นักวิจัยอาชีพ



ในการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ของ สกว. เมื่อเช้าวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ มีการนำเสนอ “ยุคใหม่ของ คปก.”    โดยเปลี่ยนเป้าหมายของการผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอก จากการสร้างอาจารย์นักวิจัย  เปลี่ยนเป็นสร้างนักวิจัยอาชีพ    ตามรูปที่ ๑ และ ๒

จึงเกิดคำถามว่า นักวิจัยอาชีพเป็นอย่างไร   

ผมได้อธิบายในบันทึกที่แล้ว ไว้บ้างแล้ว    เป็นการอธิบายโดยใช้ IHPP เป็นตัวอย่างนักวิจัยอาชีพด้านนโยบายและระบบสุขภาพ   

ประเด็นสำคัญในบันทึกดังกล่าวคือ นักวิจัยอาชีพต้องการหน่วยวิจัยคุณภาพสูงเป็น “บ้าน” ให้ความร่มเย็นและความปลอดภัยในชีวิต     โดยทำงานเป็นนักวิจัยแบบเต็มเวลา วัดผลงานและได้รับความเจริญก้าวหน้าจากผลงานวิจัย     ไม่มีงานอื่น หรือหากจะมีก็ต้องเป็นงานที่ช่วยเสริมภารกิจด้านการวิจัย เช่นการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาเอก (หรือโท)

หน่วยวิจัยแบบนี้ต้องไม่เป็นหน่วยราชการ     ดังกรณีของ IHPP เป็นมูลนิธิ  มีขาที่อิงกระทรวงสาธารณสุขเล็กน้อย    และรักษาความพอดีของความใกล้ชิดและระยะห่างกับกระทรวงสาธารณสุข    ใกล้ชิดเพื่อรับโจทย์วิจัย (และทรัพยากร)   และเพื่อนำผลวิจัยสู่การขับเคลื่อนนโยบาย    รักษาระยะห่างเพื่อธำรงความมั่นคงทางวิชาการ ไม่ตกอยู่ใต้คำสั่งที่บางกรณีเป็นความต้องต้องการทางการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล   แต่ขัดแย้งกับผลงานวิจัย  

ประเทศไทย ๔.๐ จะบรรลุได้    ระบบวิจัยต้องไม่เป็นอย่างในปัจจุบัน    ที่หน่วยวิจัยอยู่ในมหาวิทยาลัยและหน่วยราชการเท่านั้น    ข้อด้อยของการอยู่ในมหาวิทยาลัยก็คือ นักวิจัยมีอาชีพเป็นอาจารย์เป็นอาชีพหลัก เป็นนักวิจัยเพื่อเสริมฐานการเป็นอาจารย์    ผมจึงไม่ถือว่านักวิจัยในมหาวิทยาลัยเป็นนักวิจัยอาชีพ   ข้อด้อยของการอยู่ในระบบราชการคือ ขาดความยืดหยุ่นคล่องตัวในการทำงาน    และค่าตอบแทน และความเจริญก้าวหน้า ไม่ดึงดูดคนเก่งไว้เป็นนักวิจัยได้   

ประเทศไทยต้องการหน่วยงานวิจัยอาชีพ  ที่มีความเป็นอิสระ   มีรายได้เลี้ยงตัวเองโดยการทำงานวิจัยที่ทำจริงจังต่อเนื่อง และนำส่งผลงานที่มีคุณภาพสูง    ทั้งหน่วยงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม    หน่วยงานวิจัยเชิงเศรษฐกิจและสังคม    หน่วยงานวิจัยการศึกษาหรือการเรียนรู้    หน่วยงานวิจัยเชิงนโยบาย    ฯลฯ    ที่มีอยู่แล้ว เช่น ทีดีอาร์ไอ  สวทช.   ยังไม่เพียงพอ    และบางองค์กรก็มีวัฒนธรรมราชการมากเกินไป    ขาดความยืดหยุ่นคล่องตัว  

ในหน่วยงานวิจัยอาชีพ  ต้องมีนักวิจัยมืออาชีพ ที่มีความสามารถสูง    มีค่าตอบแทนและบันไดอาชีพที่ดึงดูด    ประเทศไทยจึงจะบรรลุ Thailand 4.0 ได้

ระบบวิจัยไทย ยังจะต้อง transform อีกมาก    ทั้งในเชิงระบบองค์กร/หน่วยงาน วิจัย    และระบบนักวิจัยอาชีพ

 วิจารณ์ พานิช

๒๘ ธ.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 659685เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2019 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2019 09:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท