เทคนิคการจำคำพ้องรูป


สวัสดีค่ะ!!! ครูสรมาอีกแล้วค่ะ วันนี้มาพร้อมกับคำพ้องรูป หลาย ๆ คน เคยสงสัยใช่ไหม ว่าทำไมนะ คำบางคำเขียนเหมือนกัน แต่ออกเสียงไม่เหมือนกัน นำไปใช้ไม่เหมือนกัน ความหมายก็ต่างกัน แล้วที่ถูกต้องควรจะอ่านอย่างไร แล้วมันใช้อย่างไร มีเหตุผลอะไรต้องเขียนเหมือนกัน คำถามเกิดขึ้นในใจทุกคนมากมายจริง ๆ วันนี้ครูสรจะเฉลยข้อสงสัยนี้ ตามครูสรมาดูกันเลยค่ะ

เทคนิคการสังเกตและจดจำคำพ้องรูป

คำพ้องรูป เป็นคำที่เขียนรูปอักษรเหมือนกัน แต่เวลาออกเสียงจะออกเสียงต่างกัน และความหมายก็ต่างกันไปด้วย จนบางครั้งทำให้เกิดปัญหาและเกิดการเข้าใจผิดกันได้ การอ่านคำพ้องรูป จึงต้องสังเกตคำข้างเคียง หรือบริบทของประโยคนั้น ๆ ว่าควรจะออกเสียงอย่างไร เพราะเมื่อเข้าใจความหมายของประโยคนั้นแล้ว เราจะอ่านได้อย่างถูกต้อง และง่ายขึ้น เพื่อให้ทุกคนเข้าใจชัดเจนขึ้น ครูสรจะยกตัวอย่างคำพ้องรูปในประโยคต่อไปนี้ให้ดูกันเลยค่ะ

ท่านขุนรอแม่ปานวาดจนเพลาเย็น

คำว่า “เพลา” เป็นคำพ้องรูป อ่านได้สองอย่าง คือ อ่านว่า เพ-ลา มีความหมายว่า เวลา
และอ่านอีกอย่างหนึ่งว่า เพลา (อักษร พ นำ ล ประสมด้วยสระ เอา) มีความหมายว่า แกนสำหรับให้ล้อหมุน เช่น คุณตาใช้เกวียนบรรทุกข้าวจนเพลาหัก หรือมีความหมายว่าเบา ๆ ลง เช่น ทำอะไรให้เพลา ๆ ลงหน่อย

เมื่อเราดูรูปประโยคแล้วสังเกตได้ว่า ประโยค “ท่านขุนรอแม่ปานวาดจนเพลาเย็น” มีคำว่า รอ ซึ่งในความหมายของประโยคเกี่ยวข้องกับเวลา จึงควรอ่านว่า เพ-ลา ที่มีความหมายว่ารอจนถึงเวลาเย็น

แม่ค้าขายกุ้งตะโกนบอกมะลิให้ระวังกรีแทงมือ

ว่า “กรี” เป็นคำพ้องรูป อ่านได้สองอย่าง คือ อ่านว่า กรี มีความหมายว่า โครงแข็งแหลมที่หัวกุ้ง และอ่านว่า กะ-รี มีความหมายว่า ช้าง

จากรูปประโยค จึงควรอ่านออกเสียงว่า กรี ที่มีความหมายว่า โครงแข็งแหลมที่หัวกุ้ง

ชายชาติทหารพลีชีพเพื่อชาติ

คำว่า “พลี” เป็นคำพ้องรูป อ่านได้สองอย่าง คือ อ่านว่า พลี มีความหมายว่า เสียสละและอ่านว่า พะ-ลี มีความหมายว่า การบวงสรวง

จากรูปประโยค จึงควรอ่านออกเสียงว่า พลี ที่มีความหมายว่า เสียสละ

คณะปฏิวัติได้แถลงให้ประชาชนทราบนโยบาย

คำว่า “แถลง” เป็นคำพ้องรูป อ่านได้สองอย่าง คือ อ่านว่า ถะ-แหลง มีความหมายว่า บอกหรืออธิบาย และอ่านว่า แถ-ลง มีความหมายว่า อาการที่นกเอียงปีกร่อนลง หรืออาการที่คล้ายคลึงกัน เช่น แถไปโน่นไปนี่

จากรูปประโยค จึงควรอ่านว่า ถะ-แหลง ที่มีความหมายว่า บอก หรือ อธิบาย

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ จากตัวอย่างที่ครูสรนำมาให้ดูกัน เข้าใจกันแล้วนะคะ ว่าคำพ้องรูปนั้นสังเกตอย่างไร และเพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น วันนี้ครูสรได้รวบรวมคำพ้องรูปมาเทียบคู่ให้ดูกันดังนี้

คำพ้องรูป

กรี อ่านว่า กรี แปลว่า โครงแข็งบนหัวกุ้ง

กรี อ่านว่า กะ-รี แปลว่า ช้าง

เขมา อ่านว่า เข-มา แปลว่า ความสบายใจ

เขมา อ่านว่า ขะ-เหมา แปลว่า ดำ

โกศเขมา อ่านว่า โกด- ขะ-เหมา แปลว่า ต้นพืชที่นำมาเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง

สระ อ่านว่า สระ แปลว่า แอ่งน้ำขนาดใหญ่

สระ อ่านว่า สะ-หระ แปลว่า เครื่องหมายใช้แทนเสียงที่เปล่งออกมา

ปักเป้า อ่านว่า ปัก-เป้า แปลว่า ว่าวชนิดหนึ่ง

ปักเป้า อ่านว่า ปัก-กะ-เป้า แปลว่า ปลาชนิดหนึ่ง ผิวหนังมีหนาม

ปรามาส อ่านว่า ปรา-มาด แปลว่า ดูถูก

ปรามาส อ่านว่า ปะ-รา-มาด แปลว่า การจับต้อง การลูบคลำ

พยาธิ อ่านว่า พะ-ยา-ทิ แปลว่า ความเจ็บไข้

พยาธิ อ่านว่า พะ-ยาด แปลว่า ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดหนึ่ง

ครุ อ่านว่า คะ-รุ แปลว่า ครู หนัก

ครุ อ่านว่า ครุ แปลว่า ภาชนะสานชนิดหนึ่ง

แถลง อ่านว่า ถะ-แหลง แปลว่า อธิบาย บอก

แถลง อ่านว่า แถ-ลง แปลว่า ร่อนลง

เสลา อ่านว่า สะ-เหลา แปลว่า ต้นไม้ชนิดหนึ่ง , สวย งาม

เสลา อ่านว่า เส-ลา แปลว่า ภูเขา หิน

มน อ่านว่า มน แปลว่า อยู่กับที่ ,กลม ๆ โค้ง ๆ

มน อ่านว่า มะ-นะ แปลว่า ใจ

ผิว อ่านว่า ผิว แปลว่า ส่วนที่มีลักษณะบาง ๆ เป็นพื้นหุ้มอยู่ภายนอก

ผิว อ่านว่า ผิ-วะ แปลว่า ถ้าว่า หากว่า แม้นว่า

หวงแหน อ่านว่า หวง-แหน (แ+ห+น) แปลว่า กันไว้สำหรับตัวเอง

จอกแหน อ่านว่า จอก-แหน (แ+หน) แปลว่า พืชน้ำชนิดหนึ่ง

เทคนิคการจำ คำพ้องรูป

ย้ำอีกครั้งหนึ่งนะคะ คำพ้องรูปจะเขียนเหมือนกัน ทั้งพยัญชนะ สระ และตัวสะกด จึงทำให้มีหน้าตาเหมือนกัน แต่ออกเสียงต่างกัน และมีความหมายไม่เหมือนกัน การเลือกคำพ้องรูปคำใดไปใช้ให้ดูที่วัตถุประสงค์ของประโยคว่า เราจะกล่าวถึงสิ่งใดเป็นสำคัญค่ะ ให้จำว่า “หน้าเหมือนเป็นคำพ้องรูป” ต่อไป ถ้าไปเจอคำไหนที่เขียนเหมือนกัน ให้จำไว้เลยว่าคำนั้น คือคำพ้องรูป นั่นเอง

คำพ้องรูปปรากฏในบทกวี ทำให้เกิดความไพเราะในการเล่นคำ ตัวอย่างบทกวีของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) บางช่วงบางตอน ดังนี้

“อย่าหวงแหนจอกแหนให้แก่เขา พอลมเพลาก็เพลาลงสายัณห์”

หมายเลขบันทึก: 649405เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2018 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2018 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ทวนความรู้จากบันทึกนี้อย่างดีเยี่ยมเลยครับ

คำว่า “พลี” เป็นคำพ้องรูป อ่านได้สองอย่าง คือ อ่านว่า พลี มีความหมายว่า เสียสละและอ่านว่า พะ-ลี มีความหมายว่า การบวงสรวง

ฯลฯ

ขอบคุณครับ

คำในภาษาไทยมีความไพเราะจริง ๆ ค่ะ ภูมิใจที่เป็นคนไทย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท