คำพ้องความหมาย


สวัสดีค่ะ พบกับครูสรอีกแล้ว ช่วงนี้เราได้เรียนรู้คำพ้องรูป คำพ้องเสียงกันไปแล้ว ยังมีคำพ้องอีกประเภทหนึ่งที่ครูสรคิดว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าคำพ้องรูป และคำพ้องเสียง และที่สำคัญครูสรก็ยังคงยืนยันว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่งดงาม คนไทยฉลาดคิดและฉลาดที่จะนำคำในภาษาไทยไปใช้ได้อย่างสละสลวยชวนอ่านทั้งบทร้อยแก้ว และบทร้อยกรอง ครูสรกำลังจะกล่าวถึงคำพ้องอีกประเภทหนึ่งที่มีความหมายเหมือนกัน แต่เขียนต่างกัน เราเรียกคำประเภทนี้ว่า คำพ้องความหมาย

คำพ้องความหมาย คือ คำที่มีความหมายเหมือนกัน แต่เขียนรูปต่างกัน และเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ครูขอแยกประเภทของคำพ้องความหมายออกเป็นหมวด ๆ เพื่อง่ายแก่การจดจำและเลือกนำไปใช้ได้ตามต้องการ ดังนี้

หมวดสัตว์

นก ปักษา ปักษี วิหค สกุณา สกุณี

ปลา มัจฉา มัจฉะ

หมู สุกร

หมา สุนัข

ม้า อาชา อัสสะ อัศว

ช้าง คช คชสาร คชาชาติ กุญชร มาตงค์

ควาย กระบือ

วัว โค

เสือ พยัคฆ์ พยัคฆา พยัคฆิน พยัคฆี วยาฆร์

นกยูง มยุร มยุรา มยุรี

ผึ้ง ภูมริน ภมร ภมริน ภมรี

หมวดธรรมชาติ

แผ่นดิน ธรณี ปฐพี หล้า ด้าว

น้ำ นที ธารา อุทก วารี ชลชาติ ชลธาร ชลัมพุ ชลาลัย ชลาสินธุ์ ชโลทร คงคา

ลม วายุ พายุ วาตะ วาต

ไฟ เพลิง อัคคี อัคคิ อัคนิ อัคนี อนล

ป่า วน ดง พง พงไพร ไพร พน พนา พนาดร พนาลัย พนาสณฑ์ พนาสัณฑ์ วนาสณฑ์ วนาสัณฑ์ พนอง พนัส พนัสดม อรัญ อรัณย์

ภูเขา พนม คีรี นคินทร นคินทร์ บรรพต บรรพตชาล

ท้องฟ้า นภ นภา นภาลัย โพยม โพยมัน โพยมาน ดวงอาทิตย์ ดาราบถ คคนัมพร คคนางค์ คคนานต์

เมฆ เมฆินทร์ เมฆี

ดวงอาทิตย์ ภาสกร ระพี ระวี ทินกร สุริยา สุริยง สริยะ ตะวัน

ดวงจันทร์ บุหลัน โสม แข ดวงเดือน

ดวงดาว ดารา ดารากร

กลางคืน ราตรี

กลางวัน ทิวา

ฤดูฝน ฤดูใบไม้ผลิ วสันต์

ฤดูร้อน คิมหันต์

ฤดูหนาว เหมันต์

หมวดมนุษย์

ผู้หญิง วนิดา พนิดา ดรุณี สตรี นารี นาเรศ อรทัย อร มาณวิกา

ผู้ชาย บุรุษ มาณพ

ลูกชาย บุตร บุตรา

ลูกสาว บุตรี

คนแก่ เฒ่า ชรา ชราภาพ

พ่อ บิดา บิตุรงค์ บิตุ บิตุเรศ

แม่ มารดา มารดร มาตา มาตุ มาดา มาตุรงค์ มาตุเรศ

กษัตริย์ บดินทร์ บพิตร ราชา พระเจ้าแผ่นดิน ภูธเรศ ภูธเรศวร ภูเบศวร์ ภูเบศ ภูบาล ภูบดี ภูบดินทร์

ตาย ม้วย วายชนม์ เสียชีวิต มรณ มรณภาพ มรณ์ มรณะ สวรรคต สวรรคาลัย ทิวงคต

เกิด คลอด กำเนิด ชาตะ ชาติ ประสูติ

หมวดดอกไม้

ดอกบัว บงกช บุษกร

ดอกไม้ กุสุมา กุสุมาลย์ บุปผา บุปผชาติ บุษบา บุษบ- บุษปะ บุษบัน บุษบง บุหงา บุหงัน

คำพ้องความหมายในภาษาไทย บางคำหลายคนคงสงสัยว่าไม่เคยเห็นในชีวิตประจำวัน เป็นเพราะคำบางคำนำไปใช้เฉพาะในการเขียน กาพย์ กลอน และบทประพันธ์ประเภทต่าง ๆ เพื่อความสุนทรียภาพทางด้านภาษาค่ะ ครูสรบอกแล้วไงค่ะว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่งดงามจริง ๆ

หมายเลขบันทึก: 649468เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2018 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2018 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท