เก็บตกวิทยากร (50) : ป้ายชื่อ -ไอดีการ์ด (เชยๆ)


ในมุมมองส่วนตัวของผม – ผมมองว่า “ป้ายชื่อ-ไอดีการ์ด” จึงมีสถานะเป็นหนึ่งในเครื่องมือของกระบวนการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ” หรือ “ละลายพฤติกรรม” ในแบบ "บันเทิงเริงปัญญา" ไปในตัวด้วยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะออกแบบในเชิงกระบวนการที่ว่านั้นอย่างไรเท่านั้นเอง

ในเวทีการสัมมนาผู้นำองค์กรนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีการศึกษา 2561 ระหว่างวันที่ 19-21  กรกฎาคม 2561  ณ วารีวัลเลย์ จังหวัดขอนแก่น   ผมให้แนวทางแก่เจ้าหน้าที่ผู้เป็นทีมวิทยากรไปหลายเรื่อง  หนึ่งในนั้นก็คือการทำ “ป้ายชื่อ”  หรือ “ไอดีการ์ด”

อันที่จริงในระยะหลังๆ  หรือแม้แต่หลายๆ กิจกรรมในหลายปีที่ผ่านมา  เท่าที่ผมสังเกตเห็นในเวทีต่างๆ มีทั้งที่ทำป้ายชื่อและไม่ทำป้ายชื่อ  ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมให้ความสำคัญกับเรื่องของป้ายชื่อมาก  เพราะนั่นคือกระบวนการหนึ่งของการ “เปิดเปลือยตัวตน”  ต่อสาธารณะ 

ใช่ครับ- การแขวนป้ายชื่อตนเอง  ก็ไม่ต่างอะไรจากการแสดงเจตนารมณ์ต่อสาธารณะว่า “ชื่ออะไร” รวมถึงมีนัยสำคัญว่า “ทักได้นะ”  หรือ “พร้อมที่จะเรียนรู้กับเพื่อนใหม่นะ”


ด้วยเหตุนี้  ในมุมมองส่วนตัวของผม –  ผมมองว่า “ป้ายชื่อ-ไอดีการ์ด”  จึงมีสถานะเป็นหนึ่งในเครื่องมือของกระบวนการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  หรือ “ละลายพฤติกรรม”  ในแบบ "บันเทิงเริงปัญญา"  ไปในตัวด้วยเช่นกัน  ขึ้นอยู่กับว่าเราจะออกแบบในเชิงกระบวนการที่ว่านั้นอย่างไรเท่านั้นเอง

กระนั้นก็เป็นที่น่าสังเกตว่าในระยะหลังๆ หลายเวที “ไม่มี” ป้ายชื่อของกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลยก็มี  

หรือแม้แต่ “ถ้ามี” ก็มักจะออกแบบเลิศหรูมีราคา ควรค่าต่อการจัดเก็บไว้นานๆ  ควรค่าต่อการสะสมเป็นโปรไฟล์ชีวิต  แต่ก็ดูเหมือนว่ายิ่งเลิศหรูมากเท่าไหร่  ต้นทุนการผลิตก็ยิ่งมากขึ้น  แถมบางทีก็กลายเป็นความสิ้นเปลืองในด้านงบประมาณและเพิ่มมลภาวะให้กับโลกและชีวิตไปโดยปริยาย

ฉะนี้แล้วในเวทีการสัมมนาครั้งนี้  ผมจึงแนะนำให้ทีมวิทยากรได้จัดทำป้ายชื่อแบบง่ายๆ ไม่เน้นเทคโนโลยีเลิศหรู ไม่เน้นพลาสติก หรือพูดตรงๆ ก็คือประหยัดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  และเป็นไปได้ก็คือให้ใช้กระดาษชาร์ทสีแข็งๆ มาทำ –



ใช่ครับ – ผมแนะนำเช่นนั้นจริงๆ  พร้อมๆ กับการแนะนำว่าหากเป็นไปได้พยายามอย่าให้แต่ละคนเขียนชื่อตัวเอง  แต่สร้างกระบวนการให้แต่ละคนได้เขียนชื่อให้กันและกัน  ตลอดจนการคล้องป้ายชื่อให้กันและให้ถือว่าบุคคลนั้นๆ เป็น “บัดดี้-บัดเดอร์” กันและกัน

เอาจริงๆ ก็คือ  ผมให้เพียงหลักการเท่านั้น  ขึ้นอยู่กับทีมจะออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ว่านี้อย่างไร  ซึ่งครั้งนี้ทีมงานก็นำไปหารือร่วมกันและจัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อนำเข้าสู่การเรียนรู้ร่วมกัน  กล่าวคือใช้กระดาษชาร์ทสีมาทำป้ายชื่อ  โดยใช้สีเหล่านี้เป็นสีประจำกลุ่มในการที่จะทำกิจกรรมตลอดการสัมมนาไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ 

ในทางกระบวนการนั้น  ทีมงานยูกโยงผ่าน “ปมเชือก”  โดยให้จับคู่แล้วผูกโยงเชือกเข้าด้วยกันเพื่อนำไปสู่การให้ร่วมคิดร่วมถอดปมเชือกร่วมกัน  พอถอดปมเชือกออกจากกันได้แล้วก็ถามทักชื่อเสียงเรียงนามกันให้มากขึ้น พร้อมๆ กับการเขียนชื่อลงในป้ายชื่อแล้วคล้องให้กับเพื่อน

ครั้นเสร็จสิ้นกระบวนการนี้  ผมก็เข้าไปทักทาย  รวมถึงการสื่อสารประมาณว่าป้ายชื่อเหล่านี้  ผมและทีมงานคิดบนฐานของความ “ง่าย-งาม”  เหมือนพาทุกคนย้อนยุคไปสู่อดีตที่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย  เหมือนชีวิตยังไม่รีบเร่ง เหมือนชีวิตยังคงเดินช้าอย่างมีสติ ไม่วิ่งตามกระแสบริโภคนิยม 


เช่นเดียวกับการสื่อให้เห็นว่า  ป้ายชื่อธรรมดาๆ เช่นนี้  มีคุณค่าและความหมายมากมิใช่ย่อย  เพราะแต่ละคนสร้างมันด้วยมือของตนเอง  เป็นการสร้างมากับมือแล้วส่งมอบให้เพื่อน  โดยมิใช่การไปจับจ่ายซื้อสำเร็จรูปมาจากห้างร้านภายนอก  เสมอเหมือนทำมันขึ้นจากใจเพื่อส่งมอบให้ใครสักคนที่สำคัญกับเรา 

ใช่ครับ  - จะว่าไปแล้วก็เหมือนของขวัญที่นิสิตได้ส่งมอบให้กันในเวทีสัมมนาฯ นั่นแหละ

ใช่ครับ - ของบางอย่างคุณค่าไม่ได้อยู่ที่ราคา  แต่อยู่ที่ว่า "ใครทำให้เรา  - เราได้มาอย่างไร"  ฯลฯ

ก็ไม่รู้นะ  ผมคิดแบบนี้  และโชคดีที่ทีมงานก็มองไม่ต่างกันมากนัก จึงตัดสินใจออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในทำนองนี้  ส่วนนิสิตจะเปิดใจยอมรับและทำความเข้าใจต่อนัยสำคัญต่างๆ ที่ผมพยายามสื่อสารหรือไม่  ผมยังไม่รีบร้อนที่จะเอาคำตอบใดๆ จากพวกเขาหรอก 

ผมรอได้ !

แต่ที่แน่ๆ สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ได้สื่อสารมากนักก็คือ "ปมเชือก" ที่ว่านี้  ผมพยายามสื่อสารว่า  คนทุกคนมีปมชีวิต  ขึ้นอยู่กับว่าจะเหมือนหรือต่างกัน  การแก้ปัญหาเรื่องบางเรื่องเราต้องแก้ด้วยตัวเองเอง  ขณะที่บางเรื่องเราก็จำต้องเปิดใจที่จะให้คนอื่นมาช่วยแก้ไข-บำบัด-เยียวยาตัวเราด้วยเหมือนกัน  


หมายเหตุ

เขียน : ศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม 2561
ภาพ : พนัส  ปรีวาสนา / นิสิตจิตอาสา

หมายเลขบันทึก: 649030เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2018 02:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2018 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ป้ายชื่อ ปมเชือกเรายังนำมาเรียนรู้ได้ขอบคุณมากๆนะคะ ที่เขียนให้พี่ๆอ่านและนำไปใช้ได้เสมอ

สวัสดีครับ พี่แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

ตอนออกแบบกระบวนการ ก็คิดเหมือนที่เขียนครับ หวนกลับไปยังความ่ายงามของชีวิต ทวนกระแสหลักของยุคสมัยที่ทำป้ายชื่อไอดีการ์ดอย่างสวยสดงดงาม แต่มีราคาค่างวด

เพราะต้องการชะลอฝีเท้าของนิสิตให้เดินช้าลง บ่มความสมถะพอเพียงแบบเงียบๆ เนียนๆ จึงมอบให้ทีมงานได้ใช้กระบวนการนี้ไปในตัว

จากนั้นก็ย้ำให้เขาเห็นคุณค่า-มูลค่า และเท่าที่สังเกตดู นิสิตก็รักษาป้ายชื่อเป็นอย่างดี บางคนทำด้านหลังมาเป็นพื้นที่จะบันทึกเลยก็มี ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท