องใช้วิธีทั้งสองของช้างตกหล่ม ดังนี้

๑) เขาจะต้องช่วยตัวเองก่อนด้วย โยนิโสมนสิการ คือการคิดถึงโทษภัยของอบายมุข และอธิษฐานจิตว่าจะต้องเลิกอบายมุขให้จงได้ วัดถ้ำกระบอกรักษาคนติดยาเสพติดด้วยการจัดพิธีสาบานตนในเบื้องต้นก่อนที่จะใช้ยาบำบัดรักษา คนเราถ้าใจไม่คิดจะเลิกอบายมุขเสียแล้ว ไม่ช้าก็เร็วเขาต้องหวนกลับไปหามันอีก

๒) เมื่ออธิษฐานจิตแน่วแน่แล้วเขาต้องขอรับความช่วยเหลือจากกัลยาณมิตร เช่นขอรับการบำบัดรักษาด้วยยาจากแพทย์ ในกรณีของคนติดยาเสพติด ขอคำแนะนำจากพระสงฆ์ หรือการปลุกปลอบให้กำลังใจจากสมาชิกในครอบครัว

นักบริหารที่ปลอดอบายมุขจะไม่มีรูรั่วในชีวิต และไม่มีความจำเป็นที่เขาจะต้องทุจริตคอรัปชั่น เมื่อตัวเองเป็นคนซื่อมือสะอาด เขาย่อมสามารถควบคุมคนอื่นให้สุจริตต่อหน้าที่นักบริหารที่มีแผลเต็มตัวจะไม่กล้าตำหนีหรือลงโทษใคร เข้าทำนองว่า

“ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่”

         เหตุนั้นนักบริหารต้องถนอมตัวไว้อย่าให้มีประวัติด่างพร้อยด้วยการรักษาศีล ๕ และหลีกเว้นจากอบายมุข นักบริหารผู้ประกอบพฤติธรรมดำรงมั่นในความสุจริตเช่นนั้น ย่อมเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้ร่วมงาน เมื่อมีผู้นำที่ดี คนดีอื่น ๆ ในองค์กรย่อมมีกำลังใจ และคนชั่วก็ไม่กล้าทำชั่ว

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คุนฺนญฺเจตรมานานํ อุชํคจฺฉติ ปุงฺคโว แปลความว่า เมื่อฝูงโดข้ามแม่น้ำ ถ้าโคหัวโจกข้ามไปตรง ลูกฝูงก็จะข้ามไปตรงตาม ถ้าโคหัวโจกข้ามคดไปคดมา ลูกฝูงก็จะข้ามคดไปคดมา เช่นเดียวกับสังคมหรือประเทศชาติ ถ้าผู้นำประพฤติธรรมผู้ตามก็จะประพฤติธรรมตาม ถ้าผู้นำไม่ประพฤติธรรม ผู้ตามก็จะไม่ประพฤติธรรม

ยามฝูงโคข้ามฟาก นที

โคโจกไปตรงดี ไป่เคี้ยว

ฝูงโคล่องวารี รีบเร่ง

ทั้งหมดไป่ลดเลี้ยว ไต่เต้าตามกัน

นักบริหารผู้สุจริตย่อมเป็นที่เคารพยำเกรงของคนร่วมงานก็จริง แต่เขาจะนั่งอยู่ในหัวใจของคนร่วมงานไม่ได้ ถ้าขาดกำลังที่ ๔ คือ สังคหพละ

๔. สังคหพละ : กำลังแห่งการสงเคราะห์

     สังคหพละ แปลว่า กำลังแห่งการสงเคราะห์ หรือมนุษยสัมพันธ์ ซึ่งเป็นธรรมที่สำคัญมากสำหรับนักบริหาร ผู้ทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น

ถ้านักบริหารบกพร่องเรื่องมนุษยสัมพันธ์ ก็จะไม่มีคนมาช่วยทำงาน เมื่อไม่มีใครช่วยทำงานเขาก็เป็นนักบริหารไม่ได้

      พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์ไว้เรียกว่าสังคหวัตถุ หมายถึงวิธีผูกใจคน พระองค์ตรัสว่า รถม้าแล่นไปได้เพราะมีลิ่มสลักคอยตรึงส่วนประกอบต่าง ๆ ของรถม้าเข้าด้วยกันฉันใด คนในสังคมก็ฉันนั้น คือทำหน้าที่เป็นกาวใจเชื่อมประสานคนทั้งหลายเข้าด้วยกัน ลิ่มสลักดังกล่าวนั้นคือ สังคหวัตถุ

        นักบริหารจะสามารถผูกใจเพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาไว้ได้ ถ้ามีสังคหวัตถุ ๔ ประการ

สังคหวัตถุ ๔ ประการ ได้แก่

๑. ทาน หมายถึง การให้ (โอบอ้อมอารี)

      นักบริหารที่ดีต้องมีน้ำใจรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้ทานแก่เพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา

การให้ทางจะช่วยให้ผูกคนอื่นไว้ได้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ทโท คนฺถติมิตฺตานิ ผู้ให้ยอ่มผูกใจมิตรไว้ได้”

      นักบริหารอาจให้ทานได้ ๓ วิธี คือ

ก. อามิสทานหมายถึง การให้สิ่งของแก่เพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเฉพาะการให้เพื่อผูกใจนี้สำคัญมาก ในยามที่เขาตกต่ำหรือมีความเดือดร้อน ดังภาษิตอังกฤษที่ว่า “เพื่อนแท้ คือเพื่อนที่ช่วยเหลือในยามตกยาก”การให้รางวัลหรือขึ้นเงินเดือนก็จัดเข้าในอามิสทาน

ข. วิทยาทาน คือ ธรรมทาน หมายถึง การให้คำแนะนำหรือสอนวิธีทำงานที่ถูกต้อง รวมถึงการจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรหรือส่งไปศึกษาและดูงาน

ค. อภัยทาน หมายถึง การให้อภัยเมื่อเกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน หรือล่วงเกินซึ่งกันและกัน การให้อภัยไม่ทำให้ผู้ให้ต้องสูญเสียอะไร เป็นการลงทุนราคาถูกแต่ได้ผลตอบแทนราคาสูง นั่นคือ ได้มิตรภาพกลับคืนมา และมีคนสนองงานเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง

มีภาษิตจีนที่ว่า “มีมิตร ๕๐๐ คน นับว่ายังน้อยเกินไป มีศัตรู ๑ คน นับว่ามากเกินไป”

อับราฮัม ลินคอล์น กล่าวว่า “วิธีทำลายศัตรูที่ดีที่สุด คือ เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร” เราจะทำอย่างนั้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้จักให้อภัย

๒. ปิยวาจา หมายถึง การพูดถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน (วจีไพเราะ)

       นักบริหารที่ดีจะรู้จักผูกใจคนด้วยคำพูดอ่อนหวาน คำพูดหยาบกระด้างผูกใจใครไม่ได้ ตามปกติคนเราจะมัดสิ่งของต้องใช้ของอ่อน เช่น เชื่อก หรือลวดมัด ในทำนองเดียวกันเราจะมัดใจคนได้ก็ด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน ดังโคลงโลกนิติที่ว่า

อ่อนหวานมานมิตรล้น เหลือหลาย

หยาบบ่มีเกลอราย เกลื่อนใกล้

ดุจดวงศศิฉาย ดาวดาษ ประดับนา

สุริยส่องดาราไร้ เมื่อร้อนแรงแสง

๓. อัตถจริยา หมายถึง การทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

(สงเคราะห์ประชาชน)

ตรงกับคำพังเพยที่ว่า

“อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น”

         นักบริหารทำอัตถจริยาได้หลายวิธี เช่น บริการช่วยเหลือยามเขาป่วยไข้ หรือเป็นประธานในงานพิธีของผู้ใต้บังคับบัญชา

อาศัยเรือนท่านให้ วิจารณ์

เห็นท่านทำการงาน ช่วยพร้อง

แม้มีกิจโดยสาร นาเวศ

พายค่อยช่วยค้ำจ้วง จรดให้จนถึง

๔. สมานัตตา หมายถึง การวางตัวสม่ำเสมอ (วางตนพอดี)

       เมื่อนักบริหารไม่ทอดทิ้งผู้ร่วมงานทั้งหลาย เขาจึงจะสามารถสร้างทีมงานขึ้นมาได้ นั่นคือถือคติว่า “มีทุกข์ร่วมทุกข์ มีสุขรร่วมเสพ”

       นักบริหารต้องกล้ารับผิดชอบในผลการตัดสินใจของตนเอง ถ้าผลเสียตกมาถึงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของตน นักบริหารต้องออกมาปกป้องคนนั้น ไม่ใช่หนีเอาตัวรอดตามลำพัง

     ตัวอย่างคนที่มีสมานัตตาก็คือคนที่เป็น “เพื่อนตาย” ในโคลงบทนี้

เพื่อนกิน สิ้นทรัพย์แล้ว แหนงหนี

หาง่าย หลายหมื่นปี มากได้

เพื่อนตาย ถ่ายแทนชี- วาวาตม์

หายาก ฝากผึไข้ ยากแท้จักหา

ธรรมะสำหรับผู้ใหญ่

        เมื่อนักบริหารมีสังคหวัตถุทั้ง ๔ ประการ คือ โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ประชาชน และวางตนพอดี เขามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถผูกใจคนไว้ได้ แต่สังคหวัตถุเหล่านี้เป็นเรื่องพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกมา เพื่อให้แสดงพฤติกรรมเหล่านั้นมาโดยไม่ต้องฝืนใจ นักบริหารต้องมีพรหมวิหารธรรมคือธรรมสำหรับผู้ใหญ่ ๔ ประการ คือ

๑. เมตตา ได้แก่ ความรัก ความหวังดี ที่ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข

     นักบริหารต้องมีความรักและความหวังดีแก่เพื่อนร่วมงาน ความรักจะเกิดได้ถ้านักบริหารรู้จักมองแง่ดี หรือส่วนที่ดีของเพื่อนร่วมงาน

ถ้าพบส่วนเสียในตัวเขา นักบริหารต้องรู้จักมองข้ามและให้อภัย เมื่อพบส่วนดีก็จดจำไว้ เพื่อจะได้ใช้คนให้เหมาะสมกับลักษณะที่ดีของเขา ดังนั้น เมตตาหรือความรักจึงเกิดจากการมองแง่ดีของคนอื่น

ท่านพุทธทาสภิกขุประพันธ์ไว้ว่า...

เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา

จงเลือกเอา ส่วนดี เขามีอยู่

เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู

ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู ของเขาเลย

จะหา คนมีดี โดยส่วนเดียว

อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย

เหมือนมองหา หนวดเต่า ตายเปล่าเอย

ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริ

๒. กรุณา คือ ความสงสารเห็นใจ ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เมื่อเพื่อนร่วมงานประสบเคราะห์กรรม

          นักบริหารต้องมีความสงสาร เห็นใจ และคิดหาทางช่วยให้เขาพ้นทุกข์นั้น ความสงสารจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักบริหารเปิดใจกว้าง รับฟังปัญหาของคนอื่น

กรุณาต่างจากเมตตาตรงที่ว่า กรุณาเกิดขึ้นเมื่อมองจุดด้อยของคนอื่น ส่วนเมตตาเกิดขึ้นเมื่อมองจุดดีของเขา เช่น เราเห็นเด็กน้อยหน้าตาน่ารักเดินมา เรามีจิตเมตตาเขา เมื่อเด็กนั้นหกล้มปากแตก เรามีจิตกรุณาเขา

๓. มุทิตา คือ ความรู้สึกพลอยชื่นชมยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข

        นักบริหารต้องส่งเสริมให้คนทำงานมีโอกาสพัฒนาความรู้ ความสามารถจนได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น โดยไม่กลัวว่าลูกน้องจะขึ้นมาทาบรัศมี เขาไม่กีดกันใคร แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำงานแสดงความสามารถเต็มที่ และพลอยชื่นชมยินดีในความก้าวหน้าของคนร่วมงาน มุทิตาจะทำลายความริษยาในใจนักบริหาร

ถ้านักบริหารมีจิตริษยาลูกน้องเสียแล้ว ลูกน้องจะรับรู้ความริษยานั้นและจะไม่ทุ่มเททำงานให้ ดังคำกลอนที่ว่า

อันเพื่อนดีมีหนึ่งถึงจะน้อย

ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา

แม้เกลือหยิบหนึ่งน้อยด้วยราคา

ยังดีกว่าน้ำเค็มเต็มทะเล

๕. อุเบกขา คือ ความรู้สึกวางเฉยเป็นกลาง ไม่ลำเอียงเข้าข้างคนใดคนหนึ่ง

        นั่นคือมีความยุติธรรมในการให้รางวัลและลงโทษ ข้อสำคัญก็คือนักบริหารต้องรู้เท่าทันคนร่วมงานทุกคน นักบริหารที่ไม่รู้เท่าทันผู้ร่วมงาน ไม่รู้เท่าทันสถานการณ์อาจวางเฉยได้เหมือนกัน แต่การวางเฉยเช่นนั้น เรียกว่า “อัญญณุเบกขา” คือวางเฉยเพราะโง่ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดี

      นักบริหารต้องวางเฉยด้วยปัญญา คือ มีอุเบกขาอย่างรู้เท่าทันคน เมื่อทึกคนทำงานในหน้าที่อย่างขยันขันแข็ง นักบริหารก็มองดูพวกเขาเฉย ๆ ถึงคราวให้บำเหน็จรางวัล ก็เฉลี่ยให้แก่ทุกคนอย่างถ้วนหน้า ถ้ามีการทะเลาะเบาะแว้งเกิดขึ้น นักบริหารต้องลงไปห้ามทัพทันที และจัดการลงโทษคนผิดตามความเหมาะสม นักบริหารต้องไม่นั่งดูลูกน้องทะเลาะกันแล้วเอาตัวรอดคนเดียว

บทสรุปสำหรับนักบริหาร

          นักบริหารคือ ผู้ทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่นช่วยทำ เขาบริหารด้วย

ธรรมาธิไตย โดยที่ถือหลักการและความสำเร็จของงานเป็นใหญ่ จึงเป็นผู้นำที่นั่งอยู่ในหัวใจของคนร่วมงาน ทั้งนี้เพราะเขามีธรรมเป็นพลังในการบริหาร ๔ ประการคือ

๑) ปัญญาพละกำลังแห่งความรอบรู้เรื่องตน เรื่องคน และเรื่องงาน

๒) วิริยะพละกำลังแห่งความขยันที่ปลุกใจตนเองและคนอื่นตลอดเวลา

๓) อนวัชชพละกำลังแห่งความสุจริตที่ปราศจากรูรั่วแห่งชีวิตอันเกิดจากอบายมุข

๔) สังคหพละกำลังแห่งมนุษยสัมพันธ์ที่ประสานใจคนร่วมงานเข้าด้วยความโอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ประชาชน และวางตนพอดี

        นักบริหารผู้มีธรรมอยู่ในหัวใจ ย่อมเป็นศูนย์รวมใจของคนร่วมงาน และสามารถจัดการให้งานในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี ดังพุทธศาสนสุภาษิต ที่ว่า

“เอโส หิ อุตฺตริตโร ภาราวโห ธุรนฺธโร

โย ปเรสาธิปนฺนานํ สยํ สนฺธาตุมรหติ”

ผู้ใดเมื่อคนเหล่าอื่นขัดแย้งกันอยู่

ตนเองเป็นผู้ประสานให้พวกเขาดีกัน

ผู้นั้นเป็นคนรับภาระและจัดการธุระที่ยอมเยี่ยม

      การบริหารจัดการเชิงพุทธและหลักพุทธธรรมที่ใช้ในการบริหารจัดการ                                 ของวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสาน

  ในบทนี้  เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับแนวคิดการบริหารจัดการของผู้นำองค์กรของผู้นำเชิงพุทธ  พุทธวิธีการบริหาร  และการบริหารจัดการเชิงพุทธของหมอลำคณะเสียงอิสาน  มีเนื้อหาสาระที่ควรศึกษา  ต่อไปนี้

แนวคิดการบริหารจัดการองค์กรของผู้นำเชิงพุทธ

    การบริหารจัดการองค์กรต่าง ๆ ในปัจจุบันมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยวิทยาการบริหารจัดการ เข้ามาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร  และสิ่งที่สำคัญมากคือผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์  พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้บริหารต้องมีจักขุมา  แปลว่า  มีสายตาที่ยาวไกล  คือมองการณ์ไกล”   วิสัยทัศน์ช่วยให้ผู้บริหารสามารถวาดภาพจุดหมายปลายทางได้ชัดเจนและใช้สื่อสารให้สมาชิกในองค์กรยอมรับ  และดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นองค์กรทั้งหมดก็จะถูกขับเคลื่อนไปด้วยวิสัยทัศน์นี้   พระพุทธเจ้าทรงกำหนดจุดหมายปลายทางในพระพุทธศาสนาไว้ว่า  การประพฤติปฏิบัติธรรมทุกอย่างมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่จุดเดียวคือ วิมุตติ (ความหลุด พ้นทุกข์)  ดังพุทธพจน์ที่ว่า  “เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม  ฉันใด  ธรรมวินัยนี้ก็มีรสเดียวคือวิมุตติรส ฉันนั้น”

 ความหมายของการบริหาร

        พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)   ได้ให้ความหมาย การบริหาร  หมายถึง  การทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น

 สมพงศ์ เกษมสิน   ได้สรุปว่า การบริหาร คือ การใช้ศาสตร์และศิลป์ นำเอาทรัพยากร (Administrative Resources) มาประกอบการตามกระบวนการ (Process of  administration)  ให้บรรลุวัตถุที่ประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

 ธงชัย  สันติวงษ์  กล่าวถึงความหมายของการบริหาร ว่า การบริหารเป็นงานของหัวหน้างานทุกคนที่ต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นผู้นำของกลุ่ม  ซึ่งจะต้องมีภารกิจในการเป็นผู้ทำ  การจัดระเบียบทรัพยากรต่าง ๆ  และประสานกิจกรรมเพื่อให้เกิดความสำเร็จขององค์กร

 Ricky W. Griffin   ได้ให้ความหมายของการบริหารจัดการธุรกิจหรือองค์กรว่าหมายถึง แสดงให้เห็นจากกลุ่มของบุคคลที่มาร่วมกันทำงานด้วยโครงสร้างและการประสานงานเป็นหลักการชัดเจนแน่ชัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่กำหนดเป้าหมายไว้, ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (เรียกว่า การบริหารแบบ ๔ M.)  ซึ่งประกอบด้วย

(๑) คน (Man)

(๒) เงิน (Money)

(๓) วัตถุดิบ (Material) เครื่องจักร 

(๔) การบริหาร (Management)

        สรุปความหมายต่าง ๆ ข้างต้น ได้ว่า  “การบริหารจัดการ” จึงเป็นกระบวนการของกิจกรรมที่ต่อเนื่องและประสานงานกัน ซึ่งผู้บริหารต้องเข้ามาช่วยเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายขององค์กร ประเด็นสำคัญของการบริการจัดการ (Management) มีดังนี้

 (๑)  การบริหารจัดการสามารถประยุกต์ใช้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งได้

 (๒) เป้าหมายของผู้บริหาร  คือ  ความสำเร็จ และบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร

 (๓) การบริหารจัดการเกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลผลิต (Productivity) โดยมุ่งสู่

ประสิทธิภาพ (Efficiency) (วิธีการใช้ทรัพยากรโดยประหยัดที่สุด) และประสิทธิผล (Effectiveness) (บรรลุเป้าหมายคือประโยชน์สูงสุด)

 (๔) การบริหารจัดการสามารถนำมาใช้สำหรับผู้บริหารในทุกระดับชั้นขององค์กร

พุทธวิธีการบริหาร

 การศึกษาพุทธวิธีการบริหารในครั้งนี้ขอใช้หน้าที่ของนักบริหารเป็นกรอบในการพิจารณา  หน้าที่  (Function)  ของนักบริหารมีอยู่ ๕ ประการ  ตามคำย่อในภาษาอังกฤษว่า  POSDC

 P  คือ  Panning  หมายถึง  การวางแผน  เป็นการกำหนดแนวทางดำเนินงานในปัจจุบัน  เพื่อความสำเร็จที่จะตามมาในอนาคต  ผู้บริหารที่ดีจะต้องมีวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดทิศทางขององค์กร

 O  คือ Organizing หมายถึง การจัดองค์กรเป็นการกำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกและสายบังคับบัญชาภายในองค์กร  มีการแบ่งงานกันทำและการกระจายอำนาจ

 S  คือ  Staffing  หมายถึง  งานบุคลากรเป็นการสรรหาบุคลากรใหม่  การพัฒนาบุคลากรและการใช้คนให้เหมาะกับงาน

 D  คือ  Directing  หมายถึง  การอำนวยการ  เป็นการสื่อสารเพื่อให้เกิดการดำเนินตามแผน  ผู้บริหารต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีและมีภาวะผู้นำ

 C คือ  Controlling  หมายถึง  การกำกับดูแล  เป็นการควบคุมคุณภาพของการปฏิบัติงานภายในองค์กรรวมทั้งกระบวนการแก้ปัญหาภายในองค์กร

         ดังนั้น  เมื่อพิจารณาพุทธวิธีบริหารในประเด็นที่เกี่ยวกับการวางแผน การจัดองค์กร  การบริหารงานบุคคล  การอำนวยการ  และการกำกับดูแล  ตามลำดับดังต่อไปนี้

(๑) พุทธวิธีในการวางแผน  คือ  การใช้วิสัยทัศน์กำหนดเป้าหมาย  วัตถุประสงค์  และพันธกิจ ให้ชัดเจน  เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน  วิสัยทัศน์ช่วยให้ผู้บริหารสามารถวาดภาพจุดหมายปลายทางได้ชัดเจนและใช้สื่อสารให้สมาชิกภายในองค์กรยอมรับและดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นองค์กรทั้งหมดก็จะถูกขับเคลื่อนไปด้วยวิสัยทัศน์นี้

(๒) พุทธวิธีในการจัดองค์กร  คือ  การกระจายอำนาจ  การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน หมายถึง ลูกน้องต้องให้ความเคารพหัวหน้า  ในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระภิกษุต้องเคารพกันตามลำดับพรรษา  ผู้บวชทีหลังต้องแสดงความเคารพต่อผู้บวชก่อน  และการใช้คนให้เหมาะกับงานในองค์กร

(๓) พุทธวิธีในการบริหารงานบุคคล  คือ  การจัดอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร  การจัดสรรภาระหน้าที่ให้ปฏิบัติงานตามความรู้ความสามารถ  มีระบบการให้รางวัลและการลงโทษ  นั่นคือ  ใครทำดีก็ควรได้รับการยกย่อง  ใครทำผิดก็ควรได้รับการลงโทษ

(๔) พุทธวิธีในการอำนวยการ  คือ  การสื่อสารเพื่อการบริหารการดำเนินงาน  ใช้หลัก  ๔ ส.  ได้แก่  ๑) สันทัสสนา (แจ่มแจ้ง) หมายถึง อธิบายขั้นตอนการดำเนินงานได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งช่วยให้สมาชิกปฏิบัติตามได้ง่าย  ๒) สมาทปนา (จูงใจ) หมายถึง  อธิบายให้เข้าใจและเห็นชอบกับวิสัยทัศน์จนเกิดศรัทธาและความรู้สึกว่าต้องฝันให้ไกลและไปให้ถึง  ๓) สมุตเตชนา (แกล้วกล้า) หมายถึง  ปลุกใจให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองและมีความกระตือรือร้นในการดำเนินการไปสู่เป้าหมาย  และ ๔) สัมปหังสนา (ร่าเริง)  หมายถึง  สร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกันแบบกัลยาณมิตรซึ่งจะส่งเสริมให้สมาชิกมีความสุขในการงาน  และความสามารถในการจูงใจคนของพระพุทธเจ้า  ตรงกับพระสมัญญาว่า  ตถาคต  หมายถึง  คนที่พูดอย่างไรแล้วทำอย่างนั้น   พระพุทธเจ้าทรงมีภาวะผู้นำสูงมากเพราะทรง สอนให้รู้ (ยถาวาที)  ทำให้ดู (ตถาการี)  และอยู่ให้เห็น (ยถาวาที  ตถาการี)  ยิ่งไปกว่านั้น  การสั่งการแต่ละครั้งของพระพุทธเจ้าเป็นที่ยอมรับได้ง่ายเพราะไม่ทรงใช้วิธีเผด็จการ  แต่ทรงใช้วิธีการแบบธรรมาธิปไตย  ดังที่ทรงจำแนกแรงจูงใจในการทำความดี  ซึ่งเรียกว่า อธิปไตย ๓ ประการ  ดังนี้  ๑) อัตตาธิปไตย  การทำความดีเพราะยึดผลประโยชน์หรือความพอใจของตนเป็นที่ตั้ง  ๒) โลกาธิปไตย  การทำความดีเพราะต้องการให้ชาวโลกยกย่อง  นั่นคือ  ยึดทัศนะหรือคะแนนนิยมจากคนอื่นเป็นที่ตั้ง  ๓) ธรรมาธิปไตย  การทำความดีเพื่อความดี  ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่  นั่นคือยึดธรรมคือหน้าที่เป็นสำคัญ

(๕) พุทธวิธีในการกำกับดูแล  คือ  การควบคุม  การกำกับดูแลสมาชิกภายในองค์กรให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญแก่การกำกับดูแลองค์กรเป็นอย่างยิ่ง  ดังที่ทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อให้พระสงฆ์ใช้เป็นมาตรฐานควบคุมความประพฤติให้เป็นแบบเดียวกัน  ทรงให้เหตุผลในการบัญญัติพระวินัยไว้ ๑๐ ประการ   เช่น  เพื่อความผาสุขแห่งคณะสงฆ์  เพื่อข่มบุคคลผู้ไร้ยางอาย  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียทั้งในปัจจุบันและอนาคต  เพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา

        สรุปได้ว่า  พุทธวิธีการบริหาร  ยึดหลักธรรมาธิปไตยเป็นสำคัญด้วยเหตุผลที่ว่า  ผู้บริหารเองต้องประพฤติธรรมและใช้ธรรมเป็นหลักในการบริหาร  พุทธวิธีบริหารจึงไม่เป็นทั้งเป็นอัตตาธิปไตย (การถือตนเองเป็นใหญ่)  และโลกาธิปไตย (การถือคนอื่นเป็นใหญ่)

      การบริหารรู้จักใช้เครื่องมือแห่งความสำเร็จ ๔ ข้อ (ปสิทธิธัมมูปกรณกถา)

 ในทางพระพุทธศาสนานั้น เมื่อเราพิจารณาถึงองค์ความรู้การบริหารเชิงพุทธแล้วสามารถนำหลักการมาประยุกต์ใช้  เพื่อบริหารจัดการองค์กร ให้บรรลุเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การนำหลักธรรมมาใช้นั้นมีหลักต่าง ๆ ดังนี้  หลักธรรมที่ใช้ประกอบกับการดำเนินงานให้เกิดความสำเร็จมี ๔ ประการ  คือ

๑. ศรัทธา  ทำให้ข้ามโอฆะได้

๒. ความไม่ประมาท  ทำให้ข้ามอรรณพได้

๓. ความเพียร  ทำให้ล่วงทุกข์ได้

๔. ปัญญา  ทำให้บริสุทธิ์ได้ 

 ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อาฬาวกสูตร ยักขสังยุต  ได้แสดงเกี่ยวกับเรื่องว่าด้วยเครื่องมือแห่งความสำเร็จ ๔  ดังนี้

 “ความว่า คนจะข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ๑  จะข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ๑  จะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ๑  จะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” 

 ข้อ ๑  ศรัทธาที่อธิบายความว่าคนจะข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา หรือศรัทธาทำให้ข้ามโอฆะได้นั้นในการทำงานอะไรถ้าคนเราหรือผู้ทำงานนั้นไม่มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองกระทำผลของงานก็จะไม่สำเร็จแต่เมื่อเราทำด้วยความเชื่อมั่นว่าการกระทำในสิ่งนั้น ๆเมื่อสำเร็จแล้วจะได้ผลตามที่ตนคิดเหล่านี้โดยไม่ย่อท้ออุปสรรค ความเชื่อเหล่านี้จะข้ามพ้นอุปสรรคไปได้

 ข้อ ๒  ความไม่ประมาท  ทำให้ข้ามอรรณพได้ความหมายว่า การบริหารงานต่าง ๆ ถ้าเราทำด้วยความไม่ประมาทพิจารณาถึงเหตุผลคอยระมัดระวังจะทำให้งานเรียบร้อย ความประมาททำให้เกิดความผิดพลาดและมีปัญหาตามมาหลาย ๆ อย่าง การจะก้าวไปสู่ความสำเร็จต้องไม่มองข้ามปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อมีปัญหาแล้วต้องรีบแก้ไขหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา การมองปัญหาว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่รีบหาทางแก้ไขหรือป้องกันถือว่ามีความประมาทความสำเร็จของงานจะไม่ราบรื่นหรือไม่สำเร็จตามเป้าหมายได้ดังนั้นหลักความไม่ประมาทจึงเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการที่ผู้นำหรือผู้บริหารต้องมีความตระหนักอยู่เสมอ

 ข้อ ๓  ความเพียร  ทำให้ล่วงทุกข์ได้หมายความว่า ความเพียรคือหัวใจสำคัญของการทำงานผู้นำหรือผู้บริหารเมื่อเจอปัญหาแล้วไม่อดทนไม่มีความเพียรพยายามที่จะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นก็จะพบแต่ความทุกข์ใจ ผู้นำหรือผู้บริหารที่เข้าใจสภาพปัญหาแล้วค่อยเพียรพยายามแก้ไขด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้บรรลุเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ถึงแม้จะพบอุปสรรคปัญหาก็ยังไม่ถ้อถอยในที่สุดก็จะประสบความสำเร็จ ดังนี้ความเพียรจึงได้ชื่อว่า ทำให้ล่วงทุกข์ได้

 ข้อ ๔  ปัญญา  ทำให้บริสุทธิ์ได้ หมายความว่า การบริหารงานต่าง ๆ ของผู้นำต้องใช้ปัญญาพิจารณาไต่ตรอง มองให้ทะลุในปัญหาทุกด้าน

 สรุปได้ว่า  หลักธรรมที่ใช้ประกอบดำเนินงานให้เกิดความสำเร็จหรือที่เรียกทั่วไปว่า

ปสิทธิธัมมูปกรณกถาหรือธรรมเป็นเครื่องมือแห่งความสำเร็จมี ๔ ประการ คือ ศรัทธาทำให้ข้ามโอฆะได้  ความไม่ประมาททำให้ข้ามอรรณพได้  ความเพียร ทำให้ล่วงทุกข์ได้  และปัญญาทำให้บริสุทธิ์ได้  บุคคลทั้งหลายควรมีเครื่องมือทั้ง ๔ ประการจะทำให้ประสบความสำเร็จได้

 หลักการบริหารเชิงพุทธ ๓ ข้อ

      การบริหารงานในพระพุทธศาสนามีหลักธรรมที่ใช้ในการบริหารเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ใน ทุติยปาปณิกสูตร อังคุตตรนิกาย  ปญจกนิบาต พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงลักษณะของนักบริหารไว้ ๓ ประการ   คือ

 ๑. จักขุมา  หมายถึง  มีปัญญามองการณ์ไกล เช่น ถ้าเป็นพ่อค้าหรือนักบริหารธุรกิจ ต้องรู้ว่าสินค้าที่ไหนได้ราคาถูก  แล้วนำไปขายที่ไหนจึงได้ราคาแพง  ในสมัยนี้ต้องรู้ว่าหุ้นจะขึ้นหรือจะตก  ถ้าเป็นนักบริหารทั่วไปต้องสามารถวางแผนและฉลาดในการใช้คน คุณลักษณะข้อนี้คือ มีความชำนาญในการใช้ความคิด

 ๒. วิธุโร  หมายถึง  จัดการธุระได้ดี  มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน  เช่น พ่อค้าเพชรต้องดูออกว่าเป็นเพชรแท้หรือเพชรเทียม  แพทย์หัวหน้าคณะผ่าตัดต้องเชี่ยวชาญการผ่าตัด  คุณลักษณะข้อนี้คือ  ความชำนาญด้านเทคนิค

 ๓. นิสสยสัมปันโน  หมายถึง  พึ่งพาอาศัยคนอื่นได้  เพราะเป็นคนมนุษยสัมพันธ์ดี เช่น พ่อค้าเดินทางไปค้าขายต่างเมืองก็มีเพื่อนพ่อค้าในเมืองนั้น ๆ ให้ที่พักอาศัยหรือให้กู้ยืมเงิน เพราะมีเครดิตดี  นักบริหารที่ดีต้องผูกใจคนไว้ได้  คุณลักษณะข้อนี้สำคัญมาก “นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน ขึ้นสู่ที่สูงไม่ได้”  คือ  ความชำนาญด้านมนุษยสัมพันธ์

 นอกจากนั้น  พระธรรมโกศาจารย์ ( ประยูร ธมฺมจิตฺโต )  ได้อธิบายไว้ว่า ลักษณะทั้ง ๓ ประการ มีความสำคัญมากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับระดับของนักบริหารถ้าเป็นนักบริหารระดับสูงที่ต้องรับผิดชอบในการวางแผนและควบคุมจำนวนมาก  ลักษณะข้อ ๑ และข้อ ๓  สำคัญมาก  ส่วนข้อที่ ๒ มีส่วนสำคัญน้อยเพราะเขาสามารถใช้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความชำนาญเฉพาะด้านได้

         สำหรับนักบริหารระดับกลาง  ลักษณะทั้ง  ๓  ข้อ  มีความสำคัญพอ ๆ กัน คือ  เขาต้องมีความชำนาญเฉพาะด้านและมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา  ในขณะเดียวกันเขาต้องมีปัญญาที่มองภาพกว้างและไกล  เพื่อเตรียมตัวขึ้นเป็นนักบริหารระดับสูง  นักบริหารระดับกลางบางคนไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมในด้านสติปัญญา เมื่อขึ้นสูงก็ถูกผู้ใต้บังคับบัญชานินทาว่า “โง่แล้วยังขยัน”

 สำหรับนักบริหารระดับต้นที่ต้องลงเมื่อปฏิบัติงานร่วมพนักงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิดนั้น  ลักษณะข้อที่  ๒  และข้อที่  ๓  คือ ความชำนาญเฉพาะด้าน  และมนุษยสัมพันธ์  สำคัญมากแต่กระนั้นเขาก็ต้องพัฒนาคุณลักษณะ  ข้อที่  ๑  คือ ปัญญาเอาไว้เพื่อเตรียมเลื่อนสู่ระดับกลางต่อไป

        สรุปได้ว่า  หลักการบริหารเชิงพุทธเป็นการนำหลักที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเกี่ยวกับการบริหารงานทุกระดับ  ผู้บริหารที่จะให้การบริหารงานสำเร็จลุล่วงได้ต้องมีคุณลักษณะ  ๓  ประการ  คือ

๑.  จักขุมา  มีปัญญามองไกล  ต้องมีความชำนาญในการใช้ความคิด

๒. วิธุโร  มีการจัดการธุระได้ดี  ต้องมีความชำนาญด้านเทคนิค

๓.  นิสสยสัมปันโน  มีการพึ่งพาอาศัยคนอื่นได้ต้องมีความชำนาญด้านมนุษย์สัมพันธ์

 ๓.๑.๕  การบริหารจัดการด้วยหลักสัปปุริสธรรม ๗  ข้อ

 ในพระสุตตันตปิฎก สังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค และธัมมัญญสูตร อังคุตรนิกาย สุตตนิบาต พระพุทธองค์ได้ตรัสการดำรงตน และการบริหาร  ดังนี้

 สัปปุริสธรรม ๗ คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้

 ธัมมัญญู เป็นผู้รู้จักเหตุ

 อัตถัญญ เป็นผู้รู้จักผล       

 อัตตัญญูเป็นผู้รู้จักตน

 มัตตัญญู เป็นผู้รู้จักประมาณ

 กาลัญูญ เป็นผู้รู้จักกาล           

 ปริสัญญู เป็นผู้รู้จักบริษัท          

 ปุคคลัญญู เป็นผู้รู้จักบุคคล

         หลักสัปปุริธรรม ๗  หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษเป็นคุณสมบัติของผู้ดี ระบบผู้ดี หรือ ที่เรียกว่า  สัปปุริสธัมมกถา ๗ คือ

๑. ธัมมัญญุตา  ความรู้จักเหตุ

๒. อัตถัญญุตา  ความรู้จักผล

๓. อัตตัญญุตา  ความรู้จักตน

๔. มัตตัญญุตา  ความรู้จักประมาณ

๕. กาลัญญุตา  ความรู้จักกาล

๖. ปรัสัญญุตา  ความรู้จักชุมชน

๗. ปุคคลัญญุตา  ความรู้จักบุคคล (ปุคคลปโรปรัญญุตา)

       การบริหารจัดการด้วยหลักสัปปุริสธรรม ๗ นี้ผู้บริหารต้องมีความฉลาดในปัญญา พิจารณาสถานการณ์ต่างๆ ให้เหมาะสม  แต่ถ้ายึดถึงความเป็นสำคัญแต่ละข้อนั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง  ผู้บริหารรู้จักตนเองและเรียงตามลำดับข้อที่  ๑ , ๒, ๓ , ๔ , ๕ , ๖, ๗  คือ มีเหตุผล รู้จักความพอดีแก่เวลาแก่ชุมชนและบุคคลต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารในหมู่คณะถ้าขาดข้อธรรมข้อใดข้อหนึ่งอาจทำให้ไม่สะดวกราบรื่นที่ว่า  สัปปุริสธรรมเป็นคุณสมบัติของผู้ดีต้องมีธรรมเหล่านี้ประจำไว้  และนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม

           ในการบริหารจัดการด้วยหลักสัปปุริสธรรม  ผู้บริหารต้องเป็นคนมีเหตุมีผล  รู้จักตนเอง ว่าการบริหารงานได้ดีหรือบกพร่องตรงไหนงานนั้นเกินกำลังที่จะทำด้วยตนเองหรือต้องหาคนช่วยมากน้อยแค่ไหน  สถานที่เราทำงานอยู่นั้นมีความเหมาะสมหรือไม่  ใคร่ควรเป็นผู้ที่จะทำหน้าที่ช่วยเราได้ในเวลาใดบ้าง ดังนั้น ผู้บริหารควรยึดหลักธรรมที่ดี ๆ และฉลาดเลือกใช้หลักธรรมแต่ละข้อให้เหมาะสมกับสถานการณ์จึงจะทำให้เกิดความสำเร็จด้วยดี

           สำหรับหลักพุทธธรรมที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของชาวพุทธมีอยู่หลายลักษณะ และการดำเนินชีวิตในแต่ละวันย่อมมีวิธีคิด  วิธีการทำงานที่แตกต่างกัน ในส่วนที่เหมือนกันคือชาวพุทธมีการนำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้ในการทำงานตามความเหมาะสมของแต่ละคน  แต่ละครอบครัวตลอดจนในแต่ละอาชีพ  ในการศึกษาการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการบริหารจัดการวงหมอลำคณะเสียงอิสานในงานวิจัยนี้ที่ผู้วิจัยนำมาศึกษา โดยแบ่งเป็นประเด็นหลักไว้  ๒ ประเด็นใหญ่ ๆ  คือ ๑) หลักพุทธธรรมที่ประยุกต์ใช้ด้านจริยศิลป์ (จริยธรรมในการแสดง) เกี่ยวกับหัวข้อเบญจศีลเบญจธรรม  อปริหานิยมธรรม ๗ เทวธรรม (หิริ-โอตตัปปะ)  ๒) หลักพุทธธรรมที่ประยุกต์ใช้ในการบริหารวง  เกี่ยวกับพรหมวิหาร ๔  อิทธิบาท ๔  สัจจะ (ความซื่อสัตย์และตรงต่อเวลาการแสดง) ความรู้จักกตัญญูกตเวที  ซึ่งผู้วิจัยนำมาวิเคราะห์  ดังต่อไปนี้

หลักพุทธธรรมที่ประยุกต์ใช้ด้านจริยศิลป์ (จริยธรรมในการแสดง)

         ในการวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ประยุกต์ใช้ด้านจริยศิลป์หรือจริยธรรมในการแสดงมีหลักพุทธธรรมในประเด็นที่ต้องวิจัยอยู่ ๓ ประเด็นคือ เบญจศีลเบญจธรรม อปริหานิยมธรรม ๗ และเทวธรรม (หิริ-โอตตัปปะ) ตามที่วิเคราะห์ดังนี้

เบญจศีล เบญจธรรม

         เบญจศีล หมายถึง ศีล ๕  คือการละปาณาติบาต ชื่อว่าศีล เวรมณี การงดเว้น ชื่อว่าศีล เจตนา ชื่อว่าศีลสังวรชื่อว่าศีล  การไม่ล่วงละเมิดชื่อว่าศีล

 ศีล ๕ หรือเบญจศีล หมายถึง  ความประพฤติชอบทางกายและวาจาให้เรียบร้อย  การรักษาปกติตามระเบียบวินัย  ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว  การควบคุมให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียนมี ๕ ข้อ  คือ

 ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี หมายถึงเว้นจากการปลงชีวิต เว้นจากการฆ่าการประทุษร้ายกัน

 ๒. อทินนาทานา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้ เว้นจากการลักโกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ทำลาย  ทรัพย์สิน

 ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน

 ๔. มุสาวาทา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง

 ๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี หมายถึง เว้นจากน้ำเมาคือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษ

 เบญจธรรม  หมายถึง ธรรม ๕ ธรรมอันดีงามห้าอย่าง คุณธรรมห้าประการคู่กับเบญจศีล เป็นธรรมเกื้อกูลแก่การรักษาเบญจศีล ผู้รักษาเบญจศีลควรมีไว้ประจำใจ ได้แก่

๑. เมตตากรุณา ความรักความใคร่ปรารถนาให้มีความสุข ความเจริญและความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์คู่กับศีลข้อ ๑

๒. สัมมาอาชีวะ การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริตคู่กับศีลข้อ ๒

๓. กามสังวร ความสังวรในกาม ความสำรวม ระวัง รู้จักยับยั้งควบคุมตนในทางกามารมณ์ ไม่ให้หลงใหลในรูปเสียง กลิ่น รส และสัมผัส คู่กับศีลข้อ ๓

๔. สัจจะ ความสัตย์ ความซื่อตรง คู่กับศีลข้อ ๔

๕. สติสัมปชัญญะ ระลึกได้และรู้ตัวเสมอ คือฝึกตนให้เป็นคนรู้จักยั้งคิดรู้สึกตัวเสมอว่า สิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ ระวังมิให้เป็นคนมัวเมาประมาท คู่กับศีลข้อ ๕

       แนวทางการประยุกต์ใช้หลักเบญจศีลเบญจธรรมในการบริหารวง ของวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสานมีการนำพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องกับจริยศิลป์  กล่าวคือ เบญจศีลเบญจธรรมมาใช้  มีการนำหลักการที่ไม่ให้มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งภายในวงให้มีความรักใคร่ปรารถนาที่ดีต่อกัน ให้คิดช่วยเหลือกันภายในคณะรักกันเหมือนพี่น้องเอ็นดูกัน การอยู่ร่วมกันให้ทุกคนมีความจริงใจต่อกัน ห้ามลักขโมยของสมาชิกร่วมงานกัน  ศีลข้อ ๓  ทางคณะมีกฎห้ามอยู่ร่วมกันฉันชู้สาว การควบคุมคือให้ทุกคนมีความสำรวมในกามารมณ์ ไม่ให้หลงระเริง  มีความพอดีไม่ติดใน รูป รส กลิ่น เสียง หรือยินดีในอารมณ์ต่าง ๆ จนเกินตัว  สมาชิกทุกคนในคณะต้องมีความซื่อสัตย์  ซื่อตรงต่อกัน พูดแต่ความจริงไม่เอารัดเอาเปรียบกันยินดีเฉพาะส่วนที่ตนเองจะพึงได้เท่านั้น  ประการสุดท้ายคือให้ทุกคนฝึกฝนตนเองตลอดเวลา ให้ทำเฉพาะสิ่งใดที่ควรทำ ให้ละในสิ่งที่ควรละ การฝึกให้สมาชิกทุกคนไหว้พระสวดมนต์ทุกวัน  ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีจิตใจสบาย  เกิดความสงบ  การพูดหรือการสวดบ่อย ๆ  เป็นการปลูกฝังจริยธรรมให้เกิดแก่ลูกวงทุกคน  การแสดงถ้าคณะไม่มีศีลธรรมถึงจะแสดงอย่างไรก็ไม่มีความสนุกสนาน  การแสดงหมอลำบทแต่ละบทที่จะแสดงต้องให้ออกมาจากจิตใจ  ดังนั้นการนำหลักเบญจศีล เบญจธรรมมาประยุกต์ใช้ก็เป็นการบังคับเบื้องต้นให้รู้จักควบคุมตนเอง ให้แสดงเฉพาะส่วนที่ควรแสดงได้ ให้ทุกคนรู้จักซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตนเอง ไม่ทรยศต่ออาชีพ ไม่เอาเปรียบผู้ฟัง  การประยุกต์ใช้หลักจริยศิลป์เป็นการรู้จักใช้ศิลปะที่ถูกต้อง มีการประพฤติหรือการแสดงที่ถูกใจผู้ฟังผู้ชม ผู้เป็นแนวหน้ามีความตระหนักเอาใจใส่เรื่องการแสดงให้มีความตระหนักตามหลักเบญจศีล เบญจธรรม วงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสานได้นำหลักการของพุทธธรรมดังกล่าวมาใช้ในการบริหารจัดการจึงได้รับความนิยมมีชื่อเสียงจากอดีตสู่ปัจจุบัน

              สรุปได้ว่า  แนวทางประยุกต์ใช้เบญจศีล เบญจธรรม ในการบริหารวงมี ๒ แนวทาง คือ ประยุกต์ใช้ในการแสดงหน้าเวทีให้รู้จักควบคุมอารมณ์ มีสติสัมปชัญญะ อะไรควรพูดควรแสดง อะไรไม่ควรพูดไม่ควรแสดง ไม่พูดคำหยาบมีความรักปรารถนาดีต่อกัน มีความซื่อสัตย์ต่อการแสดง ส่วนแนวทางที่ ๒ คือ ให้สมาชิกในวงรู้จักการดำเนินชีวิตในแต่ละวันให้รู้จักปฏิบัติตาม  ศีล ๕  และปฏิบัติตามหลักของสัจจะธรรม ๕  มีความเมตตาต่อคนทั่วไป ประกอบอาชีพที่สุจริต  มีความซื่อสัตย์ต่อครอบครัว  รู้จักควบคุมอารมณ์  กระทำในสิ่งที่ถูกต้องไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตของตัวเอง

อปริหานิยธรรม ๗

      อปริหานิยธรรม หมายถึง ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม   เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับหมู่ชนหรือผู้บริหารบ้านเมือง ได้แก่

 ๑.  หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

 ๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำสิ่งที่พึงทำ และแปลอีกนัยหนึ่งว่า พร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันบ้านเมือง พร้อมเพรียงกันทำกิจทั้งหลาย

 ๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติตามวัชชีธรรม (หลักการ) ตามที่วางไว้เดิม

 ๔. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชุมชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง

 ๕. บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลายให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ

 ๖. เคารพสักการบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่าง ๆ) ของวัชชี (ประจำชาติ) ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้พลที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป

 ๗. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย (ในที่นี้กินความกว้าง หมายถึง บรรพชิตผู้ดำรงธรรมเป็นหลักใจของประชาชนทั่วไป) ตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก

         อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ พระพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่เจ้าวัชชีทั้งหลายผู้ปกครองรัฐโดยระบอบสามัคคีธรรม

         แนวทางการประยุกต์ใช้หลักอปริหานิยธรรม ๗  ในการบริหารวง หลักอปริหานิยธรรมเป็นหลักเพื่อส่งเสริมความเจริญ บุคคลกลุ่มใดประพฤติปฏิบัติอยู่เนืองนิตย์จะไม่พบกับความเสื่อม ผู้เป็นหัวหน้าเป็นผู้บริหารควบคุมคนเป็นจำนวนมากสมควรยึดหลักธรรมเหล่านี้ไว้เป็นหลักในการบริหาร วงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสานมีหลักการบริหารหมู่คณะให้เป็นไปด้วยดีตามหลักอปริหานิยธรรมอันเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ มีกติกาไว้ว่า เมื่อรวมวงซ้อมเตรียมการแสดงทุกคนต้องมาซ้อมพร้อมกันทุกคน ก่อนการแสดงก็ต้องมีการซักซ้อมบทที่ตัวเองรับผิดชอบทุกครั้ง ทุกคนในคณะต้องพร้อมเพรียงกันตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทำงานช่วยกันในส่วนที่พึงช่วย พร้อมเพรียงกันสร้างชื่อเสียงให้กับคณะ ไม่คิดทำสิ่งที่เป็นเรื่องขัดแย้งกับหลักการเดิมใช้หลักการอันเป็นที่ยอมรับมาใช้ไม่ให้ทุกคนทำผิดหลักการให้ปฏิบัติตามหลักกติกาของคณะ ให้ทุกคนมีความเคารพต่อผู้ใหญ่ในคณะ ยอมรับฟังคำแนะนำผู้มีประสบการณ์หรือผู้ใหญ่ผู้มีความรู้ในเรื่องที่สมควรรับฟัง ห้ามมิให้นักแสดงชายหญิงอยู่ร่วมกัน ผู้ชายไม่ให้ข่มเหงรังแกผู้หญิง ห้ามทำผิดประเพณีให้เกียรติแก่สตรี เมื่อไปแสดงสถานที่ต่าง ๆ ก็ให้แสดงความเคารพสถานที่ที่ไปแสดง รู้จักสักการะบูชาไม่ให้กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมในสถานที่ที่ชาวบ้านเคารพบูชา ให้สมาชิกในวงทุกคนรู้จักทำบุญให้พระสงฆ์ทางคณะได้ให้การอุปถัมภ์พระสงฆ์อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน แม้ชาวคณะทุกคนก็ต้องให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน

       จากการประยุกต์หลักธรรมที่กล่าวมาพอสรุปแนวทางสำคัญได้ ๔ แนวทาง คือ

 ๑. แนวทางที่ใช้หลักความพร้อมเพรียงกันทั้งการเตรียมความพร้อมก่อนการแสดง ช่วงการแสดง และหลังการแสดงเสร็จเพราะหลักความพร้อมเพรียงกันนำมาซึ่งความสุข

 ๒. แนวทางให้ยึดกฎกติกาของชาวคณะของสังคมท้องถิ่น ยึดหลักการตามข้อสัญญาของผู้เชิญไปแสดง

 ๓. แนวทางให้มีความสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตนเคารพต่อพระสงฆ์  สามเณร  ผู้ใหญ่  ผู้มีอายุ  ผู้มีบุญคุณ  มีหัวหน้า  มีลูกน้อง  และให้เกียรติสตรีและเด็ก

 ๔. แนวทางให้เคารพต่อสถานที่อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในท้องถิ่น เคารพปูชนียสถานต่าง ๆ ของชาติ  เช่น  ศาสนสถาน  อนุสาวรีย์ผู้ทำประโยชน์แก่ชาติ  เคารพผู้เป็นครูอาจารย์ การเอาใจใส่ตอบแทนให้การอุปถัมภ์วัด  และพระสงฆ์ทั้งหลาย

เทวธรรม (หิริ-โอตตัปปะ)

 เทวธรรม (หิริ-โอตตัปปะ) หมายถึง ธรรมคุ้มครองโลก  เป็นธรรมที่ช่วยให้โลกมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เดือดร้อนและสับสนวุ่นวาย คือ หิริ หมายถึง ความอายบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว โอตตัปปะ หมายถึง ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่ว  ความละอายใจต่อการทำความชั่ว ความเกรงกลัวต่อบาปหรือความชั่วเป็นธรรมฝ่ายขาว เป็นธรรมตรงข้ามกับฝ่ายดำ คือไม่เกรงกลัวบาป ไม่มีความละอายใจ บุคคลผู้มีธรรมฝ่ายขาวทั้ง ๒ ประการ ย่อมมีความสง่างามในการดำเนินชีวิต  เทวธรรม คือ ธรรมคุ้มครองโลก เป็นธรรมที่ปกป้องไม่ให้ทำความชั่ว  มีการเรียกว่า ธรรมคุ้มครองโลกบ้าง  ธรรมเป็นโลกบาลบ้าง  ซึ่งก็คือความหมายเดียวกัน

 แนวทางการประยุกต์ใช้หลักเทวธรรม  ในการบริหารคณะ หลักเทวธรรมที่เรียกว่าธรรมคุ้มครองโลก  เป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้คนทำชั่ว  จะทำอะไรก็มีความละอายใจ  มีความเกรงกลัวต่อบาป การใช้หลักเทวธรรมในการดำเนินชีวิต  หรือประกอบอาชีพย่อมนำความสุขมาให้ตน  การบริหารงานผู้นำต้องมีความละอายใจที่จะเอารัดเอาเปรียบลูกน้อง  หรือผู้ใต้บังคับบัญชามีความเกรงกลัวต่อบาปหรือโทษ  หัวหน้าวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสานมีแนวทางในการบริหารคณะด้วยอาศัย

หลักเทวธรรมเป็นผู้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่ลูกน้อง  และวางกติกาพร้อมกับให้สมาชิกในคณะกระทำแต่สิ่งที่ดีงามให้รู้จักมีความละอายใจที่จะเอารัดเอาเปรียบคนอื่น การรับเชิญไปแสดงก็ไม่เอารัดเอาเปรียบเจ้าภาพ  คิดหาแต่สิ่งที่จะให้ความสนุกสนานเหมาะสมกับกาลเวลา ไม่เอาเปรียบผู้ฟัง วิธีการที่นำหลักเทวธรรมมาใช้คือ  การให้ผู้แสดงมีความสำนึกตัวเองอยู่ตลอดเวลาให้มีความละอายใจที่จะพูด  จะคิด หรือจะทำ   การให้ฝึกฝนตนเองสวดมนต์ไหว้พระเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้สมาชิกในคณะเป็นผู้มีศีล  เมื่อทุกคนปฏิบัติตามหลักของศีลธรรมแล้วก็จะมีความละอายใจ  มีความเกรงกลัวต่อการกระทำที่เป็นโทษ  หรือเป็นความชั่ว  มีการฝึกให้ชาวคณะได้รู้จักการปฏิบัติให้ถูกกาลเทศะมีความปรารถนาดีต่อทุกคน  เมื่อจิตใจมีความปรารถนาดีต่อคนอื่นแล้ว  ก็เท่ากับว่าเบื้องต้นก็มีความละอายใจเกรงกลัวต่อบาปกรรม   คนเราควรมีความละอายใจที่จะทำความชั่วอันจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและคนอื่น  มีความเกรงกลัวว่าสิ่งที่กระทำลงไปนั้น เป็นการกระทำที่นำไปสู่ความเสื่อม  คนเหล่านั้นได้ชื่อว่า มีธรรมที่จะรักษาสังคมให้อยู่อย่างเป็นสุข

 สรุปได้ว่า  แนวทางการประยุกต์ใช้หลักเทวธรรมในการบริหารวงของหมอลำคณะเสียงอิสานมี ๒ แนวทาง คือ

 ๑. การให้สมาชิกในวงทุกคนรู้จักละอาย ไม่ให้กระทำความผิดกฎกติกาการให้อยู่ร่วมกันแบบพี่น้อง รู้จักเสียสละให้กระทำแต่สิ่งที่ดีเป็นประโยชน์แก่ชาวคณะ ป้องกันไม่ให้นำความเสียหายมาสู่หมู่คณะในขณะแสดงให้มีความละอายในการพูด  การคิด และการกระทำให้แสดงออกมาแต่สิ่งดี ๆ มีประโยชน์ต่อผู้ฟัง

 ๒. การให้สมาชิกในวงมีการควบคุมอารมณ์อดทนต่อความลำบาก  มีความเสียสละ  มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน  เอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือกัน  เป็นวิธีการที่ทางหัวหน้าคณะนำมาใช้กับลูกน้องในคณะ

หลักพุทธธรรมที่ประยุกต์ใช้ในการบริหารวง

   การวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ประยุกต์ใช้ในการบริหารวงอันเป็นหลักคุณธรรม เพื่อให้ชาวคณะมีความผาสุก การนำหลักธรรมมาใช้ในการดูแลสมาชิกในวงของผู้บริหารโดยเฉพาะผู้จัดการและหัวหน้าคณะมีหลายประเด็นแต่ผู้วิจัยนำมาวิเคราะห์เพียง ๔ ประเด็นเท่านั้น เพื่อให้เห็นความสอดคล้องกับหลักธรรมที่ยกมาว่ามีวิธีการบริหารอย่างไรนำมาประยุกต์อย่างไร หลักธรรม  ทั้ง ๔ คือ พรหมวิหาร ๔  อิทธิบาท ๔  สัจจะ (มีความซื่อสัตย์และตรงต่อเวลาการแสดง) และความรู้จักกตัญญูกตเวที ทั้ง ๔ ประเด็น  มีผลวิเคราะห์ ดังนี้

พรหมวิหาร ๔

      ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค กล่าวถึง พรหมวิหาร ว่า หมายถึง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม

       พรหมวิหาร ๔ หมายถึง ธรรมเป็นอยู่อย่างประเสริฐ ธรรมประจำใจอันประเสริฐ หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์ ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ มี ๔ ประการ คือ

 ๑.  เมตตา ได้แก่ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุขมีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า

 ๒. กรุณา ได้แก่ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์

 ๓. มุทิตา ได้แก่ ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

 ๔. อุเบกขา ได้แก่ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายทำแล้วอันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันประกอบพร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติตามธรรม รวมทั้งรู้จักความสงบใจมองดูในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมควรกับความรับผิดชอบของตน

        แนวทางการประยุกต์ใช้หลักพรหมวิหาร ๔  ในการบริหารคณะ  พรหมวิหารเป็นธรรมเครื่องอยู่ของพรหม พ่อแม่ที่ดูแลลูกต้องใช้หลักธรรมนี้ ครูอาจารย์ หัวหน้าต้องมีพรหมวิหารประจำใจ  แม้แนวทางปฏิบัติก็เพื่อควบคุมความประพฤติ  และปฏิบัติตนต่อเพื่อนมนุษย์ หลักพรหมวิหารทั้ง ๔ ข้อ นั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารหมู่คณะ โดยหัวหน้าต้องปฏิบัติเสมือนพรหม คือ  มีเมตตาความรักใคร่ปรารถนาดี  ต้องการให้ลูกน้องมีความสุขกันทุกคน ให้ลูกน้องมีไมตรีจิต  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อหมู่คณะ  มีความยินดีเมื่อเพื่อนร่วมคณะมีชื่อเสียงโด่งดัง  หัวหน้าก็สนับสนุนยกย่องชมเชย มีความคิดที่จะช่วยเหลือสังคมช่วยเหลือเพื่อนร่วมคณะ ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนเข้าไปช่วยเหลือตามความสามารถของตนเอง หัวหน้าคณะเป็นตัวอย่างที่ดีของหมู่คณะมีจิตใจเป็นกลางไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ซ้ำเติมผู้ที่ได้รับทุกข์จากผลที่เขาได้กระทำเอาไว้ การอยู่ร่วมกับลูกน้องต้องมีปัญญาพิจารณาถึงเหตุผลต่างๆไม่แสดงความเสียใจหรือดีใจจนมากเกินไป 

          ดังนั้น  คุณลักษณะหัวหน้าต้องเป็นผู้ที่ตั้งมั่นในหลักธรรมทั้ง ๔ ประการ  จึงจะสามารถนำพาหมู่คณะไปสู่ความสำเร็จได้  แม้ลูกน้องก็เช่นเดียวกันต้องมีความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมวง คอยห่วงใยเพื่อนให้การปลอบใจแก่เพื่อนผู้ได้รับความทุกข์ช่วยเหลือกันมีการทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา  รู้จักวางเฉยต่อเรื่องที่ไร้สาระ การนำหลักพรหมวิหารมาใช้ในการบริหารวงจึงมีแนวทางประยุกต์ใช้อยู่ ๒ ประการกล่าวคือ ๑) ประยุกต์ใช้ให้ทุกคนมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีจิตใจที่มองคนอื่นในทางที่ดี  ๒) ประยุกต์ใช้ให้รู้จักฝึกปฏิบัติตนให้เป็นผู้ที่มีจิตใจร่าเริง  คอยดูแลผู้อื่นไม่อิจฉาริษยามีความรักใคร่ปรองดองกัน  ยิ้มแย้มกับผู้ชมปรารถนาให้ผู้ชมมีความสุขจากการฟัง  การชม  มีปัญญาแยกแยะผู้ชมที่อาจเข้ามารบกวนในขณะที่กำลังแสดงมองด้วยใจเป็นกลาง

อิทธิบาท ๔

 อิทธิบาท หมายถึง คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จหรือคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย  ประกอบด้วยหลักสำคัญ ๔ ข้อด้วยกัน ดังนี้

 ๑.  ฉันทะ คือ ความพอใจ ได้แก่ ความต้องการที่จะทำใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ

 ๒. วิริยะ คือ ความเพียร ได้แก่ ขยันหมั่นเพียรประกอบสิ่งนั้น ด้วยความพยายามเข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย

 ๓. จิตตะ คือ ความคิด ได้แก่ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป

 ๔. วิมังสา คือ ความไตร่ตรอง ทดลอง ได้แก่ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ ตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง

        แนวทางการประยุกต์ใช้ในการบริหารวง หลักธรรมอิทธิบาทหรือธรรมที่เป็นคุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จหรือคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย  สามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการบริหารวงเพื่อให้การดำเนินการแสดงของคณะคือการอยู่ร่วมกัน  การแสดงหน้าเวทีตลอดจนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ภายในวงการรับสมัคร  การทำโทษผู้ฝ่าฝืนกลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์จะต้องใช้หลักธรรมอิทธิบาทในการบริหารวงอย่างสม่ำเสมอ

 ดังนั้น การยึดหลักอิทธิบาทนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสานจนประสบความสำเร็จแล้ว   อีกทั้งยังเป็นธรรมที่ทุกคนสามารถจะนำไปปรับใช้ในการบริหารงานได้ทุกประเภท  เพราะมีความเชื่อมโยงกันไปอย่างดีสามารถทำให้ผู้ใช้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตนตั้งไว้  หากเป็นเป้าหมายอันชอบธรรมหมวดนี้  การศึกษาเล่าเรียน  การทำงานและอาชีพต่าง ๆ เหล่านั้นต้องใช้ให้มาก  เพราะจะต้องมีความพึงพอใจ  ความตั้งใจ  ความเอาใจใส่และความฉลาดในการบริหารงาน  การบริหารงานย่อมจะอำนวยผลหรือประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

สัจจะ (มีความซื่อสัตย์และตรงต่อเวลาการแสดง)

     สัจจะ หมายถึง ความจริง  ได้กล่าวถึงสัจจะ ๒ คือ

 ๑. สมมติสัจจะ ได้แก่ ความจริงโดยสมมติ ความจริงที่ถือตามกำหนดหมายตกลงกันไว้ของชาวโลก เช่นว่า คน สัตว์ โต๊ะหนังสือ

 ๒.ปรมัตถสัจจะ ได้แก่ ความจริงโดยปรมัตถ์ ความจริงตามความหมายขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะ เช่น รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก

       สัจจะ เป็นหลักธรรมข้อหนึ่งที่ปรากฏในเบญจธรรม หมายถึง ความสัตย์ ความซื่อตรง

 ส่วนสัจจะ ในอีกความหมายตามที่ปรากฏในฆราวาสธรรม หมายถึง ธรรมสำหรับฆราวาส ธรรมสำหรับการครองเรือน เป็นธรรมข้อแรกของธรรมหมวดนี้ สัจจะ หมายถึง ความจริง ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง

       การให้คำนิยามของคำว่า สัจจะ นอกจากที่กล่าวมานี้  ยังปรากฏอยู่ในธรรมหมวดอื่นหลาย ๆ หมวดซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกัน คือ ความจริงความซื่อตรง ซื่อสัตย์ ธรรมข้อนี้เป็นหลักธรรมที่ทุกคนต้องมีต้องศึกษาให้เข้าใจและต้องใช้ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา

         แนวทางการประยุกต์ใช้หลักสัจจะในการบริหารวง หลักสัจจะเป็นหลักธรรมข้อหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เพราะหลักสัจจะนี้ทำให้เราเห็นความจริงของชีวิต ความจริงในการดำรงอยู่ในสังคมว่าทุกคนต้องมีความจริงใจ ความซื่อตรง ความซื่อสัตย์ต่อกัน หลักธรรมนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการบริหารวงของหมอลำคณะเสียงอีสานได้ เพื่อให้การดำเนินในด้านการแสดงบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การบริหารวงนั้นผู้เป็นหัวหน้าต้องมีความซื่อสัตย์ จริงใจต่ออาชีพของตนเอง ซื่อตรงจริงใจต่อหมู่คณะที่อยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความซื่อสัตย์ ซื่อตรง จริงใจต่อเวลาการแสดง เพราะถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของอาชีพการแสดง

         การบริหารองค์กรหัวใจอันดับแรก  คือ ความซื่อสัตย์จริงใจต่อเพื่อนร่วมงาน รักษาหลักการข้อตกลง  สัจจะนี้มีความจำเป็นต้องมีประจำใจทุกคน  เพราะถ้าหากแสดงความจริงใจต่อกันแล้วสามารถร่วมงานร่วมสังคมกันไปได้นาน ทุกคนต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจความจริงใจที่จะการดำเนินงานเรื่องนั้น ๆ ให้สำเร็จเป้าหมาย  การที่จะรักษาพวกพ้องได้ต้องมีความจริงใจต่อเขา การจะรักษาชื่อเสียงและความนิยมได้  ก็ต้องมีความซื่อตรงต่อเวลาแสดงตามข้อตกลงตามเงื่อนไขของเวลา

ความรู้จักกตัญญูกตเวที

         ในแง่ความหมายของคำต่าง ๆ ผู้วิจัยเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องนำมากล่าวในที่นี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจบริบทของศัพท์ว่า กตัญญูกตเวที ได้แก่ กตัญญู และกตเวที ดังนี้

 ๑. กตัญญู เป็นคำภาษาบาลีและเป็นคำนาม หมายถึง ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำให้, ผู้รู้คุณท่าน, เป็นคำคู่กันกับกตเวที

 ๒. กตัญญู เป็นคำกิริยานามปุงลิงค์และคำวิเสสนะ แปลว่า ผู้รู้ซึ่งอุปการะอัน บุคคลอื่นทำแล้วแก่ตนโดยปกติ มีรูปวิเคราะห์ว่า กตํ อุปการํ ชานาติ สีเลนาติ กตญฺญู แปลว่า ผู้มีปกติรู้ซึ่งอุปการะอันบุคคลอื่นทำแก่ตน มีรูปวิเคราะห์ว่า กตํ ชนิตุ สีลมสฺสาติ กตญฺญู แปลว่าผู้รู้อุปการะอันบุคคลอื่นทำแล้วแก่ตน มีรูปวิเคราะห์ว่า กตํ อุปการํ ชานาตีติ กตญฺญู

 ๓. กตัญญุตา เป็นคำนาม หมายถึง ความกตัญญู, ความเป็นผู้รู้อุปการคุณที่ท่านทำให้, ความเป็นผู้รู้คุณท่าน

 ๔. กตัญญุตา เป็นคำกิริยานามอิตถีลิงค์หรือเพศหญิง แปลว่า ความเป็นแห่งบุคคลผู้รู้ซึ่งอุปการะอันบุคคลอื่นทำแล้วแก่ตน, ความเป็นแห่งบุคคลผู้รู้ซึ่งอุปการะอันบุพการีชนทำแล้ว,   ความเป็นแห่งบุคคลผู้กตัญญู,   ความเป็นผู้กตัญญู     มีรูปวิเคราะห์ว่า กตญฺญุสฺส ภาโว กตญฺญุตา

 ส่วนความหมาย กตเวที คือ

 ๑. กตเวที เป็นคำคุณศัพท์หรือกริยาวิเศษณ์ หมายถึง ผู้ประกาศคุณท่าน, ผู้สนองคุณท่าน, เป็นคำคู่กันกับ กตัญญู

 ๒. กตเวที เป็นคำวิเสสนะ แปลว่า ยังบุคคลให้รู้ซึ่งอุปการะอันบุคคลอื่นทำแล้ว แก่ตน, ยังบุคคลให้รู้ซึ่งคุณอันบุคคลทำแล้วแก่ตน, ผู้ประกาศซึ่งอุปการะอันบุพการีชนทำแล้ว, ผู้ตอบแทนอุปการะของท่าน, ผู้สนองคุณท่าน, ผู้ตอบแทนคุณท่าน แต่หากเป็นคำกิริยานามปุงลิงค์จะแปลว่า บุคคลผู้ยังบุคคลให้รู้ซึ่งอุปการะอันบุคคลอื่นทำแล้วแก่ตน

 ๓. กตเวทิตา เป็นคำนาม หมายถึง ความเป็นผู้ประกาศคุณท่าน, ความเป็นผู้สนองคุณท่าน, เป็นคำคู่กันกับ กตัญญุตา

 ๔. กตัญญูกตเวที  เป็นคำกิริยานามปุงลิงค์หรือเพศชาย  แปลว่า  บุคคลผู้รู้คุณท่านและตอบแทนคุณท่าน ไทยตัดพูดเฉพาะกตัญญู แต่ความหมายหมายถึง กตเวทีด้วย

 กตัญญูกตเวที มีความสำคัญและมีความจำเป็นที่ทุกคนจะต้องฝึกอบรมให้เกิดมีแก่ตน ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า

  “…ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่าเราทั้งหลาย                                   

      จักเป็นผู้กตัญญูกตเวทีและอุปการะแม้เพียงเล็กน้อยที่บุคคลอื่นกระทำในเราทั้งหลายจักไม่เสื่อมสูญไป เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้”

      อีกนัยหนึ่งว่า ความกตัญญูรู้คุณท่าน จัดเป็นรัตนะอย่างหนึ่งในบรรดารัตนะทั้ง ๕ ประการ ได้แก่

(๑) พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

(๒) ผู้แสดงธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว 

(๓) ผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้แล้ว 

(๔) บุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้แล้ว 

(๕) กตัญญูกตเวทีบุคคลที่เกิดขึ้นยากหรือหาได้ยากในโลก

          นอกจากนี้ยังปรากฏคำกล่าวยกย่องลักษณะของบุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวที ไว้ดังนี้

 ๑) เป็นสัตบุรุษ ได้แก่ คนดีมีคุณธรรม เป็นบัณฑิตในทางพระพุทธศาสนาเพราะความกตัญญูกตเวทีเป็นภูมิของสัตบุรุษ

 ๒) เป็นบุคคลหาได้ยาก เพราะบุคคลที่มีความกตัญญูกตเวทีต้องฝึกฝนตนมาดี สามารถยกจิตใจของตนให้สูงส่งได้ซึ่งมิใช่จะเกิดขึ้นกับคนทุกคนได้

 ๓) ประสบแต่ความสุข เนื่องจากประพฤติตนถูกต้องชีวิตจึงมีแต่ความเจริญและยังนำความสุขมาให้แก่บุคคลอื่นๆด้วย

 ๔) ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ เพราะเป็นผู้มีจิตใจสูงส่งประกอบด้วยคุณธรรมอันดีและเป็นแบบอย่างแก่คนอื่นๆได้จึงสมควรได้รับการยกย่องชมเชย

 ๕) ประพฤติสิ่งที่เป็นอุดมมงคลแก่ชีวิต เพราะความกตัญญูเป็นข้อปฏิบัติที่ก่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ชีวิต เป็นอุดมมงคลในชีวิต

          การนำหลักกตัญญูกตเวทีมาใช้ในการฝึกฝนแก่ชาวคณะเพื่อต้องการให้หมอลำนักร้องนักดนตรีได้มีโอกาสประพฤติตน  กระทำต่อผู้มีอุปการคุณการทำความเข้าใจหรือความรู้จักกตัญญูกตเวที  จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวคณะต้องรู้จักและปฏิบัติให้ได้  ในการดำเนินชีวิตถ้าบุคคลไม่รู้จักไม่มีความกตัญญูกตเวที  ไม่ระลึกในใจแล้วบุคคลนั้นอาจพบกับความวิบัติไม่เจริญรุ่งเรือง  เป็นบุคคลไม่ควรเอาอย่างกตัญญูกตเวทีเป็นหลักธรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความดี  เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป  การฝึกให้หมอลำ นักร้อง นักดนตรีเป็นคนรู้จักความดีของคนอื่นเป็นเป้าหมายสำคัญของหมอลำคณะเสียงอีสานทุกคนสามารถประพฤติต่อบิดามารดา  ครูอาจารย์  ญาติพี่น้องได้อย่างมีความสุขควรแก่การยกย่อง  เป็นอุดมมงคลแก่ชีวิตได้ชื่อว่าเป็นอุดมมงคลแก่ชีวิต 

           เพราะฉะนั้น  แนวทางการประยุกต์ใช้ความรู้จักกตัญญูกตเวที ความเป็นคนรู้จักกตัญญูกตเวที ถือว่าเป็นคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์  ในสังคมมนุษย์ต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่น  ชีวิตดำรงอยู่ได้เพราะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากบุคคลต่าง ๆ มีบิดามารดา  ครูอาจารย์  ญาติพี่น้อง  มนุษย์เราก็ได้รับการปลูกฝังอบรมลักษณะคุณค่าทางจิตใจให้มีคุณธรรม จริยธรรมในการดำเนินชีวิตให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง  บุคคลที่ได้รู้จักตอบบุญแทนคุณผู้อื่น มักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีเป็นคนหาได้ยากอย่างยิ่งต่อโลก  เพราะนอกจากจะทำให้ตนเป็นผู้มีเกียรติอันควรยกย่องทางสังคมแล้ว  ยังเป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนอื่นได้อีกด้วย

สรุป

           สรุปผลการประยุกต์หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการบริหารจัดการและบทบาทวงของหมอลำคณะเสียงอิสานมีผลการศึกษา ได้ดังนี้

 หลักพุทธธรรมที่ประยุกต์ใช้ด้านจริยศิลป์ (จริยธรรมในการแสดง)

    ก)  การประยุกต์ใช้ หลักเบญจศีลเบญจธรรม มีแนวทางประยุกต์ใช้ที่สำคัญ ๒ แนวทางคือ มีการควบคุมอารมณ์มีสติสัมปชัญญะในการแสดง  และมีความรักความเมตตาต่อกันมีความซื่อสัตย์

    ข) การประยุกต์ใช้หลักอปริหานิยธรรม ๗ ในการบริหารวง มีแนวทางประยุกต์ที่สำคัญ ๔ แนวทาง คือ 

๑) ยึดกฎกติกาของชาวคณะของสังคมท้องถิ่นยึดหลักการข้อสัญญากับเจ้าภาพ 

๒) หลักความพร้อมเพรียงสามัคคีกันนำมาซึ่งความสุขความสำเร็จ 

๓)  มีความสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน เคารพผู้ใหญ่ ผู้มีอายุ ผู้มีพระคุณ 

๔) ให้ความเคารพต่อสถานที่ อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในท้องถิ่น เคารพปูชนียสถาน
ต่าง ๆ  ของชาติ

 ค) การประยุกต์ใช้หลักเทวธรรม (หิริ-โอตตัปปะ) ในการบริหารวง มีแนวทางการประยุกต์ใช้ที่สำคัญอยู่ ๒ แนวทางคือ  ๑)  รักษากฎกติกา การอยู่ร่วมกันแบบพี่แบบน้องรู้จักเสียสละให้กระทำแต่สิ่งที่ดีเป็นประโยชน์  ๒)  การควบคุมอารมณ์อดทนต่อความลำบาก รู้จักเสียสละ และการรู้จักบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม

 ผลการที่นำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารวง  หลักธรรมที่นำมาประยุกต์และมีผลสรุปได้ ดังนี้

 ก) การประยุกต์ใช้หลักพรหมวิหารมีแนวทางการประยุกต์ใช้อยู่ ๒ แนวทาง ได้แก่  ๑) ให้ทุกคนฝึกมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีจิตใจที่มองผู้อื่นเป็นมิตร  ๒)  ให้ทุกคนฝึกปฏิบัติตนให้เป็นผู้ที่มีจิตใจร่าเริง คอยดูแลผู้อื่นไม่ให้มีความอิจฉาริษยามีความรักใคร่ปองดองกัน

 ข) การประยุกต์ใช้หลักอิทธิบาท ๔ ในการบริหารวง มีแนวทางการประยุกต์ใช้อยู่ ๒ แนวทาง ได้แก่  ๑)  มีความพอใจ ขยันหมั่นเพียรในการฝึกฝนท่องบท มีความอดทน เพียรพยายามหาสิ่งใหม่ ๆ มาให้ผู้ชม ไม่ลืมตัวเอง หรือไม่ให้ประมาท  ๒)  ให้ฝึกวิธีการรับรู้มีจิตสำนึกในอาชีพของตนเอง  ให้รู้จักการประเมินตัวเอง และมีการวางแผน

 ค) การประยุกต์ใช้หลักสัจจะ (มีความซื่อสัตย์และตรงต่อเวลาการแสดง)  มีแนวทางประยุกต์ใช้ ๒ แนวทาง ได้แก่  ๑) ให้รู้จักความจริงใจ รักษาความเที่ยงตรง การให้เป็นคนตรงต่อเวลา  ๒)  การให้รู้จักการพูดความจริง มีความจริงใจต่อเพื่อนร่วมงาน รักษากติกา  รักษาสัญญา รักษาวาจา  ให้ทุกคนต้องสำรวมระวังการโกหกหลอกลวง มีความซื่อสัตย์ต่อผู้ฟัง ต่อเจ้าภาพในงานที่แสดงใช้ ๒ แนวทาง คือ ๑) การให้หมอลำ นักร้อง  นักดนตรีและสมาชิกในวงได้มีโอกาสประพฤติตน กระทำต่อผู้มีอุปการคุณ รู้จักการตอบแทน  ๒) การส่งเสริมให้หมอลำ นักร้อง นักดนตรี และสมาชิกในวงเป็นคนรู้จักความดีของคนอื่น ประพฤติปฏิบัติต่อบิดามารดาครูอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ

 สรุปได้ว่า  การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมทั้งในการแสดงและในการบริหารวง ต้องมีกรอบมีรูปแบบที่ชัดเจนไม่ควรให้เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ถ้าทุกคนในคณะเสียงอิสานตั้งแต่หัวหน้า ลูกน้อง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติได้ตามหลักคำสอนที่นำมาใช้จะเป็นคณะที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของคนทั่วไปอย่างไม่มีวันเสื่อม  และจะได้เป็นแบบอย่างของคณะอื่น ๆ อีกด้วย  ด้านการบริหารจัดการวงหมอลำคณะเสียงอิสาน  ในฐานะหัวหน้าวง  นกน้อย  อุไรพร  ได้ประยุกต์หลักธรรมมาใช้จนทำให้ประสบความสำเร็จ  ในการครองตน  ครองคน  และครองงาน

แหล่งข้อมูล

https://goo.gl/ERU5YV

https://goo.gl/1eySVt

https://goo.gl/Y4ujLQ

https://goo.gl/VWkXPs

https://www.gotoknow.org/posts/252263

https://www.gotoknow.org/posts/550239

http://sathlearner.blogspot.com/2007/05/blog-post.html

หมายเลขบันทึก: 659681เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2019 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2019 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท