ออกค่ายทำไม : ค่ายใหญ่ ปนน. 2561 ตอนที่ 3 เรียนรู้ (อะไร)


เมื่อวานเขียนบันทึก ตอนที่ 1  https://www.gotoknow.org/posts... และ 2  https://www.gotoknow.org/posts... ไปแล้ว วันนี้จะบันทึกตอนที่ 3 ว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้

การเดินทางไปร่วมค่ายแค่ช่วงพิธีเปิด หากจะพูดไปก็ถือว่าฉาบฉวยมาก เพราะรายละเอียดของค่ายค่อนข้างมาก ตั้งแต่การวางแผนว่าจะจัดค่ายเมื่อไหร่ ที่ไหน การไปติดต่อกับพื้นที่เป้าหมายคือโรงเรียนและชุมชน การรับสมัครนักศึกษาไปร่วมค่าย การแบ่งและมอบหมายงานเพื่อเตรียมการ การประสานงาน การขอสนับสนุนงบประมาณและทุนทรัพย์จากหน่วยงานภายนอก การบอกบุญไปยังรุ่นพี่ศิษย์เก่า  การจัดเตรียมเอกสารและอุปกรณ์ค่าย และอื่น ๆ อีกมากมาย ก่อนจะไปค่าย... จนกระทั่งการเดินทาง การไปเตรียมอาคารสถานที่ การประสานงาน และการตั้งหน้าตั้งตารอนักเรียนมาร่วมค่าย  การลงชุมชนเพื่อเรียนรู้พ่อฮักแม่ฮัก การไปขอบริจาคข้าวสารอาหารแห้งเพื่อประทังชีวิตในค่าย ดำเนินกิจกรรมค่ายตามแผนที่วางไว้ ประชุมสรุปงานแต่ละวันเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา ป้องกันปัญหา และวางแผนให้รัดกุม แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที ... และปิดค่ายอย่างงดงาม ประทับใจ และฝากไว้ในความทรงจำ

ผมไปค่ายเพียงผิวเผิน  5 ชั่วโมงกว่า ๆ ที่อยู่ค่ายและขลุกตัวอยู่ที่โรงครัว ไม่ได้เดินไปดูกิจกรรมที่พี่ ๆ นักศึกษาจัดให้น้อง ๆ นักเรียนหลังพิธีเปิด แต่มาช่วยภารกิจที่โรงครัว ช่วยจัดการอาหารการกินนิดหน่อย และช่วยเก็บและจัดโรงครัวให้ดูเป็นสัดส่วน รวมถึง(บ่น)เรื่องความสะอาดของครัว ช่วนนึ่งข้าว และตำส้มตำสำหรับมื้อกลางวัน

สิ่งสวยงามที่ซ่อนอยู่ในครัว... กระสอบข้าวสารจำนวนมาก ได้มาจากชาวบ้าน/พ่อฮักแม่ฮักที่มอบให้ลูก ๆ นักศึกษาในวันที่ลงชุมชนเรียนรู้ น้ำตาลทรายถุงละ 1 กิโลกรัมจำนวนหนึ่งมาจากพ่อฮักแม่ฮักที่ไม่รู้ว่าจะมอบอะไรให้ลุก ๆ นอกเหนือจากข้าวสาร ปลาสดหลายตัวยังถูกขังเลี้ยงไว้ในครุ มะนาวจำนวนมากจากชุมชน มะเขือเทศถุงเล็กถุงน้อยที่พ่อฮักแม่ฮักซื้อจากร้านค้าในชุมชนมอบให้ น้ำปลาร้าปรุงสุกหลายขวดวางเรียงรายมาคู่กับมะละกอดิบจำนวนมาก ที่แปลกในคือ ลำอ้อยตัดท่อน หมากลิ้นฟ้า(เพกา) หนังควายแห้ง มะขามเปียก ... ความสวยงาม ไม่ได้อยู่ที่จำนวนสิ่งของ  แต่อยู่ที่ “น้ำใจ” ที่ชุมชนมอบให้ มีเล็กมีน้อยก็ให้มาด้วยใจกุศล นั้นต่างหากที่ทำให้ผมชื่นใจ ไม่ใช่ว่าเราไปค่ายแล้วหวังน้ำบ่อหน้าว่าชุมชนหรือพ่อฮักแม่ฮักจะต้องบริจาคของกินของใช้ให้ชาวค่าย แต่สิ่งของเหล่านั้นเป็นผลพลอยได้ของการไปลงชุมชนและเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้ “นักศึกษา” ที่ได้ชื่อว่า “ปัญญาชน” ทำตัวแปลกแยกออกจากชุมชนและวิธีชีวิตในชนบท ใช่ว่ามาเรียนในมหาวิทยาลัยที่ได้ขึ้นชื่อว่าสังคมอุดมปัญญาแล้วลืมรากเหง้าของสังคมและวัฒนธรรม  ปลีกตัวหนีจากชุมชน ซึ่งไม่ใช่อุดมการณ์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะการตั้งสถาบันอุดมศึกษาขั้นสูงขึ้นก็เพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมอีสานให้เจริญและพัฒนา ในครั้งที่ครบรอบ 40 ปี มข. มีคำขวัญว่า “40 ปี มข. ก้าวก่อเพื่อสร้างสรรค์ มุ่งมั่นเพื่อก้าวไกล มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน” และในโอกาสครบรอบ 50 ปี มข. ก็ประกาศตนว่าเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศตนเพื่อสังคม”

ในพิธีเปิดค่าย กำนันตำบลบ้านยางกล่าวให้โอวาทและเล่าให้ชาวค่ายฟังว่า นักศึกษาที่ไปลงชุมชน ได้กินแกง “ไข่ผำ” นักศึกษาจึงเอ่ยถามพ่อฮักแม่ฮักด้วยความซื่อบริสุทธิ์ว่า “ไข่ผำ” ต้นมันเป็นอย่างไร ก็เรียกเสียงฮาจากคนในหอประชุมได้... เพราะไข่ผำ เป็นพืชน้ำขนาดเล็ก... ผมเชื่อว่าบทเรียนเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ก็จะเป็นเรื่องราวดี ๆ ของนักศึกษาคนดังกล่าวได้เป็นอย่างดีในเรื่องของการเรียนรู้ชุมชนและวัฒนธรรม เพราะอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนให้สนใจศึกษาข้อมูล “วัฒนธรรมการกิน” ของคนอีสานก็เป็นได้

ผมได้แต่หวังว่า ข้าวสารจำนวนหลายกระสอบ มะละกอจำนวนนับร้อยลูก น้ำปลาร้า พริก ข่า ตะไคร้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ความจริง ความดี ความงาม จากการลงมือปฏิบัติ Learning by doing เพราะค่ายทุกค่ายมักจะมีเรื่องเล่าให้ได้จดจำ และเป็นบทเรียนนอกชั้นสำหรับการฝึกวิทยายุทธ์ในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และไม่เสียเปล่าที่พ่อฮักแม่ฮักและชาวชุมชนไว้วางใจและมอบความรักปรารถนาดีผ่านสิ่งของที่ส่งมอบให้...แม้ว่าสิ่งที่ชาวชุมชนได้ลงทุนไปนั้น อาจไม่เห็นผลทันตา แต่การศึกษาก็จะงอกงามตามเวลาที่สมควร ดั่งคำกลอนของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลที่ว่า “กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น แต่ออกดอกคราใด งามเด่น งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้ว แสนงาม”  

ขอจบการนำเสนอเพียงเท่านี้ ขอบคุณและสวัสดีครับ

ณ  มอดินแดง

24  ธันวาคม  2561

มะกอกนา

หมายเลขบันทึก: 658933เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2018 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2018 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท