ความเข้าใจ(ที่แตกต่าง)ระหว่างนักวิชาการกับนักบริหาร


“การเรียนรู้ คือการเกิดความคิดใหม่
ผู้เขียนเคยสงสัยว่า ทำไมนักวิชาการช่างเสนอความคิดเห็นติติงเก่งจริงๆ แต่ให้ทำเองไม่ค่อยได้ผล หรือบางครั้งในการเสนอความเห็นบอกแต่ข้อบกพร่อง  ไม่เสนอทางแก้มาให้เลยด้วยซ้ำ  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นทั้งที่บางคนก็เก่งสารพัด  มีปริญญามากมายและก็รู้ทั้งรู้ว่าเสนอความเห็นไปนักปฏิบัติหรือผู้บริหารก็ไม่รับความคิดนั้น  แต่ก็ยังช่างเสนอเสียจริงๆ  ในการเรียนการสอนที่โรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง วันหนึ่ง ได้คำตอบนี้โดยบังเอิญ  จึงคิดว่าน่าจะขยายผลต่อ  เพื่อความเข้าใจอันดีจะมีเพิ่มขึ้น
                        เหตุการณ์มีอยู่ว่า ในการระดมสมองหาคำตอบว่าวิธีการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับกองทัพอากาศนั้น มีวิธีการใดที่ นายทหารนักเรียนโรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง  จะช่วยกันทำได้บ้าง   หนึ่งในหลายๆ วิธีที่ระดมสมองได้  คือ การทำความเข้าใจกับประชาชนผู้เกี่ยวข้อง  ให้เข้าใจลักษณะการทำงานของกองทัพอากาศไปในทางที่ถูกที่ควร  ซึ่งก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกหน่วยงานราชการ  สมควรทำเช่นนั้นกับประชาชนเจ้าของภาษีที่ราชการนำมาใช้อยู่แล้ว  ความจริงบทเรียนควรจะจบไปเพียงแค่การสอนเทคนิคการระดมสมอง  แต่ด้วยความช่างสงสัยของผู้เขียนซึ่งทำหน้าที่อาจารย์ประจำสัมมนา (Directing Staff)   และมีความสงสัยแต่เดิมมาว่า  ทำไมนักวิชาการส่วนใหญ่ เวลาพูดถึงยุทธศาสตร์การพัฒนา  จะบอกว่า เข้าใจ  เข้าถึง  พัฒนา  แต่พอผู้ปฏิบัตินำไปใช้  ข้อความนี้จะถูกจัดเรียงลำดับใหม่ใช้ว่า เข้าถึง  เข้าใจ  พัฒนา ความแตกต่างนี้เห็นได้ชัดในการพูดอธิบายผ่านสื่อมวลชน  และป้ายประกาศในการประชุมของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่  นอกจากนี้ยังมีเพลง และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อีกหลายรายการที่สะท้อนความแตกต่างนี้ ... หากเราซึ่งเป็นข้าราชการ เข้าใจไม่ตรงกันเสียแล้ว  ข้อความนี้ยังจะเรียกว่า ยุทธศาสตร์ได้อยู่อีกหรือ ?                        เมื่อความสงสัยกับบรรยากาศในการเรียนการสอนเอื้ออำนวย  ผู้เขียนจึงถามนายทหารนักเรียนในห้องสัมมนา ซึ่งเป็นนายทหารยศเรืออากาศเอก ชาย ๑๓ คน   หญิง ๑ คน  โดยถามว่าระหว่าง เข้าใจกับเข้าถึง  ในยุทธศาสตร์การพัฒนานั้น  อะไรควรมาก่อนกัน   คำตอบที่ได้แบ่งเป็น ๒ ฝ่ายจริงๆ  ผู้เขียนถามต่อว่า  ถ้าเราเข้าถึงพื้นที่หรือเข้าถึงตัวบุคคลได้  เรียกว่าเข้าถึงแล้วใช่หรือไม่  นายทหารนักเรียนมีท่าทีลังเลสงสัย  ผู้เขียนเห็นว่าในกลุ่มมีผู้ชายเกือบทั้งหมด  จึงถามใหม่ว่า  ถ้าเรากอดผู้หญิงได้แสดงว่าเราเข้าถึงสาวคนนั้นแล้วใช่หรือไม่  หลายคนบอกว่าใช่  อีกหลายคนนั่งอมยิ้มผู้เขียนเดาว่า  น่าจะกำลังคิดถึง ระดับของการเข้าถึง  สาวคนนั้นเป็นแน่  ฉับพลันความสงสัยก็กระจ่างขึ้นมาอย่างไม่คาดหมาย  เมื่อนายทหารนักเรียนหญิงคนเดียวในห้องตอบเสียงดังว่า  อย่างนี้เรียกว่า  ถึงตัว แต่ไม่ถึงใจค่ะ  สรุปวันนั้นได้คำตอบว่า  เข้าใจ  เข้าถึง  พัฒนา  น่าจะเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เรียงลำดับไว้ถูกต้องแล้ว                          แต่ผู้เขียนก็ยังไม่สิ้นสงสัยอยู่ดีว่า  ทำไมนักคิดกับนักปฏิบัติ  จึงเข้าใจไม่ตรงกันได้มากๆ  เห็นได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาดังกล่าวที่ยังมีความแตกต่างอยู่จนบัดนี้  รวมไปถึงการชุมนุมต่อต้านและสนับสนุน  ความคิดของการสมานฉันท์ในปัญหาชายแดนภาคใต้อีกหลายครั้งด้วยกัน  แล้วอยู่มาวันหนึ่งบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันในโรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง  ก็ช่วยให้ได้คำตอบ  หลังการประชุมผู้เขียนถูกต่อว่าจากเพื่อนร่วมงานซึ่งอยู่ต่างกอง  ว่า ทีหลังอย่า เสนอปัญหามาอีกนะ  เพราะเสนอแต่ปัญหา ไม่ยอมหาทางออกมาให้ด้วย  ผู้เขียนก็ตอบกลับไปว่า ก็เวลามีจำกัด  และเห็นปัญหาก็บอกออกไปให้ผู้ปฏิบัติหาทางแก้ไข  น่าจะดีกว่าปล่อยให้ทำจนเกิดปัญหา  แล้วค่อยบอกทาง
แก้ไขนะ
หลังเถียงกันพักใหญ่ เราก็ได้คำตอบว่า  นักวิชาการมีหน้าที่บอก ก็ควรทำหน้าที่ คือบอกถ้าเห็นว่าจะเป็นปัญหา   แต่จะดีกว่าถ้าบอกหนทางแก้ปัญหาไปด้วย    เมื่อบอกไปแล้วก็ต้องทำใจว่า  คนทำจะทำได้แค่ไหน  ก็เป็นเรื่องของคนทำ  ซึ่งอาจมีข้อจำกัดอีกหลายประการ ที่เรายังมองเห็นไม่หมด  หรือยังไม่เกิดขึ้นในเวลานั้นก็ได้   ผู้ปฏิบัติเองก็ต้องยอมรับว่า  การบอกนั้นเป็นการทำหน้าที่ของนักวิชาการ  ซึ่งอาจไม่มีหน้าที่  ไม่มีโอกาส  หรือไม่รู้ข้อจำกัดมากเท่าผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่จริง  แต่หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นความหวังดีที่จะช่วยป้องกันหรือแก้ปัญหา  ก็น่าจะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นไว้  แล้วนำไปหาหนทางปฏิบัติที่เหมาะสม  ให้เกิดเป็นผลดีต่อไป  ดังนั้นการเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน
ว่าเป็นการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย  ที่มีหน้าที่แตกต่างกัน  และกำลังทำหน้าที่ช่วยกันอยู่    ความเข้าใจเช่นนี้น่าจะช่วยลดความขัดแย้งได้ 

                        กลับมาที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาอีกครั้ง   ผู้เขียนเกิดความคิดใหม่ หลังการมองจากปัญหาการกอดสาว  ที่ถามนายทหารนักเรียนโรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูงไปก่อนหน้าที่จะมีปัญหาจากการประชุมนี้  คือคิดว่า  การที่ผู้ปฏิบัตินำยุทธศาสตร์การพัฒนาไปเรียงเสียใหม่ใช้เป็นว่า  เข้าถึง  เข้าใจ พัฒนา นั้น   น่าจะมาจากข้อจำกัดในการปฏิบัติที่ต้องเข้าใกล้ก่อนเพื่อหาโอกาสสร้างความเข้าใจก็เป็นได้  แต่ก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่า  วิธีการ เจ้าชู้ยักษ์  หรือการคลุมถุงชนในยุคนี้ยังจะใช้ได้ผลอยู่อีกหรือไม่  เพราะสาวยุคใหม่อาจสวนกลับมาแรงๆ  ไม่ใช่แค่เพียงคำตอบอย่างที่เจอในห้องสัมมนาของโรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูงก็เป็นได้  และนี่แค่เรื่องกอดสาวเท่านั้นนะ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์การพัฒนาซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ชนิดเทียบกันไม่ได้  แต่สรุปแล้วเรื่องของการทำความเข้าใจ เป็นเรื่องสำคัญจริงอย่างที่ผลการสัมมนาระดมสมองของนายทหารนักเรียน  หลักสูตรชั้นผู้บังคับฝูงได้ข้อสรุปออกมานั่นเอง  หากท่านผู้อ่านเห็นเป็นอย่างอื่น  ขอความกรุณาช่วยชี้แนะเพื่อความเข้าใจด้วย

หมายเหตุ

            โรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูงจัดการศึกษาอบรมให้แก่ นายทหาร  นายตำรวจ ยศเทียบเท่าเรืออากาศเอกมาตั้งแต่  พ.ศ.๒๔๙๐  ปัจจุบันเป็นหน่วยงานในสังกัดสถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง  กองบัญชาการฝึกศึกษาทหารอากาศ  นายทหารนักเรียนรุ่นปัจจุบันเป็นรุ่นที่ ๑๐๙  มีจำนวน ๑๖๘  คน  ส่วนใหญ่เป็นทหารอากาศ แต่ก็มี ตำรวจ ทหารบก ทหารเรือ รวมทั้งทหารมาเลเซีย มาเรียนรวมด้วย

หมายเลขบันทึก: 65077เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2006 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท