โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบรับรองคุณภาพโรงเรียน


     

สสค. ทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบรับรองคุณภาพโรงเรียน   ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า โครงการ sQip (School Quality Improvement Program) (1)   ผมโชคดีที่ได้มีส่วนเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการกำกับทิศทาง    และได้ไปร่วมประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑  และครั้งที่ ๓/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑   การประชุมแบบนี้เป็นเสมือนห้องเรียนของผม    จากการฟังความเห็นของกรรมการท่านอื่น  

ในการประชุมวันนี้ มีการนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ โดยมีการส่งเสริมให้โรงเรียนในโครงการ (๑๙๙ โรงเรียน) ทำ PLC   มีการนำเรื่อง Growth Mindset มาพูด   ว่าเป็นปัจจัยเสริม PLC   ทำให้ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ เสนอแนะว่า ตนมีประสบการณ์สร้าง Growth Mindset ในตัวครูโดย ๒ เครื่องมือ คือ จิตตปัญญาศึกษา กับ KM แบบลึกๆ   

ผมอ่านระหว่างบรรทัด ต่อรายงานความก้าวหน้าของโครงการ ว่าโรงเรียนที่เข้าโครงการรู้สึกว่าเป็นภาระในการเข้าร่วมโครงการ  มีคำพูดว่า “โรงเรียนให้ความร่วมมือ”    ที่ผมสะดุดมาก   เพราะในเจตนารมณ์ตอนเริ่มโครงการนี้ ต้องการไปหนุนการสร้างระบบคุณภาพโรงเรียน โดยโรงเรียนแกนนำที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้มีบทบาทหลัก ในการคิดเกณฑ์จากผลการปฏิบัติของตนเอง    ในทำนองโรงเรียนเป็นเจ้าของโครงการ   

ผมติดใจคำว่า “ทำ PLC” ในสุ้มเสียงว่าเป็นภาระ   ทำเพื่อให้เป็นไปตามโครงการ    จึงเสนอต่อที่ประชุมว่า ทีมงาน sQip ควรระมัดระวังไม่ใช้คำว่า “ทำ PLC”  แต่ใช้คำว่า ใช้ “PLC” แทน    เพื่อให้ชัดเจนว่า PLC เป็นเครื่องมือ    ช่วยการเรียนรู้ของครู  ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่ดีขึ้นกว่าเดิม   

ในการประชุมครั้งนี้ ทีมนักวิจัยจากคณะวิชาด้านการศึกษาแห่งหนึ่งมาเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาระบบและมาตรฐานรับรองคุณภาพโรงเรียน    ที่ตอนนำเสนอผลการทบทวนเอกสาร เรื่องเกณฑ์รับรองมาตรฐานคุณภาพโรงเรียน ที่เขาบอกว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของเกณฑ์มาตรฐาน    ตัวสำคัญคือหลักการด้านการศึกษา ซึ่งนำไปสู่การกำหนด process indicators    ซึ่งผมเถียงทันที ว่านี่แหละ ที่เป็นต้นเหตุให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ   

ผมจึงเสนอต่อที่ประชุมว่า สำหรับโครงการนี้  การทำวิจัยควรเน้นที่โจทย์หาการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน (ไปในทางที่ดี)  แล้วเสนอคำอธิบายว่า พัฒนาการนั้นเกิดจากอะไร มีการดำเนินการอย่างไร    สำหรับเป็นข้อมูลนำไปสู่การกำหนดเกณฑ์รับรองมาตรฐาน    

โครงการนี้ สกว. ว่าจ้างทีมติดตามผลโครงการโดยลงพื้นที่   หัวหน้าทีมคือ ดร. เลขา ปิยะอัจฉริยะ เล่าว่า ไปพบโรงเรียนที่เข้มแข็ง    ที่ทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพนักเรียนดีมาก  แต่ “ไม่รู้ว่าตัวรู้”    ทำให้ผมตาลุกโพลง    ว่าเป็นลู่ทางสร้างเกณฑ์คุณภาพโรงเรียน    จากครู/โรงเรียนที่ทำจริง ตั้งใจจริง    แต่ยังขาดความรู้    เป็นลู่ทางให้ “โค้ช” เข้าไปทำกระบวนการ KM เล็กๆ    ให้เขารู้ว่าเขารู้    คือเปลี่ยน tacit knowledge เป็น explicit knowledge นั่นเอง   

ผมเสนอต่อที่ประชุมว่า ควรเน้นใช้เครื่องมือ empowerment ต่อโรงเรียนให้มาก    เน้นเสาะหาความสำเร็จเล็กๆ ที่ตัวนักเรียน (และครู) เอามาตีความหาความหมาย   นำไปสู่เกณฑ์ประเมินคุณภาพโรงเรียน

วิจารณ์ พานิช        

๙ ก.ค. ๖๑


 


หมายเลขบันทึก: 649411เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2018 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2018 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท