"ชีวิตหลังเป็น" (Life after birth)


<p></p>


โลกคือ แหล่งโอกาสและแหล่งพลังงานทั้งมวลที่อิสระก่สรรพสิ่ง ที่ก่อเกิดมาเป็นรูปร่างในนามมวลธาตุของโลก โดยการดำเนินของกฎ เวลา สัมพันธ์ และการกระทำ มนุษย์คือ ผลพวงของความอุดมของธาตุโลก ที่กำเนิดมาเป็นสิ่งสัมพันธ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องโยงใยกับจักรวาลและโลก ทำไมเราจึงสัมพันธ์กับจักรวาล เพราะโลกคือ ส่วนหนึ่งของระบบจักรวาลและระบบสุริยะ ฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่อาศัยโลก จะต้องปรับตนเองให้สอดคล้องกับกฎของโลกอย่างเข้มข้น มิฉะนั้นก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้

กายภาพของโลกได้วิวัฒนาการมายาวนาน จนเปิดโอกาสให้เกิดสรรพสิ่งและจุลชีพขึ้นมา จากนั้นสรรพุลชีพได้วิวัฒนาตนเอง เพื่อปรับกายภาพของตนให้อยู่ภายใต้การดูแลของโลก จึงเป็นเหตุผลที่สัตว์ มนุษย์ จะต้องปรับตัวเอง เตรียมตัวให้พร้อมในห้องอนุบาลที่สมบูรณ์ (ครรภ์) ก่อนจะออกมาเผชิญกับโลกแท้จริง ในทางศาสนามองว่า ชีวิตมาจากพลังกลแห่งอวิชชาที่ต้องวนกลับมาสร้างสรรค์กรรมใหม่ เรียกว่า "วิญญาณศักย์" ดุจเมล็ดพืชที่แห้ง วางอยู่บนผิวโลกที่แห้งแล้ง แต่ข้างในนั้น มีระหัสชีพพร้อมเสมอที่จะงอกเงย หากมีเงื่อนไขพร้อม

ทำไมชีพสัตว์ต้องมาเกิดบนโลกด้วย ใครเป็นผู้ดลบันดาลให้เป็นไป มองในแง่พุทธทัศน์ คำตอบมีหลายแง่มุม ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ ๑) เพราะชีวิตยังไม่ตายสนิทอย่างแท้จริง จิตวิญญาณยังมีเยื่อใย มียางเหนียวที่อยากสืบต่ออยู่ จึงเป็นพลังมืดบอด ที่ดระตุ้นให้จิตแสวงหาทางมาเกิดใหม่ ๒) เพราะโลกอุดมสมบูรณ์ อวยเอื้อให้สรรพสัตว์กำเนิดด้วยกายภาพได้ง่าย และสามารถบำรุ่งเลี้ยงดูจนตลอดชีพได้ โลกจึงเป็นแรงดึงดูดของสรรพสัตว์ให้มาเกิด ๓) เพราะมีต้นแบบกำเนิดที่สมบูรณ์ (พ่อแม่) หมายถึงมีแหล่งที่ดี เหมาะแก่การหล่อหลอมทางกายภาพ และต้นแบบเองก็ได้วิวัฒนาจนสร้างโอกาสให้ดวงจิตแสวงหาทางเกิดได้ ๔) เพราะมีพลังทางกายและทางเจตจำนง ที่เป็นแรงดลดึงให้จิตเกิดพลังศักย์ใหม่ (จิตเป็น) จนเกิดพลังสร้างสรรค์ให้เกิดผลการแสดงออกมากมาย ๕) เพราะมีแหล่งผู้ช่วยที่เหมาะสมและสมบูรณ์แบบที่สุดกล่าวคือ ระบบสมอง ระบบประสาทของกายภาพ ที่จิตสามารถใช้ได้อย่างเสรี จึงเป็นเหตุให้เกิดผลใหญ่ตามมาไม่รู้จักจบสิ้นนั่นคือ 

๑. ก่อกาย (Physical Body) : ก้อนกายของเรามาจากรหัสจากพ่อแม่ เราต้องอาศัยเครื่องจักรหลอมร่างให้เป็นมนุษยภาวะตามคติของของโลกและค่านิยมของสังคมมนุษย์ กายกำเนิดขึ้นมาจากดวงจิตที่มืดมน เข้มข้นด้วยอวิชชา โดยธรรมชาติ กายต้องอาศัยเวลาในการกำหนดบทบาทของกายภาพและจิตภาพ จึงจะทำให้เจริญสมบูรณ์ ในช่วงที่กายกำลังเตรียมการ อวัยวะทุกอย่างจะสร้างสรรค์ เพื่อตัวมันเอง เหมือนที่โชเป็น ฮาวเออร์กล่าวไว้ว่า อวัยวะทุกส่วนคือ หน่วยย่อยของพลังกลแห่งเจตจำนงเดียวคือ ความอยู่รอด หรือสัญชาตญาณ ตั้งแต่ตัวสเปิร์มที่สะท้อนมหกรรม เพื่ออนาคตแห่งชีวิต 

เมื่อกายพัฒนาตัวเอง จนเกิดพลังศักย์พร้อมที่จะสามารถสร้างสรรค์อนุกรรมขึ้นมา เพื่อตอบสนองนิสัย ความคิด ความเชื่อ สิ่งแวดล้อม ค่านิยม สัญชาตญาณ ที่จะทำงานประสานกันไปในทางทิศเดียวคือ อวิชชา ตัณหา เกียรติ และกาม พลังเหล่านี้จะเป็นพลังจุล ที่จะเป็นเหตุขยายให้เกิดพลังอภิกรรมที่ยิ่งใหญ่ต่อชีวิต สังคม และโลก ต่อไป เราจะเห็นชัดเจน เมื่อเกิดกายจนเติบโต จนเกิดพลังกายที่จะสร้างสรรค์หรือทำลาย สังคม ตนเองและโลกได้ เช่น กำลังการถืออาวุธฆ่าสัตว์ ทำลายป่า น้ำ ธรรมชาติ ฯ หรือความเชื่อ ความคิด ความไม่รู้ จะนำไปสู่การทำลายตนเอง สังคม และโลกได้ นี่คือ พลังทางกายภาพของชีวิต เพราะเรามีกองกาย กายคือ เหตุแห่งพลังกล ที่จะก่อดีหรือทำลายก็ได้  อย่างไรก็ตาม กายยังเป็นฐานให้เกิดพลังกลภายในด้วยนั่นคือ พลังจิต

๒. พลังจิต (Spiritual Power)  :  พลังกลจิตถือว่าเป็นพลังกลแฝงด้วย เพราะพลังกลทั้งหมดมาจากการประมวลของพลังจิตหรือความพร้อมของจิตที่ยินดี ยินยอมให้ขับเคลื่อน  เหมือนกลุ่มนักปรัชาสายจิตนิยมมองว่า สรรพสิ่งในโลกเป็นอยู่ มีอยู่ มีสถานะขึ้นมาได้ เพราะผ่านกระบวนการรับรู้ของจิตก่อนทั้งสิ้น เช่นเดียวกัน พลังกายที่จะเกิดขึ้น ย่อมมาจากพลังยินยอมของจิตเสียก่อนจึงจะเกิดการขับเคลื่อนได้สมบูรณ์แบบ เช่น หากเราอยากไปไหน จิตย่อมรู้และตั้งเจตจำนงไว้ก่อน จึงขับเคลื่อนกายไปสู่จุดหมายได้

ในขณะเดียว พลังตาบอดก็ยังแอบแฝงอยู่ด้วย เหมือนที่โชเปน ฮาวเออร์กล่าวว่า แรงขับเคลื่อนทางกาย อาจไม่ได้มาจากเจตจำนงที่เสรี แต่อาจมาจากเจตจำนงตาบอดหรือสัญชาตญาณ ที่สะสมไว้ตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดพฤติกรรมไปโดยอัตโนมัติได้ เช่น การแสดงออกยามตกใจ ความกลัว หรือง่วง หาว ปัสสาวะ อุจจาระ ร้อน หนาว ฯ เหล่านี้ ไม่ได้เกิดมาจากเจตนาของจิตที่บริสุทธิ์โดยตรง หากเกิดมาจากการสะสมกรรมจนเคยชิน 

๓. พลังพฤติ (Behavior action) : พลังจากการสะสมนั้น ปรากฎแก่สายตาผู้คนมากที่สุด เพราะสามารถประมินหรือจับต้องได้ เพราะพลังนี้ จะสะท้อนมาจากตัวตนคนนั้นเอง กระนั้นก็ตาม หากศึกษาลงรายละเอียดจากชีวิต ๆ นั้น ๆ ย่อมจะเห็นรากเหง้าของเขาอย่างลุ่มลึกได้ว่า มาจากไหน มาจากอะไร เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ตามนักจิตวิทยา กล่าวว่า พฤติกรรมของมนุษย์มาจากนิสัยที่สะสมมาตั้งแต่เกิด จนสามารถปลูกฝังไว้ในจิตเรียกว่า สันดาน ถ้าหากพฤตินี้ สะสมนิสัยที่หยาบหรือขาดมนุษยธรรม นิสัย สันดานดังกล่าวนี้จะแสดงออกมาในทางที่ไม่เหมาะสมเช่น ก้าวร้าว เอาแต่ใจ ขาดน้ำใจ

พฤติกรรมเหล่านี้ จะส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตในอนาคตได้ กล่าวคือ จะแสดงผลต่อคนรอบข้าง สังคม และสิ่งแวดล้อม ยิ่งถ้าไปเจอกับคนที่มีนิสัยชนิดเดียวกัน ยิ่งจะเป็นการเสริมกำลังให้แสดงพฤติกรรมนี้รุนแรงขึ้นอีก  นี่คือ พลังกรรม (การกระทำ) ที่รุนแรง ในทางศาสนาเรียกว่า แรงกรรมของอดีต (ในปัจจุบัน) พลังกรรมดังกล่าวนี้ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตระยะยาวด้วย กล่าวคือ เพราะมีกาย จึงเกิดพลัง หากมีพลังที่สะสมมา กลายเป็นนิสัยที่ไม่ดี ย่อมจะแสดงออกในทางที่ไม่ดีตามมาด้วย ผลจากการแสดงออกที่ไม่ดี ย่อมีผลกระทบต่อพฤติจิตด้วย กล่าวคือ คิดไม่ดี คิดมืดบอดมัวด้วยเรียกว่า ผลผลึกที่ตกค้างจากกรรมชั่ว จนฝังแน่นในแก่นจิต ที่จะสืบทอดไปอีกภพ อีกชาติได้

๔. ผลผลึก (Active result) : เมื่อเรามีกาย กายคือ อุปกรณ์สำคัญในการแสดงออก เมื่อแสดงออก จึงเกิดผล ผลคือ ผลรวมของกาย ผลลัพธ์ของกิจกรรมของกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ในทางพระพุทธศาสนามักจะกลาวเน้นเรื่อง กรรม หมายถึงการกระทำของกายคือ มือ เท้า ลำตัว ศีรษะ ที่นำไปใช้ในทางที่ดี หรือไม่ดี หากนำไปใช้ในทางไม่ดี ย่อมมีผลข้างเคียงต่อตนเองและคนอื่นได้ ส่วนผลจากการใช้วจีกรรม หมายถึง การใช้ปาก ใช้ภาษา ด่าว่า นินทา กล่าวร้าย พูดโกหก หรือเหน็บแนมคนอื่นหรือใช้ภาษาเม้นต์คนอื่นในทางดูถูกเหยีดหยาม ย่อมก่อให้เกิดผลร้ายต่อคนเองด้วย

ส่วนจิตกรรม หมายถึง การคิด การพยาบาท การคิดร้าย คิดผิดทำนองคลองธรรม ประเพณี วัฒนธรรม ฯ จนอาจกลายเป็นคนกระด้างกระเดื่องต่อกติกาสังคม ศาสนา จนตัวเองคิดว่า ตัวเองคิดถูกคนเดียว เลยเป็นเหตุให้ทำผิดกฎหมาย สังคม บ้านเมือง ตัวอะตอมแห่งกรรมมาจากจุดของจิตเล็ก ๆ ที่จะไปสันดาบกรรมด้านอื่นให้เกิดเป้นผลลัพธ์ขึ้น การกระทำของมนุษย์จึงผสมผสานกัน ๓ กรรมคือ กรรมทางกาย กรรมทางคำพูดและกรรมทางจิต ทีนี่ เมื่อเราสร้างกรรม ย่อมเกิดผล ๒ ทางคือ ดี ไม่ดี ผลทั้งสอง จะถูกสะสมเก็บไว้เป็นต้นทุนแรงกรรม ให้ไปสู่คติที่ไม่ดีหรือดีต่อไป ไม่เฉพาะแต่ชาตินี้ ยังส่งผลต่อชาติหน้าด้วย ซึ่งจะสะท้อนมาสู่การตั้งคำถามว่า เราเกิดมาจากไหน ทำไมจึงมีผลกรรมตกค้างมาจากภพอื่นด้วย?

๕. การสืบต่อ (Continuous succession) : คติความเชื่อของชาวอินเดียมองชีวิตว่า ตราบใดที่ยังไม่บรรลุโมกษะ ตราบนั้น จิตชีวิตมนุษย์ย่อมจะสืบทอดต่อไป ไม่รู้จบ เรียกว่า วัฏสงสาร ซึ่งผลที่ว่านี้ มาจากต้นเหตุในขณะยังมีชีวิอยู่ กล่าวอีกนัยคือ ชีวิตเป็น ส่งผลให้เกิดชีวิตตาย เพราะชีวิตหลังตาย ที่ยังไม่จบบริบูรณ์ จึงเป็นเหตุให้มาอุบัติสืบต่อมาเป็นชีวิตใหม่ หากมองในแง่กายภาพหรือเชิงประจักษ์สากล ทุกคนย่อมเห็นว่า เพราะมีโลก จึงมีกาย (ชีวิต) มีชีวิตจึงมีต้นกำเนิดชีวิต (พ่อแม่) เมื่อต้นกำเนิดให้กำเนิดกาย กายจึงเกิดพลังกล พลังกล เป็นเหตุให้สร้างกรรม หรือแสดงออกไปในทางต่างกัน ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของ ศักยภาพปัญญา จิตสำนึกในตนเอง จึงจะกำหนดทิศทางที่ดีได้

แต่หากไม่มีปัญญา ไม่มีจิตสำนึก ไม่มีคุณธรรม ที่จะบริหารจัดการ พฤติกรรมของตนให้เป็นไปตามอุดมคติของสังคมได้ จิตก็จะอ่อนแอ กลายเป็นคนมีเสรีที่ไร้กรอบ ไร้ธรรม จึงอาจเป็นเหตุให้กระทำผิดตามนิสัย ที่สะสมจนเคยตัวได้ ซึ่งนั่นจะเสี่ยงไปสู่การหลงผิด คิดผิด ทำผิดในที่สุด การทำผิด แสดงผิด ในชีวิตหนึ่ง ภพหนึ่ง จนมีลูก มีหลานสืบทอด  เลียนแบบต้นแบบที่ไม่ดีนี้ สายเลือดทางจิต พฤติกรรม ก็จะส่งต่อสายพันธุ์ตนเองต่อไปอีกเช่นกัน นี่ยังไม่รวมการสืบทอดทางภพ ทางชาติของบุคคลนั้น ๆ 

ดังนั้น การใช้ชีวิตหลังเกิดนั้น เป็นการใช้ชีวิตสุ่มเสี่ยงและท้าทายต่อการประคองชีวิต จิตใจ ให้อยู่ในกรอบที่ดี เพราะโลกมีสิ่งดึงดูด มีสิ่งยั่วยวน มีสิ่งให้หลงผิดเยอะ  โดยมีเงื่อนไขเวลาสูงสุด ๑๐๐ ปี ซึ่งถือว่า ยาวนานหลังคลอดออกมาจากครรภ์ของแม่ เมื่อเราไม่ตระหนักรู้ในจิตภพ ระยะเวลาชีวิต การแสดงออกในขณะมีลมหายใจ ในขณะรู้ตัว รู้สังคม รู้โลก รู้ธรรม รู้ทิศทางไปสู่ปรภพข้างหน้า จึงหลงผิด ทำผิด สะสมกรรมเป็นต้นทุนให้ชีวิต จิตใจนั้น จะกลเป็นชีวิตหลังตาย ที่มือบอด มืดมน เพราะะหลงชีวิตหลังเกิดนั้นเอง นี่คือ ชีวิตเป็น ส่งผลชีวิตตายเท่ากับมืดไป

หมายเลขบันทึก: 659440เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2019 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2019 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท