รักที่หลุดพ้น (ตอนที่ 5 อุปสรรคกีดขวางทางพ้นทุกข์)


วรรณกรรมอิงธรรมะ เชื่อมโยงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติการศึกษาไทยในชนบทแห่งหนึ่ง ของยุคหนึ่ง ในหลายๆมิติ

   
         การปฏิบัติเริ่มขึ้นแล้ว เมื่อธรรมบริกรทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเรียกผู้ปฏิบัติเข้าห้องปฏิบัติรวม เรียงตามลำดับหมายเลขอาสนะและเก้าอี้นั่ง แยกประตูทางเข้าของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง รวมทั้งภายในห้องปฏิบัติมีการแยกเขตพื้นที่ชายหญิงเป็นสัดส่วนชัดเจน โดยจัดอาสนะและหมอนรองนั่งเป็นสองชั้น แยกสีอาสนะของชายและหญิงให้แตกต่างกัน  และยังจัดให้มีหมอนรองขาเล็กๆหลายขนาดสำรองไว้ในลังท้ายห้องไว้ให้เลือกใช้เพิ่มเติมอีกด้วย ส่วนผู้นั่งเก้าอี้ก็จัดไว้ด้านท้ายแต่มีอาสนะสำรองไว้ให้ด้วย เผื่อต้องการลงมานั่งอาสนะบ้าง  

      สำหรับอาสนะของพระสงฆ์จะวางบนที่ยกพื้นขึ้นสูงกว่าฆราวาส ซึ่งอยู่ด้านข้างของเขตฝ่ายชาย  ด้านหน้าสุดเป็นเวทียกพื้นสูงขึ้นเป็นที่นั่งสำหรับอาจารย์  ซึ่งที่ถูกต้องเรียกว่าผู้ช่วยอาจารย์ ที่ทำหน้าที่แทนอาจารย์ผู้สอนตัวจริงซึ่งท่านเสียชีวิตไปแล้ว  แต่ท่านบันทึกเสียงคำสอนของท่านไว้ตามหลักสูตรโดยถูกจัดไว้อย่างเป็นระบบตลอดหลักสูตรที่เหมือนกันทุกศูนย์   และคัดเลือกผู้ช่วยอาจารย์ที่ผ่านการปฏิบัติมาอย่างเข้มข้น ยาวนาน  เพื่อมาทำหน้าที่ดำเนินการอบรมตลอดหลักสูตรแทนอาจารย์ โดยใช้สื่อที่จัดทำไว้เพื่อไม่ให้เกิดความผิดเพี้ยน ซึ่งผู้ปฏิบัติทุกคนก็จะเรียกผู้ช่วยอาจารย์ว่าอาจารย์เช่นกัน

    ที่ห้องปฏิบัติรวมของศูนย์แห่งนี้ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ มีแต่พัดลมและเครื่องดูดอากาศรอบห้อง  เนื่องจากอากาศที่นี่จะเย็นตลอดปี เพราะอยู่ใกล้ภูเขาและน้ำตก  ภายในห้องมีลำโพง เครื่องเสียง และระบบไฟติดไว้รอบห้อง  เป็นห้องที่กว้างขวาง โล่งโปร่งสบาย จัดได้อย่างเป็นสัดเป็นส่วน น่านั่งปฏิบัติอย่างยิ่ง
   เมื่อทุกคนนั่งประจำที่เรียบร้อยแล้ว อาจารย์ก็เริ่มต้นสอนตามหลักสูตร ตรงเวลาตามตารางที่กำหนด อาจารย์จะไม่พูดไม่สอนเองแต่จะสอนโดยเปิดซีดีที่ได้จัดเตรียมและตั้งเวลาไว้ตามตาราง  ซึ่งจะสอนเป็นภาษาอังกฤษและมีคำแปลเป็นภาษาไทย  อาจารย์จะเป็นผู้ดูแลความพร้อมภายในห้องปฏิบัติว่ามาครบหรือยัง โดยมีธรรมบริกรคอยสำรวจและติดตามให้มาประจำที่จนครบ  แล้วอาจารย์จึงเริ่มเปิดซีดีและนั่งปฏิบัติไปพร้อมกันจนครบชั่วโมงตรงตามตารางทุกอย่างไม่ผิดเพี้ยน นับเป็นแบบอย่างในเรื่องการตรงต่อเวลา การมีวินัย  และมีหลักสูตรการสอนที่เป็นลำดับขั้นตอนอย่างยิ่ง
      ตลอด 10 วันของการอบรมเป็นเวลาสำหรับการปฏิบัติแทบทั้งสิ้น โดยปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คืออริยสัจ4 ใช้มรรคมีองค์ 8 เป็นแนวทาง  นั่นคือฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังให้ครบถ้วนในไตรสิกขา  คือรักษาศีลให้บริสุทธิ์  ภายใต้บรรยากาศที่เงียบสงบไม่มีสิ่งใดมารบกวนจิต ซึ่งเอื้อต่อการฝึกสมาธิ และต่อด้วยการฝึกวิปัสสนาหรือปัญญาต่อเนื่อง จนครบไตรสิกขา
        แต่ละวันตั้งแต่ 04.30-21.00น. จะเป็นการฝึกปฏิบัติโดยตลอด ทั้งปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวมและปฏิบัติอย่างอิสระในที่พักของตนเอง  จะมีช่วงกลางคืนเวลาชั่วโมงครึ่งเป็นการฟังธรรมะบรรยายเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนมากขึ้น โดยจะแยกผู้ปฏิบัติไปฟังธรรมะบรรยายเป็นกลุ่มๆตามภาษาของตนเอง มีทั้งกลุ่มภาษาไทย กลุ่มภาษาอังกฤษ ภาษาจีน  ภาษาญี่ปุ่น แม้แต่ภาษากัมพูชายังมีให้ฟังได้ด้วย    
        สามวันแรกเป็นการปฏิบัติอานาปานสติเพื่อให้มีสติอยู่กับลมหายใจจนเกิดสมาธิที่มีพลังเพิ่มขึ้น  พอขึ้นวันที่ 4 จึงต่อด้วยการฝึกวิปัสสนา(ปัญญา)ต่อเนื่องอีก 7 วัน  โดยฝึกให้จิตพิจารณาดูกายตั้งแต่ศีรษะลงมาทุกจุดจนถึงปลายเท้า แล้วจากปลายเท้ามาถึงศีรษะ วนเวียนอยู่เช่นนี้  เมื่อเกิดเวทนา(รู้สึก)ตรงจุดใดก็จะไม่ปรุงแต่ง(สังขาร)แต่ให้วางอุเบกขา  โดยอาจารย์บอกว่าถ้าฝึกบ่อยๆจะลดกิเลสที่เราสะสมไว้ให้น้อยลง แล้วจะค่อยๆเกิดปัญญาเข้าใจตามความเป็นจริงในไตรลักษณ์ว่าทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้แน่นอน
         อาจารย์อธิบายในตอนหนึ่งว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของหลักสูตรนี้มิใช่อยู่เพียงการฝึกจิตให้เป็นสมาธิเท่านั้น  แม้ว่าการฝึกจิตให้เป็นสมาธิจะเป็นสิ่งที่ดี  แต่มันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดเท่านั้น แต่จุดหมายสูงสุดคือการชำระจิตให้บริสุทธิ์ด้วยการขจัดกิเลสภายในจิต  อันเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้นไป  
       การเฝ้าสังเกตดูลมหายใจล้วนๆจึงเป็นวิธีการสำรวจความจริงเกี่ยวกับตัวของเราเอง ที่จะทำให้เราได้เรียนรู้ความจริงภายในตัวเราด้วยตัวของเราเอง เพราะธรรมชาติได้ให้เครื่องมือที่วิเศษมากับเราแล้วคือลมหายใจของเราเอง เราจึงใช้เครื่องมือนี้สำรวจความจริงในร่างกายของเรา  ความจริงเกี่ยวกับรูปหรือกาย ที่เราสำคัญว่าเป็นตัวเรา ของเรา  เฝ้าแต่สร้างความยึดมั่นถือมั่นต่อโครงสร้างของรูปนี้  สร้างแต่ความทุกข์ความเครียดให้แก่ตนเอง  ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในรูปของเรา            
       อาจารย์บอกต่ออีกว่า  นอกจากนี้เรายังจะได้สำรวจความจริงที่เกี่ยวกับนามหรือจิตด้วย  ที่เราถือว่าเป็นเรา ของเรา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เราสร้างกิเลส สร้างความเครียดและความทุกข์  ความทุกข์ก็เป็นสิ่งสากลเพราะเกิดขึ้นได้กับชนทุกชาติทุกศาสนา ดังนั้นวิธีแก้ความทุกข์จึงต้องเป็นสากลด้วย และลมหายใจก็เป็นสิ่งสากลที่คนทุกชาติทุกศาสนาต่างก็มีเหมือนกัน ลมหายใจตามธรรมชาติจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสำรวจความจริงที่เกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับรูปหรือกายและนามหรือจิต โดยเริ่มจากระดับที่หยาบที่สุดไปสู่ระดับที่ละเอียดที่สุด  จนสามารถข้ามพ้นขอบเขตของรูปและนามหรือกายและจิต ที่จะชำระจิตใจผู้ปฏิบัติให้บริสุทธิ์ซึ่งจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา ความกรุณา มุทิตาและอุเบกขาอย่างไม่มีขอบเขต จนไม่สามารถสร้างกิเลส ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้  แล้วผู้ปฏิบัติก็จะมีชีวิตที่สุขสงบอย่างแท้จริง 
          สามวันแรกของการปฏิบัติสมาธิด้วยอานาปานสติ  อาจารย์ได้กล่าวนำให้ทุกคนปฏิบัติตามว่า      
        “จงนั่งให้สบายๆ จะเป็นท่าไหนก็ได้ที่เหมาะกับตนเอง  แต่ขอให้หลังและคอตั้งตรง  ค่อยๆหลับตาลง  ผู้ที่สวมแว่นตาก็ให้ถอดแว่นออกเสีย ในระหว่างปฏิบัติ  หุบปากไว้  แล้วให้ความสนใจทั้งหมดไปจดจ่ออยู่ที่บริเวณทางเข้าช่องจมูก  โดยให้มีสติรู้ทุกๆลมหายใจเข้าและออก  ลมหายใจตามธรรมชาติ  ลมหายใจปกติธรรมดา อย่างที่มันเป็นอยู่  ถ้าลมหายใจยาวก็ให้รู้ว่ายาว  ถ้าลมหายใจสั้นก็ให้รู้ว่าสั้น   ลมหายใจผ่านไปทางช่องจมูกซ้าย ก็ให้รู้ว่ามันผ่านไปทางช่องจมูกซ้าย   ลมหายใจผ่านไปทางช่องจมูกขวา ก็ให้รู้ว่ามันผ่านไปทางช่องจมูกขวา  หรือหากมันผ่านไปยังทั้งสองช่องจมูก ก็ให้รู้ว่ามันผ่านทั้งสองช่องจมูก  ขอเพียงให้มีสติรู้โดยไม่ต้องทำอะไร  เพียงแต่เฝ้าดูอยู่เท่านั้น  เสมือนยามเฝ้าประตู  จงมีสติอยู่กับลมหายใจตลอดเวลา  ลมหายใจเข้า  ลมหายใจออก  จงตื่นตัว  ตั้งอกตั้งใจ และคอยเฝ้าดูอยู่เสมอ...”
 
       นิพาดาตั้งอกตั้งใจปฏิบัติตามอย่างว่าง่าย เพราะอยากรู้เหมือนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น  แต่ด้วยความตั้งใจเกินไปที่กลัวจะผิด ด้วยตัวเองไม่เคยมีประสบการณ์จริงมาก่อน  เธอจึงทำตามอย่างไม่เป็นธรรมชาติ  ทำไปสักพักเธอก็รู้สึกว่าลมหายใจดูไม่เป็นปกติ  เหมือนกับการถูกบังคับให้หายใจ รู้สึกเกร็งและหายใจติดขัด เธอพยายามต่อสู้เพื่อที่จะทำตามที่อาจารย์บอกให้ได้  ยิ่งต่อสู้ก็ยิ่งแน่นอึดอัด  เลยพาลโกรธหงุดหงิดที่ทำไม่ได้ดังใจ  พอยิ่งโกรธยิ่งหงุดหงิด ท่านั่งและที่นั่งที่รู้สึกนุ่มสบายในตอนแรกตอนนี้ทำไมมันไม่สบายเสียแล้ว  แต่กลับรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าว เหน็บชาจับที่ขาทั้งสองข้าง  ทนไม่ไหวแล้ว เธอก็เปลี่ยนท่านั่งไปเรื่อยๆ  จากขัดสมาธิ เป็นพับเพียบด้านซ้าย ด้านขวา กลับไปกลับมา ก็ยังไม่หาย  พาลหลังไหล่ก็ปวดไปด้วย ลุกลามร้อนรนไปทั่วตัว   ช่างเป็นทุกข์เหลือเกิน 
        "ไหนใครว่าปฏิบัติธรรมแล้วจะเป็นสุข หลอกกันชัดๆ"   แล้วเธอก็พาลไปโกรธเพื่อนที่พาเธอมาพบกับความทุกข์เยี่ยงนี้  
       "คอยดูเถอะจบหลักสูตรเมื่อไรจะต่อว่าให้หนัก ต่อไปนี้ชวนไปไหนจะไม่ไปด้วยอีก"  เธอคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆนานา
         นิพาดาค่อยๆลืมตาขึ้นอย่างระแวดระวัง กลัวอาจารย์จะมองมาที่ตนก็กลัว  ค่อยๆเหลือบไปมองนิศมากับกรนุช ที่นั่งข้างๆ ก็เห็นนั่งนิ่งไม่ไหวติง  คนอื่นๆส่วนใหญ่ก็นั่งนิ่งกันหมด มีบางคนที่เป็นศิษย์ใหม่ที่ดูกระวนกระวายไม่แพ้ตนเหมือนกัน  ใจเริ่มชื้นขึ้นมาบ้าง เพราะอย่างน้อยก็มีบางคนที่เป็นเหมือนเรา  อดไม่ได้ที่จะลอบสอดส่ายสายตาข้ามไปยังกลุ่มปฏิบัติชาย  เห็นธรรศนั่งตัวตรงในท่าขัดสมาธิที่นั่งยากมาก นิ่งไม่ไหวติงเหมือนหุ่น  มองผ่านไปยังอาสนะที่ยกพื้นสูงเด่น เห็นพระภิกษุทุกรูปนั่งนิ่งกันหมด โดยเฉพาะหลวงพ่อรูปแรกที่นั่งหน้าสุด ดูอาวุโสกว่าใคร ท่านนั่งนิ่งราวกับพระเกจิอาจารย์ในรูปหล่อ           
         หันกลับมาโกรธตัวเองอีกครั้งว่า ทำไมใครๆเขาทำได้ ทำไมเราทำไม่ได้  เวลาเรียนหนังสือหรือทำอะไรเราก็ไม่เคยด้อยกว่าใคร จะอยู่ในแนวหน้าด้วยซ้ำ  ตอนนี้ลืมลมหายใจไปหมดแล้ว อาจารย์จะสอนอะไรใจก็ไม่ฟังแล้ว ใจล่องลอยคิดปรุงแต่งออกไปในอดีตและอนาคต วนไปเวียนมาเหมือนคนบ้า คิดแต่ว่าเมื่อไรจะมีเสียงสัญญาณหมดชั่วโมงสักที อาจารย์ลืมตั้งเวลาไว้รึเปล่า ใจหันมาจดจ่อกับเสียงสัญญาณอีกแล้ว  เวลาที่รอคอยนี่มันช่างยาวนานและทุกข์เหลือเกิน  และแล้วในที่สุดก็ได้ยินเสียงสวด
       “ภะวะตุสัพพะมังคะลัง...”
ช่างเป็นเสียงสวรรค์เหมือนกับตอนที่ฟังพระสวดมนต์ไม่มีผิด เพราะบอกให้รู้ว่าหมดเวลาแล้ว   แต่เหมือนนรกกลั่นแกล้ง  สวดจบบทนี้แล้วก็ยังไม่ยอมจบยังมีเสียงสวดบทต่อไปอีก จบแล้วอาจารย์ยังมาแนะนำตอนท้ายอีก  พลิกซ้ายพลิกขวารออีกหลายรอบรอบ ในที่สุดก็ถึงเวลาพักจริงๆ เหมือนได้ขึ้นสวรรค์เลย                         ----------------------                                 
                                                  

      

หมายเลขบันทึก: 649457เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2018 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2020 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท