"บันได ๕ ขั้น สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่พึ่งของชุมชนรอบมหาวิทยาลัย"


ขณะนี้สำนักศึกษาทั่วไป กำลังคิดเรื่องการปลูกจิตสำนึกการเป็นที่พึ่งของชุมชนและสังคมผ่านการจัดการเรียนรู้รายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน สำหรับภาคการศึกษาที่ ๒-๒๕๖๑ ที่กำลังจะมาถึงนี้ เราคิดกันอยู่ ๓ เรื่องซึ่งเป็นปัญหาหลักและปัญหาหนักอกสำหรับครูอาจารย์ทุกคน ได้แก่

  • ๑) ปัญหาขยะ เป็นข้อสรุปยุติแล้วว่า สาเหตุสำคัญคือจิตสำนึกของคน โดยเฉพาะประชากรแฝงกว่า ๕๐,๐๐๐ คน ที่อาศัยอยู่รอบๆ มหาวิทยาลัย (อ่านความทุกข์ของเทศบาลท่าขอนยางที่นี่)  
  • ๒) ปัญหาน้ำเสีย เรื่องนี้กำลังจะส่งผลวิกฤตต่อเกษตรกรชาวนาที่น้ำเสียจากชุมชนรอบมหาวิทยาลัยไหลผ่านไปที่นาตามลำรางต่างๆ (ผมเคยศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและเขียนไว้ที่นี่) และ 
  • ๓) ปัญหาด้านจราจร อุบัติเหตุ ผู้รับทุกข์เรื่องนี้มากที่สุดคือนิสิตและผู้ปกครองของนิสิต 
ทั้ง ๓ ประเด็นนี้ต้องแก้ไขไปพร้อมๆ กัน และบางอันไม่สามารถจะแก้ไขได้แบบตรงๆ ต้องแก้ที่ต้นเหตุแบบไกลๆ  ... เหมือนกับที่ในหลวง ร.๙ แก้ปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่นด้วยโครงการหลวง ... อย่างนั้นเลย 

ผมขอเสนอบันได ๕ ขั้นเพื่อการแก้ปัญหาทั้ง ๓ ข้อข้างต้นอย่างยั่งยืน ดังจะอธิบายพอสังเขป ดังนี้

ขั้นที่ ๑ พอกิน 

เป้าหมายคือ ทำให้ทุกคนในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย "พอกิน"  มีกินและได้กินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ราคาไม่แพง 

จากการสำรวจสอบถามตามร้านค้า ร้านอาหาร ต่างๆ รอบ ๆ มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากตลาดกลางในเมือง พืชผักส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกในพื้นที่แต่ถูกขนมาจากระยะไกล แม้ว่าในพื้นที่จะมีลำน้ำชีและที่เพาะปลูกอย่างเพียงพอ และที่สำคัญ ไม่ใช่อาหารปลอดสารพิษ รับประกันไม่ได้ว่าอาหารที่นิสิตและบุคลากรในมหาวิทยาลัยกินทุกวันนั้นปลอดภัยหรือไม่เพียงใด 

วิธีการก้าวผ่านบันไดขั้นนี้ 
  • สร้างพื้นที่และเปิดพื้นที่ให้ร้านอาหาร ข้าวแกง อาหารตามสั่ง เข้ามาขายในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ไม่เฉพาะบริเวณตลาดน้อย แต่บริเวณข้างอาคารของแต่ละคณะ ซึ่งหลายๆ คณะได้ดำเนินการแล้ว เช่น สถาปัตย์ วิทยาศาสตร์ บัญชีฯ เป็นต้น  ซึ่งจะทำให้
    • นิสิตไม่ต้องขับรถออกไปกินข้าวข้างนอก  
    • นิสิตมีเวลาเพียงพอที่จะทานอาหารที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ไปซื้อลูกชิ้น หมูปิ้ง ฯลฯ 
    • มหาวิทยาลัยอาจได้รายได้เพิ่มในการให้เช่า (เบื้องต้นไม่แนะนำให้จัดเก็บ แต่ให้ควบคุมราคาและคุณภาพให้ ถูกกว่า และดีกว่าการออกไปกินข้างนอก และดีคุ้มค่ากว่าการกินอาหารฟาสฟู๊ดในราย 7-11)
  • พัฒนา (อบรม) ผู้ประกอบการร้านอาหารเหล่านี้ที่เข้ามาขายในมหาวิทยาลัยทั้งหมด ให้จัดการเรื่องขยะตามแนวทางของมหาวิทยาลัย  หากไม่สามารถจัดการได้ตามมาตรฐาน ต้องถูกระงับพื้นที่การขาย (อาจมีมาตรการหลายระดับ ทั้งไม้อ่อน ไม้แข็ง)
    • ร่วมกันร่างข้อกำหนดและแนวปฏิบัติต่างๆ ในการจัดการขยะ การลดขยะ ความสะอาด ฯลฯ
    • การใช้วัตถุดิบสะอาด ปลอดสารพิษ โดยเฉพาะผลผลิตที่สะอาดที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้ส่งเสริมและผลิต 
  • ออกสำรวจพื้นที่เพาะปลูกและรับสมัครเกษตรเข้าร่วมโครงการผลิตอาหารปลอดภัยให้ลูกหลานในมหาวิทยาลัยของเรากิน  ให้คณะที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ พาทำ พาชาวบ้านเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะชมชนที่มีศักยภาพในพื้นที่เขตชลประทานต่างๆ เช่น ริมชี ข้างหนองคูขาด เป็นต้น ...  ข้อนี้ต้องใช้กำลังใจ ความเพียร สติปัญญา และความสามัคคีร่วมมือกันระหว่างหลักสูตรและสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 
  • ประกาศให้มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยอาหารสะอาด เมื่อพร้อม เพื่อกำลังผลิตสมดุล และสามารถควบคุมความปลอดภัยของการผลิต การแปรรูป และการขายอาหารในมหาวิทยาลัยได้ สำนักศึกษาทั่วไปรับผิดชอบสื่อสารไปยังนิสิตในทุกชั้นเรียน
ขั้นที่ ๒ พอใช้

เป้าหมายคือ ทำให้นิสิต บุคลากร และชาวบ้านในชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัย มีวินัยและใส่ใจในการใช้สิ่งของต่าง ๆ คือ ใช้เป็น ใช้แบบประหยัด และรับผิดชอบในการใช้สิ่งของต่าง ๆ  ต้องไม่เป็นต้นเหตุให้เกิดมลภาวะใด ๆ สร้างสังคมไร้ขยะขึ้น โดยมุ่งส่งเสริมหรือสนับสนุนให้นิสิต และชุมชน สร้างผลิตภัณฑ์ปลอดภัย มาขายในราคาถูกในมหาวิทยาลัย เช่น 
  • เศษอาหารจากร้านอาหารและเศษใบไม้ใบหญ้าที่ตัดมาจำนวนมากนั้น ให้นำไปทำปุ๋ยหมัก เพื่อทำดินปลูก มาจำหน่ายราคาถูกภายในมหาวิทยาลัย 
  • ลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง 
  • คัดแยกขยะอย่างจริงจัง ใช้กลไกของกิจกรรมในหลักสูตร โดยเฉพาะรายวิชาศึกษาทั่วไป ขับเคลื่อนให้นิสิตทุกคนคัดแยกขยะอย่างจริงจัง 
  • สร้างคลังหรือตลาดเปิดเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ามือสองของนิสิต 
    • จะสังเกตว่านิสิตชั้นปี ๔ ทิ้งสิ่งของใช้จำนวนมาก หรือจำเป็นต้องขนกลับบ้าน ส่วนนิสิตใหม่ชั้นปีหนึ่ง ก็ต้องหาซื้อของใช้ราคาแพงจำนวนมาก 
    • หากมหาวิทยาลัยทำตลาดหรือโกดังขายสินค้ามือสองแบบพี่-น้อง จะทำให้เกิดพลังหมุนเวียน แลกเปลี่ยน ซื้อขาย สิ่งของต่างๆ เช่น เฟอร์นีเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ 
    • ว่าที่บัณฑิตจะมีรายได้ นิสิตใหม่จะประหยัดรายจ่าย 
    • จะลดปริมาณขยะลงไปไม่น้อยเทียว
  • แต่ละคณะที่มีความถนัดในการผลิต ส่งเสริมให้นิสิตผลิตสินค้าออกขายให้คนภายในมหาวิทยาลัยกันเองในราคาเป็นธรรม เช่น นิสิตเอกโภชนาการขายอาหารปลอดภัย นิสิตเกษตรขายผลิตผลทางการเกษตร  ฯลฯ  อาจเรียกว่า "๑ หลักสูตร ๑ ผลิตภัณฑ์" หรือ " ๑ หลักสูตร ๑ นวัตกรรม" 
ขั้นที่ ๓ พออยู่

เป้าหมายคือการสร้างชุมชนและสังคมที่น่าอยู่ คงความดีของสังคมไทยในอดีตกลับมาให้มากที่สุด เช่น ความเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน วัฒนธรรมครอบครัวใหญ่ ทำนุบำรุงประเพณีวัฒนธรรมที่แท้จริงกลับมา เช่น 
  • จัดทำโครงการ "ลูกฮัก พักบ้านพ่อ-แม่"  ให้ร่วมกันกับชุมชนที่มีบ้านที่อยู่อาศัยพร้อมในกว่า ๕๐ หมู่บ้านรอบ ๆ มหาวิทยาลัย จัดให้นิสิตที่เรียนดี ขาดแคลน รักดี ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดใด ๆ เข้าอยู่อาศัยเป็น "ลูกฮัก" (ลูกบุญธรรม) ของพ่อฮักแม่ฮัก  ชดเชยการจากไปของลูกแท้ๆ ที่ต้องจากบ้านไปทำงานต่างจังหวัด  โดยต้องช่วยดูแลท่านเหมือนดูแลพ่อแม่ ช่วยทำงานบ้าน ช่วยทำงานการเกษตรเสาร์-อาทิตย์หรือตามสมควร  โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้านใด ๆ เหมือนอยู่ในบ้านตนเอง  ซึ่งในวันเปิดตัว อาจมีพิธีกรรมสัญญา-สาบานกันตามสมควร 
  • สร้างหลักสูตรสร้างคนเกษตรพอเพียง (อาจจะใช้ชื่อใดก็ได้) โดยดำเนินการดังนี้ 
    • ค้นหาและถอดบทเรียนอาจารย์หรือบุคลากรมหวาวิทยาลัยที่เป็นคน "พอเพียง" ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพร้อมที่จะรับนิสิตเข้าศึกษาในแปลงเกษตรหรือฟาร์มของท่าน  สร้างเป็นฐานการเรียนรู้ระดับเชี่ยวชาญ
    • เปิดหลักสูตรระยะ ๒ ปี ๓ ปี หรือ ๔ ปี  สามารถเปิดได้หลากหลายแบบ ตัวเช่น กรณี ๔ ปี ให้ 
      • ปี ๑ เรียนวิชาพื้นฐาน และกระบวนการเรียนรู้ ให้เข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 
      • ปี ๒ ส่งไปอยู่เรียนรู้แบบฤาษี (เรียนแบบฝึกช่าง) คือไปอาศัยอยู่กับอาจารย์ที่รับเป็นครูฝึก ให้เชี่ยวชาญเรื่อง พืช 
      • ปี ๓ ส่งไปอยู่เรียนแบบฤาษีให้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ (อาจเลือกตามความสนใจ)
      • ปี ๔ กลับมาเรียนแบบเสวนา สัมมนา และแลกเปลี่ยน เน้นไปที่การสหกรณ์ กระบวนการภาคประชาสังคม และการตลาด
    • ฯลฯ 
  • พัฒนาสำนักงานหอพักของมหาวิทยาลัยให้ดูแลนิสิตของมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด  โดยใช้วิธีการสร้างระบบหอพักเครือข่ายให้เข้มแข็ง  
    • หอพักที่จะรับนิสิตของมหาวิทยาลัยได้ ต้องเป็นหอพักเครือข่าย  โดยอาจมีมาตรฐานของหอพักเครือข่ายระดับต่าง ๆ ให้ผู้ปกครองสามารถเลือกได้ เช่น 
      • หอพักระดับ ก. คือหอพักแยกชายหญิงชัดเจน อย่างเข้มงวด มีกล้องวงจรปิด เช่นดัง หอพักใน ของมหาวิทยาลัย 
      • หอพักระดับ ข. คือหอพักแยกชายหญิงชัดเจน แต่ไม่เข้มงวด ... มีอยู่ดาดเดื่อนตอนนี้ 
      • บ้านเช่าหรือบ้านพักแบบที่นิสิตอยู่รวมกันหลายคน 
      • ฯลฯ  
    • หอพักที่จะรับนิสิตต้องมีการจัดการขยะที่ดี ต้องจัดการน้ำเสียได้มาตรฐาน หากหอพักใดไม่ปฏิบัติตามมาตรการใดๆ ที่มหาวิทยาลัยกำหนด จะมีการแจ้งข้อมูลและเตือนไปยังผู้ปกครอง หรือประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน 
    • ฯลฯ
  • ฯลฯ
ขั้นที่ ๔ พอเพียง

เป้าหมายคือทำคนของมหาวิทยาลัยเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้อง แบบระเบิดออกมาจากข้างใน

เมื่อขับเคลื่อนไปได้ใกล้เคียงกับการพอกิน พอใช้ และพออยู่แล้ว มหาวิทยลัยของได้ใจนิสิต ได้ใจชาวบ้านรอบมหาวิทยาลัยพอสมควรแล้ว ๓ ขั้นแรกนั้นเป็นเหมือนการทำให้ดู ทำเป็นแบบอย่าง และเป็นเหมือนการให้ใจ ผลก็คือการได้ใจกลับมานั่นเอง

เมื่อให้ใจ ก็จะตั้งใจฟัง และเชื่อฟังมหาวิทยาลัย ถึงเวลาเริ่มต้นกระบวนการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนอย่างเต็มกำลัง  สิ่งที่ควรทำคือ จัดตั้งสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ขึ้นในมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ดังนี้คือ

  • จัดการความรู้เรื่อง พอกิน พอใช้ พออยู่ 
  • พัฒนานิสิตและบุคลากร ให้ระเบิดจากข้างใน เข้าใจเรื่องความพอเพียงอย่างถูกต้อง จนสามารถถ่ายทอดได้ 
  • ผลิตบัณฑิตด้วยหลักสูตรต่างๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง และขยายผลอย่างเป็นระบบ
  • วัดผลและประเมินผลกระทบต่อชุมชนและสังคม
ขั้นที่ ๕ พอพึ่งพา

เป้าหมายคือ การก้าวสู่การสร้างปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่เป็นนามธรรม คือ "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน" ให้เป็นรูปธรรมโดยเปลี่ยนมหาวิทยาลัยไปสู่ "มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมและชุมชน" (Social Engagement University) โดยดำเนินการดังนี้
  • มอบหมายให้รองอธิการท่านหนึ่งรับผิดชอบด้านนี้โดยตรง  
  • แต่งตั้งประธานหลักสูตรเป็นกรรมการรับผิดชอบดูแลขับเคลื่อนเรื่องนี้จริงจัง โดยปรับพันธกิจหลักด้วยมุมมองใหม่ (รายละเอียดอ่านบันทึกถอดบทเรียนจากการฟัง ศ.นพ.วิจารณ์ ที่นี่)
  • สร้างทีมกระบวนกรหรือคุณอำนวย (Facilitator) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างบูรณาการ ๕ ภาคส่วนได้แก่
    • มหาวิทยาลัย
    • ภาครัฐ หน่วยงานรัฐ
    • ภาคประชาชน ประชาสังคม 
    • ภาคเอกชน 
    • สื่อสารมวลชน 
  • สร้างระบบและกลไกการขับเคลื่อนอื่นๆ เช่น งบประมาณ บุคลากร ฯลฯ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน
  • ประเมินผลกระทบ วิจัย และพัฒนากระบวนการขับเคลื่อน "มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม" 

ถึงตรงนี้ ... ผมขอสะกิดตนเองให้ตื่นมาพบกับความจริงของชีวิต ด้วยจิตที่ปล่อยวาง ... เชียร์อยู่ห่าง ๆ ต่อไปครับ..  คิดใหญ่ทำเล็กเสมอ....

ดูเหมือนบันได ๕ ขั้นนี้ จะไม่เกี่ยวกับปัญหา น้ำเสีย ขยะ และจราจร  แต่ความจริงเกี่ยวโดยตรง เพราะแท้จริงแล้วสาเหตุของปัญหาทั้งสามมาจากจิตสำนึก คนพอเพียงซึ่งมีจิตสำนึกของความรู้+ความดี จะทำให้ปัญหาทั้งสามอย่างค่อย ๆ หายไปเอง (อ่านสมการความพอเพียงที่นี่)
หมายเลขบันทึก: 657867เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2018 01:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2018 07:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทุกอย่างจากมนุษย์ จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากวิถีสังคมที่ตักตวง สะสม เอาแต่ได้..ปัญหาการใช้ทรัพยากรจึงเกิด

พอกิน พอใช้ พออยู่ พอเพียง พอพึ่งพา..ทางรอดที่ยั่งยืนนะครับ!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท