๗๕๘. ความรู้สึก..วัดไม่ได้แต่คุณค่า..ยิ่งใหญ่นัก..


“ความรู้สึก” ในมุมมองของผม..สร้างให้เด็กเกิดขึ้นด้วยเสียงเพลง ดนตรี จังหวะ และศิลปะ..เด็กจะสะท้อนกลับด้วยความสนใจ สร้างผลงานอย่างพิถีพิถัน ทำงานร่วมกันได้อย่างพร้อมเพรียงและช่วยเหลือกัน..จะไม่ทิ้งใครสักคน..ไว้ข้างหลัง..

        คนที่เป็นครูจะรู้ดีมากกว่าใคร..และจะเข้าใจความรู้สึกของเด็ก จริงๆความรู้สึกของเด็กนั้น วัดผลได้..ถ้าครูให้ใจ..เป็น “หัวใจ”ของการจัดการศึกษา

    หรือถ้าวัดไม่ได้..หรือไม่อยากจะวัด..ก็ไม่เห็นเป็นไร แต่อย่าลืมว่าคุณค่าของความรู้สึกของเด็กนั้น..ยิ่งใหญ่เสมอ

        การจัดการศึกษาในบางประเทศ..เห็นความสำคัญด้าน “ความรู้สึก” จึงกระตุ้นให้เด็กแสดงออกถึงความสนุก ความสุข รอยยิ้มและจินตนาการ

        เพราะเขาถือว่าสำคัญกว่าความรู้..ซึ่งเนื้อหาความรู้นั้นสามารถเรียนรู้ได้และเรียนทันกันหมด  แต่..ความสุนทรีย์แห่งชีวิตนั้น..สร้างยาก

        การศึกษาไทย..จะวัดเนื้อหาแล้วตีค่าที่คะแนน เด็กจะถูกแข่งขันและจัดอันดับ แต่ท้ายที่สุดแล้วผลของคะแนนก็ไม่มี “ศูนย์” แท้ และเบี่ยงเบนได้เสมอ

        ผมยังอยากเห็น “ความสุข”ของเด็กในระหว่างที่เรียนรู้ ซึ่งสามารถซึมซับรับสาระได้มากกว่า..ความรู้ความเข้าใจจะตกผลึกได้ลึกซึ้งกว่ากัน

        “ความรู้สึก” ในมุมมองของผม..สร้างให้เด็กเกิดขึ้นด้วยเสียงเพลง ดนตรี จังหวะ และศิลปะ..เด็กจะสะท้อนกลับด้วยความสนใจ สร้างผลงานอย่างพิถีพิถัน ทำงานร่วมกันได้อย่างพร้อมเพรียงและช่วยเหลือกัน..จะไม่ทิ้งใครสักคน..ไว้ข้างหลัง..

        ชีวิต..ในวัยเด็กไร้เดียงสา..เด็กจะไม่แบ่งแยกความสุข..แต่ความสนุกในการเรียนรู้จะถูกแบ่งปันด้วยกระบวนการ..ที่ครูสร้างขึ้น..

        ผมจะสังเกตพบจากการสอนหลายครั้ง จนกลายเป็นบันทึกเรื่องเล่าเร้าพลัง ให้ผมจดจำและทำการเรียนการสอนแบบนี้ให้ต่อเนื่องเสมอ..

        ผมสอนกายบริหารให้เด็ก ป.๑ – ๔ เป็นประจำ ให้พี่ ป.๕ – ๖ ช่วยสอนนำ..ส่วนผมคอยให้กำลังใจ และให้จังหวะกลอง เมื่อเด็กโชว์ได้พร้อมกันและสวยงาม ผมจะให้เพื่อนๆและพี่ๆช่วยปรบมือ..

        หลังเสียงปรบมือ..ผมสังเกตเห็นรอยยิ้มแห่งความมั่นใจและอยากไปต่อ...

        ผมสอนภาษาอังกฤษ..เน้นให้เด็กพูดสื่อสาร ด้วยประโยคคำถาม ให้ผลัดกันถามผลัดกันตอบ จับคู่ฝึกซ้อมจนเกิดทักษะ ผิดถูกไม่ต้องอาย..จบแล้วก็ขำๆ

        สีหน้าท่าทางของเด็กไม่มีเบื่อหน่าย บ่งบอกว่าชอบด้วยซ้ำ..และสนใจอยากเรียนรู้ ผมคิดว่าการจัดการเรียนการสอนของผม สำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว...

        หลังจาก..เด็กได้เรียนรู้ในแต่ละวิชา ผมให้เด็กสรุปด้วย “การ์ตูนช่อง” เด็กจะบอกด้วยภาพและบทสนทนา ว่าเรียนอะไรและรู้อะไรบ้าง..ขณะที่สรุปบทเรียนเด็กจะมีสมาธิมาก

        จดจ่อกับงานศิลปะที่เขารัก..บอกผ่านตัวการ์ตูนที่เขาชอบ..ในจุดนี้ผมวัดคุณค่าได้ว่า..เด็กได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้เรียบร้อยแล้ว..และกำลังจะนำไปใช้..

        บางครั้ง..ครูอาจมองที่เป้าหมายปลายทางของการจัดการศึกษาจนเกินไป อยากได้คะแนนสูงๆ..อยากให้เด็กเก่ง..จนลืมความรู้สึกของเด็กระหว่างทาง..

        การที่เด็กสนใจและซาบซึ้งที่จะรู้อะไรสักอย่าง เป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งที่จะเรียนรู้สู้สิ่งยาก..ความสุขในระหว่างเรียนของเด็กครูจึงควรใส่ใจ เหมือนที่ครูเองก็ต้องการความสุขในขณะที่ทำงานเช่นเดียวกัน..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๔  ธันวาคม  ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 658926เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2018 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ธันวาคม 2018 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยอดเยี่ยมเสมอค่ะ ท่าน ผอ. ความสุขจากการเรียนรู้ ยิ่งกระตุ้นให้เราจดจ่ออยากเรียนรู้ต่อ ๆไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท