เรียนสมาธิแล้วดีจัง...ให้อะไรกับชีวิตมากมายคะ /เตือนใจ เจริญพงษ์


เรียนสมาธิแล้วดีจัง…ให้อะไรกับชีวิตมากมายคะ เตือนใจ เจริญพงษ์

                 รู้สึกปลื้มปิติและยินดีที่มีเรื่องดีงามเกิดขึ้นในชีวิตสืบเนื่องเพราะได้ไปสมัครเรียน        “ หลักสูตรครูสมาธิ รุ่น 43 “ ของพระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์สิรินทโร  เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล           ที่วัดสิริกมลาวาส สาขา 4รวมระยะเวลา 6 เดือนเต็มๆคือเลือกลงเรียนรอบวันจันทร์ ถึง วันศุกร์         ช่วงตอนเย็นเรียนไปเรียนมาแล้วรู้สึกชอบมาก เพราะเรียนแล้วมีความสุข           จึงเรียนเพิ่มเติมอีกในวันเสาร์และอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับตนเอง          จนสัมผัสได้ว่ามีประโยชน์มากมายสมควรแก่การถ่ายทอดกันในทุกกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างให้มากขึ้น         เนื่องจากเป็นหลักสูตรและมีบทเรียนที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนและผู้สนใจเรื่องสมาธิเป็นอย่างยิ่ง                เรื่องนี้ผู้เขียนขอน้อมคารวะยกย่องพระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ ผู้สร้างหลักสูตรนี้ขึ้น          ซึ่งมีความเรียบง่ายสำหรับคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเคยบำเพ็ญสมาธิมาก่อนหรือไม่ก็ตาม          ก็จะสามารถเข้าใจบทเรียนซึ่งมีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติอย่างถ่องแท้          เรื่องราวของพระพุทธศาสนามักมีอะไรดีๆมากมาย ที่ชาวพุทธรู้แล้วว่ามีของดีแต่ยังไม่ลงมือปฎิบัติ          เช่น เรื่องของสมาธิก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ทรงคุณค่าแก่มวลมนุษย์                            “ อาตมาตั้งความหวังไว้ว่าเมื่อนักศึกษาครูสมาธิเรียนจบหลักสูตรแล้ว            ก็จะสามารถสอนสมาธิให้แก่ผู้อื่นได้เพราะจะรู้และเข้าใจเรื่องของสมาธิทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ           เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนได้เน้นการวางพื้นฐานของการทำสมาธิแบบง่ายๆเห็นผลสัมฤทธิ์ด้วยตนเอง           คือ เกิดความสุขกายสบายใจ ทำให้จิตใจอ่อนโยนบรรเทาความเครียด คลายกังวล            ระงับความร้ายกาจ ทำให้สมองเกิดปัญญา เจริญวาสนาบารมีเป็นกุศล และเวลาสิ้นลมพบทางดี “                                พระธรรมมงคลญาณ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล กล่าวไว้ตอนหนึ่งในหลักสูตรครูสมาธิ เล่มที่ 1          มาบัดนี้เรื่องการทำสมาธิได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับทั้งในเมืองใหญ่ๆ และชนบทของบ้านเรา           และนานาประเทศทั่วโลก ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่ใช้พลังจิตกับกิจการงานมากเกินไป           ทำให้เกิดความเครียด ความทุกข์ใจมากมาย จึงได้แสวงหาหนทางแห่งความสงบทางใจ           นั่นก็คือการทำสมาธินั้นเอง                               สถาบันพลังจิตตานุภาพ จึงได้ดำเนินการสร้างหลักสูตรครูสมาธิขึ้นแบ่งเป็น 3 ภาค           คือ สมาธิ ฌาน และญาณเพื่อจะได้แนะนำหนทางที่ถูกต้อง เพื่อสอนให้ประชาชนรู้จักการทำสมาธิ            เมื่อมีครูสมาธิที่มีความรู้เรื่องสมาธิเป็นอย่างดีมากขึ้น ก็จะสามารถขยายเป็นวงกว้างต่อไปอย่างทึ่วถึง            เนื่องจากการทำสมาธิจำเป็นต้องมีครูสอนที่มีความรู้จริง จึงจะสามารถแนะนำทางที่ถูกต้อง             และได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง                                                                “ ด้วยใจ เชื่อมั่นและศรัทธา                                               ด้วยวาจา ถามหาใครคือผู้รู้                                                ด้วยกายา ยังคงปฏิบัติสมาธิอยู่                                                ด้วยพลังจิต มีมากพอจึงพบผู้รู้                                                ด้วยผู้รู้ จึงพบจุดพลังอำนาจ”                                                                                                   พระธรรมมงคลญาณ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล                               เรื่องราวต่างๆที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้ ผู้เขียนได้ร่ำเรียนมาในหลักสูตรครูสมาธิ รุ่น 43             และยังศึกษาที่มาของเรื่องนี้จากหนังสือเรียนที่พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์เขียนขึ้น           จากที่ท่านได้ร่ำเรียนมาจากการอยู่ปรนนิบัติใกล้ชิดกับหลวงปู่กงและหลวงปู่มั่นมานาน           จนนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาประมวลไว้ในหนังสือหลักสูตรครูสมาธิ เล่ม 1,เล่ม2และเล่ม3             ชนิดที่ใครได้อ่านและศึกษาต้องบอกว่า “คุณภาพคับแก้วจริงๆ“ หรือยิ่งอ่านก็ยิ่งเข้าใจ            และทราบซึ้ง แม้เวลาจะผ่านพ้นไปสักเท่าไรก็ตาม                                             การฝึกสมาธิเป็นการเอาจิตปราศจากอารมณ์เครื่องยึดเหนี่ยวมิใช่ตลอดไป            แต่เป็นชั่วขณะ ตามแต่จะแก้ไขได้ ทั้งนี้เพื่อมิให้จิตของบุคคลนั้นๆที่ไม่เคยพบกับสมาธิเลย             มีสมาธิเพิ่มมากขึ้นก็จะสามารถยับยั้ยจิตที่ฟุ้งซ่านเป็นอันตรายที่เกิดจากความเครียดของมนุษย์              แต่สมาธิแก้ความเครียดได้ แม้จะเป็นการแก้ชั่วคราว ถ้าทำไปอย่างต่อเนื่องความเครียดต่างๆ             ก็จะลดลงตามลำดับ และเกิดความสุขขึ้นในชีวิตได้เป็นอย่างดี                               ลักษณะของอากัปกิริยาของสมาธินั้น มีทั้งที่เป็นสมาธิธรรมชาติ              ทั้งที่เป็นการนอนหลับหรือการทำงานอย่างใจจดใจจ่อ ส่วนสมาธิสร้างขึ้นนับแต่วินาทีแรก             ของการบริกรรมด้วยความตั้งใจที่เริ่มต้นขึ้นว่าจะทำสมาธิ ถือได้ว่าเป็นสมาธิสร้างขึ้น              คือการก่อตัวของจิตที่นอกเหนือจากธรรมชาติการทำสมาธิขั้นต้นต้องปูรากฐาน             ด้วยความระมัดระวังสำคัญตอนเริ่มต้นควรจะต้องมีผู้รู้คอยแนะนำให้ สมาธิจะมี 3 ขั้นตอน             ได้แก่ ขณิกะสมาธิ ,อุปจาระสมาธิ และอัปปนาสมาธิ               นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เรื่องของสมาธิตื้น และสมาธิลึกอีกด้วย ตลอดจนเรื่องราวของฌาน              เรื่องของญาณ และเรื่องของวิปัสนา ตามมาเป็นลำดับ                                        สำหรับบรรยากาศการจัดการเรียนการสอนสมาธินั้น             เริ่มด้วยการฟังคำสอนจากครูสมาธิรุ่นกูรู ใช้เวลา 15 นาที              ต่อด้วยฟังคำสอนด้วยเสียงของพระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์อีก 15 นาที              ต่อด้วยการย้ายไปเรียนการเดินจงกรมที่ห้องเดินจงกรมราว 30 นาที             และการนั่งสมาธิที่ห้องนั่งสมาธิอีก 30 นาที                            รูปแบบเรียนปฎิบัติยึดแนวนี้ และกำหนดให้ผู้เรียนต้องเรียนจนครบ 100 ชั่วโมง               มีการคุมเวลาเรียน เพื่อจะได้เข้าใจคำสอนอย่างถ่องแท้               กำหนดให้มีการสอบภาคทฤษฎีและสอบปฏิบัติ               ต่อด้วยการไปธุดงค์ที่ดอยอินทนนท์และต้องกลับมาเป็นพี่เลี้ยงดูแลรุ่นน้องอีก 6เดือน               เป็นอันจบหลักสูตร                               หลายท่านคงแปลกใจว่าการนั่งสมาธิที่เป็นการนั่งเฉยๆแล้วกำหนดลมหายใจนั้น                จะได้อะไร หากท่านลงมือปฏิบัติจริงๆ ก็จะพบว่าทำให้จิตเรานิ่ง               ถือเป็นการกรองอารมณ์ และมีสติมากขึ้น ใหม่ๆความคิดอาจฟุ้งซ่าน                ถือเป็นเรื่องปกติเมื่อได้ทำอย่างสม่ำเสมอ ก็จะพบกับความสุขอันพิเศษ                เพราะเป็นการทำจิตให้ว่างไม่ยึดติดกับสิ่งใดๆทั้งสิ้น                และเป็นการตัดกิเลสให้สิ้นในชั่วครู่ หากทำอย่างต่อเนื่องจนได้ผล                ก็จะสัมผัสกับ…ฌาน, ญาณ และวิปัสสนาในที่สุด                               นอกจากนี้ขอกล่าวถึงเรื่องการทำบุญและสร้างกุศลกันสักหน่อย                บุญ หมายถึงการกระทำสิ่งดีๆให้กับผู้อื่น เช่น ตักบาตร การบริจาคสิ่งของ เป็นต้น                 ส่วน กุศล หมายถึง การกระทำสิ่งดีๆนั้นให้กับตนเอง                  เช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรมเจริญสติการเวียนเทียน การฟังธรรมจนเข้าใจ เป็นต้น                  ดังนั้นผู้ทำกุศล แค่เพียง นั่งสมาธิเจริญสติก็จะได้กุศล                 ดังนั้นกุศลอันยิ่งใหญ่สุดก็คือ “ผู้ที่เห็นความเป็นจริงว่า                   สรรพสิ่งทั้งหลายนั้น ไม่เที่ยง ล้วนมาจากการปรุงแต่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา "                                 ประเด็นดังกล่าวนี้เราจึงควรพยายามใช้สติกำหนดความคิด คำพูด การกระทำ                   และอาชีพให้ถุกต้องตามสัมมาทิฐิ  เมื่อทำได้อย่างนั้นจะมีผลสะสมตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ                  และทำสมาธิเพื่อ ลด ละ ล้างกิเลส ซึ่งเป็นต้นเหตุของทุกข์ทั้งปวง                   จึงน่าเชื่อได้ว่า การทำสมาธิได้บุญมาก                   เมื่อพิจารณาเรื่องของสมาธิ ผู้รู้บอกว่าสมาธิจะก่อให้เกิดบุญ                   คือสมาธิที่เกิดขึ้นควบคู่กับปัญญา เพราะสมาธิทั่วๆไปใครๆก็ทำได้                   เช่น การจดจ่ออยู่กับการงาน การนอนหลับ ก็เกิดสมาธิเช่นกัน                                  ในภาคพระไตรปิฎกกล่าวถึงสัมมาสมาธิไว้หลายแห่งโดยได้อธิบายความหมาย                     ตลอดจนลักษณะของสัมมาสมาธิ ดังเช่น จาก สติปัฏฐานสูตร                     พระสุตตันตปิฎกมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร เล่ม 17 หน้า 628-9 ดังนี้                           “ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้า                     ถึงปฐมฌานมีวิตกวิจารมีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอเข้าถึงทุติยฌาน                    มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก                     ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย                     เพราะปีติสิ้นไป เข้าถึงตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญ ว่า                      ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอเข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์                      ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ                       ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ                       ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ “                                       ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนมาฝึกสมาธิกันเถอะ                      ก่อนจะเดินจงกรม และนั่งสมาธิ จะต้องหาฐานที่ตั้งของจิตก่อน                         - ฐานจิต คือที่อยู่ของจิต เช่น สมมุติว่าเราควรนำความรู้สึกมาไว้ที่                           หน้าผาก จิต (ตัวรู้) จะอยู่ที่หน้าผาก คือบานที่ตั้งของจิต ถ้านำความรู้สึกมาอยู่ที่สะดือ                            จิตก็จะอยู่ที่สะดือ                        - เวลาฝึกสมาธิ เราจะพยายามให้จิตอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ไม่แกว่่งไปมา                        - ดังนั้นจึงต้องหาฐานจิตที่กำหนดง่ายที่สุดสำหรับแต่ละคน                        - พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ แนะนำฐานที่ตั้งของจิตไว้ 3 ที่ คือ                    1.หน้าผาก                    2.หัวอกด้านซ้าย                    3.สะดือ                          ฐานจิตเวลาฝึกสมาธิและเดินจงกรม   วิธีหาฐานจิต                    1.หลับตา                    2.ทดสอบกำหนดจิตไปไว้ที่จุดใดจุดหนึ่ง ใน 3 จุดแล้ว                ## การกำหนดจิต คือการนึก หรือเอาความรู้สึกของเราไว้ที่ตรงนั้น                    3.เลือกฐานจิตที่ดีที่สุดไว้ 1 ฐาน สำหรับเวลาทำสมาธิ                    4.เวลาเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิ ควรจะกำหนดจิตไปไว้ที่ฐานจิต พยายามไม่ให้จิตส่ายไปมา                               วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น วิธีเดินจงกรม และนั่งสมาธิ                   จิตเป็นหนึ่ง คือกุญแจของการทำสมาธิ การบริกรรมจะทำให้จิตเป็นหนึ่ง                    ยิ่งจิตเป็นหนึ่งได้มากเท่าไร ก็จะเป็นสมาธิได้มากเท่านั้น ยิ่งเป็นสมาธิมากจิตจะผลิตพลังจิต                    หลายคนชอบคิดว่าการฝึกสมาธิจิตจะต้องนิ่งสงบ พอเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิแล้ว                     จิตไม่สงบเป็นเรื่อง  ปกติของทุกคน แค่นึก พุทโธ ได้ ก็เริ่มเป็นสมาธิแล้ว                      ดังนั้นระหว่างเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิ ถ้าจิตไม่สงบก็นึกพุทโธต่อไป                     จนกว่าจะถึงเวลาที่จิตสงบ                 ## การเดินจงกรม เป็นการฝึกสมาธิตื้น ส่วนการนั่งสมาธิ เป็นการฝึกสมาธิลึก                        ทั้ง 2 อย่าง จะต้องทำควบคู่กันการฝึกสมาธิถึงจะสมบูรณ์ ##

ท่านใดสนใจ รีบสมัครได้ที่สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขา4 วัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนา )สอบถามข้อมูล ที่ 096 762 7990 ด่วนhttps://goo.gl/KLdH3X



ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท