กรณีศึกษา ระเบียบสหกรณ์ ว่าด้วยกองทุนเสริมสร้างเสถียรภาพ ของสหกรณ์ พ.ศ. 2559 ของสหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง จำกัด ไม่เข้าองค์ประกอบของการกระทำที่ถือว่ามีลักษณะเป็นการประกันภัย


กรณีศึกษา ระเบียบสหกรณ์ ว่าด้วยกองทุนเสริมสร้างเสถียรภาพ ของสหกรณ์ พ.ศ. 2559 ของสหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง จำกัด ไม่เข้าองค์ประกอบของการกระทำที่ถือว่ามีลักษณะเป็นการประกันภัย 

เพราะ ระเบียบสหกรณ์เป็นเพียงการกำหนดให้ ผู้กู้เงินจากสหกรณ์และใช้สมาชิกของสหกรณ์เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญากู้เงินต้องวางเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน และเมื่อผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้จนเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันต้องเข้ามาชำระหนี้แทนผู้กู้ สหกรณ์ก็จะนำเงินเฉพาะส่วนของผู้กู้รายที่ผิดนัด ชำระหนี้ที่วางไว้เป็นหลักประกัน รวมกับเงินกองทุนที่จัดสรรจากเงินของสหกรณ์ไปชำระหนี้แทนผู้ค้ำประกัน โดยไม่มีเงินหรือผลประโยชน์จากเงินของผู้กู้เงินจากสหกรณ์รายอื่นรวมอยู่ด้วย  ประกอบกับเมื่อผู้กู้ชำระหนี้ครบถ้วน สหกรณ์ก็จะคืนเงินที่ผู้กู้นำมาวางเป็นหลักประกันให้กับผู้กู้ทั้งหมด 

การดำเนินการดังกล่าวของสหกรณ์จึงไม่เข้าองค์ประกอบของการกระทำที่ถือว่ามีลักษณะเป็นการประกันภัย

ข้อควรระวัง
แต่หากสหกรณ์มีการนำเงินหรือผลประโยชน์ของเงินที่ีผู้กู้รายอื่นวางไว้ในกองทุนมาชำระหนี้แทนผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันแล้ว  การดำเนินการดังกล่าวจึงเข้าองค์ประกอบของการกระทำที่ถือว่ามีลักษณะเป็นการประกันภัย โดยถือว่าสหกรณ์เป็นผู้รับประกันภัยซึ่งตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ และผู้กู้เป็นผู้เอาประกันภัย โดยเงินที่ผู้กู้แต่ละรายนำมาวางไว้ในกองทุนเป็นเบี้ยประกันภัย

เรื่องนี้สอดคล้องกับ ปรัชญาของการสหกรณ์ คือ  ช่วยตน  ช่วยกัน  self help mutual help
เนื่องเพราะสหกรณ์บริการเฉพาะในหมู่สมาชิก มิใช้แสวงหากำไรหรือผลประโยชน์จากบุคคลภายนอกแล้วนำมาแบ่งกัน
ตามความหมายของ คำ สหกรณ์ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554 
https://www.gotoknow.org/posts...

อีกทั้งยังสอดคล้องกับมาตรา 46 พรบ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542  ดังนี้

ส่วนที่ 3
การดำเนินงานของสหกรณ์

 มาตรา 46 เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการ ดังต่อไปนี้
              (1) ดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้า การบริการ และอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ของสมาชิก
                                  (2) ให้สวัสดิการหรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว
                                  (3) ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก
                                  (4) ขอหรือรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากทางราชการ หน่วยงานของต่างประเทศหรือบุคคลอื่นใด
                                  (5) รับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำจากสมาชิกหรือสหกรณ์อื่นได้ตามระเบียบของ สหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
                                  (6) ให้กู้ ให้สินเชื่อ ให้ยืม ให้เช่า ให้เช่าซื้อ โอน รับจำนองหรือรับจำนำ ซึ่งทรัพย์สินแก่สมาชิกหรือของ สมาชิก
                                  (7) จัดให้ได้มา ซื้อ ถือกรรมสิทธิ์หรือทรัพย์สิทธิ ครอบครอง กู้ ยืม เช่า เช่าซื้อ รับโอนสิทธิการเช่าหรือ สิทธิการเช่าซื้อ จำนองหรือจำนำ ขายหรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่นใดซึ่งทรัพย์สิน
                                  (8) ให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงินได้ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
                                  (9) ดำเนินกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับ หรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์

มีผู้สอบถามมาว่า รับจำนำนั้นสหกรณ์ทำได้หรือไม่

ตอบ มาตรา 46 ให้ทำได้ครับ แต่ต้องทำในขอบเขตของความเป็นสหกรณ์ คือ บริการสมาชิก  (member service) เท่านั้น หรือสหกรณ์สมาชิกหากไปบริการคนนอกท่ไม่ใช่สมาชิก หรือสหกรณ์สมาชิก กระทรวงที่รับผิดชอบเรื่องโรงรับจำนำ จะเข้ามาพบกับสหกรณ์ท่านครับ :)

กรณี ศูนย์กลางทางการเงิน และ ธนาคารสหกรณ์ (ที่แท้จริง) ก็สามารถทำได้ตามมาตรา 46 ลักษณะเดียวกัน กับกรณีศึกษานี้ คือ บริการในหมู่สมาชิก หรือสหกรณ์สมาชิกเพียงเท่านั้น ก็จะอยู่ในขอบเขตของ มาตรา 46  หากผู้ใดต้องการใช้บริการก็สมัครเข้าเป็นสมาชิกครับ 

สรุป   การให้บริการตามมาตรา 46 สหกรณ์ทุกสหกรณ์สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นสหกรณ์ที่แท้จริง คือ ผู้ที่ใช้บริการต้องสมัครใจเข้ามาร่วมรับผิดชอบในฐานะสมาชิกสหกรณ์ (หรือสหกรณ์สมาชิกเพีียงเท่านั้น) ตามหลักการสหกรณ์สากลข้อที่ 1 

หลักการที่ 1 : เปิดรับสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง

สหกรณ์เป็นองค์การแห่งความสมัครใจที่เปิดรับบุคคลทั้งหลายที่สามารถใช้บริการของสหกรณ์ และเต็มใจรับผิดชอบในฐานะสมาชิกเข้าเป็นสมาชิก โดยปราศจากการกีดกันทางเพศ สังคม เชื่อชาติ การเมือง หรือศาสนา

https://www.gotoknow.org/posts...

ขอให้พี่น้องขบวนการสหกรณ์ใช้วิธีการสหกรณ์ที่ถูกต้อง และครบถ้วน เพื่อประโยชนโดยรวมของหมู่ชนเถิด มิเช่นนั้นคนไทยจะเสียโอกาสจากการใช้วิธีการดี ๆ ดังเช่น วิธีการสหกรณ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันจะส่งผลถึงการปฏิรูปประเทศ  ครับ  :)

พีระพงศ์ วาระเสน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผู้นำมาเผยแพร่ เพื่อประโยชน์สุขแก่ขบวนการสหกรณ์ไทย
23 มกราคม 2562



ความเห็น (1)

ดีมากครับ ขอบคุณสำหรับข้อมูล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท