เจ็บไปทั้งร่างเพราะขาสองข้างไม่เท่ากัน ( LLD - Leg Length Discrepancy )


โดยปกติกล้ามเนื้อทั้งสองข้างของร่างกาย จะมีความยาวไล่เลี่ยกัน หากการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถทำให้ความยาวของกล้ามเนื้อเปลี่ยนแปลงไป จนบางครั้งพลอยทำให้อวัยวะน้อยใหญ่มีความยาวคลาดเคลื่อนตาม

ขอเล่าถึงเรื่องของขาสองข้าง ที่วันนึงเราก็พบว่ายาวสั้นไม่เท่ากัน และขณะเดียวกันนั้น  เราก็อาจมีอาการปวดสะโพก ปวดชาร้าวลงขา ปวดเอว ปวดคอ ปวดศีรษะไมเกรน เจ็บรองช้ำ กระดูกสันหลังคด

บางที กว่าที่เราจะรู้ว่าขาเรายาวไม่เท่ากัน อาการปวดหลังหรือปวดขา  มักทำให้เราไปหาหมอกระดูก ซึ่งก็มักได้รับการวินิจฉัยว่า ไม่มีปัญหาที่กระดูกแต่อย่างใด

เอาไงคะ กระดูก ระบบประสาทก็เป็นปกติ แล้วที่ปวดขา ชาจะขาดใจอยู่นี่ ... มันคืออะไร

บางท่านที่อายุมาก ก็อาจมีการโยนความผิดนี้ไปให้ความบางของกระดูก ก็ทานแคลเซียมเสริมเป็นการใหญ่

ถ้าทางการแพทย์หาสาเหตุของความผิดปกติให้ไม่ได้ บางที เราอาจต้องมาดูที่ชีวิตประจำวันค่ะ ว่าเป็นที่เราเอง สร้างความไม่สมดุลให้ร่างกาย จนนำไปสู่อาการดังกล่าวหรือเปล่า แล้วแก้ไขที่พฤติกรรมของเราเอง ประกอบกับการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อปรับความสมดุลนั้น

เช่น ในชีวิตประจำวัน เราขาดการเคลื่อนไหวที่เพียงพอ ชอบนั่งไขว่ห้าง นั่งตัวเอียงเวลาจับปากกาเขียนหนังสือ นั่งเอียงไหล่ลงข้างนึงเวลาพิมพ์งานหน้าจอ ยืนล้างจานหรือผัดอาหารหน้าเตาก็มักลดไหล่ลงข้างนึงลงต่ำแล้วยักอีกข้างขึ้นหรือเปล่า เรานั่งแบบครึ่งนั่งครึ่งนอน ชอบนั่งเอนกายพิงหมอนขวานหรือเปล่า

เพราะร่างกายของเราเหมือนโซ่ค่ะ ที่เชื่อมต่อเป็นห่วงๆจากปลายข้างหนึ่งถึงปลายอีกข้าง เมื่อเกิดความผิดปกติที่ส่วนหนึ่ง ก็มักพากันรวนไปถึงทุกส่วน เพียงการนั่งไขว่ห้างข้างใดข้างหนึ่งเป็นประจำที่ทำให้สีข้างข้างนึงหดตัวนานๆ จึงมีผลถึงกระดูกสันหลัง ทำให้หลังคด มีผลถึงกระดูกเชิงกราน ทำให้เชิงกรานสูงต่ำไม่เท่ากัน ส่งผลถึงขา ทำให้ขาถูกรั้งขึ้นให้สูงกว่า มองเผินๆ เลยเห็นเหมือนขาสองข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน

และแน่นอนค่ะ พาไปสู่อาการบาดเจ็บต่างๆ

(ขอบคุณภาพจากสื่อสาธารณะ)

หรือ เราออกกำลังกายหนักเกินไปจนกล้ามเนื้อหลังขา ขาด้านข้าง ทั้งตึงทั้งเครียดสะสม เราออกกำลังกายผิดวิธีหรือเปล่า เป็นต้นว่า  วิ่งมากไป วิ่งรอบสนามบอล(ซึ่งขอบทางข้างหนึ่งจะโค้งขึ้นในช่วงเข้าโค้ง)ไปในทางเดียวกัน ไม่วิ่งย้อนทางบ้างจนส่วนของขาด้านข้าง ที่เรียกว่า Illiotibial Band –IT Band สั้นยาวไม่เท่ากันหรือเปล่า

หรือ เราขาดการยืดเหยียด ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวัน หรือหลังการออกกำลังกาย จนกล้ามเนื้อตึงเครียดสะสมเป็นเวลานานหรือเปล่า

หรือ รองเท้าที่เราใส่เหมาะสมกับกิจกรรมแล้วหรือไม่ เราสวมรองเท้าสูงไป จนทำให้ข้อต่อต่างเครียด กระดูกเชิงกรานเคลื่อนออกนอกแนวตามธรรมชาติของเค้าหรือเปล่า

หรือ เราเครียดมากไป จนกล้ามเนื้อล้าได้ง่าย ขาดการพักผ่อนจนร่างกายซ่อมแซมตัวเองไม่ได้หรือเปล่า

พฤติกรรมเหล่านี้นอกจากจะทำให้ขาสั้นยาวไม่เท่ากันแล้ว ยังทำให้ กระดูกสันหลังคด ไหล่สองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน แถมเวลาเดินสะโพกก็จะหมุนขึ้นลง แค่เพียงเดินนานๆก็ชวนให้เกิดอาการเจ็บรองช้ำ ปวดขา เข่า สะโพก อยู่แล้ว ถ้าเรามีน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ปวดเข่า แล้วเราก็อยากลดน้ำหนัก เลยไปวิ่งทั้งที่ขอสองข้างยังเขย่งกันอยู่ ก็ยิ่งพาตัวเองไปสู่อาการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น

(ขอบคุณภาพจากสื่อสาธารณะ)

โอ น่าตกใจ มีทางแก้ไขมั้ย??

มีค่ะ ผลเกิดแต่เหตุ สร้างเหตุให้กล้ามเนื้อสองข้างหดตัวจนมีความยาวไม่เท่ากันได้ ก็สร้างเหตุให้เค้ายืดออกจนสมดุลได้ ด้วยการเคลื่อนไหวบางอย่าง เช่น ว่ายน้ำ ฝึกโยคะ พีลาทิส

พูดกันในแง่ของการฝึกโยคะนะคะ  ท่าฝึกโยคะนั้นสามารถยืดความยาวของกล้ามเนื้อออกได้ สร้างความแข็งแรง ทนทาน ยืดหยุ่น ให้กล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆก็ได้ จัดท่วงท่าของร่างกายให้เหมาะสมก็ได้ จึงไม่น่าแปลกใจค่ะ ว่าทำไมโยคะจึงเข้าไปผสานกับท่าออกกำลังกายสมัยใหม่เพื่อแก้ไขความผิดปกติของท่วงท่าทางกาย ในทางกายภาพบำบัด และได้รับการปรับปรุงให้เป็นท่ายืดเหยียดประจำวัน

อาสนะที่นำมาใช้ ก็คืออาสนะที่ต้องมีการบิดตัว เช่น Ardha Matsyendrasana (อัตถะ มัสเยนทราสนะ-ท่าครึ่งปลา) ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อข้างลำตัว เช่น Trikonasana (ตรีโกณาสนะ : ท่าสามเหลี่ยม) Parsva konasana (ภารสวา โกณาสนะ : ท่าสามเหลี่ยมยืดข้าง) ท่าที่รักษาท่วงท่าขณะยืนนิ่ง เช่น Tadasana (ธาดาสนะ : ท่าภูเขา) ท่านั่งเหยียดกระดูกสันหลัง Gomukhasana (โกมุขกาสนะ : ท่านั่งหน้าวัว) ท่ายืนที่ช่วยปรับเชิงกราน การบิดของแนวสันหลัง คอ เช่น Virabhadrasana III (วีระภัทราสนะ III : ท่านักรบ3) ท่านอนที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหลัง เช่น  Bhujungasana (ภุชังคาสนะ : ท่างูเห่า) ท่าที่ช่วยสนับสนุนให้กระดูกเชิงกรานเคลื่อนไหวได้เต็มช่วงการเคลื่อนไหว เช่น Bitilasana (บิทิลาสนะ : Cat-Cow pose) ท่านอนที่ช่วยยืด IT Band เช่น Parivrtta Supta Hasta Padanggusthasana : ท่านอนหงายดึงขาข้ามตัวสูงระดับหู) เหล่านี้เป็นต้น

เมื่อประกอบกับการปรับท่วงท่าในชีวิตประจำวัน ลดโอกาสการลดความยาวของกล้ามเนื้อ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ได้สารอาหารที่ร่างกายต้องการ ผ่อนคลายความตึงเครียดของจิตใจ อันทำให้กล้ามเนื้อล้าได้ง่าย ร่างกายก็จะค่อยๆสมดุลขึ้น อาการเจ็บปวดดังกล่าว ก็จะค่อยๆหายไป

(ขอบคุณภาพจากสื่อสาธารณะ)

ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ พึงระลึกเราจะทำเหตุใหม่คือการแก้ไข ด้วยการพยายามตั้ง ฝึกสติติดตามอิริยาบถ  ให้ร่างกายตนอยู่ในท่วงท่า (Posture) ที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดเหตุอันก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บของตัวเราเอง เราจะฝึกตนให้เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะด้วยการว่ายน้ำ โยคะ พีลาทิส และเราจะให้เวลากับการฝึกสติ ฝึกตน อย่างน้อยสามสี่เดือนอย่างไม่เร่งรัด ให้เห็นผล

ที่ว่าไม่ควรเร่งหวังผลค่ะ เพราะจะทำให้กระวนกระวายใจ เมื่อกระวนกระวาย จิตไม่สงบ ก็ยิ่งลดการตั้งขึ้นของสติ ยิ่งเบื่อหน่ายการฝึก กล้ามเนื้อยิ่งล้าได้ง่ายขึ้น อันจะยิ่งลดโอกาสการคืนสู่ภาวะปกติของตัวเรานั่นเองค่ะ

มาถึงตรงนี้ คงไม่สงสัยนะคะ ว่าทำไมโยคะจึงเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเรามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมาในแนวยืดเหยียด หรือการฝึกโยคะแบบเต็มคลาส

ลองถามตัวเองดูนะคะ ว่าวันนี้ สร้างเหตุให้ตัวเองขาสั้นยาวไม่เท่ากัน จนนำไปสู่อาการเจ็บปวดเรื้อรังอยู่หรือเปล่า

 

หมายเลขบันทึก: 649399เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2018 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2018 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท