อ่าน : พระไม้อีสาน (Wooden Buddha I - san)


อ่าน : พระไม้อีสาน  (Wooden  Buddha I - san)

เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิยม  วงศ์พงษ์คำ และทีมวิจัย

        ผมสะดุดตาหนังสือเล่มสีเหลืองเล่มหนึ่ง วางอยู่บนชั้นหนังสือของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชื่อหนังสือ พระไม้อีสาน ความน่าสนใจอยู่ที่ปกหนังสือ ซึ่งมีพระพุทธรูปลักษณะแปลกตาปรากฏอยู่บนนั้น  เมื่อหยิบมาเปิดอ่าน ก็ได้เห็นรายละเอียดที่จุดประกายความรู้ ความคิดอยากให้อ่านและศึกษาต่อเป็นอย่างมาก ในครั้งนี้เลยนำความคิดตัวเองจากการได้อ่านหนังสือเล่มนี้ มาเขียนไว้กันลืมและฝากท่านผู้สนใจทุกท่าน

ง่าย ๆ สไตล์ช่างอีสาน

          พระไม้อีสาน หากเราจะจำกัดความ ก็คงหมายถึง พระพุทธรูปทุกชนิดที่ทำขึ้นด้วยไม้ ในพื้นที่ภาคอีสาน ทั้ง 20 จังหวัด ซึ่งคณะผู้วิจัย ได้เลือก 19 จังหวัด (ในอดีต) จังหวัดละ 2 อำเภอเป็นพื้นที่ในการศึกษา

กำเนิดพระพุทธรูป

          เมื่อกล่าวถึงพระพุทธ จะไม้หรือปูนก็แล้วแต่ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึงจุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ว่าพระพุทธรูปเกิดขึ้น เมื่อพระเจ้าอเล็กวานเดอร์มหาราช กษัตริย์ของกรีกได้ยกกำลังมารุกรานอินเดีย และมีกลุ่มขุนนาง นายทหารที่เหลืออยู่จากสงครามปกครองบ้านเมือง มีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ทำให้มีการสร้างรูปเคารพแทนพระพุทธองค์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กษณะ (ช่วงปี พ.ศ. 662 - 702) โดยยึดเอารูปแบบเทพเจ้ามาสร้างตามลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ เป็นพระพุทธรูปองค์แรก เกิดในแคว้นคันธารราช เป็น ศิลปะแบบคันธาระ

พุทธอิริยาบถ ปรากฏในอีสาน

          ในปัจจุบันเราแบ่งพระพุทธรูปออกเป็นปางต่าง ๆ มากมาย แต่หารู้ไม่ ว่าเราเริ่มแบ่งปางต่าง ๆ เมื่อไหร่ จากหนังสือเล่มนี้ทำให้ทราบว่าการแบ่งพุทธอิริยาบถนั้น กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงคัดเลือกปางต่าง ๆ ที่รากฎในพุทธประวัติจำนวน 40 ปาง

          โดยแรกเริ่มเดิมทีในแถบนี้ พระพุทธรูปน่าจะมี 3 ลักษณะ คือ นั่ง ยืน นอน เท่านั้น ซึ่งเรียกว่า ปาง หรือ มุทรา ปางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติจึงเพิ่งถูกสร้างขึ้นให้เกี่ยวโยงกับชื่อเรียก  ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็สร้างขึ้นมา 1 ปางคือปางขอฝน สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม สร้างอีก 1 ปาง คือ ปางลีลา โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

          จากหนังสือพระไม้อีสาน ได้สรุปเอาไว้ว่า พบเพียง 15 ปาง ได้แก่ มารวิชัย สมาธิราบ    แสดงชราธรรม ประทับยืน ห้ามสมุทร อุ้มบาตร ห้ามญาติ สรงน้ำฝน นาคปรก ห้ามพระแก่นจันทร์ ถวายเนตร สมาธิเพชร ป่าเลไลยก์ ปลงอายุสังขาร รับสัตตูก้อนสัตตูผง

          ความนิยมมากที่สุดคือปางมารวิชัย ปางสมาธิ ส่วนปางที่พบน้อยที่สุดจากงานวิชัย คือปางปลงอายุและปางรับสัตตูก้อนสัตตูผง ลักษณะพระไม้ช่างพื้นบ้านพบมากแถบอีสานกลางถึงอีสานเหนือ ส่วนพระพุทธรูปไม้อิทธิพลช่างหลวง พบมากแถบจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม ซึ่งผมเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของทีมวิจัย ว่าน่าจะถูกนำมาจากฝั่งว้ายแม่น้ำโขงเมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นในลาว

จุดเริ่มต้นของพระไม้

          พระไม้อีสาน มีจุดเริ่มต้นคล้าย ๆ กับการสร้างพระพุทธรูปโดยทั่วไปคือ เกิดจากศรัทธา และต้องการวัตถุที่มายึดเหนี่ยวจิตใจ โดยฝีมือแบบชาวบ้าน บูชาโดยชาวบ้านอย่างแท้จริง

คติการเลือกไม้ และความเชื่อ

คติการเลือกไม้ ที่นำมาทำพระพุทธรูป ผู้วิจัยได้ให้ข้อมูลไว้ว่า วัดศรีชมชื่น บ้านคำพอก ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ได้เก็บไม้มงคล ที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ไว้ 9 อย่าง ดังนี้

          1) ไม้ยอ

          2) ไม้แสนคำ (ต้นขี้อ้าย)

          3) ไม้กันเกรา

          5) ไม้หมากล่ำ

          6) ไม้คูณ

          7) ไม้จวงหอม

          8) ไม้ขยุง

          9) ไม้ขนุน

ผู้วิจัยกล่าวว่า ไม้ที่นำมาทำพระไม้ มี 3 ชนิดคือ ไม้ยอ ไม้คูณและไม้ขนุน นอกจากนี้ยังมี ไม้มะขาม ไม้กระโดน ไม้ติ้ว ไม้แต้ มาทำพระด้วย โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไม้มงคล แต่ยึดความสะดวกสบาย

รูปแบบพระไม้

          รูปแบบพระไม้ในอีสาน มีช่างอยู่ 2 แบบคือ ช่างพื้นบ้าน และช่างอิทธิพลช่างหลวง

ช่างพื้นบ้าน  จะมีฝีมือค่อนข้างเป็นอิสระ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ไม่ประณีตมากนัก อุปกรณ์ส่วนมากใช้มีดขูด พระเกตุมาลา แบบทรงสูงแหลม และทรงต่ำทู่ (คล้ายบัวตูม) พระกรรณ ส่วนมากเป็นเหลี่ยม ตามรอยถาก

ช่างอิทธิพลช่างหลวง ฝีมือค่อนข้างประณีต งานมีรูปแบบผสมผสานระหว่างราชสำนักเวียงจันทน์ หลวงพระบางและสยาม ส่วนมากจะเป็นปางประทับยืน ซึ่งตัวผมเองคิดว่าน่าจะมาจากคติการสร้างรูปแทนของพระบาง อันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของคนในแถบล้านช้าง เพื่อนำกลับไปบูชายังหมู่บ้านชุมชนของตนเอง

          ในงานวิจัย ชี้ว่า “ลักษณะโดยรวมของของพระไม้กลุ่มนี้ จะทำสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี หากเป็นปางประทับยืนจะยาวลงถึงเบื้องล่าง บางครั้งไม่นิยมทำชายสังฆาฏิก็มี มีปั้นเหน่งส่วนปลายของชายสังฆาฏิเป็นหยักคล้ายเขี้ยวตะขาบ “

          โดยลักษณะที่สังเกตได้คือ พระไม้ยืนและนั่งค่อนข้างอวบ อ่อนช้อย พระนาภีเป็นปุ่มกลม พระหัตถ์มีสองแบบ คือ อ่อนช้อย และโก่งงอน ปางห้ามญาติมักทำนิ้วเรียงชิดติดกัน

ปางมารวิชัย และปางสมาธิ นิ้วพระหัตถ์เรียงชิดติดกันทั้ง 4 นิ้ว ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ นิ้วพระบาทมักเรียงชิดติดกัน

ลักษณะฐาน มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มฐานแอวขัน กลุ่มฐานเขียง

          คำว่า แอวขัน ผู้วิจัยได้สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากสองคำ คือ แอว หรือเอว และ ขัน น่าจะหมายถึงพาน ดังนั้นหากรวมความก็คือ ลักษณะฐานเป็นคล้ายเอวของพาน ซึ่งอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร แบ่งแอวขัน เป็น 4 ประเภทคือ แอวขันธรรมดา แอวขันกระดูกงู แอวขันปากพานและแอวขันกระดูกงูปากพาน โดยเสริมความงามด้วยลายผ้าทิพย์ ซึ่งศิลปะแบบนี้ปรากฏโดยทั่วไปในภาคอีสาน  อันได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรล้านช้าง

บทสรุป

         จากการสรุปผลของทีมวิจัยกล่าวว่า พระพุทธรูปไม้ส่วนมากพบในเขตอีสานกลาง ถึงอีสานเหนือ ซึ่งผู้วิจัยสรุปว่าน่าจะมาจากการใกล้ชิดกับเวียงจันทน์ จากจุดนี้เป็นที่น่าคิดว่าเหตุใดอีสานใต้จึงได้รับอิทธิพลการสร้างพระพุทธรูปไม้น้อย หากพิจารณาอีกทีในความคิดของผม ผมคิดว่าในแถบอีสานใต้ เช่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร ในช่วงที่เวียงจันทน์เสื่อมอำนาจลง บ้านเมืองเหล่านี้ถือว่าเป็นใหญ่ในภาคอีสาน เนื่องด้วยมีการติดต่อกับรัฐสยาม และควบคุมหัวเมืองเล็กเหล่านี้ เช่น ขอนแก่น หนองคาย อุดรธานี ดังนั้นกำลังทรัพย์ในการสร้างพระจึงเป็นทองแดง หรือถ้าเป็นไม้ก็จะมีศิลปะแบบช่างหลวง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อการสักการะแห่งตนให้เหมาะสมกับฐานะ เช่นเดียวกันในชุมชนหมู่บ้านอื่น ๆ มีช่างหลวงจากเวียงจันทน์และหัวเมืองอื่น ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ทำให้พระพุทธรูปมีความประณีต มีกำลังทรัพย์ที่จะทำทองแดง ลักษณะพระไม้พื้นบ้านจึงปรากฏในแถบนี้น้อย

          อีกตัวอย่างคือ จังหวัดหนองคาย จังหวัดมุกกาหารและจังหวัดนครพนม ซึ่งพบพระพุทธรูปอิทธิพลช่างหลวงมาก ก็เนื่องด้วยปัจจัยทางการเมืองที่ผู้วิจัยสรุปไว้ด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือพระพุทธรูปเหล่านี้ ถูกสร้างโดยกลุ่มช่างหลวง ที่ได้ไปมาหาสู่กับราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ทำให้พระพุทธรูปมีศิลปะประณีตตามแบบช่างหลวง อีกทั้งเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจมาเป็นสยาม เมืองมุกดาหารก็ไปมาหาสู่อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่ที่ได้รับแบบแผนจากสยามในยุคต้น ๆ มาด้วย ทำให้ศิลปะดังกล่าวก้าวพร้อมกันไปกับการเปลี่ยนแปลง

          กลับกันในแถบอีสานกลาง ถึงอีสานเหนือ เพิ่งจะมีความเจริญเมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและถนนมิตรภาพในการสัญจรเมื่อไม่นานมานี้ แน่นอนว่าในอดีตชาวบ้านมีการติดต่อ สัมพันธ์กับช่างหลวงน้อย ทำให้ต้องประดิษฐ์ สร้างพระขึ้นมากราบไหว้บูชาเอง โดยใช้วัสดุที่หาง่ายคือ ไม้ มาทำเป็นพระพุทธรูป จากมูลเหตุดังกล่าวทำให้ผมได้เห็นมิติและตอบคำถามได้ว่า ทำไมพระไม้ถึงปรากฏมากในแถบอีสานกลางถึงอีสานเหนือ

บรรณานุกรม

นิยม วงศ์พงษ์คำ และคณะ. (2545). พระไม้อีสาน. ขอนแก่น: โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ ออฟเซ็ท.

หมายเลขบันทึก: 649464เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2018 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2018 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท