สรุปเรื่องสำคัญร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 2 : คลำหาบทสรุป


สรุปเรื่องสำคัญร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 2 : คลำหาบทสรุป

19 กรกฎาคม 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ร่างกฎหมายบริหารงานบุคคลท้องถิ่นหลายฉบับสับสน

มีการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่งระบุว่า “พรบ. การบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2542 มิได้มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมเนื้อหา อันเกี่ยวข้องกับการรักษาระบบคุณธรรม ธรรมาภิบาล และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักการเมืองและข้าราชการประจำ [2] จึงเป็นปัญหาประการสำคัญที่ส่งผลถึงการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นมาก เพราะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นอกจากมีลักษณะเป็น “องค์กรทางการเมือง” (Political Organization) ที่เป็น “หน่วยงานตามกฎหมายมหาชน” ที่มีหน้าที่จัดบริการสาธารณะ (Public Service) โดยตรงต่อประชาชนที่เป็นการกระจายอำนาจส่วนกลางจากรัฐบาล (Decentralization) เพราะเป็น “Local Organization” หรือหน่วยท้องถิ่น (Local Unit) ที่ดูเหมือนว่า “การบริหารระบบราชการ” [3] หรือราชการบริหารส่วนกลางที่มี คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับผิดชอบดูแลบุคลากรต้องมุ่งเน้นการลดจำนวนข้าราชการลงตาม “ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี” (พ.ศ. 2560-2579)

การคลำหาบทสรุปของร่างกฎหมายบริหารงานบุคคลท้องถิ่นค่อนข้างสับสน เพราะมีการนำเสนอร่าง พรบ. บุคคลท้องถิ่นหลายหน่วย แถมยังเรียกชื่อร่างกฎหมายบุคคลที่ผิดแผกแตกต่างกัน อาทิเช่น ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (สถ.) ร่าง พรบ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ร่าง พรบ. การบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น (คปก.-คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย) เป็นต้น มีข้อสังเกตว่า ในช่วงระหว่างปี 2551-2558 เป็นช่วงของการศึกษาและเตรียมการเข้าสู่ระบบแท่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการโดย สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ซึ่งในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้นำเสนอร่าง พรบ. “ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย [4] และเมื่อประมาณ 5-6 เดือนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ก็ได้นำเสนอร่าง ร่าง พรบ. “ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น” เพื่อรับฟังความคิดเห็นเช่นกัน [5] ในขณะที่ร่างฉบับอื่น ๆ ก็น่าจะยังคงอยู่เป็นร่างเดิม ๆ แต่ไม่ทราบความเคลื่อนไหวคืบหน้าเท่าใด อาทิ ร่าง พรบ. ฉบับ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” (สปช.) (ช่วง 6 ตุลาคม 2557 – 6 กันยายน 2558) [6]  หรือ ฉบับ “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” (สปท.) (ช่วง 13 ตุลาคม 2558 - 3 สิงหาคม 2560) [7]  ที่เรียกชื่อว่า “ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” [8] และ ร่างของสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย [9] นัยว่ามีอีกฉบับที่ต้องมีก็คือ ร่าง พรบ. ฉบับ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) [10]

 

เป้าหมายหลักของข้าราชการส่วนท้องถิ่น

มีสมมติฐานสำหรับ “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” 4 เรื่องคือ [11] (1) เรื่องการเข้ามาสู่ตำแหน่งอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี กล่าวคือ การสรรหาและการบรรจุแต่งตั้งต้องยึดหลักระบบคุณธรรม และเป็นธรรม (2) เรื่องการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่พึงพอใจแก่ประชาชนผู้รับบริการ โดยมีการปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ปลอดภัย สบายใจ ไม่ถูกกดดัน มีขวัญกำลังใจที่ดี (3) เรื่องการไม่มีการทุจริตในการบริหารงานบุคคล ไม่ว่าการซื้อขายประมูลตำแหน่ง หรือต่างตอบแทน ไม่ถูกล็อคตำแหน่ง ไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ ฯ (4) เรื่องความก้าวหน้าเติบโตในตำแหน่งสายงาน (Career Path) อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีความก้าวหน้า จนถึงจุดสูงสุดในสายงานได้ นอกจากนี้การกำกับดูแลการบริหารงานบุคคลควรเป็นหน้าที่ของ “องค์กรกลางบริหารงานบุคคล” (Central Personnel Agency : CPA) [12] เท่านั้น มิใช่ให้ ข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้ามาควบคุมกำกับดูแล

 

คนสี่รุ่นสี่ยุค (Generation : Gen) [13]

ทางสากลแบ่งคนเป็นคนสี่รุ่น ซึ่งคนในแต่ละรุ่นนั้นมีสมมติฐานว่าเกิดเติบโตในช่วงของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีสื่อสารที่แตกต่างกัน ตามทัศนะนี้มี “สมมติฐานเชิงลบ” ว่า ปัจจุบัน “นักบริหารและอำนวยการท้องถิ่น” ส่วนใหญ่เติบโตมาจากระบบอุปถัมภ์ จะเป็นคนรุ่น Gen X ที่เกิดช่วงปี 1965-1979 (พ.ศ. 2508-2522) ซึ่งมีอายุช่วง 39 – 53 ปี ทั้งหมด ข้าราชการท้องถิ่นส่วนหัวดังกล่าว ได้แก่ตำแหน่ง ปลัด รองปลัด ผอ.กอง ผอ.สำนักฯ ของ อปท. เพราะมีช่วงระบบอุปถัมภ์เรืองอำนาจที่ยาวนานตลอดช่วงของ พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ถึงปัจจุบันกว่า 18-19 ปี ณ เวลานี้บรรดาข้าราชการส่วนท้องถิ่นส่วนหัวเหล่านี้ต่างเติบโตอยู่บนส่วนหัวของท้องถิ่นทั้งหมด ดังนั้นการคาดหวังจากบรรดาข้าราชการเหล่านี้ใน “ระบบคุณธรรม” จึงยาก เหมือนน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ

 

เรื่องบุคคลท้องถิ่นของเก่าเล่าใหม่

ในประเด็นการบริหารงานบุคคลผู้เขียนเคยรวบรวมวิพากษ์ไว้กว่า 2 ปีแล้ว มา ณ เวลานี้ ก็ยังเป็นของเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงไม่เห็นมีประเด็นสำคัญใหม่แต่อย่างใด ประเด็นสำคัญที่อาจเป็นปัญหาในอนาคตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซ้ำมีปัญหาปลายเหตุเกิดตามมาซ้ำ ๆ กัน ไม่ว่าปัญหาการโอนย้าย ปัญหาการเข้าสู่ตำแหน่ง ปัญหาเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ และปัญหาสภาพการทำงานและการบริหารในบริบทของท้องถิ่นที่ไม่ชัดเจนแน่นอน มีความผิดพลาดทั้งอันเกิดจากระบบหรือเกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ตรวจสอบยาก แม้หน่วยตรวจสอบจะเข้มข้นขึ้น แต่ผลการเข้มงวด ไม่สามารถจัดการกับต้นเหตุที่แท้จริงได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “การทุจริตเชิงนโยบาย” รวม “ความมีส่วนได้เสียฯ” “ผลประโยชน์ทับซ้อน” และ “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” หรือ “การใช้อำนาจดุลพินิจที่ไม่สมเหตุสมผล” ที่ตรวจสอบยาก เพราะ มาตรการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) และ มาตรการในการปฏิบัติตามกฎหมาย (Law Compliance) ของท้องถิ่นมีความเป็น “การเมือง” ที่ซับซ้อนไม่เหมือนราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาค เพราะ มีผู้ตรวจสอบที่ใกล้ชิดคือ “ประชาชน” แต่กลับขาดการสนับสนุน ขาดการสร้างสรรค์ ขาดการสร้างทัศนคติเชิงบวก ขาดการให้ความสำคัญอื่นใดจากภาครัฐ จึงเป็นประชาสังคม ประชารัฐที่ไม่เข้มแข็งที่จะตรวจสอบ อปท.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พอหันมาดูโครงสร้างการบริหารงานบุคคลของท้องถิ่นพบว่า ข้าราชการส่วนท้องถิ่นจำนวน 7,852 หน่วย [14] มีจำนวน 1.7 แสนคน ลูกจ้างประจำ จำนวน 2 หมื่นคน พนักงานจ้าง จำนวน 1.9 แสนคน รวมบุคลากรท้องถิ่นทั้งสิ้น 3.8 แสนคน (ประมาณ 4 แสนคน) ในขณะที่ข้าราชการฝ่ายพลเรือนมีทั้งหมดประมาณ 2 ล้านคน [15] ก็เท่ากับว่า บุคลากรของท้องถิ่นมีจำนวน 1 ใน 5 ของกำลังพลฝ่ายพลเรือนของรัฐ เป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ผกผันกับสัดส่วนของอัตรากำลังพลภาครัฐของประเทศญี่ปุ่น [16] ที่มีจำนวนบุคคลากรส่วนท้องถิ่น 3 ล้านคน แต่มีอัตราข้าราชการเพียง 5 แสนคนที่เป็นเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น

มองว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีลักษณะ “หัวโตตัวลีบ” กล่าวคือ สัดส่วน “หัว” กับ “ลำตัว” ไม่สมดุลกัน เพราะ ประมาณว่า “หัว” หรือสายงาน “บริหารอำนวยการ” คิดคำนวณแต่ละ อปท. เพียง ปลัด 1 อัตรา หัวหน้าส่วนราชการๆละ 1 อัตรา และ หัวหน้าฝ่ายอีก 1-2 อัตรา ประมาณ 7 ส่วนราชการ รวมระดับอำนวยการ 14 อัตรา ที่เหลือคือ “ส่วนที่เป็นลำตัวทั้งหมด” ได้แก่ ข้าราชการสายงานทั่วไปและวิชาการ ฉะนั้น เมื่อคิดเฉลี่ยจำนวนสัดส่วนอย่างคร่าว ๆ จะพบว่า สายงานบริหารอำนวยการจะมี ปลัด อปท.จำนวน 7,852 อัตรา หัวหน้าส่วนฯ จำนวน 7,852 X 7 = 54,964 อัตรา หัวหน้าฝ่ายฯ (คิดเพียง 1 อัตรา) จำนวน 7,852 X 7 = 54,964 อัตรา รวมอัตรา “หัว” ทั้งสิ้น = ปลัดฯ + หน.ส่วนฯ + หน.ฝ่ายฯ = 7,852 + 54,964 + 54,964 = 117,780 อัตรา หักจากอัตราข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่มีทั้งสิ้น 171,303 – 117,780 = 53,523 อัตรา พบทันทีว่าโครงสร้างอัตรากำลัง อปท. มีลักษณะ “หัวโตมาก” เพราะมีสัดส่วนหัวที่ใหญ่มากกว่าลำตัวคือ สัดส่วนหัวต่อลำตัว 117,780 ต่อ 53,523 หรือ = 2 : 1 เป็นโครงสร้างที่แปลกประหลาดมาก ครั้นหันมาดูอัตรากำลังที่แท้จริงของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พบว่า มีปัญหาการรายงานตำแหน่งอัตรากำลังที่แท้จริง ด้วยมีการโยกย้ายถ่ายโอนกันทั่วประเทศที่ไม่มีฐานข้อมูลกลางบุคคลที่ชัดเจนแน่นอน เพราะ การรายงานล่าช้าไม่ปัจจุบัน แถมมีการหมกเม็ดรายงานล่าช้า ไม่รายงาน สรรหาข้ามห้วย(รับโอนจากข้าราชการอื่น) ฯลฯ ทำให้ฐานข้อมูลไม่นิ่ง ไม่ทราบอัตราที่แท้จริง [17]ปรากฏการณ์เช่นนี้จึงไม่แปลกที่การสอบบริหารอำนวยการท้องถิ่นโดย กสถ. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2561 ประกาศผลสอบและบรรจุแต่งตั้งเมื่อ 13 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ที่มีอัตราว่างมากมาย ถึง 13,949 อัตรา [18] แต่ไม่สามารถสรรหาบุคลากรมาดำรงตำแหน่งสายงานบริหารอำนวยการได้ครบถ้วน แม้จะปล่อยเวลาให้เนิ่นยาวนานเพื่อให้ “เด็กโต” หรือเพื่อให้มีผู้มาสมัครสอบมากขึ้น ก็ไม่สามารถกระทำได้ ด้วยสาเหตุปลายทาง(ไม่ใช่ปัญหาต้นเหตุหรือต้นทาง) หลากหลายอาทิเช่น “เด็กโตไม่ทัน” “เด็กไม่สามารถเข้าสู่กรอบตำแหน่งได้” “ผู้เข้าสอบสอบตกมาก” “บางตำแหน่งไม่มีผู้สมัครสอบหรือสอบได้น้อย” “ตำแหน่งน้อยคนสอบมากแสดงถึงโครงสร้างตำแหน่งที่ผิดพลาด” “ไม่มีการวางแผนอัตรากำลังที่สอดคล้องกับอัตรากำลังและเส้นทางสายอาชีพ” “แย่งกันบรรจุแต่งตั้ง” “หลีกหนีสละสิทธิ์ไม่เลือกแต่งตั้งในบางท้องที่ฯ” “ระบบการกีดกันและการแข่งขันการสอบที่เข้มข้น” และ ไม่พ้นแม้ “ข่าวทุจริตตุกติกในการสอบ” ฯลฯ

จากปรากฏการณ์หัวโตตัวลีบตัวเล็กดังกล่าว จะพบว่า อปท.หลายแห่งทำงานโดยการจ้าง “ลูกจ้าง” ไม่ว่าจะเป็นพนักงานจ้างทั่วไป หรือ พนักงานจ้างตามภารกิจ หรือ “พนักงานจ้างเหมา” เช่นกองช่างหลายแห่งไม่มีข้าราชการตำแหน่งนายช่างโยธาหรือวิศวกร หรือมีนายช่างโยธาเพียงอัตราเดียว หรือมีเพียงหัวหน้าส่วนฯ หัวหน้าฝ่ายฯ ที่เหลือเป็นลูกจ้างทั้งหมด เพราะปัจจุบัน อปท.หลายแห่งขาดแคลนบุคลากรช่างสูงถึงขั้นวิกฤต และในขณะเดียวกันหน่วยงานตรวจสอบทั้ง สตง.และ ปปช. ปปท. ก็พยามเร่งตรวจสอบสร้างผลงานกันอย่างเข้มข้น ในมุมมองจุดนี้เป็นที่มาของ “การควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (Amalgamation or Merging Local Unit) เพื่อประสิทธิภาพ [19] เพราะมิเช่นนั้นภาพทิศทางการบริหารงานของ อปท. มันจะตัน

 

5 ประเด็นสำคัญต้องทบทวน

          เมื่อมีการยกร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลท้องถิ่นขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่ระบบแท่งของท้องถิ่น นับจาก (1) ร่างฉบับที่รับรองโดย สปท. (2) ฉบับ สถ. และ (3) ฉบับ ก.ถ. ที่ยังมีฉบับ คปก. และ ฉบับ สนช. อีก ในที่นี้ขอพิจารณาเพียงใน 2 ฉบับสำคัญ คือ ฉบับ สถ. และ ฉบับ ก.ถ. เป็นหลัก เพราะเป็นฉบับที่เผยแพร่และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และเพื่อป้องกันความสับสนในการอ้างอิงตัวเลขมาตราของร่าง พรบ. จึงขออ้างอิง “ร่าง พรบ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น” ฉบับ ก.ถ. เป็นหลัก เริ่มแรกขออ้าง 5 ประเด็นสำคัญ จาก

(1) อัตราพนักงานจ้าง (ตามภารกิจ) มีอัตราไม่เกินร้อยละ 25 ของอัตรากำลังข้าราชการส่วนท้องถิ่นในแต่ละ อปท. นัยว่าเพื่อป้องกันสภาวะคนล้นงาน ตามร่างเดิมฉบับ ก.ถ. มาตรา 122 [20] แต่ร่างฉบับใหม่ ฉบับ ก.ถ. ตัดข้อความนี้ออกแล้ว ดูร่าง มาตรา 99 [21] และมาตรา 104 [22] โดยแยกลูกจ้างและพนักงานจ้างออกให้ตราเป็นมาตรฐาน ก.ถ. สำหรับร่างฉบับ สถ. ยังคงประเด็นนี้ไว้

(2) งบประมาณรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการส่วนท้องถิ่นและลูกจ้าง หรืองบประมาณบริหารงานบุคคลไม่สูงกว่าร้อยละ 40 ของเงินรายได้จริงของปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วโดยไม่รวมเงินกู้และเงินอุดหนุนและเงินอื่น ตามร่าง มาตรา 44 [23]

(3) กรรมการผู้แทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่นจำนวนห้าคน ในคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ตามร่าง มาตรา 6 [24] และ ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัดจำนวนห้าคน ในคณะอนุกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัด (อ.ก.ถ.) ตามร่าง มาตรา 22 [25]

(4) หน่วยงานกำกับดูแลการบริหารงานบุคคล อปท. โดยสำนักงาน ก.ถ. เป็นส่วนราชการในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ตามร่าง มาตรา 20 [26] ซึ่งตามร่างเดิม ก.ถ. มาตรา 30 [27] กำหนดให้สำนักงาน ก.ถ. เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็น “กรม” ในกระทรวงมหาดไทย

(5) คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.พ.ถ.) ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน  ตามร่าง มาตรา 31 [28]

นี่เป็นประเด็นสำคัญในร่าง พรบ. ที่ต้องวิพากษ์กัน นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่น่าสนใจอีก อาทิ (6) การแยกอำนาจในการบริหารงานบุคคลระหว่างนายก อปท. และ ปลัด อปท. หรือ (7) การลงโทษนายก อปท. ที่ฝ่าฝืนหลักการระเบียบบริหารงานบุคคล หรือ (8) วาระการย้ายข้าราชการสายบริหารอำนวยการ ตำแหน่ง ปลัด อปท. หรือ รองปลัด อปท. และหัวหน้าส่วนฯ บางตำแหน่ง หรือ (9) เรื่องหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาท้องถิ่น ฯลฯ เป็นต้น

 

 

[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 45 วันศุกร์ที่ 20 - วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2561, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 66 

[2]รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยการปฏิรูปการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ศึกษากรณีความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร, เสนอ สถาบันพระปกเกล้า โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อโณทัย วัฒนาพร & อาจารย์พินสุดา วงศ์อนันต์, 2559,

http://www.kpi.ac.th/media/pdf/research/58029รายงานปฏิรูปท้องถิ่น_39eeb988542fd4a9958af724a461eaf4.pdf           

[3]'บิ๊กตู่'ขันน็อตขรก.ทำ 10 เรื่องให้เสร็จใน 8 เดือนก่อนเลือกตั้ง, 10 กรกฎาคม 2561, https://today.line.me/TH/artic...

[4]แบบสอบถามความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ฉบับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.), www.dla.go.th/pub/survey256001.jsp  &  “ร่าง พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....”, ฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (การรับฟังความคิดเห็น), ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0809.2/ว 1821 ลงวันที่ 8 กันยายน 2560 เรื่อง ประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ...  , http://www.dla.go.th/pub/25600...

[5]พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ฉบับ สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.), http://www.mediafire.com/file/...

& ดู ภาพกิจกรรม : นายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธาน ก.ถ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 3/2561 วันที่ 27 เมษายน 2561 โดยมีเรื่องพิจารณา

- ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....

- การเตรียมความพร้อมและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนอัตรากำลังของ ก.กลาง

- แผนการปฏิรูปประเทศตาม พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560,

http://www.local.moi.go.th/200...

[6]สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. (6 ตุลาคม พ.ศ. 2557 – 6 กันยายน พ.ศ. 2558) จำนวน 250 คน เป็นสภาที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 27  

[7]หลังจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดทำข้อเสนอแนะว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ 505 ข้อเสร็จและสิ้นสุดการทำหน้าที่ลงหลังการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 6 กันยายน 2558 'โรดแมป' ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดว่า จะต้องตั้ง "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" หรือ สปท. (13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2560) ขึ้นมาอีกอย่างน้อย 200 คน เพื่อทำหน้าที่ต่อจาก สปช. ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ส่วนที่แก้ไขเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 มาตรา 39/2  

[8]สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 163 เสียง ผ่านร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559

ดู ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... , (ฉบับ สปท.),

http://www.thailocalgov2013.co...
 

[9]ร่าง พรบ.การบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... (ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย), จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย วันพุธ ที่ 29 มิถุนายน 2559 เวลา 08.00- 15.40 น. ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้า แกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี,

http://www.lrct.go.th/th/wp-co...
 

[10]ร่าง พรบ.การบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น ทราบว่าคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แต่งตั้งอนุกรรมาธิการฯศึกษา & ความสับสนในร่าง พรบ. คน อปท. ค้านร่าง กม.บริหารงานบุคคลใหม่ ขอปรับเพิ่มงบใช้จ่ายบุคลากรอีก 10% ข้องใจไม่มีกก.พิทักษ์ระบบคุณธรรม, มติชนรายวัน,12 กรกฎาคม 2561,  http://www.commandcenter.moi.go.th/moiapp/prapp/th/view/LR6105531/คน-อปท.-ค้านร่าง-กม.-บริหารบุคคลใหม่-ขอปรับเพิ่มงบใช้จ่ายบุคลากรอีก-10‰-ข้องใจไม่มี-กก.-พิทักษ์ระบบคุณธรรม-.html

& http://kontb.blogspot.com/2018/07/10_12.html

[11]ดู วิพากษ์ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... ตอนที่ 3 : ว่าด้วย “ข้อห่วงใย” (จบ?), ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, 7 กรกฎาคม 2559,

https://www.gotoknow.org/posts... 

[12]ดู เย็นวารี, องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ : ประเด็นที่ควรทบทวน, 13 กุมภาพันธ์ 2557, 

https://hrnoakkala.blogspot.co...
 

[13]การแบ่งGenแต่ละยุคแต่ละสมัย, 21 สิงหาคม 2559,

http://www.salineechot.com/การ...


[14]สรุปข้อมูล อปท. ทั่วประเทศ, กองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2560, www.dla.go.th/work/abt/summari...  


[15]ข้อมูลจำนวนบุคลากรของ อปท. จาก สถ. ปี 2558 (23 มีนาคม 2558) ฝ่ายประจำ (1) ข้าราชการ 173,547 คน (2) ลูกจ้างประจำ 19,687 คน (3) พนักงานจ้าง 211,279 คน รวม 404,513 คน ข้อมูล ดร.จรัส สุวรรณมาลา (2557) ข้าราชการท้องถิ่นจำนวน 392,945 คน

ปี 2556 มีข้อมูลกำลังคนภาครัฐที่น่าสนใจ คือ มีกำลังคนภาครัฐฝ่ายพลเรือน 2.19 ล้านคน

ปี 2559 ล่าสุดข้อมูลกำลังคนภาครัฐ  เฉพาะข้าราชการประจำที่เป็น “ข้าราชการพลเรือนสามัญ” 19 กระทรวง 152 กรม 18 สำนักงานรัฐมนตรี จำนวน 418,506 ตำแหน่ง 382,655 คน  

[16]“ข้าราชการญี่ปุ่น” อยู่กันอย่างไร? เงินเดือนเท่าไหร่?, โดย โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์, 2 เมษายน 2561, https://mgronline.com/japan/de...

ข้าราชการญี่ปุ่นมี 2 ประเภทหลัก คือ ข้าราชการระดับชาติ (kokka kōmu-in) และ ข้าราชการระดับท้องถิ่น (chihō kōmu-in)

สัดส่วนจำนวนข้าราชการต่อจำนวนคนทำงานทั้งประเทศของญี่ปุ่นถือว่าน้อย คือ มีแค่ประมาณ 11% ในขณะที่ของไทยมี 27.21% พอ ๆ กับอเมริกาที่ 27.15% ในปี 2560 ญี่ปุ่นมีข้าราชการทั้งสองระดับรวมกันเป็นจำนวน 3.323 ล้านคน แบ่งเป็นข้าราชการระดับชาติ 17.6% ราว 6 แสนคน และข้าราชการท้องถิ่น 82.4% ราว 2.74 ล้านคน  

[17]ดู แบบรายงานการกรอกข้อมูลอัตรากำลังคนภาครัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560, ระบบข้อมูลบุคลากรองค์กรปกครองท้องถิ่น, http://lhr.dla.go.th/hr/   

& ระบบข้อมูลกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , http://info.dla.go.th/  

เป็นระบบฐานข้อมูลที่จัดทำขึ้น เพื่อสำรวจ ข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลที่แสดง ในระบบเป็นข้อมูลที่นำเข้าโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้หน่วยงานภายในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด

[18]ประกาศการขึ้นบัญชีและยกเลิกบัญชีผู้ผ่านการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร, ตามหนังสือสำนักงาน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต.  มท 809.2/ว 108 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2561, http://www.dla.go.th/upload/do...

& สถ.บอกข่าวดี! มีตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น ที่ว่างเพิ่ม-แต่งตั้งได้เพิ่มขึ้น, 11 กรกฎาคม 2561,

https://www.matichon.co.th/pol...1038240

[19]สภาขับเคลื่อนฯ เห็นชอบแผนปรับโครงสร้างท้องถิ่นยุบรวม อบต. เป็นเทศบาลตำบล, 23 สิงหาคม 2559, http://prachatai.com/journal/2...  & 12 ต.ค.นี้ ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ‘ครม.-สนช.-สปท.’ ประเด็นปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น, 12 ตุลาคม 2559, http://www.topicza.com/news178...  

& รายงานสรุป ทิศทางการปฏิรูปท้องถิ่น โดย คณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ, 2558, http://thailandlocalgovernmentsummit.com/wp-content/uploads/ข้อเสนอยุบควบรวมอปท.ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ.pdf

[20]มาตรา 122 พนักงานจ้างตามภารกิจที่มีลักษณะงานเช่นเดียวกับลักษณะงานของข้าราชการส่วนท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดจะมีจำนวนรวมกันเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนอัตรากำลังข้าราชการส่วนท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่ได้

กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้และเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ก.ถ.อาจมีมติอนุมัติให้มีจำนวนพนักงานจ้างตามภารกิจที่มีชื่อตำแหน่งเช่นเดียวกันกับชื่อตำแหน่งข้าราชการส่วนท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเกินกว่าจำนวนที่กำหนดได้และมติในเรื่องดังกล่าวให้ถือเสียงข้างมากซึ่งไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการที่มาประชุม  

[21]มาตรา 99 การบริหารงานบุคคลสำหรับลูกจ้างและพนักงานจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ ก.ถ.กำหนด  

[22]มาตรา 104 ผู้ใดเป็นลูกจ้างและพนักงานจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นเป็นลูกจ้างและพนักงานจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้

[23]มาตรา 44 งบประมาณรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการส่วนท้องถิ่นและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องไม่สูงกว่าร้อยละสี่สิบของเงินรายได้จริงของปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วโดยไม่รวมเงินกู้และเงินอุดหนุนและเงินอื่น

การคำนวณอัตราส่วนตามวรรคหนึ่งมิให้คำนวณรวมกับเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการส่วนท้องถิ่นและลูกจ้างที่รัฐจัดให้เป็นการเฉพาะ

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอัตรากำลังคนไม่เกินจำนวนพื้นฐานที่ ก.ถ.กำหนดและการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างสำหรับอัตรากำลังคนดังกล่าวเป็นผลให้วงเงินเกินร้อยละสี่สิบตามวรรคหนึ่ง

ในปีงบประมาณใดการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการท้องถิ่นและลูกจ้างเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยิ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดสรรเงินเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลประจำปีให้แก่ข้าราชการท้องถิ่นและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นก็ได้ แต่เมื่อรวมกับวงเงินที่จ่ายสำหรับเงินเดือนและค่าจ้างแล้วต้องไม่เกินร้อยละสี่สิบตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.ถ. กำหนด

ก.ถ.อาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างเป็นกรณีพิเศษ สำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นและลูกจ้างก็ได้ หากมีเหตุพิเศษที่จำเป็นจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าว  

[24]มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น เรียกโดยย่อว่า “ก.ถ.” ประกอบด้วย

(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ

(2) กรรมการโดยตำแหน่งจำนวนสามคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนห้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลจำนวนหนึ่งคน ด้านกฎหมายจำนวนสองคน ด้านรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์จำนวนสองคน ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลงานทางด้านวิชาการหรือมีความรู้ เป็นที่ยอมรับโดยเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหาหาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ ก.ถ.กำหนด

(4) กรรมการผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนห้าคน ได้แก่

(ก) ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั่วประเทศคัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน

(ข) ผู้แทนเทศบาล ที่นายกเทศมนตรีทั่วประเทศคัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน

(ค) ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล ที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศคัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน

(ง) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยาและนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งคัดเลือกกันเองจำนวนสองคน

(5) กรรมการผู้แทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่นจำนวนห้าคน ได้แก่

(ก) ผู้แทนข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่คัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน

(ข) ผู้แทนข้าราชการเทศบาล ที่คัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน

(ค) ผู้แทนข้าราชการองค์การบริหารส่วนตำบลที่คัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่ง

(ง) ผู้แทนข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการเมืองพัทยา และข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งคัดเลือกกันเองจำนวนสองคน

ให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นกรรมการและเลขานุการ ก.ถ.

การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (3) กรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม (4) และกรรมการผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นตาม (5) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ถ. กำหนด  

[25]มาตรา 22 ในจังหวัดหนึ่งนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัดคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ถ. จังหวัด” ประกอบด้วย

(1) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ

(2) หัวหน้าส่วนราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดนั้น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนดว่าเป็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวนสามคนเป็นอนุกรรมการ

(3) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนั้นจำนวนห้าคน เป็นอนุกรรมการ ประกอบด้วย

(ก) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในจังหวัดนั้นหนึ่งคน

(ข) นายกเทศมนตรีซึ่งนายกเทศมนตรีในจังหวัดนั้นคัดเลือกกันเองสองคน

(ค) นายกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดในจังหวัดนั้นคัดเลือกกันเองสองคน

(4) ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดนั้นจำนวนห้าคน เป็นอนุกรรมการ ประกอบด้วย

(ก) ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดในจังหวัดนั้นซึ่งคัดเลือกกันเองหนึ่งคน

(ข) ข้าราชการเทศบาลซึ่งข้าราชการเทศบาลในจังหวัดนั้นคัดเลือกกันเองสองคน

(ค) ข้าราชการองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งข้าราชการองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดนั้นคัดเลือกกันเองจำนวนสองคน

(5) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนห้าคน ซึ่งคัดเลือกจากผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลจำนวนหนึ่งคน ด้านกฎหมายจำนวนสองคนด้านรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์จำนวนสองคน ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลงานทางด้านวิชาการหรือมีความรู้เป็นที่ยอมรับ

ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ในจังหวัดคนหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ อ.ก.ถ. จังหวัด

ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นตาม (3)และ (4) ต้องไม่มาจากเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลเดียวกัน

หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ระยะเวลาการเป็นผู้แทน และการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการตาม (3) และ(4)ให้เป็นไปตามที่ ก.ถ. กำหนด

ในกรณีที่อนุกรรมการตาม (2) (3) และ (4) ว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้อนุกรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

[26]มาตรา 20 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ก.ถ.” เป็นส่วนราชการในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย

[27]มาตรา 30   ให้มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น เรียกโดยย่อว่า "สำนักงาน ก.ถ." เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมในกระทรวงมหาดไทย โดยมีเลขาธิการ ก.ถ.เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการของสำนักงาน

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

...

[28]มาตรา 31 ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการส่วนท้องถิ่นคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “ก.พ.ถ.” ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ตามมาตรา 35 อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นเลขานุการของ ก.พ.ถ.

ให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เลือกข้าราชการพลเรือนไม่ต่ำกว่าระดับ 9 ไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ก.พ.ถ.

ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รับผิดชอบงานในราชการของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการส่วนท้องถิ่น และมีอำนาจหน้าที่ตาม ที่ ก.พ.ถ. กำหนด 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท