การพยาบาลอนามัยชุมชนในยุคดิจิตอล


ในยุคที่สาระสนเทศเข้ามาอย่างมากมาย รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการต่างๆ จะต้องมีการพัฒนาเพื่อรองรับการให้บริการความต้องการของประชาชน กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เพื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการทางด้านภาวะสุขภาพ หรือสุขอนามัยของประชาชน โดยมีนโยบายเกี่ยวกับภาวะสุขภาพจะเน้นการพยาบาลตั้งแต่ในระดับปฐมภูมิ เพื่อสอดรับ 4 มิติ คือ สร้างเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู

เนื่องจากในปัจจุบันมีจำนวนอัตราการเกิดของประชากรน้อยลง ส่วนจำนวนผู้ใหญ่ในวัยทำงานและผู้สูงอายุมีจำนวนมาก ซึ่งสามารถทำนายได้ว่าในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรเริ่มต้นในการพัฒนาและส่งเสริมด้านสุขภาพของประชาชนที่มีสุขภาพที่ดี ซึ่งในปัจจุบันจะมีการนำเอาอุปกรณ์การสื่อสารแบบโครงข่ายทางสังคม (Social Network) มาใช้ในชุมชนมากขึ้น

Health 4.0 เป็นการปฏิรูปการดูแลสุขภาพในปัจจุบันไปสู่ยุคใหม่ โดยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของบริบท Thailand 4.0 โดยเปลี่ยนจากระบบ Analog ไปสู่ระบบ Digital โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่สำคัญในการปฏิรูประบบ 7 ประการ ได้แก่

  • Social Web and Network โดยเป็นเครือข่ายสังคม (ชุมชนออนไลน์) ในรูปแบบของเว็บไซต์ ในการสร้างเครือข่ายสังคม สำหรับผู้ใช้งานในอินเทอร์เน็ต เขียนและอธิบายความสนใจ และกิจการที่ได้ทำ และเชื่อมโยงกับความสนใจและกิจกรรมของผู้อื่น ในบริการเครือข่ายสังคมมักจะประกอบไปด้วย การ Chart ส่งข้อความ ส่ง e-mail VDO เพลง Upload รูป บล็อกต่างๆ โดย Social Network เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์เสมือนที่ตอบสนองกับการสร้างสายสัมพันธ์ โยงใยให้ได้เจอผู้ที่คุยกันในเรื่องที่สนใจเดียวกัน สามารถเชื่อมโยงตนเองกับเพื่อนหรือคนที่รู้จักของเราเข้ากับเพื่อนของเขา สามารถสร้างสรรค์สังคมใหม่ๆ สามารถเชื่อมโยงการสื่อสารภายในและภายนอกชุมชนเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบสนองรูปแบบชีวิตของประชาชนในยุคปัจจุบัน โดยภาพรวม Social Network เป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารกับชุมชนจากแนวคิดหรือความรู้สึกของเราเองได้เป็นอย่างดี ผู้ให้บริการสุขภาพจะสามารถสื่อสารกับคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องประสบปัญหาการบิดเบือนข้อความ หรือการสื่อสารที่ตกหล่นอีกต่อไป ส่วนอาจารย์พยาบาลสามารถให้แง่คิดหรือสิ่งละอันพันละน้อยแก่ผู้เรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้พูดกันทีเดียวคราวละยาวๆ หรือนักวิจัยอาจพบอะไรที่น่าสนใจแล้วสื่อสารให้รู้กันทุกคนในเครือข่ายเดียวกันได้ทันทีเพื่อให้ทีมรับรู้สิ่งน่าสนใจไปพร้อมๆ กัน
  • Mobile Application เป็นการดาวน์โหลด Application และติดตั้งลงบนมือถือมากกว่าเปิดผ่าน Web-browser ซึ่งผู้ใช้จะต้องเข้าไปยังส่วนสำหรับดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น เช่น Apple’s application store, Play store เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถค้นหา และ Download Application ต่างๆ เพื่อติดตั้งบนระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือได้ หลาย Application มีการดึงข้อมูลต่างๆ จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกันกับเว็บไซต์ หรืออาจ Download ข้อมูลที่ผู้ใช้ สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องทำงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็ได้
  • Internet of Thing ในยุคหลังปี 2000 โลกมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกมาเป็นจำนวนมากและมีการใช้คำว่า Smart ซึ่งในที่นี้คือ Smart device, Smart grid, Smart home, Smart network, Smart intelligent transportation
  • Cloud Computing เป็นบริการที่ครอบคลุมถึงการให้ใช้กำลังประมวลผล หน่วยจัดเก็บข้อมูล และระบบออนไลน์ต่างๆ จากผู้ให้บริการ เพื่อลดความยุ่งยากในการติดตั้ง ดูแลระบบ ช่วยประหยัดเวลา และลดต้นทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเอง ซึ่งก็มีทั้งแบบบริการฟรีและแบบเก็บเงิน เป็นการที่ใช้ซอฟต์แวร์, ระบบ, และทรัพยากรของเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยสามารถเลือกกำลังการประมวลผล เลือกจำนวนทรัพยากร ได้ตามความต้องการในการใช้งาน และให้สามารถเข้าถึงข้อมูลบน Cloud จากที่ไหนก็ได้
  • Big data and Health Analysis คือ กระบวนการวิเคราะห์กลุ่มข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อค้นหารูปแบบความสัมพันธ์ของข้อมูลเหล่านั้นที่ซ่อนอยู่ข้างใน หาสิ่งเชื่อมโยงที่เชื่อมข้อมูลเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกัน หาแนวทางทางการบริการด้านสุขภาพ และข้อมูลอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการทางด้านสุขภาพอนามัย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลนี้สามารถนำไปสู่การทำแผนการบริการด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ โอกาสในการสร้างผลตอบแทนด้านการบริการทางด้านสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน การให้บริการที่ดีมากขึ้นแก่ผู้รับบริการ การปรับปรุงการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ การตอบสนองทางด้านสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน และผลประโยชน์ทางด้านอื่นๆ แก่ผู้รับบริการและประชาชนทั่วไป
  • Robotics ปัจจุบันในหลายๆ ประเทศมีการนำเอาหุ่นยนต์มาพัฒนาใช้ในทางการแพทย์ เช่น การนำไปใช้ประโยชน์ด้านการผ่าตัด ช่วยในด้านการกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ใช้ในการติดตามผู้ป่วยบนหออภิบาลผู้ป่วย ด้านการดูแลและการพยาบาล ใช้ขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และยา ใช้ในการทำกายภาพบำบัด ใช้ในห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจวินิจฉัยโรค ใช้ในงานประชาสัมพันธ์ภายในโรงพยาบาล ใช้หุ่นยนต์ในการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้พิการ เป็นต้น นอกจากนี้ในทางเภสัชกรรม หุ่นยนต์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยา ในการนับจำนวนเม็ดยา ใช้ในการจัดยาเฉพาะมื้อในโรงพยาบาล ใช้ในการจัดยาในร้านขายยา ใช้ในการเตรียมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย ทั้งยาชนิดน้ำ ยาฉีด และยาเคมีบำบัด

เทคโนโลยี Internet of Things (ioT) หรือ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” หมายถึง การที่สิ่งต่างๆ ถูก เชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถสั่งการ ควบคุมใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การสั่งเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือ สื่อสาร เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องมือทางการเกษตร เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม อาคาร บ้านเรือน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น โดยเทคโนโลยีนี้จะเป็นทั้งประโยชน์อย่างมหาศาล และความเสี่ยงไปพร้อมๆ กัน เพราะหากระบบรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่ดีพอ จะทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามากระทำการที่ไม่พึงประสงค์ต่ออุปกรณ์ข้อมูลสารสนเทศ หรือความเป็นส่วนตัวของบุคคลได้ ดังนั้น การพัฒนาไปสู่ Internet of Things จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนามาตรการและเทคนิคในการรักษาความปลอดภัยไอทีควบคู่กันไปด้วย

Cloud Computing จะเป็นบริการที่ใช้หรือเช่าใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ เพื่อนำมาใช้ในการทำงาน โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อ Hardware และ Software เองทั้งระบบ ไม่ต้องวางระบบเครือข่ายเอง ลดความรับผิดชอบในการดูแลระบบลง (เพราะผู้ให้บริการจะเป็นผู้ดูแลให้เอง) นอกจากนี้ การอัพเกรดระบบยังทำได้ง่ายกว่า ผู้ใช้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต สามารถจัดการบริหารทรัพยากรของระบบผ่านเครือข่าย และมีการแบ่งใช้ทรัพยากรร่วมกัน (shared services) ได้ด้วย และการจ่ายเงินเพื่อเช่าระบบ ก็สามารถจ่ายตามความต้องการ ใช้เท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น หากมีความต้องการมีมากขึ้นก็สามารถซื้อเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบ Cloud Computing ได้ โดยที่ไม่ต้องอัพเกรดระบบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนั้น ธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง รวมไปถึงสถาบันการศึกษา จึงหันมาใช้บริการ Cloud Computing ที่ทั้งช่วยลดต้นทุนและลดความยุ่งยากทั้งหลายกันมาก คล้ายกับเป็นการ Outsource งานออกไปเพื่อจะได้ Focus กับงานหลักของตนเองจริงๆ

เป้าหมายหลักของการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ คือ ช่วยในการให้ข้อมูลกับหน่วยงานเพื่อใช้ในการตัดสินใจแนวทางการวางแผนด้านการบริการด้านสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนในชุมชน โดยการใช้ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data scientists) นักวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ (Predictive modelers) และผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านอื่นๆ มาทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีการส่งผ่านภายในหน่วยงานหรือกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบอื่นๆ ที่อาจซุกซ่อนอยู่ในระบบต่างๆของหน่วยงาน ซึ่งแหล่งข้อมูลที่จะถูกนำมาวิเคราะห์นี้หมายรวมถึง Web server log และการคลิกดูข้อมูลบน Internet Content บน Social Media และรายงานกิจกรรมต่างๆ บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ข้อความจาก e-mail ของผู้รับบริการด้านสุขภาพและการตอบแบบสอบถาม เสียงบันทึกรายละเอียดทางโทรศัพท์ของผู้รับบริการ และข้อมูลที่มีการบันทึกได้จาก Sensor บนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อแบบ Internet of Things

7.     Artificial Intelligences ปัจจุบันเทคโนโลยี Artificial Intelligences : AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ถูกนำมาใช้ในวงการต่างๆ โดยเฉพาะวงการที่มีข้อมูลจำนวนมากซึ่งปัญญาประดิษฐ์สามารถทำความเข้าใจได้รวดเร็วและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายๆ คนที่ติดตามข่าวและเทคโนโลยีรู้สึกปัญญาประดิษฐ์เป็นเรื่องที่ล้ำสมัยและไกลตัว แต่ล่าสุด ความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ได้มีการนำมาปรับใช้กับเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นอย่างสุขภาพ หรือ Healthcare โดยเริ่มมีหลายบทบาทในวงการแพทย์ ประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตัดสินใจนำเสนอผลลัพธ์จากข้อมูลที่มีอยู่สามารถเพิ่มเติมและปรับปรุงข้อมูลในระบบเพื่อการรักษาอย่างแม่นยำได้ จึงมีแนวคิดนำข้อมูลจากการค้นคว้า กรณีศึกษา รวมถึงผลการรักษาที่มีอยู่ทั่วโลกมาให้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้และนำเสนอผลการวิเคราะห์โรค ซึ่งไม่เพียงแต่ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำเท่านั้น แต่ยังใช้เวลาน้อยกว่า ลดค่าใช้จ่าย และตอบโจทย์ในพื้นที่ห่างไกลด้วย

ปัจจุบันประชาชนมีการใช้ Smart Phone กันมากขึ้น กิจกรรมต่างๆส่วนใหญ่ก็ใช้เพื่อ Social Network เช่น การสอนสุขศึกษาสามารถส่งต่อความรู้เพื่อการแบ่งปันได้ นอกจากนี้มีการใช้เทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพใน Application ต่างๆ

การพยาบาลแบบปฐมภูมิ (Primary Care) ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ

  • ความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน (Community Relationship) เป็นการบ่งบอกว่า การดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิไม่ใช่การดูแลเฉพาะโรคแต่ต้องดูแลทั้งตัวบุคคล ครอบครัว และชุมชน มีความรู้จักและเข้าใจกันระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เกิดการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ
  • การสร้างความรู้ให้กับประชาชน (Empowerment) การบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิมุ่งหวังให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง และสามารถดูแลตนเองไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค
  • บริการที่มีคุณภาพ (Quality of Care) บริการที่มีคุณภาพมี 2 มิติ คือ ด้านวิชาการทางการแพทย์ คือ รักษาถูกโรค ถูกคน ถูกเวลา ทำให้ผู้ป่วยหายป่วยจากโรค อีกมิติ คือ มิติทางสังคม ซึ่งหมายถึงองค์ประกอบหลัก 3 ประการ คือ
  • Continuity ความต่อเนื่องของการให้บริการ ทั้งขณะป่วยและขณะปกติ ดูแลตลอดชีวิตประชาชน
  • Integrated ผสมผสานเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว หมายถึง การบริการที่มีการผสมผสานทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และ การฟื้นฟูสภาพ
  • Holistic องค์รวม คือ ดูแลคนทั้งคน ไม่ใช่เฉพาะโรค มีการนำมิติทางร่างกาย จิต สังคม และสิ่งแวดล้อมมาเชื่อมโยงการดูแล

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมการพัฒนาศูนย์เรียนรู้และนวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ระหว่างวันที่ 2 - 3 มิถุนายน ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับสภาการพยาบาล และ สถาบันการศึกษาหลายแห่ง ว่า“พยาบาล 4.0 ต้องเป็นคนเก่ง ทำงานได้หลากหลาย และสามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้งาน

ในการนำมาเชื่อมโยงกับการจัดการเรียนการสอนเพื่อการบริการวิชาการ ผู้สอนต้องมีแผนบริการวิชาการทุกโครง ซึ่งต้องบูรณาการทั้ง 100% โดยต้องบูรณาการกับงานบริการวิชาการกับการเรียนการสอนและงานวิจัยโดยการทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งเมื่อทำการบูรณาการแล้วผู้เรียนจะสามารถเห็นสภาพหรือสถานการณ์จริง สามารถนำความรู้ นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ นำความรู้มาใช้ในการเรียนรู้ การทำงานในอนาคต และการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน นอกจากนี้ ต้องมีการประเมินผลและปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ของแผนบริการวิชาการที่ยังมีข้อผิดพลาดเพื่อสามารถนำไปใช้ในโอกาสต่อไป ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนเพื่อการบริการวิชาการโดยการบูรณาการส่งผลให้เกิดการเรียนรู้เพื่อสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งในการตอบ Learning Outcome ของผู้เรียน มีหลักการคือ “ขาดสิ่งไหน เติมสิ่งนั้น พัฒนาต่อยอด” โดยเนื้อหาสาระการเรียนรู้จะอยู่ในสาระวิชาหลัก ซึ่งความรู้เชิงบูรณาการเป็นการพัฒนาการแก้ปัญหาและการตัดสินใจของผู้เรียน (Problem Solving and Decision Marking) ผู้เรียนต้องมีการปรับตัว สามารถสร้างทักษะต่างๆ ของผู้เรียน เช่น การฝึกกระบวนการคิด (Systematic Thinking) การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งปัญหาระยะสั้นและปัญหาระยะยาว โดยการแก้ไขปัญหาระยะสั้นคือปัญหาที่เกิดเฉพาะหน้าต้องเน้นความสามารถ ไหวพริบ และการตัดสินใจที่แน่วแน่ ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยรูปแบบ แบบแผน และแนวทางของวิชาการทางการพยาบาล ซึ่งผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากสภาพความเป็นจริง สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานและชีวิตปัจจุบัน สร้างทักษะการแก้ปัญหา และการสื่อสาร การทำงานร่วมกับบุคคลอื่น นอกจากนี้ คุณลักษณะด้านคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสา ทั้งคุณลักษณะด้านการทำงาน ด้านการเรียนรู้ และด้านศีลธรรม เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับวิชาชีพที่ต้องให้บริการแก่ผู้อื่น

ในการฝึกปฏิบัติงานพยาบาลในชุมชน ผู้เรียนต้องมีการทบทวนความรู้ ความจำต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ในระดับชั้นต่างๆ ในรายวิชาต่างๆ เพื่อนำความรู้ไปแนะนำผู้รับบริการในชุมชน การจัดกิจกรรมผู้เรียนจะเป็นผู้บริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีการบริหารจัดการ มีการทำงานเป็นทีม ต้องแสดงบทบาทภาวะผู้นำและผู้ตามอย่างเหมาะสม เช่น การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะของการบูรณาการความรู้ความสามารถต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านและชุมชนมาปรับใช้กับการบริการสาธารณสุข เช่น การนำความรู้ต่างๆ ด้านสุขภาพมาผนวกกับกิจกรรมนันทนาการ

ขั้นตอนการบูรณาการเป็นการเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้กระบวนการอย่างเป็นขั้นตอนและใช้ความรู้ที่ตนเองได้เรียนรู้ มีทักษะ ประสบการณ์มาบูรณาการการใช้

 ต้องมีการวิเคราะห์รายวิชาที่จะทำการสอนแล้วนำมาบูรณาการทางวิชาการกับการเรียนการสอน เพราะการบูรณาการสามารถดำเนินการได้ไม่ครอบคลุมทุกรายวิชา ต้องมีการวางแผนให้ครอบคลุมตลอดภาคการศึกษา โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง ซึ่งความรู้ที่ได้สามารถนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้ในชั้นเรียนได้ ซึ่งกระบวนการบูรณราการกับการเรียนการสอนสามารถสรุปเป็นขั้นตอนง่ายๆ คือ

  • กลุ่มวิชามีการวิเคราะห์เนื้อหาวิชาในการนำมาบูรณาการ โดยการวิเคราะห์รายวิชาที่จะทำการสอน ก่อนเริ่มดำเนินโครงการบริการวิชาการ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ดีที่ทำให้การบูรณาการวิชาการกับการเรียนการสอนประสบผลสำเร็จ เพราะการบูรณาการสามารถดำเนินการได้ไม่ครอบคลุมทุกวิชา
  • มีการสร้างขั้นตอน รายละเอียดในรายวิชา การวางแผนการบริการวิชาการ ต้องวางแผนให้ครอบคลุมตลอดภาคการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม
  • การนำผู้เรียนร่วมออกพื้นที่ให้บริการวิชาการกับอาจารย์ เป็นเทคนิคการบูรณาการที่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสถานการณจริง และควรมีหลักฐานในแผนการสอน
  • มีการสรุปผลในการบูรณาการ โดยความรู้ที่ได้รับจากการบริการวิชาการหรือประเด็น ปัญหาจากการบริการวิชาการ สามารถนำมาใช้เป็น กรณีศึกษาให้กับผู้เรียนได้เรียนในชั้นเรียนได้

ส่วนการบูรณาการงานบริการวิชาการกับการวิจัย ซึ่งการบริการวิชาการร่วมกับแหล่งฝึกงานจริง ของผู้เรียน หรือใช้พื้นที่ระดับชุมชนเป็นแหล่ง การให้บริการวิชาการ ทำให้อาจารย์สามารถ ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องหลายปีเมื่อมีการ ดำเนินงานต่อเนื่องหลายปี ทำให้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานบางอย่างที่สามารถนำมาพัฒนาสู่การวิจัยได้ และสามารถใช้การทำงานควบคู่กันไปกับการสอนผู้เรียน กล่าวคือ แบ่งรายวิชาเป็น 2 หน่วยย่อย ในภาคการศึกษาแรกให้ผู้เรียนเก็บรวบรวมข้อมูล และภาคการศึกษาถัดไปนำข้อมูลที่รวบรวมไว้มาวิเคราะห์และเข้าสู่กระบวนการพัฒนาต่อไป

สำหรับประโยชน์ที่ผู้เรียนได้รับจากการบูรณาการ คือ สามารถนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ สามารถวิเคราะห์การนำกิจกรรมมาใช้โดยผ่านสื่อต่างๆเมื่อลงพื้นที่จริง นอกจากนี้ การเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาประยุกต์ใช้ในสภาพความเป็นจริงและเกิดประโยชน์สูงสุด

หมายเลขบันทึก: 649403เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2018 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2018 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท