ลูกอีช่าง“ติว” การศึกษาแค่การสอบ?


บางเขตพื้นที่การศึกษานำคะแนนแต่ละโรงมาเรียงลำดับเปรียบเทียบ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาผลการสอบของโรงเรียนในเขตพื้นที่ตนเอง วิธียกย่องบางโรงและประณามบางโรง ทั้งๆที่รู้ซึ้งถึงความแตกต่างหลากหลายในเรื่องปัจจัยต่างๆที่แต่ละโรงมี เป็นความมักง่ายของนักการศึกษาบางคนอย่างไม่น่าเชื่อ

วันสองวันนี้ ความหนาวกลับมา ลมหนาวกรูเกรียว ยะเยือก สร้างความสดชื่น หนาวเย็นอย่างนี้ทั้งปีคงดี อารมณ์คนคงเย็น รอยยิ้มทักทายคงแต้มแต่งสังคมให้น่าอยู่ขึ้น

เทศกาลติวสอบโอเน็ตเริ่มต้นอีกครั้ง ช่วงต้นปีหรือจะสิ้นปีการศึกษา บ้านเรามีการสอบวัดความรู้พื้นฐานนักเรียนระดับชั้นประถมและมัธยมทุกปี แต่ก่อนสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ใช้ผลนี้วัดมาตรฐานการจัดการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งชี้เป็นชี้ตาย เพราะถ้าคะแนนไม่ถึง 8 จาก 20 แต้ม โรงเรียนจะไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานทันที แต่ล่าสุดการประเมินภายนอกรอบสี่ สมศ.ซึ่งเปลี่ยนไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ยกเลิกเกณฑ์วัดนี้แล้ว

แต่การสอบโอเน็ตยังสำคัญ เพราะเป็นคะแนนส่วนหนึ่งที่นักเรียนนำไปใช้สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังฟ้องถึงคุณภาพโรงเรียนในสายตาของผู้บริหารศธ.อยู่ดี บางเขตพื้นที่การศึกษานำคะแนนแต่ละโรงมาเรียงลำดับเปรียบเทียบ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาผลการสอบของโรงเรียนในเขตพื้นที่ตนเอง วิธียกย่องบางโรงและประณามบางโรง ทั้งๆที่รู้ซึ้งถึงความแตกต่างหลากหลายในเรื่องปัจจัยต่างๆที่แต่ละโรงมี เป็นความมักง่ายของนักการศึกษาบางคนอย่างไม่น่าเชื่อ

ขนาดคนในวงการศึกษา โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบระดับเขตพื้นที่ยังจมปลักอยู่กับความล้าหลัง ไม่เท่าเทียม แล้วคนภายนอกหรือในสังคมจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร สมศ.ทนฟังกระแสวิพากษ์ความไม่เห็นด้วยที่ใช้ไม้บรรทัดอันเดียวกันวัดทุกโรงเรียน เพื่อสร้างให้โรงเรียนทั้งประเทศมีมาตรฐานเดียวกันมานาน ในที่สุดต้องยกเลิก พ่ายแพ้ข้อเท็จจริงที่ทุกคนรับรู้ ว่าเป็นไปไม่ได้ในสังคมทุนนิยม มือใครยาวสาวได้สาวเอาเช่นนี้ หน่วยงานอื่นเข้าใจและปรับเปลี่ยนวิธีการ แต่หน่วยงานต้นสังกัดไม่เข้าใจ(ฮา)

การจัดการศึกษาบ้านเราที่ผู้เกี่ยวข้องดูไร้เหตุผลที่สุดอย่างหนึ่งคือเรื่องนี้ อยากได้เยาวชนคนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ต้องการนักคิด หลักสูตรปัจจุบันและหลายหลักสูตรที่ผ่านมาก็กำหนดลักษณะนั้น สถานศึกษาต้องจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือต้องเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ลงมือทำ ความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์ (Active Learning)

แต่เขตพื้นที่การศึกษากลับปล่อยให้โรงเรียนจัดการสอนแบบบรรยาย(Lecture)อุตลุด โดยเฉพาะช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มก่อนสอบโอเน็ต บางคนเรียกติว เรียนพิเศษ หรือสอนเสริมเพิ่มเติม ที่จริงก็คือสอนแบบอัดเนื้อหาให้เด็กๆนำไปใช้สอบ เป็นการสอนโดยเน้นครูเป็นสำคัญ ฟังหรือรับความรู้จากครูลูกเดียว(Passive Learning) ตรงข้ามกับที่หลักสูตรหรือพ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. 2542 กำหนด ที่สำคัญนี้เป็นการกระทำของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการศึกษาของชาติบ้านเมืองเสียเอง

แถมวิธีสอนดังกล่าวไม่ทำให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ไม่สร้างนักคิดแน่นอน นักเรียนอาจเก่งขึ้นบ้างในเรื่องการทำข้อสอบ อาจได้คะแนนดีขึ้นบ้าง แต่สุดท้ายก็ลืมความรู้เหล่านั้น

มิใช่แค่ปล่อยให้เกิด บางแห่งจังหวัดหรือเขตพื้นที่การศึกษาเป็นตัวตั้งตัวตีจัดการสอนแบบติวเองเลย ด้วยการจ้างติวเตอร์ที่มีชื่อเสียงมาสอน แล้วถ่ายทอดสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปยังโรงเรียนต่างๆ เวลาเรียนปกติในห้องถูกการติวเบียดแย่งไปอย่างไร้คุณค่าหรือไม่สนใจใยดีแม้แต่น้อย

หน่วยงานหลักที่ดูแลจัดการศึกษาบ้านเรา ทัศนคติ การดำเนินการยังย้ำวนอยู่กับที่ ทำงานเฉพาะหน้าเฉพาะกิจ เน้นแค่การสอบหรือผลการสอบไม่ต่างอะไรจากผู้ปกครอง ซึ่งไม่ได้สนใจภาพรวมการพัฒนาเยาวชนคนไทยอยู่แล้ว อย่างนี้การศึกษาเราจะไปทางไหนต่อ

จะสอบโอเน็ตก็ติว จะสอบ PISA ซึ่งเน้นการคิดเป็นพิเศษ ก็ให้ครูหาตัวอย่างข้อสอบมาศึกษา มาให้นักเรียนฝึกทำ เพื่อเพิ่มคะแนน เพิ่มลำดับ มิให้รั้งท้ายเหมือนที่ผ่านมา แทนที่จะเน้นการเรียนการสอนในห้องตามหลักสูตรหรือตามพ.ร.บ.การศึกษา เพื่อสร้างนักคิด ผลิตนวัตกรรมได้ เป็น Thailand 4.0 ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี แต่กลับเน้นทำทุกวิถีทาง แค่ให้ทำข้อสอบได้เท่านั้น

ความหนาว ความสดชื่น อีกไม่กี่วันคงจางหาย กลับมาร้อนอบอ้าวอีกเช่นเคย ฝุ่นละอองมากมายยังคงปกคลุมสร้างปัญหาให้คนกรุงเทพมหานคร คอร์รัปชั่นก็อีกเรื่องหนึ่งที่เลวร้ายยืนยงคงกระพันในบ้านเรา การเลือกตั้ง นักการเมืองและการทำงานเพื่อประชาชนอันเป็นที่รัก กำลังจะกลับมาอีกครั้งแล้ว

การศึกษาน่าจะประมาณกัน ซ้ำซาก วนเวียน น่าเศร้า..ยังไม่เห็นแสงสว่าง แม้พยายามเล็งจนสุดปลายอุโมงค์แล้ว

(พิมพ์ในมติชนรายวัน, 19 กุมภาพันธ์ 2562)

หมายเลขบันทึก: 659579เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2019 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มกราคม 2020 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

การศึกษาน่าจะประมาณกัน ซ้ำซาก วนเวียน น่าเศร้า..ยังไม่เห็นแสงสว่าง แม้พยายามเล็งจนสุดปลายอุโมงค์แล้ว

ขอสองคำ “เหนือยใจ” ค่ะ

ละลายเลยนะครับ..ความคิดอาจารย์..ชอบนะครับ..

   นับวัน..เราจะใช้การบริหารแบบ "เอาตัวรอด" และใช้นโยบายแบบ "หลับหูหลับตา" ในสิ่งที่อาจารย์พูด..มันเป็นความจริงและหนักข้อมากขึ้น..แต่ไม่มีผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองคนไหนสนใจ แม้กระทั่งนายกฯ อยากไปสู่ 4.0 แต่ตอนนี้ 0.4 ก็ยังไปไม่ถึง..   "เอาตัวรอด" คือยึดติดตำแหน่ง ไม่เป็นตัวของตัวเอง นายกฯถอนใจ รมว.ก็เอามาเป็นนโยบาย รมว.รำพึงรำพัน สพฐ.ก็สร้างงานให้เขตฯ เขตฯ แทบไม่มีอะไรใหม่ ไม่เคยทำงานวิชาการอย่างจริงจัง เป็นแค่ไปรษณีย์รับมาแล้วส่งต่อ..... บางที..ก็คิดว่า..การศึกษาเป็นเช่นนี้ เป็นเพราะวางยากันไว้ให้เป็นประเด็นปัญหา..จะได้นำมาซึ่งงบประมาณ..คอรัปชั่นเชิงนโยบาย ได้ง่ายขึ้น..   ในตวามเป็นจริง..ผู้บริหารโรงเรียน..สำคัญที่สุด ที่จะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง..โดยวิเคราะห์และบูรณาการการทำงาน ไม่จำเป็นต้องตามและเชื่อทุกเรื่อง..ตลอดจนไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด..   เราคิดผิดกันหรือเปล่า..บูชาและศรัทธาในนโยบาย..จนไม่เป็นตัวของตัวเอง เข้าทางเขาจนสนองใครต่อใครในทางที่ไม่เหมาะสม.. ครูและผู้บริหาร..ต้องหันกลับมาทำเรื่อง "หัวใจ" งานออกเขียนได้ อ่านคล่องเขียนคล่องและคิดคำนวณได้ เป็นปัจจัยพื้นฐาน ไปสู่ทักษะพื้นฐานในทุกเรื่อง..  ในความยุ่งยาก มันก็เป็นความคุ้มค่า "ปัญหา"การเรียนรู้ และปัญหาสังคมจะลดลง เพียงแค่ไม่ทำตัวเป็น "เตีี้ยอุ้มค่อม" ไม่พร้อมแต่ก็ยังอยากได้รางวัล จัดอีเว้นท์กันทั้งปี มีกิจกรรมที่ไร้สาระกันตลอด..สุดท้ายก็หมดเวลา สอนไม่ทัน..กลับมาการสอนแบบเดิมๆ คือติวแล้วถีบหัวส่ง....  รัฐบาล..อยากให้เด็กคิดเป็น ..แต่ครูไม่มีเวลาให้หลักการให้เด็กคิด..ชาติบ้านเมืองจะเหลืออะไร..ถ้าอาชญากรเต็มบ้านเต็มเมือง.โีรงเรียนคุณภาพประจำตำบลก็คงช่วยไม่ได้..ถ้าไม่รีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม..  ผมพูดจากที่สิ่งที่ผมเห็น ผมเน้นจากสิ่งที่ทำไม่เหมือนใคร ผมเป็น ผอ. เป็นครู และภารโรงในวันเดียวกัน..งานวิชาการทำเรื่องเดียว คือการอ่าน..ไม่ใช่โรงเรียนดีเด่น ไม่เน้นเหรียญทอง เอาใจลูกค้าคือ ผปค.มากกว่าจะไปสนใจ ผอ.เขต.ปัจจุบันเด็กเพิ่มขึ้น นักเรียนอ่านดีขึ้น..จึงเชื่อว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่คุณภาพไม่ต่ำ..พอดี และพอเพียง และไม่เป็นภาระของใคร..ครับ

-สวัสดีครับอาจารย์-น่าจะมีการ”ติววิชาชีวิต”ให้มากๆ นะครับ-ขอบคุณสำหรับบทความนี้ครับ-อ่านแล้วได้อะไรกลับมาคิดมากมาย…-สบายดีนะครับ?

อ่านแล้ว ปลง … ค่ะ อาจารย์ สู้ๆ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท